สำหรับ “แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน” (Build back greener Chiang rai) ที่พร้อมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะสัญจรในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ปลายเดือน พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาใน 3 เรื่อง
เรื่องแรก ให้พิจารณาเห็นชอบหลักการ “ข้อเสนอนโยบายการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงราย” เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย โดย
- เพิ่มบทบาท “ชุมชน” ให้มีอำนาจในการจัดการภัยพิบัติ บริหารจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน เป็นศูนย์กลางในการทำงาน ประสานกับหน่วยงานราชการและเอกชน ซึ่งจะเป็นรูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
- ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการความรู้ โดยการสร้างนักจัดการภัยพิบัติท้องถิ่น นักสื่อสาร และนักจัดการฐานข้อมูล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเตือนภัย นวัตกรรมเทคโนโลยี และมีแผนฟื้นฟูที่ยั่งยืน ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยง คน เทคโนโลยี และธรรมชาติให้ไร้รอยต่อ
- สร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ ทั้งการพัฒนาทุนทางสังคม วัฒนธรรม ในการจัดการภัยพิบัติ และต่อยอดทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นการใช้ธรรมชาติลดความรุนแรงของภัยพิบัติ
เรื่องที่สอง ให้อนุมัติแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมนโยบายจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน จังหวัดเชียงราย” จำนวน 17 คน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ / ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นทางจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง เพื่อให้เห็นความสำคัญและเป้าหมายเดียวกันให้สามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน , กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินการในทุกระดับ , แต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานด้านต่างๆตามความจำเป็นและเหมาะสม , ประสานและบูรณาการ ตลอดจนติดตาม ประเมินผล การทำงานกับทุกภาคส่วน , ส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม การขับเคลื่อนนวัตกรรมนโยบายจัดการภัยพิบัติยั่งยืน และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรี
และเรื่องสุดท้ายคือ ให้อนุมัติ 2 แผนงานเร่งด่วน คือ แผนการฟื้นฟูเชียงรายอย่างมีส่วนร่วม รัฐ – เอกชน – ชุมชน – ภาคประชาสังคม และ แผนงานพัฒนาพื้นที่ทดลอง (Sandbox) เป็น 3 ภูมินิเวศพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการพื้นที่ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ได้แก่ กลุ่มพื้นที่สูง (Highland Sandbox) อ.เวียงป่าเป้า – กลุ่มพื้นที่เขตเมืองและเขตเศรษฐกิจชายแดน อ.แม่สาย (แม่สายโมเดล) และ กลุ่มพื้นที่ชุมชนเกษตรกรลุ่มน้ำ อ.เทิง
ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ สู่แผนจัดการภัยพิบัติของคนเชียงราย
ข้อเสนอเชิงนโยบาย BUILD BACK GREENER CHIANGRAI ที่เป็นรูปเป็นร่างพร้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เกิดขึ้นจากความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ของคนเชียงราย ในวันที่ 7- 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อตัวแทนผู้ประสบภัยพิบัติในชุมชนต่าง ๆ ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาควิชาการในจังหวัดเชียงราย กว่า 150 คน จาก 50 องค์กร มาร่วมกันระดมสมองโดยใช้เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบาย เป้าหมายเพื่อค้นหาอนาคตร่วมกัน สรุปออกมาเป็น “แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน”
โดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมออกเป็น 5 กลุ่มตามลักษณะพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ประกอบด้วยกลุ่มพื้นที่สูง, กลุ่มลุ่มแม่น้ำ, กลุ่มชุมชนเมือง, กลุ่มชุมชนธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว และ กลุ่มประชาชนใน อ.แม่สาย เมืองเศรษฐกิจชุมชนชายแดน เพื่อให้แต่ละกลุ่มร่วมกันออกแบบชุมชน ระบุความสำเร็จที่ต้องการ นำมาสู่การสร้างแผนงานจัดการภัยพิบัติ ให้จังหวัดเชียงรายเป็นต้นแบบและสามารถรับมือได้อย่างยั่งยืน
ก่อนที่จะแบ่งกลุ่ม เพื่อออกแบบและวาดภาพอนาคต เริ่มที่กลุ่มแรกเสนอให้พัฒนา 3 ด้านไปพร้อมกันคือ สังคม, เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้เพิ่มบทบาทของ “ชุมชน” ให้มีอำนาจในการจัดการตัวเอง ทั้งในเรื่องการจัดการภัยพิบัติและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไปพร้อมกับการร่างกฎหมายรองรับการจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ และต้องปรับแก้เงื่อนไขสิทธิ “พื้นที่ป่าอนุรักษ์” ให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน ขณะเดียวกันต้องกำหนดพื้นที่ผังเมืองใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ให้กระทบกับชุมชน และก่อสร้างอาคารให้รองรับสถานการณ์ภัยพิบัติเพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
กลุ่มที่สอง ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการเพิ่มบทบาทของชุมชนให้สามารถจัดการตัวเองได้ ภาครัฐควรจะ “อนุมัติงบประมาณ” ให้มากขึ้น เพื่อความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติยามฉุกเฉิน พร้อมเสนอว่าควรจะพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจของเชียงรายให้เข้มแข็งและเฟื่องฟูควบคู่ไปกับการจัดการภัยพิบัติด้วย
กลุ่มที่สาม มองเห็นว่า เมื่อจะเสนอเพิ่มบทบาทให้ “ชุมชน” จัดการภัยพิบัติแล้ว จะต้อง “พัฒนาทุนมนุษย์” สร้างวินัยเชิงบวกในการเรียนรู้ให้การจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องของทุกคน ขณะเดียวกันต้องสร้างการตื่นรู้เรื่องสิทธิ ให้ชาวบ้านรู้ว่าสิทธิของตัวเองมีอะไรบ้างและช่วยกันส่งเสียงถึงภาครัฐเมื่อไรที่ถูกละเลย ตรงนี้จะช่วยปิดจุดบอดเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนได้อย่างแท้จริง
กลุ่มที่สี่ เสริมต่อว่า เมื่อมี “ชุมชน” ที่มีพร้อมทั้ง “อำนาจ” และ “งบประมาณ” แล้ว ควรจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติเพื่อรองรับสถานการณ์และจัดอบรม ทบทวนแผนอพยพอยู่เสมอ เมื่อภัยพิบัติมา ชาวบ้านจะโยกย้ายสิ่งของและหนีได้ทัน ซึ่งจะลดความสูญเสียได้ในทุกมิติ
และกลุ่มสุดท้าย เสนอปิดท้ายว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ควรจะใช้ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยเสริมทัพ รองรับสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงขึ้น ด้วยการสร้างฐานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างรัฐและชุมชน ทั้งการรายงานสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนแบบเรียลไทม์ การแจ้งเตือนภัย การเช็กข้อมูลคนเปราะบาง ศูนย์บัญชาการ จุดรวมพล และการให้ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ รวมถึงเป็นแหล่งในการแจ้งข้อมูลให้การเยียวยาช่วยเหลือ
จากนั้น ข้อสรุปที่ได้จากการระดมสมองร่วมกันของทุกกลุ่ม ได้ถูกนำมาบอกเล่า แลกปลี่ยนกับ “นรศักดิ์ สุขสมบูรณ์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ได้รับทราบปัญหาและความต้องการของชาวเชียงราย จากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาของจังหวัดต่อไป
ด้าน “อทิตาธร วันไชยธนวงศ์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เห็นพ้องด้วยว่าข้อเสนอนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่แก้ปัญหาทุกมิติทั้ง ภาคบริการ เกษตร ธุรกิจ การปรับผังเมือง เส้นทางคมนาคมต่าง ๆ หรืองานสาธารณะอื่น ๆ ได้จริง
3 หลักการ 3 ระยะ สร้าง “เชียงราย” ให้ ยืนหยัด – ยืดหยุ่น – ยั่งยืน
ข้อค้นพบสำคัญที่ได้ร่วมกันของ “คนเชียงราย” ที่ต้องอยู่ และปรับตัว รับมือกับหลากหลายภัยพิบัติตลอดทั้งปี คือความต้องการ “เมืองที่ยืนหยัด ยืดหยุ่น และ ยั่งยืน” โดยมี 3 หลักการสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งประกอบด้วย
หลักการที่ 1 – แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
คือการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ มุ่งเน้นการป้องกันและการใช้ชีวิตที่ “ลดความเสี่ยง” จากภัยพิบัติในเชิงระบบ ทั้ง “โครงสร้างทางกายภาพ” (Structure) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ และ โครงสร้างของ “กรอบแนวคิด” (Mental model) ของภาคี 4 ส่วน คือ ประชาชน ภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐ ในเรื่องของการเชื่อมโยงวิธีคิดในการ “ร่วมคิด ร่วมทำ” เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานขับเคลื่อนต้อนแบบการจัดการภัยพิบัติที่ยั่งยืนในทุกระยะ
หลักการที่ 2 – ชุมชนเป็นแกนกลาง
สาระสำคัญคือ การเพิ่มบทบาท อำนาจ หน้าที่ ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา (Social Capital) และให้ชุมชนได้เสนอทางเลือกใหม่ๆ (Community-generated solution) ซึ่งก็คือการให้ชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดการภัยพิบัติ และให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลง และมีบทบาท สามารถออกแบบทางเลือกในการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติที่สอดคล้อง เหมาะสมกับตนเอง
หลักการที่ 3 – อยู่ร่วมกับธรรมชาติ
หลักการนี้เน้นเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ (Sustainable and Nature-based Solutions) เพื่อร่วมจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมถึงการพัฒนามิติทางธรรมชาติ (Nature Capital) เพื่อเพิ่มประสิทธิผล ทั้งในด้านการป้องกัน การจัดการความเสี่ยง และด้านการบรรเทาความเดือดร้อน
หลักการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากความร่วมไม้ร่วมมือของชาวเชียงรายที่ใช้ “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” มาจาก 2 แนวคิดคือ “การอภิบาลหลายศูนย์” (Polycentric governance) กระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังหน่วยย่อยในระดับต่าง ๆ ในการรับมือกับภัยพิบัติ และใช้แนวคิด “ผู้ประกอบการเชิงนโยบาย” (Policy Enterpreneur) กำหนดให้มีผู้ประสาน (Broker) ทำหน้าที่รับหรือนำนโยบายไปปฏิบัติ ช่วยออกแบบแนวปฏิบัติที่ตรงตามความต้องการตามบริบทพื้นที่ เพื่อทำให้การสื่อสารไร้รอยต่อ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเสริมพลัง
การนำหลักการสำคัญเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติ ให้เชียงรายเดินหน้าไปสู่ต้นแบบการจัดการภัยพิบัติที่เชื่อมโยงคน เทคโนโลยี และธรรมชาติสู่ความยั่งยืนได้ ยังมีช่วงระยะเวลาที่ปักหมุดแผนที่นำทาง หรือ “โร้ดแมป” (Roadmap) ไว้เป็น 3 ระยะ
- ระยะสั้น : ยืนหยัด
ในระยะสั้น จะเป็นช่วงเวลาของการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ กระจายอำนาจจากจังหวัด ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงสู่ระดับชุมชน ให้ “ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ในการจัดการภัยพิบัติในภาวะฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหารอบด้านได้อย่างตอบโจทย์และเบ็ดเสร็จ
ขณะเดียวกันเมื่อมีชุมชนเป็นแกนกลางแล้ว คนในพื้นที่ต้อง “มีความพร้อม” ด้วย จึงต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรทุนมนุษย์และการจัดการความรู้ เช่น วางแผนอบรมแผนซักซ้อมรับมือภัยพิบัติทั้งช่วง ก่อน ระหว่าง และหลังเผชิญเหตุ และสร้างหลักสูตรนักจัดการภัยพิบัติให้เกิด “หนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ภัย” รวมถึงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชนทั้งจังหวัดเชียงรายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ชาวเชียงรายตื่นรู้ตลอดชีวิต และสามารถสร้างนวัตกรรมชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ให้ผู้เสี่ยงประสบภัยทุกคนใช้งาน เพื่อให้สามารถยืนหยัดได้เมื่อเผชิญภัยพิบัติ
- ระยะกลาง : ยืดหยุ่น
ช่วงระยะกลาง เป็นเวลาของการ “ปรับโฉมผังเมืองใหม่” ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ โดยอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน และความร่วมมือระดับท้องถิ่นจากชุมชนทั้งจังหวัดเชียงราย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคด้านเกษตร การรับมือในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการภัยพิบัติ
- ระยะยาว : ยั่งยืน
คือ การเดินไปสู่ “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” ด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเพิ่มมูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการรับมือสถานการณ์ที่มีแนวโน้มแปรปรวนและรุนแรงขึ้น ลดผลกระทบของอุปโภคบริโภคในภาวะวิกฤต นำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนสอดคล้องกับระบบนิเวศน์
นอกจาก 3 ระยะ ในการเดินหน้าสู่การจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนแล้ว ในช่วงระยะเร่งด่วนจำเป็นต้องมีพื้นที่ทดลอง หรือแซนด์บอกซ์ (Sandbox) นำร่องพื้นที่ต้นแบบจัดการภัยพิบัติ ในพื้นที่ อ.แม่สาย, อ.เวียงป่าเป้า และ อ.เทิง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใน 3 เรื่อง
เรื่องแรกคือ “รูปแบบการเยียวยา” ที่ต้องเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การช่วยเหลือไปถึงผู้เสียหายได้โดยตรงและรวดเร็ว
เรื่องที่สอง “การจัดพื้นที่” (Zoning) ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยกำหนดและแบ่งเขต พื้นที่อยู่อาศัย การค้า การเกษตร และอุตสาหกรรม เพื่อให้ชุมชนสามารถป้องกันตัวเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเรื่องสุดท้ายคือ “การกระจายอำนาจในระดับชุมชน” เพราะถ้าชุมชนมีอำนาจในบริหารจัดการ และมีงบประมาณ จะเอื้อประโยชน์ให้ท้องถิ่นสามารถเลือกนำภูมิปัญญาและกระบวนการทางธรรมชาติที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ มาเป็นแนวทางการจัดการภัยพิบัติได้อย่างตรงจุด
คนเชียงรายไม่ยอมจำนน เปลี่ยนจาก “ผู้ประสบภัย” เป็น “ผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงนโยบาย”
ถ้าย้อนดูข้อมูลในรอบทศวรรษที่ผ่านมา “เชียงราย” ที่เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว และเศรษฐกิจชายแดน ต้องเผชิญกับวังวนภัยพิบัติใหญ่อยู่ตลอดเวลา ทั้งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ที่ส่งผลให้อาคารกว่า 10,000 หลังเสียหาย และมีคนบาดเจ็บนับร้อย ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และค่าฝุ่นพุ่งสูงสุดขั้นวิกฤตกระทบสุขภาพ
ซ้ำร้ายในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าหนาวที่กำลังมาถึง “เชียงราย” เพิ่งเผชิญวิกฤตอุทกภัยที่รุนแรงสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งครั้งนี้ถูกนิยามใหม่เป็น “สึนามิโคลน” ที่ซัดถล่มหลายพื้นที่ ทิ้งร่องรอยความเสียหาย ส่งผลกระทบในทุกมิติ ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และพื้นที่เศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทั้งหมดบ่งชี้ว่าจังหวัดเชียงรายตั้งอยู่บนความเสี่ยงของภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และมีโอกาสเกิดขึ้นรุนแรงมากกว่าเดิม
ภัยพิบัติใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ “เชียงราย” ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นในประเทศ เพราะต้องเผชิญกับภัยหลากหลายรูปแบบที่ฉุดรั้งทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาคนที่มากกว่า แต่ “คนเชียงรายไม่ยอมจำนนและไม่ยอมรอตั้งรับอีกต่อไป” จึงเริ่มชวนกันปลุกพลัง พลิกบทบาทจาก “ผู้ประสบภัย” เป็น “ผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย”
จากวงแลกเปลี่ยนเล็ก ๆ หลายวงที่ชวนกันพูดถึงการแก้ปัญหาหลังเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ และสึนามิโคลนระลอกล่าสุด เริ่มขยับขยายเป็นการรวมตัวของภาคีเครือข่ายจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งชาวบ้านผู้ประสบภัยจากพื้นที่สูง พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่เมือง พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ชายแดน , ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ , ภาคเอกชนอย่าง บริษัทเชียงรายพัฒนาเมือง หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย, มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคมอย่าง มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ที่เข้ามาร่วมระดมความเห็นผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 21 : ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ CITY RECOVERY >> STRONGER CHIANG RAI เริ่มต้นใหม่ เพื่อเชียงรายเข้มแข็งกว่าเดิม” เพื่อเสนอการจัดการภัยพิบัติในมิติใหม่
อ่าน : “ฟื้นฟูเชียงราย” เริ่มต้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม
ก่อนจะขยับขึ้นสู่การทำกระบวนการเพื่อออกแบบอนาคต เป็นความร่วมมือกันครั้งประวัติศาสตร์ของคนเชียงราย ซึ่งนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความร่วมมือที่เปลี่ยนโฉมหน้าจังหวัดเชียงราย และพร้อมเสนอต่อ ครม.ที่กำลังสัญจรในจังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า