ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข่าวของ “หวยเกษียณ” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ภายหลังการเปิดเผยของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุเกี่ยวกับความประสงค์ของธนาคารโลก (World Bank) ในการศึกษาเชิงลึกร่วมกับไทยเกี่ยวกับโครงการสลากกองทุนการออมแห่งชาติ หรือหวยเกษียณ สำหรับการเป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาการขาดการออมเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งข่าวดังกล่าวสอดรับกับการมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นของแนวคิดหวยเกษียณ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “หนึ่งในเครื่องมือ” ที่ยังต้องมีมาตรการอื่นมาช่วยเติมเต็ม“ระบบการเงินวัยเกษียณ” ที่ยั่งยืน เป็นธรรม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคนในประเทศไทย
มาตรการ “หวยเกษียณ” ตามเอกสารการแถลงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นมาตรการที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งปัจจุบันมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการออมของกลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม โดยหวยเกษียณจะมีลักษณะเป็นสลากขูดแบบดิจิตอล ที่ผู้ซื้อไม่สามารถทำการเลือกตัวเลขในสลากได้ด้วยตนเองในลักษณะเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือหวยทั่วไป ซึ่งหวยเกษียณจะมีราคาหน่วยละ 50 บาท ทั้งนี้คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปทุกคนสามารถซื้อหวยเกษียณโดยสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
ลุ้นครบทุกสัปดาห์… แต่ยังไม่พอใช้หลังเกษียณ
หวยเกษียณออกรางวัลทุกเย็นวันศุกร์ รางวัลที่ 1 มูลค่า 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล พร้อมทั้งรางวัลแจ็กพอตจำนวน 1 รางวัล ซึ่งได้จากเงินรางวัลสะสมจากงวดก่อนหน้าในกรณีที่ไม่มีผู้ถูกรางวัล โดยผู้ที่ถูกรางวัลจะได้รับเงินรางวัลทางระบบพร้อมเพย์โดยเงินรางวัลสามารถถอนออกมาใช้ได้เลย (ไม่รวมเงินต้นที่ซื้อ)
ส่วนผู้ที่ไม่ถูกรางวัล เงินที่ซื้อสลากดังกล่าวจะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 60 ปี พร้อมดอกเบี้ยผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการลงทุนใน กอช.ทั้งนี้ซื้อในวัยเกษียณมีเงื่อนไขที่ต้องสะสมให้ครบ 5 ปี จึงจะสามารถถอนออกมาใช้ได้เช่นเดียวกับผู้ที่ยังไม่เกษียณ
กระบวนการที่น่าสนใจของหวยเกษียณคือ การใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายอย่างประชาชนคนไทยทั่วไปที่ชอบเสี่ยงโชค ในลักษณะของการจำหน่ายสลากที่คล้ายกับสลากออมทรัพย์ทั่วไป อย่างสลากออมสินหรือสลาก ธกส. แต่จะมีความต่างในเรื่องการคิดผลตอบแทนของสลากออมทรัพย์และอายุของหวยเกษียณจะขึ้นกับจำนวนปีการทำงานหลังซื้อสลากไปจนถึงปีที่เกษียณหรืออายุ 60 ปีั้นั่นเอง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนตามผลการลงทุนของกอช.
ในขณะที่เงินรางวัลในแต่ละงวดที่ออกทุกวันศุกร์นั้น ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินประมาณ 760 ล้านบาท หรือเพียง 0.02% ของงบประมาณประจำปีในการอุดหนุน ทั้งนี้หากทุกงวดมีการจำหน่ายหมดตามเป้าที่วางเอาไว้ จะสร้างเงินออมเงินลงทุนได้มากกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นเงินลงทุนในระยะยาวเนื่องจากจะมีเวลาหลายสิบปีก่อนที่สลากจะไถ่ถอนเป็นเงินยามเกษียณของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการลงทุนระยะยาวของ กอช. อีกด้วย
ในมุมมองของประชาชนทั่วไป แม้โครงการหวยเกษียณจะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการส่งเสริมการออมระยะยาว ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งคือ หวยเกษียณเป็นเพียงช่องทางหนึ่งของการออมเพื่อการเกษียณ เนื่องจากแม้จะมีการออมครบทุกงวดจนเกษียณ เงินปันผลที่ได้รับอาจจะไม่เพียงพอต่อการเกษียณ แม้ผู้ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 20 ปีและสะสมยาวนานถึง 40 ปี จะมีเงินเกษียณมากถึง 2.7 ล้านบาท แต่ก็ยังเฉลี่ยใช้ได้เพียงเดือนละ 11,500 บาท จนถึงอายุ 80 ปี ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
ดังนั้นหวยเกษียณจึงมีลักษณะเป็น “หนึ่งในเครื่องมือ” สำหรับการวางแผนการเงินหลังเกษียณ ไม่ใช่ “คำตอบสุดท้าย” ที่ทุกคนจะฝากความหวังไว้โดยไม่มองหาช่องทางอื่น ๆ ในการออมและลงทุนเพื่อการเกษียณ
จะเริ่มออมทั้งที… แต่ช่องทางคนไทยกลับชวนสับสน ?
อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนทั่วไปจะเริ่มมองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการออมและลงทุนเพื่อการเกษียณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF หรือแม้แต่ “หวยเกษียณ” ที่กำลังได้รับความสนใจ แต่เมื่อพิจารณาช่องทางการออมของคนไทยจะพบว่า ระบบการออมของคนไทยยังมีลักษณะกระจัดกระจายและมีเงื่อนไขหลากหลายเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย
ระบบดังกล่าวประกอบด้วยทั้ง “ระบบบำนาญ” เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญราชการ และ “ระบบการออม” ที่แบ่งตามสถานะของแรงงาน ได้แก่ ภาคบังคับ (บำนาญข้าราชการ, ประกันสังคม ม.33 และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน), ภาคสมัครใจ (PVD, ประกันสังคม ม.39,40 รวมไปถึง กอช.) และภาคส่วนบุคคล (RMF และประกันบำนาญเอกชน)
นอกจากนี้ยังมีระบบออมอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบเงินบำนาญของคนไทยโดยตรง เช่น บัญชีธนาคาร สหกรณ์ ทองคำ หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทุกช่องทางล้วนมีเงื่อนไขต่างกัน ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ ภาษี และระยะเวลาการถือครอง ความซับซ้อนเช่นนี้ทำให้หลายคนสับสน ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน หรือควรจัดสรรเงินอย่างไรให้เพียงพอในยามเกษียณ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและแรงงานนอกระบบที่มักเข้าไม่ถึงระบบเหล่านี้อย่างเต็มที่
ข้อเสนอประการหนึ่งที่สอดคล้องกับปัญหาการกระจัดกระจายของระบบการออมเพื่อการเกษียณที่มีลักษณะเป็น Quick-win และไม่กระทบต่อรูปแบบของกองทุนหรือระบบการออมเดิมคือการจัดทำ Pension Dashboard สำหรับคนไทยทุกคนที่สามารถรวบรวมข้อมูลเงินออม เงินลงทุน หรือสินทรัพย์ทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถทราบถึงสถานะทางการเงินของตนเองในปัจจุบัน และวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณในอนาคต
นโยบายเริ่มต้นดี… แต่ยังคงมีความท้าทายต่อไป
โครงการ “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดเด่นหลายด้าน ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความท้าทายที่หลากหลายเช่นกันในระยะยาว โดยจุดเด่นในโครงการนี้มี 3 ประการที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) การสร้างพฤติกรรมการเริ่มออมของคนกลุ่มใหม่ที่ยังไม่มีเงินออมระยะยาวอย่างจริงจัง แต่ชอบเสี่ยงโชค ผ่านกลไกของการ “ลุ้นรางวัล” ซึ่งทำให้หวยเกษียณมีแรงจูงใจที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดอื่นในมุมมองของคนทั่วไป (2) ส่งเสริมนโยบายทางการเงินในมิติของการออมเพื่ออนาคต โดยเป็นรูปแบบการออมระยะยาวที่ผูกกับอายุการเกษียณอย่างชัดเจน และ (3) ความปลอดภัยและความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากรัฐรับประกันเงินต้น ผู้ซื้อจึงมั่นใจได้ว่าแม้จะไม่ถูกรางวัลก็ยังได้รับเงินคืนพร้อมผลตอบแทนบางส่วนในวัยเกษียณ
อย่างไรก็ตาม โครงการหวยเกษียณยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ (1) แนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการเงินกองทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการจำหน่าย ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของผลตอบแทนที่ต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวหลายสิบปี (2) ความยั่งยืนของโครงการที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ และจำเป็นต้องมีแผนประชาสัมพันธ์ในระยะยาวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้าร่วม พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการออมในผลิตภัณฑ์การออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และ (3) ปัญหาการกระจายตัวของข้อมูล และผลิตภัณฑ์ออมเงินสำหรับวัยเกษียณที่ยังไม่มีระบบกลางในการรวบรวมข้อมูล ทำให้ประชาชนไม่สามารถวางแผนได้อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ โครงการหวยเกษียณจึงควรถูกพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบการเงินวัยเกษียณ” เพื่อเชื่อมโยงกับเงินออมเงินลลงทุนอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จิกซอว์ 3 ชิ้นที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การออมคนไทย
ดังนั้นเพื่อให้โครงการ “หวยเกษียณ” สามารถเติมเต็มบทบาทในการสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับประชาชนในวัยเกษียณได้อย่างแท้จริง ภาครัฐควรพิจารณาจิกซอว์ 3 ชิ้น ที่เริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่น สร้างการออมและเพิ่มการออม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการเงินวัยเกษียณของคนไทยเปลี่ยนไป
- จิกซอว์แรก การสร้างความเชื่อมมั่นแก่ประชาชน ภาครัฐโดย กอช. ควรวางกรอบแนวทางการลงทุนของกองทุนอย่างชัดเจน มีเป้าหมายผลตอบแทนระยะยาวที่มั่นคง ผลตอบแทนอย่างน้อยเพียงพอที่จะชนะอัตราเงินเฟ้อจากการลงทุนระยะยาวหลายสิบปี และที่สำคัญการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นต้องมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
- จิกซอว์ชิ้นที่สอง การสร้างพฤติกรรมการออม ผ่านการพิจารณาจัดตั้ง “พื้นที่รวบรวมข้อมูลการออมเพื่อวัยเกษียณ” ที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากทุกระบบ เช่น กอช. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม RMF SSF หรือแม้แต่การถือครองสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเห็นภาพรวมของการเงินตนเอง และวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จิกซอว์ชิ้นที่สาม การเพิ่มออม โดยการออกแบบระบบสนับสนุนและจูงใจเพิ่มเติมที่จะเปลี่ยนผู้ที่ “เริ่มออม” จากการซื้อหวยเกษียณเป็นกลุ่มคนที่ “เพิ่มออม” ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ที่จะสร้างนิสัยการออมของคนไทย เช่น การลดหย่อนภาษี หรือการให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ที่มีวินัยในการออมต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการสะสมทรัพย์ระยะยาว เป็นต้น
ท้ายที่สุด โครงการหวยเกษียณนี้ถือว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ดีและสำคัญในการสร้างพฤติกรรมการออมของประชาชน แต่ไม่อาจเป็น “คำตอบสุดท้าย” ต่อโจทย์การวางแผนการเงินหลังเกษียณในระยะยาว การออกแบบนโยบายที่ผสมผสานกลไกของรัฐกับแรงจูงใจของตลาด และการจัดการระบบข้อมูลให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง “ระบบการเงินวัยเกษียณ” ที่ยั่งยืน เป็นธรรม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคนในสังคม