เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งมีการพูดถึงกันมาตลอด แต่ถ้าจะมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใกล้ตัวประชาชน และจับต้องได้มากที่สุด ก็น่าจะเป็นปัญหา ‘สุขภาพการเงิน’ ซึ่งหมายถึงการขาดเงินออมเพื่อรองรับการเกษียณอายุ การเป็นหนี้เรื้อรัง การขาดโอกาสและช่องทางการออมและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากพอ
เช่นเดียวกับปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น การแก้ปัญหาสุขภาพการเงินสำหรับกลุ่มรากหญ้า มักจะยากลำบาก และมีลักษณะเป็น ‘วังวนวงกต’ ที่แต่ละปัญหามีความเชื่อมโยงในลักษณะซ้ำเติมกันและกัน เช่นเมื่อไม่มีเงินออมก็มีหนี้ เมื่อมีหนี้ก็ไม่มีเงินเหลือให้ออมเพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ การไม่มีเงินออมแถมเป็นหนี้ก็ทำให้ไม่มีเงินเหลือไปลงทุน รายได้ส่วนเพิ่มจากการลงทุนก็ไม่มี รายได้ที่น้อยก็ทำให้ไม่มีเงินออมและต้องเป็นหนี้ วนกันไปแบบนี้ ส่วนวงกตหมายถึงการตกอยู่ในหล่มไม่มีทางออก
ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือวังวนวงกตของปัญหาสุขภาพการเงินนี้ มักจะมีความรุนแรงมากกว่าในกลุ่มคนฐานล่าง หรือที่มักเรียกกันว่ารากหญ้า รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่นคนจน คนเสี่ยงจน คนชายขอบ เด็กและคนแก่ในครอบครัวฐานล่าง ครอบครัวแหว่งกลาง (ครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานต่างถิ่น โดยให้ปู่ย่าตายายดูแลลูก) คนพิการ เป็นต้น โดยคนกลุ่มนี้มักจะมีลักษณะร่วมกันหลายประการ เช่น รายได้น้อย ทรัพย์สินน้อย ความรู้น้อย การงานไม่มั่นคงเพราะทำงานนอกระบบ พื้นฐานครอบครัวไม่ดี ไม่มีเส้นสาย เข้าไม่ถึงแหล่งเงินในระบบ เข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูล บางส่วนถูกละเลยจากภาครัฐ เป็นต้น การหลุดพ้นจากวังวนวงกตจึงดูเป็นเรื่องไกลเกินฝันสำหรับเขาเหล่านั้น
การแก้ปัญหาที่มีลักษณะเป็นวังวนวงกตทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยแก้ทุกปัญหาย่อยไปพร้อม ๆ กัน วิธีที่สองคือหา ‘จุดคานงัด’ ซึ่งหมายถึงการเลือกแก้ปัญหาเพียง 1-2 ด้าน แต่เมื่อปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขแล้วปัญหาอื่น ๆ ก็จะบรรเทาลงไปด้วย
ความยากคือจะรู้ได้อย่างไรว่าจุดคานงัดอยู่ที่ตรงไหน ?
บางคนเสนอว่าถ้าสามารถเพิ่มทักษะการทำงานจะช่วยเพิ่มรายได้ แก้ปัญหาหนี้สิน เงินออม และเงินลงทุนไปพร้อม ๆ กัน แต่อีกหลายท่านก็คิดว่าไม่เพียงพอ เพราะถ้ารายได้เพิ่ม แต่ไม่รู้จักควบคุมรายได้ หรือไม่รู้จักช่องทางการออมและการลงทุนมากพอ ก็ยังไม่หลุดพ้นวงวนอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงนำความรู้จากผลการศึกษาวิจัยที่รวบรวมมาตลอด 3 ปี มาถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องสุขภาพการเงินที่เน้นการแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มฐานล่าง โดยเป็นการนำเสนอความรู้ที่ได้จากงานวิจัยในลักษณะที่เข้าใจง่าย โดยประกอบด้วย ผลการศึกษาเพื่อแสดงถึงสาเหตุของปัญหา ผลกระทบของบริบททั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มฐานล่างที่มีส่วนกำหนดขนาดและความรุนแรงของปัญหาแต่ละด้าน โดยเฉพาะบริบทที่แสดงถึงข้อจำกัดต่าง ๆ พฤติกรรมและกระบวนการตัดสินใจของกลุ่มฐานล่าง และนำเสนอเป็นแนวทางหรือแนวนโยบายและมาตรการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องที่คนกลุ่มนี้เผชิญอยู่
โดยทั่วไปมาตรการที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้มักประกอบด้วย การให้ความรู้ทางการเงิน การส่งเสริมทัศนคติ และความสามารถในการบริหารจัดการเงิน ทัศนคติในการใช้ชีวิต การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับบริบทรายบุคคล การปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลด้านการลงทุนการเงินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับรายย่อย ซึ่งแต่ละเรื่องมีประเด็นเฉพาะสำหรับกลุ่มฐานล่าง ดังตัวอย่างเช่น
- การให้ความรู้ทางการเงิน มาตรการด้านนี้สำหรับกลุ่มฐานล่าง ต้องคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ที่อาจไม่เทียบเท่ากลุ่มอื่น เนื่องจากระดับการศึกษาอาจไม่สูงเท่า การจบมาจากสถานศึกษาที่ด้อยคุณภาพกว่า หรือความรู้ที่ได้จากช่องทางอื่น เช่นออนไลน์ก็มีข้อจำกัดกว่ากลุ่มอื่นเนื่องจากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อยกว่า จึงควรมีมาตรการเสริมเพื่อชดเชยช่องว่างดังกล่าวนี้
- การปรับทัศนคติและความสามารถในการบริหารจัดการเงิน ผู้มีหนี้สินจำนวนมากเป็นหนี้ไม่ใช่เพราะรายได้ไม่เพียงพอ แต่เป็นหนี้เนื่องจากการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยด้านทัศนคติ เช่นความอยากมีอยากได้ที่ไม่สมเหตุสมผล การใช้จ่ายตามคนอื่นในเรื่องที่ไม่จำเป็น การไม่ให้ความสำคัญต่อการออมระยะยาว หรืออาจเกิดจากการบริหารจัดการเงินไม่ถูกต้อง เช่น การไม่จดบันทึกการใช้จ่าย เป็นต้น แม้ปัญหาเหล่านี้มิได้เกิดกับเฉพาะกลุ่มฐานล่างเท่านั้น แต่ผลกระทบต่อกลุ่มฐานล่างมีความรุนแรงกว่า ดังนั้นจึงมีความเร่งด่วนในการแก้ปัญหามากกว่า
- การเพิ่มและสร้างความคุ้นเคยช่องทางการออมและการลงทุน กลุ่มฐานล่างมีปัญหาในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่องทางการลงทุน และอาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่มีการซื้อหวยจำนวนมาก (แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลัก) เพราะไม่สามารถหาช่องทางลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ ความไม่คุ้นเคยก็เป็นอีกสาเหตุหลัก กล่าวคือมีกลุ่มฐานล่างจำนวนมากไม่คิดจะแบ่งปันเงินออมให้กระจายไปสู่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นโดยไม่มีความเสี่ยงมากขึ้นหรือมากขึ้นเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือกองทุนรวม ด้วยเหตุว่าไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย กล่าวคือเขาเหล่านั้นถือเป็น ‘คนไกลตลาดทุน’
- การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย คนไกลตลาดทุนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอยู่ไกลตลาดทุนเพราะมองว่าตลาดทุน (โดยเฉพาะตลาดหุ้น) เป็นเรื่องของคนมีเงินมากและที่สำคัญเป็นช่องทางให้นักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ซื่อสัตย์ทำการเอารัดเอาเปรียบผ่านกลโกงต่าง ๆ ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาในตลาดทุนแล้วก็กลายเป็นเหยื่อของนักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ซื่อสัตย์ จนกระทั่งอาจเลือกที่จะออกจากตลาดทุนไป ปัญหาลักษณะนี้ต้องการมาตรการในด้านการปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลในตลาดทุน และคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยอย่างมีประสิทธิภาพ
เหล่านี้คือสิ่งที่ทีดีอาร์ไอจะนำเสนอผ่านชุดบทความซึ่งจะมีรายละเอียดของผลการศึกษา และข้อเสนอแนะที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นระยะ ผ่าน Policy Watch Thai PBS รวมทั้งอาจจัดให้มีการสนทนากลุ่มกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนของประชาชนฐานล่างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง