การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนั้น เกิดขึ้นเร็วมาก และที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ คนจำนวนมากยังเสี่ยงตกอยู่ในสถานการณ์ “แก่ก่อนรวย”
“ชีวิตไม่เกษียณ” จึงไม่ใช่แค่แนวคิด แต่กำลังจะเกิดขึ้นจริง ถึงเวลาที่จะต้องร่วมกันสำรวจว่านโยบายที่มีอยู่ เพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีทั้งงาน มีเงิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเราจำเป็นต้อง “ปรับ” แล้วไปต่อ
Policy Watch – The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ชวนทุกคนมาค้นหาคำตอบ และออกแบบทางออกร่วมกัน ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ : The Next Chapter ชีวิตไม่เกษียณ” เพื่อเป็นทิศทางในการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างแท้จริง
สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่การเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” แต่คือ “ความเร็ว” ที่เผชิญ
ประเทศไทยไม่ใช่เพิ่งก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานกว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 และในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จะขยับเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด” (Super-aged Society) คือจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
“สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่การเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ แต่คือ ‘ความเร็ว’ ที่เรากำลังเผชิญ คนไทย ‘แก่ก่อนรวย’ ต่างจากญี่ปุ่นหรือยุโรปที่เข้าสู่สังคมสูงวัยหลังจากมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงแล้ว”รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
นี่คือโจทย์สำคัญของประเทศที่จะต้องช่วยกันคิดต่อ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมแน่นอน และเรามีเวลาเตรียมตัวอย่างจำกัด
“จำเป็น” หรือ “อยากทำ” … ที่ 37% ของผู้สูงอายุไทยยังทำงาน
การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังคงทำงานได้ นับเป็นหนึ่งในทางรอดสำคัญในวันที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยน คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุไทยสามารถทำงานได้นานขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ?
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลสำรวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุไทยประมาณ 37.2% หรือ 1 ใน 3 ยังคงทำงานอยู่ โดยมี 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำงานหรือไม่ทำงาน ดังนี้
- จำเป็นต้องทำ
- ความพร้อม ทั้งด้านสุขภาพ และทักษะที่เอื้อต่อการทำงาน โดยเฉพาะทักษะที่สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล
- สภาพแวดล้อม ทัศนคติ และมโนทัศน์ทางสังคม ที่เชื่อว่าอายุ 60 ปียังทำงานและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้
- โอกาสในการทำงาน รู้จักงาน และเห็นทางเลือก ว่าอายุ 60 ปีแล้วยังสามารถทำอะไรได้บ้าง
- ความคุ้มเสี่ยง งานของผู้สูงอายุในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งกว่า86% ไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคม ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือไม่ได้รับสวัสดิการใด ๆ ส่งผลให้ครอบครัวและลูกหลานไม่อยากให้ผู้สูงอายุไปทำงาน
“ผู้สูงอายุที่ยังทำงานส่วนใหญ่มักตกอยู่ในภาวะ ‘จำเป็นต้องทำ’ เนื่องจากมีรายได้ไม่พอใช้ และสวัสดิการที่มีอยู่ก็ยังไม่ครอบคลุม ขณะที่บางคนมีแพสชัน มีศักยภาพ แต่ไม่มี ‘โอกาสในการทำงาน’ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้กลุ่ม ‘จำเป็นต้องทำ’ ทำงานได้อย่างมีความสุข และกลุ่มที่มี ‘ความพร้อม’ ได้มีโอกาสกลับเข้าทำงาน”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
“อายุ 60” ไม่ใช่อุปสรรคของศักยภาพ
“หลิว” หรือ “กฤษฎี ตั้งจิตถนอมสิน” เป็นหนึ่งในคนอายุ 62 ปีที่ยังคงทำงาน แม้อดีตจะเป็นวิศวกรระบบ แต่ชีวิตพลิกผันจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างองค์กร ทำให้ต้องตกงานในวัย 40 ปี
ตอนแรก “หลิว” ยอมรับว่าทำใจยาก เพราะยังอยากทำงานและใช้ความรู้ความสามารถต่อ แต่เมื่อลองไปสัมภาษณ์งานใหม่หลายที่ หลายแห่งก็ไม่มีใครรับด้วยอายุเยอะ หรือแม้แต่ขอลดเงินเดือนลง ต่ำสุดไปจนเหลือ 3,000 บาท ก็ยังไม่มีใครรับ
จนเห็นประกาศของเพจ “มนุษย์ต่างวัย” จึงเข้าอบรมโครงการ “พี่ที่ปรึกษา” จนปัจจุบันสามารถผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท SMEs ไทยหลายแห่ง และยังปั่นจักรยานไปเป็นบาริสต้าอีกด้วย
ประสบการณ์ของ “หลิว” สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตหลังเกษียณไม่ควรถูกมองว่าเป็น “จุดจบ” แต่คือโอกาสเริ่มต้นบทใหม่ที่ต้องร่วมกันออกแบบให้ปลอดภัย มีคุณค่า และยั่งยืน

กฤษฎี ตั้งจิตถนอมสิน ผู้ผ่านการอบรมโครงการชีวิต ซีซัน 2 วิชา อัปสกิลขั้นสุดสู่การเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ
สิทธิในการทำงานของ “ผู้สูงอายุ” ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร
“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า สิทธิของผู้สูงอายุไทยยังไม่ได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะ ‘สิทธิในการมีงานทำ’ และ ‘การดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี’”
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คนไทยเมื่อก่อนอายุเฉลี่ยแค่ 49 ปี ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 78 ปี โดยผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย แต่เราใช้ “เกณฑ์เกษียณ 60 ปี” มาตั้งแต่ปี 2949 โดยไม่เคยปรับเปลี่ยน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ขยายอายุเกษียณขึ้นเป็น 65 หรือ 70 ปีแล้ว เพราะผู้คนอายุยืนขึ้น และผู้สูงวัยยังสามารถทำงานและสร้างรายได้ได้
แม้นโยบายของไทยที่มีอยู่ ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุยังสามารถทำงานได้ แต่ในความเป็นจริง กลับมีเพียงไม่กี่คนที่ยังโลดแล่นอยู่ในตลาดแรงงาน ซึ่งส่วนมากมักจำกัดอยู่แค่อาชีพเกษตรกร ช่างฝีมือ พนักงานบริการหรือจำหน่ายสินค้า และมีเพียงบางกลุ่มอาชีพเท่านั้นที่สามารถทำงานต่อได้ถึง 65 หรือ 70 ปี เช่น แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา และอัยการ
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า “สิทธิของผู้สูงอายุ” มีพูดถึงบ้างก็จริง หรือมี “แผนปฏิการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3” อยู่ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะคล้าย ๆ ของสิทธิเด็กหรือสิทธิสตรี และในบางมิติอาจไปรวมกับกฎหมายอื่น ทั้งที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น หากมีคนเดินมา 5 คน ก็มีผู้สูงอายุ 1 คนแล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเด็นไม่ครอบคลุมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
การทำงานของผู้สูงอายุต้องการความยืดหยุ่นและการคุ้มครองที่เฉพาะเจาะจง แต่ที่ผ่านมาเรายังใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับทุกช่วงวัย แม้วันทำงานหรือชั่วโมงอาจน้อยลง แต่ค่าแรงก็ไม่ควรจะน้อยเกินไป
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงอยากให้มี “กฎหมายเฉพาะที่จะดูแลผู้สูงอายุ” และอยากให้รัฐทบทวน “การขยายอายุเกษียณ” เพราะผู้สูงวัยยังคงมีแรงและสติปัญญาทำงานได้อย่างเหมาะสม
“ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่บันไดเลื่อนที่ถึงวัย 60 แล้วจะต้องหยุด ทุกคนยังมีศักยภาพ มีคุณค่า และควรได้เลือกว่าจะไปต่ออย่างไร”
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“3 อายุ” ที่สังคมไทยต้องพิจารณา
เมื่อพูดถึง “การขยายอายุเกษียณ” สังคมไทยมี “3 อายุ” ที่ต้องพิจารณา ได้แก่
- อายุในนิยามความเป็น “ผู้สูงอายุ” : อายุที่ทุกคนรับรู้ว่า เมื่อถึง 60 ปี จะถือว่าเป็น “ผู้สูงอายุ” ซึ่งถือเป็นอายุที่กระทบทุกคนในประเทศ
- อายุเกษียณ : อายุนี้ที่จริงแล้วในประเทศไทยมีผลเฉพาะข้าราชการและพนักงานของรัฐ ซึ่งกลุ่มนี้มีเพียง 2-3 ล้านคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด ดังนั้นการขยายอายุเกษียณจะกระทบกับกลุ่มนี้
- อายุของการเกิดสิทธิ : สิทธิในที่นี้คือ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยเฉพาะภายใต้ระบบประกันสังคม ซึ่งจะกระทบกับกลุ่มแรงงานภาคเอกชน หรือผู้ประกันตน
แต่ปัญหาที่พบคือ ภาคเอกชนมองว่าอายุ 55 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการรับสิทธิประโยชน์ชราภาพของประกันสังคม ถือเป็น “วัยเกษียณ” ทั้งที่ “การจ้างงาน กับ สิทธิรับบำนาญ” ควรแยกออกจากกัน เพราะการขยายอายุเกษียณ อาจไม่จำเป็นต้องขยับสิทธิประโยชน์ไปด้วยเสมอไป
แนะทบทวนนิยาม “ผู้สูงอายุ” ปลดล็อกกับดักจิตวิทยา-ขยายอายุเกษียณ
วงเสวนาเสนอว่า การปรับนิยาม “ผู้สูงอายุ” ใหม่ โดยไม่กำหนดไว้อย่างตายตัวที่อายุ 60 ปี คือหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยปลดล็อก “กับดักทางจิตวิทยา” ให้ผู้สูงอายุทำงานได้นานขึ้น
“ผลสำรวจพบ คนอายุ 55-59 ปี ไม่มีใครบอกว่า ‘ชรา’ แต่พอถึงอายุ 60 ปี มีถึงเกือบ 20 – 30% บอกว่า ‘ชรา’ ทันที เหมือนโดนสะกดจิต ทั้งที่สภาพร่างกายอาจไม่ต่างจากปีที่แล้ว”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ยังช่วยให้ “การขยายอายุเกษียณ” เป็นไปในรูปแบบ “ภาคสมัครใจ” มากกว่า “ภาคบังคับ”
คือหน่วยงานและบุคลากรตกลงร่วมกัน โดยไม่จำเป็นทุกตำแหน่งต้องทำงานหลังอายุ 60 เพราะเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิในการเลือกของผู้สูงอายุและสมรรถนะของเขาเป็นสำคัญ
“เหตุผลสำคัญที่ไม่ควรให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการ ‘บังคับ’ ทำงานต่อ เพราะในหลายประเทศเช่น ฝรั่งเศส มีการประท้วงใหญ่จากประชาชนเมื่อรัฐประกาศขยายอายุเกษียณโดยไม่เปิดให้เลือก และจากการศึกษาผลกระทบ เรามีความจำเป็นที่จะต้องขยายอายุเกษียณให้ยาวนานมากขึ้น แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้แรงงาน ข้าราชการปรับตัว และมีกลไกที่ชัดขึ้นในการประเมินเรื่องศักยภาพในการทำงาน”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
รอรัฐอาจช้า “มนุษย์ต่างวัย” ส่งเสริมการทำงาน เป็นทางเลือกให้ผู้สูงวัย
ประเทศไทยมีการหารือเรื่อง “การขยายอายุเกษียณ” มานานแล้ว และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยรูปแบบ “การขยายอายุเกษียณแบบสมัครใจ”
เมื่อรอรัฐอาจใช้เวลา “มนุษย์ต่างวัย” และผู้เข้าร่วมงาน “มนุษย์ต่างวัย Fest 2025” ได้ลงมือทำในสิ่งที่ทำได้ไปก่อนแล้ว ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า
“เรื่อง ‘สิทธิ’ ที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ จะถือว่าเป็นเรื่องย้อนหลังหรือไม่ เพราะหลายคนไปไกลด้วยตัวเองแล้ว?”
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ

ระสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย
ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย ขอตอบโดยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ว่า การทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้เกิดจากการตั้งเป้าว่าจะพูดกับกลุ่มผู้สูงวัยที่มั่งมีหรือมีอภิสิทธิ์ แต่เพราะเห็นว่าประเด็นนี้ “มีความซับซ้อนสูง” และแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุในเมือง ข้าราชการ คนทำงานบริษัท หรือชาวชนบท ซึ่งอาจยังปีนต้นตาลได้แม้อายุ 70 ปี
“ประสาน” มองว่า ที่ผ่านมาหลายคนมักนำเสนอแต่ปัญหาของสังคมสูงวัยและการแก้ด้วย “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งทำให้วนอยู่ที่เดิม เขาจึงคิดกลับกันว่าเราควร “ป้องกัน” ปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยเริ่มคุยเรื่อง สุขภาพ การเงิน การงาน ชีวิต และความสัมพันธ์
“มนุษย์ต่างวัย” จึงนำเรื่อง “งาน” มาเป็นแกนกลางในการสื่อสาร เพราะมนุษย์ทุกคนต้องทำงาน ซึ่งในทีนี้หมายถึงงานทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นงานอดิเรก หรืองานจิตอาสา แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังต้องการทำงานเพื่อหารายได้ นำมาสู่เรื่องสิทธิที่ “รศ.เฉลิมพล” และ “วสันต์” พูดถึง ซึ่งรัฐจะต้องมีกระบวนการบางอย่างที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“นั่นหมายความว่า การทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพที่ชีวิตขึ้น ในวันที่เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่การขยายอายุเกษียณ การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่อาจต้องไปถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานได้นานขึ้น”
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ

ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ
ก้าวต่อไปของ “ชีวิตไม่เกษียณ”
วงเสวนาได้สะท้อนมุมมอง และมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีงาน มีเงิน และมีความสุขอย่างยั่งยืน ในวันที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ดังนี้
- มีเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน วันนี้หลายหน่วยงานยังทำงานแยกส่วน ทำให้การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมมากนัก
- สร้างพื้นที่แสดงศักยภาพ ต้องมีพื้นที่ให้ผู้สูงวัยได้แสดงความสามารถ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติสังคมให้มองเห็นคุณค่าและขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
- มีนโยบายดูแลสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนในช่วงก่อนวัยผู้สูงอายุ (Pre-Ageing) ไปจนถึงบั้นปลายชีวิต เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง เพราะหากร่างกายไม่ไหว การทำงานต่อก็เป็นไปไม่ได้
- รัฐต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายนโยบายชัดเจน รัฐควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ 60-64 ปีที่ยังแอ็กทีฟ เพื่อออกแบบนโยบายที่ตรงจุดและเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะของกลุ่มนั้น
- มีกฎหมาย “สิทธิผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ มีงานทำ และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
- ขับเคลื่อน “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิผู้สูงอายุ” เพื่อสร้างกรอบการคุ้มครองที่เป็นสากล และยกระดับสิทธิของผู้สูงอายุในเวทีโลก
นโยบายที่มีอยู่ ถึงเวลาต้อง “ปรับ” เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะร่วมวาดภาพอนาคตไปด้วยกัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
- ทบทวนนิยาม “ผู้สูงอายุ” เปิดทางกลับสู่ตลาดแรงงาน
- สังคมสูงวัยไม่น่ากลัว ถ้า “วัยเก๋า” มีที่ยืนในตลาดแรงงาน
- ส่องมาตรการโลก รับมือ “สังคมสูงวัย”
- เมื่อความเหลื่อมล้ำทำให้เป็นหนี้ เก็บออมอีกกี่ปีจึงจะมีเงินเกษียณ ?
- ถอดรหัส แก้หนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืนจากโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
- หนี้ ออม ลงทุน: วังวนวงกตสำหรับกลุ่มฐานล่าง
- รวมเงินกระจายก่อนเกษียณ ด้วย Pension Dashboard
- ปลูกดอกไม้สีเลาในตลาดทุน ทางเลือกการออมเพื่อเกษียณ
- หวยเกษียณ โอกาสปฏิรูประบบออมเกษียณทั้งระบบ
- ออมพอเกษียณ บททดสอบ คน รัฐ สังคม