“การเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ใช่เรื่องอันตราย ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี หรือมีการวางแผนล่วงหน้า”
นี่คือคำพูดเริ่มต้นที่ “ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ รักษาการแทนในตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในทุกระดับ ไม่ว่าจะ “แบบสมบูรณ์” หรือ “ระดับสุดยอด” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด แต่ต้องจัดการให้ถูกจุด และหนึ่งในกลไกสำคัญนั้นคือ “การจ้างงานผู้สูงอายุ” ซึ่งอาจเป็นทางรอดที่สำคัญ
อะไรจะเกิดขึ้น ? เมื่อไทยเป็น “สังคมสูงอายุ”
แต่ประเด็นของการเข้าสู่สังคมสูงอายุ คือการที่มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากเกิน 20% หรือเกิน 28% ในอีก 5 ข้างหน้า ซึ่งสวนทางกับจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลง
นั่นหมายความว่าในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนแรงงานจะลดลง ถ้าไม่จัดการหรือวางแผนรับมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “เศรษฐกิจจะหดตัวลง” และอาจอยู่ไม่ได้ เพราะคนทำงานน้อยกว่าผู้ใช้เงิน
สองคือ “ค่าใช้จ่าย” ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเกินกำลังทั้งในระบบงบประมาณของประเทศ ครัวเรือน และเงินออมของผู้สูงวัยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อภาวะเงินเฟ้อทำให้ข้าวของมีราคาสูงขึ้น และค่าเงินลดลง ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น
- ภาครัฐ : จะมีภาระงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ครอบครัว : จะมีกำลังทรัพย์น้อยลงในการดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
- ผู้สูงอายุ : เงินที่เก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณอาจไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ผลที่ตามมาคือ “คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ” อาจแย่ลง และไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าที่ควรจะเป็น
สามคือ “การดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐในแต่ละรุ่น” เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่น่ากังวล ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ สมมติเราอยากให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ดี มีสวัสดิการเยอะ แต่เงินที่รัฐบาลมีไม่เพียงพอ รัฐก็ต้องกู้เงิน ภาระก็จะไปตกกับคนรุ่นอื่น ๆ ทั้งหมด พอวัยแรงงานมีจำนวนน้อยลง ตัวหารในการที่จะมารับภาระก็น้อยลงตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องกัน ดังนั้นถ้าเรามี “การวางแผนการรับมือ” ที่ดี ปรากฏการณ์เหล่านี้จะจัดการได้ และกลไกในการจัดการคือ “การขยายระยะเวลาให้ผู้สูงอายุสามารถสร้างคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ” ได้ นั่นคือการให้ผู้สูงอายุยังทำงานอยู่ เพราะผู้สูงอายุที่มีคุณค่า คือมีค่าใช้จ่ายดูแลตัวเองได้ เศรษฐกิจจะไม่เหนื่อย ภาครัฐและครัวเรือนไม่ต้องแบกรับภาระ และเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องจ่ายภาษีจะไม่หนักจนเกินไป
สถานการณ์การจ้างงานผู้สูงอายุไทย
สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยข้อมูลในปี 2567 ว่า ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 14.16 ล้านคน หรือคิดเป็น 20.2% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” และในอีก 5 – 10 ปีคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด ขยับให้ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด”
โดยมีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงาน 5.26 ล้านคน คิดเป็น 37.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 5.11 ล้านคน หรือ 37.5%
เมื่อเจาะลึกลงไปในสถานภาพการทำงาน พบผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็น ผู้ทำงานส่วนตัว โดยไม่มีลูกจ้าง 64.4% รองลงมาคือ ผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง 19.7% ส่วนที่เหลือเป็นลูกจ้าง 12.4% และนายจ้าง 3.5%
สำหรับประเภทงานที่ผู้สูงอายุทำ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม 57.7% ตามด้วย ภาคบริการและการค้า 32.4% และ ภาคการผลิต 9.9% ที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 6,826 – 14,612 บาท
ส่วนอาชีพหลักของผู้สูงอายุ ส่วนมากยังเป็น ผู้มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง 55.4% รองลงมาคือ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า 20.4% ตามด้วย ผู้ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน 8% ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 7.5% และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ 8.7%
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการจ้างงานของผู้สูงอายุยังน้อย มีอยู่เพียง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และปัญหาที่พบคือการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ โดยส่วนมากยังอยู่ในภาคใช้แรงกาย แทบจะไม่ได้ใช้ทักษะหรือประสบการณ์ และค่าตอบแทนถูก
ขยายโอกาส “วัยเก๋า” ทางรอดในวันที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยน
ที่จริงแล้วในช่วงอายุ 60 – 69 ปี เป็นช่วงที่คนจำนวนมากยังมีสุขภาพที่แข็งแรง และสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อีกมาก
การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน จึงเป็น “โอกาสทอง” ที่จะสร้างประโยชน์หลากหลายอย่าง ดังนี้
- รักษาขนาดเศรษฐกิจ: ผู้สูงอายุที่ทำงานยังคงสร้างผลผลิต มีรายได้ และเสียภาษี ซึ่งช่วยชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจ
- ลดภาระการพึ่งพิง: หากผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองทางการเงินได้ ภาระต่อภาครัฐและครอบครัวก็จะลดลง
- เพิ่มฐานภาษี: การมีผู้ทำงานมากขึ้น ย่อมหมายถึงฐานภาษีที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีงบประมาณในการดูแลประชากรกลุ่มต่างๆ และพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
- คุณค่าและศักดิ์ศรี: การทำงานยังช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า ไม่เป็นภาระ และยังคงมีบทบาทในสังคม
ดังนั้นการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากภาคเกษตร การค้า และการผลิต ที่เหมาะสมกับศักยภาพและประสบการณ์ของพวกเขามากขึ้น จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดภาระสังคม และเสริมสร้างคุณค่าความภูมิใจให้กับ “วัยเก๋า” ของเรา ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรี
โจทย์ใหญ่ของรัฐ: บริหารจัดการ “วงจรชีวิต” ให้สมดุล
ข้อมูลบัญชีเงินโอนในปี 2021 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุ 1 คน ใช้เงินเฉลี่ย 3.22 ล้านบาท ตลอดช่วงบั้นปลายชีวิต นับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ไม่แพ้กับเด็ก 1 คน ที่ตลอดระยะเวลา 20 ปี จะใช้เงินราว ๆ 3 ล้านบาท
โดยแหล่งเงินของผู้สูงอายุ (60 – 80 ปี) มาจาก การดูแลของครอบครัว เฉลี่ย 1,185,601 บาท, ทรัพย์สินส่วนตัว 1,022,807 บาท, การทำงาน 767,717 บาท และเงินช่วยเหลือจากรัฐ 245,656 บาท
ขณะที่เด็ก (0 – 21 ปี) มาจาก การดูแลของครอบครัว เฉลี่ย 1,420,772 บาท, เงินช่วยเหลือจากรัฐ 1,283,124 บาท, การทำงาน 246,292 บาท และ ทรัพย์สินส่วนตัว 53,182 บาท
ทั้งหมดฉายภาพให้เห็นวงจรชีวิตของคนเรา ประกอบด้วย ช่วงพึ่งพิง (วัยเด็ก) ช่วงที่สามารถดูแลตัวเองได้ (วัยทำงาน) และกลับมาเป็นช่วงพึ่งพิง (วัยชรา) อีกครั้ง
แต่ผู้สูงอายุจะพึ่งพิงใครได้มาขนาดไหน หากย้อนไปในปี 2537 ผู้สูงอายุ 1 คนจะได้รับการเกื้อหนุนจากประชากรวัยทำงานถึง 9 คน แต่ในปี 2567 เหลือเพียง 3 คน
ส่วนเงินออมนั้น มีเพียง 1 ใน 3 ของประชากรสูงวัยเท่านั้น ที่จะมีเงินเก็บ และที่มีเงินสะสมเกิน 1,000,000 บาท มีเพียง 5% เท่านั้น
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐ ที่จะต้องบริหารจัดการความสมดุลของชีวิตคนในแต่ละช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร โดยจะต้องส่งเสริมให้เด็กเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และ “ขยายอายุการทำงาน” ให้ผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพอยู่ ยังสามารถทำงานต่อไปได้
การ “ขยายอายุการทำงาน” จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นในการรับมือกับความท้าทายของสังคมสูงวัยในประเทศไทย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
ความท้าทายสังคมสูงอายุ “จน-โดดเดี่ยว-เข้าไม่ถึงสวัสดิการ”
หวยเกษียณ โอกาสปฏิรูประบบออมเกษียณทั้งระบบ
ปลูกดอกไม้สีเลาในตลาดทุน ทางเลือกการออมเพื่อเกษียณ