ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท จะมีสถานพยาบาลประจำตัว ซึ่งอยู่ใกล้กับที่พักอาศัย เพื่อความสะดวกในการเข้ารักษา โดยตรวจสอบสิทธิเพื่อดูรายชื่อสถานพยาบาลประจำตัวได้ที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
สิทธิบัตรทอง 30 บาท เมื่อเจ็บป่วยต่างถิ่น
ทั้งนี้หากผู้มีสิทธิบัตรทองเดินทางไปต่างถิ่น หรือในระยะทางไกล ๆ และเกิดภาวะเจ็บป่วยขึ้นมา ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวแจ้งใช้สิทธิบัตรทองกับสถานพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกที่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
เจ็บป่วยเล็กน้อย เจ็บป่วยทั่วไป ตัวอย่างเช่น เดินทางไปต่างถิ่น มีความจำเป็นต้องเข้ารักษา เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ทำแผลต่อเนื่อง ตัดไหม หรือยาหมด (ต้องกินยาต่อเนื่องแต่ยาหมดระหว่างเดินทางไปต่างพื้นที่ มาขอรับยาได้) ฯลฯ เข้ารักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งด้วยสิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ เจ็บป่วยเล็กน้อย เลือกได้ใกล้บ้าน ได้แก่
- รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, รพ.ประจำอำเภอ/จังหวัด
- กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่น
- ร้านยาคุณภาพ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ดูสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ติดหน้าร้าน หรือดูรายชื่อร้านยา-คลินิกที่เข้าร่วม https://wdrugapi.nhso.go.th/public/
เจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มอาการ พบหมอออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน รอรับยาจัดส่งถึงที่
- แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) แอดไลน์ ไอดี @clicknic
- แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) แอดไลน์ ไอดี @mordeeapp
- แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) แอดไลน์ ไอดี @smdthailand
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nhso.go.th/th/communicate-th/thnewsforperson/42-30
เจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ไม่วิกฤติถึงแก่ชีวิต อุบัติเหตุทั่วไป เจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช.
เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ถึงแก่ชีวิต ใช้สิทธิ UCEP หรือ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่” เป็นสิทธิการรักษาพยาบาลตามนโยบายของรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต ให้เข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมง (3 วัน) จึงจะสามารถส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำได้ ดังนั้นหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ
เจ็บป่วยแบบไหนได้สิทธิ UCEP
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ทั้งนี้หากมีอาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติดังกล่าว ก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน ไม่เกิน 72 ชั่วโมงแรก (3 วัน)
อย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 และ ช่องทางออนไลน์ ดังนี้
- ไลน์ (Line) สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
- เฟซบุ๊ก (Facebook) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
อ่านเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง