ในบทความก่อนหน้า หนี้ ออม ลงทุน: วังวนวงกตสำหรับกลุ่มฐานล่าง ชี้ให้เห็นสภาวการณ์และปัญหาสุขภาพการเงินของคนไทยกลุ่มฐานล่าง หรือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตกอยู่ในวังวนของการมีหนี้ ขาดเงินออม และต้องการมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหา โดยปรับ “หนี้เก่า” แก้ปัญหาโครงสร้างหนี้เดิม เพื่อให้หลุดออกมาจากวังวนหนี้เดิม และสร้าง “พฤติกรรมใหม่” หรือการให้ความรู้ทางการเงินที่เหมาะสม รู้จักช่องทางการออม การใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมถึงการวางแผนเพื่อการเกษียณอย่างเพียงพอ (รายละเอียดเพิ่มเติมศึกษาได้ใน ถอดรหัส แก้หนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืนจากโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”)
1. ดอกไม้ที่งดงาม และร่วงโรยตามกาลและเวลา
หากเปรียบระบบเศรษฐกิจเป็นสวน และคนไทยเป็นดอกไม้ การทำให้คนไทย “ตายดี” หรือการมีชีวิตที่มีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะช่วงบั้นปลายของชีวิตเป็นหนึ่งในหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องพยายามทำนุบำรุงให้ดอกไม้ในสวน บานสะพรั่งอย่างงดงาม และร่วงโรยในช่วงเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในคนไทยทุก ๆ 10 คน มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่มั่นใจว่าตนเองมีเงินพอเพื่อการเกษียณ! แม้ตัวเลขข้างต้นจะดูน่าเป็นห่วง แต่กระนั้นยังมีหนทางที่จะเพิ่มสัดส่วนทำให้คนไทยเชื่อว่าตนเองจะมีเงินออมเกษียณที่เพียงพอแก่การใช้ชีวิตหลังเกษียณที่มีคุณภาพดีมากขึ้นได้ แต่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องก้าวเข้ามามีบทบาท
2. น้อย และ ไม่สม่ำเสมอ: พฤติกรรมการสมทบของกลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
จากข้อมูลที่ได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และการวิเคราะห์โดยทีดีอาร์ไอ พบว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมที่สมาชิก กอช. ส่วนใหญ่เผชิญ คือ สมทบน้อย และ สมทบไม่สม่ำเสมอ
สมทบน้อย ตามหลักเกณฑ์ของ กอช. สมาชิกสามารถสมทบได้สูงสุด 30,000 บาทต่อปี หรือ 1,000 บาทต่อเดือน จากสถิติกลับพบว่า 81% ของสมาชิก สมทบต่ำกว่า 2,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 150 บาทต่อเดือน และผู้สมทบมากกว่า 5,000 บาทต่อปี หรือ 400 บาทต่อเดือน คิดเป็นประมาณ 9% เท่านั้น
สมทบไม่สม่ำเสมอ ในสิ้นเดือนตุลาคม 2567 มีสมาชิกที่สมทบ กอช. เพียง 3.4 แสนคน ซึ่งคิดเป็น 13% ของสมาชิก กอช. เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมการออม ควรเป็นพฤติกรรมที่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งสัดส่วนความสม่ำเสมอ (Activeness) ของสมาชิกกองทุนน่าจะมากกว่านี้ เนื่องจากสมาชิกของ กอช. แทบจะทุกคน เป็นแรงงานนอกระบบ[2]
สถิติข้างต้น เป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อสะท้อนความท้าทายเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินคนไทยในกลุ่ม “ใหญ่-ยาก-เปราะบาง” หรือ คนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย – ยากที่จะเข้าถึงโดยหน่วยงานรัฐ – และมีความเปราะบาง ต้องการการคุ้มครองทางสังคมโดยรัฐ และเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากขึ้น เมื่อพบว่า สมาชิกของ กอช. มีแค่ประมาณ 2.4 ล้านคน (และออมสม่ำเสมอเพียง 3.4 แสนคน) จากกำลังแรงงานกลุ่มนี้ประมาณ 20 ล้านคน! และตัวเลขนี้ ยังไม่ได้พิจารณาแรงงานในระบบอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่อาจจะมีปัญหาพฤติกรรมทางการเงินที่คล้ายคลึงกัน
3. คนไทยส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในตลาดทุน อาจทำให้ผลตอบแทนไม่มากพอเกษียณ
จากการสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีคนไทยลงทุนอยู่ใน กองทุนรวม หุ้น หรือตราสารหนี้ คิดเป็นเพียงประมาณ 3% ของประชากร และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้-การศึกษาสูง เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังคงมีช่องว่างในกลุ่มคนที่รายได้-การศึกษาไม่สูงนัก แต่มีเงินออมก้อนใหญ่ แต่ไม่เลือกลงทุนในตลาดทุน ทำให้พลาดโอกาสในการทำให้เงินออมบรรลุเป้าหมายการเกษียณของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งทีดีอาร์ไอ พบว่า ความแตกต่างในสัดส่วนระหว่างผู้ที่ลงทุน และไม่ลงทุนในตลาดทุน คิดเป็นความแตกต่างประมาณ 20% ของสินทรัพย์ที่มี ซึ่งเป็นช่องว่างของโอกาสในการออม-และไม่ออม ในตลาดทุนที่ใหญ่ และช่องว่างนี้อาจขยายกว้างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
4. อุปสรรคที่คนไทยเผชิญ: ความรู้ ทัศนคติ และความเชื่อมั่น
ความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลที่สำคัญต่อชีวิตประจำวัน มีหลายระดับทั้ง ความรู้พื้นฐาน เช่น การบริหารจัดการหนี้ส่วนบุคคล การวางแผนเกษียณ เรื่อยไปจนถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลตอบแทน รวมทั้งการแสวงหาและประเมินความน่าเชื่อของแหล่งข้อมูลลงทุน
ความยากลำบากในการหาความรู้เหล่านี้ คือการต้องลองผิดลองถูก หาแหล่งเรียนเอง และไม่มีคนสอนอย่างเหมาะสม ซึ่งทีดีอาร์ไอ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่า ตนเองไม่เคยเรียนเรื่องที่สูงไปกว่าความสำคัญของการเก็บออม หรือการคิดอัตราดอกเบี้ย ในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (ประถมศึกษา – มัธยมศึกษา) และส่วนใหญ่เรียนรู้ด้วยตนเอง
นอกเหนือจากความรอบรู้ทางการเงิน ประเด็นด้านทัศนคติ ทั้งในด้านของภาพจำของตลาดทุน ว่าเป็นการลงทุนคนมีเงิน รวมทั้งการขาดความเชื่อมั่น เป็นประเด็นอุปสรรครองลงมา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามประชาสัมพันธ์ว่า เริ่มลงทุนได้ด้วยเงิน 100 บาท แต่ผู้ที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดทุนกว่า 80% ยังมองว่า การเริ่มต้นลงทุนต้องใช้เงินมากกว่า 1,000 บาท จากการสำรวจโดยทีดีอาร์ไอ
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่น เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการเมือง การมองว่ามีตัวเลือกที่ดีกว่า และไม่เชื่อในการนำเงินไปให้ผู้อื่นบริหาร สิ่งเหล่านี้ ต้องการปรับความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง เช่น (1) การเข้าใจว่าการวิเคราะห์การลงทุนต้องแยกปัจจัยภายใน-ภายนอกออกจากกัน (2) การทำให้เห็นตัวเลือกการลงทุนในต่างประเทศ หากทางเลือกในประเทศไม่ตอบโจทย์ หรือสามารถซื้อสินทรัพย์ด้วยเงินทุนไม่มากได้ และ (3) การเข้าใจว่ากองทุนรวม หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ อยู่ใต้กำกับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการคุ้มครองอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว เป็นต้น
5. แนวทางแก้ไข: เข้าใจพันธุ์ ปรับปรุงสวน บำรุงดิน
เพื่อที่จะเห็นสัดส่วนของคนไทยที่มีความพร้อมเพื่อการเกษียณมากขึ้น เสมือนดอกไม้สีเลาที่บานสะพรั่งเต็มสวน การเข้าใจในความต้องการของกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทีดีอาร์ไอ พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ (1) กลุ่มที่มีเงินไม่เพียงพอลงทุน (2) กลุ่มที่มีเงินเพียงพอแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ามาในตลาดทุน และ (3) กลุ่มที่ลงทุนอยู่ในตลาดทุน
- กลุ่มแรก กลุ่มที่มีเงินไม่พอลงทุน ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 11% ของประชากร โดยคนกลุ่มนี้ยังไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉิน ซึ่งการนำเงินไปเสี่ยง เช่น การลงทุน อาจเป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะสมเท่าใดนัก
- กลุ่มสอง กลุ่มที่มีเงินเพียงพอแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ามาในตลาดทุน คิดเป็น 86% ของประชากร โดยพบว่าประมาณ 45% มีความสนใจที่จะลงทุนในตลาดทุน แต่กลับไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร ในขณะที่อีก 41% ยังไม่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว กลุ่มนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คนไกลตลาดทุน
- กลุ่มสาม กลุ่มที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุน ซึ่งคิดเป็น 3% จากการสำรวจเพิ่มเติมโดยทีดีอาร์ไอ พบว่า เมื่อทดสอบความรู้ทางการเงินแล้ว 1 ใน 3 ของประชากรกลุ่มนี้ มีภาวะความมั่นใจมากเกินไป สะท้อนผ่านการประเมินผลการทดสอบความรู้ทางการเงินของตนเอง สูงกว่าความเป็นจริง
การปรับปรุงสวน และบำรุงดิน เพื่อให้ดอกไม้บานสะพรั่งงดงามฉันใด การส่งเสริมการออมที่เพียงพอสำหรับการเกษียณของคนไทย ต้องการทั้งมาตรการระยะยาว และระยะสั้นควบคู่กันไปเช่นเดียวกัน มาตรการเหล่านี้ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงินอยู่ในหลักสูตรพื้นฐาน หรือการทำให้ความรอบรู้ทางการเงิน เป็นทักษะมาตรฐานเสมือนทักษะการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งอาจใช้เวลานาน เป็นการแก้ปัญหาที่โครงสร้าง แต่ย่อมเห็นผลดีในระยะยาว
ในอีกมุมหนึ่ง มาตรการทำได้ทันที หรือการดึงดูดและปรับความเข้าใจ (ตัวอย่างความเข้าใจที่ต้องปรับตรงกัน แสดงไปในส่วนก่อนหน้า) จะมีส่วนช่วยดึงดูดความสนใจ สร้างภาพจำและความเชื่อมั่นที่ถูกต้อง และดึงดูดให้ คนไกลตลาดทุน ที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 86% เริ่มศึกษา เข้ามาในตลาดทุนอย่างมีความตระหนักรู้ และนำไปสู่การกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย