สำนักงานประกันสังคม มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญสำหรับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันผู้มีสิทธิได้รับ ทั้งผู้เป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 แต่ได้รับแตกต่างกัน เนื่องจากมีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแตกต่างกัน
กรณีเงินบำนาญชราภาพ เป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2565 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
กรณีบำนาญชราภาพ
- หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 งวดเดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเป็นบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยจ่ายให้ในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้าง เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาท) ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- หากมีการจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ จากอัตรา 20% เพิ่มขึ้นอีก 1.5๔ ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
- กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่รับบำนาญชราภาพ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
- กรณีผู้ประกันตนถูกงดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตายหากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน
- ให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ และรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วและจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
กรณีบำเหน็จชราภาพ
เป็นการจ่ายครั้งเดียว โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายดังนี้
- หากจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพมาไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
- หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับส่วนของผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
ความต่างมาตรา 33 และ 39 คือฐานเงินเดือนที่ใช้คิด
การยื่นรับสิทธิกรณีชราภาพผู้ประกันตนมาตรา 33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ผู้ประกันตนมาตรา 39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท
หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็นมาตรา 33 จะใช้ฐานของมาตรา 33
หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็นมาตรา 39 จะใช้ฐานของมาตรา 39
หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็นมาตรา 33 และ มาตรา 39 ทางประกันสังคมจะเฉลี่ยให้
อ่านเพิ่มเติม เงื่อนไข-สิทธิประโยชน์ล่าสุด ประกันสังคม ม.33-39-40
เงินออมชราภาพเริ่มนับตั้งแต่ตอนไหนและได้เมื่ออายุเท่าไร
เงินสะสมเงินชราภาพ เริ่มมีการเก็บเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป หากในระยะเวลาที่มีการเก็บเงินสมทบจะมีสิทธิได้รับเงินคืน แต่จะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ถึงแม้ว่าสถานะจะสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนไปแล้วก็ตาม จะต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนถึงจะสามารถยื่นเรื่องรับสิทธิได้
อ่านเพิ่มเติม รายได้ผู้สูงอายุวิกฤต คาด 20 ปี ข้างหน้า 91.4% ยังต้องทำงาน
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับบำเหน็จบำนาญชราภาพ
กรณีเงินบำนาญชราภาพ
- ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และมาตรา 39 (ประกันตนเอง)
- ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
กรณีบำเหน็จชราภาพ
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
- ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และมาตรา 39 (ประกันตนเอง)
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
ระยะเวลาและสถานที่ในการยื่นเรื่องกรณีเงินออมชราภาพ
- สำหรับผู้ประกันตนที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีที่มีสิทธิรับกรณีชราภาพตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมาให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับกรณีชราภาพ ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Self service กองทุนประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th เมนู “บริการด้วยตนเองผ่านระบบ e-Self Service”
- หากเกินระยะเวลากำหนดกฎหมายอนุโลมให้ผู้ประกันตน/ผู้มีสิทธิ สามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ พร้อมแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถยื่นเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ค่ะ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ กรณีเลิกจ้าง ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
- จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
- ต้องมีความสามารถพร้อมที่จะทำงาน ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน และขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐที่สะดวก หรือผ่าน https://e-service.doe.go.th/ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน และยังไม่ได้มีการกลับเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ โดยไม่ต้องรอให้นายจ้างแจ้งออกจากงานก่อน และรายงานตัวตามตารางนัด (เดิม ต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน) มีผลตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 และรายงานตัวภายในเดือนที่มีการนัดรายงานตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
- ต้องไม่ออกจากงาน เนื่องจากมีความผิด (กรณีลูกจ้างมีความผิดจริง นายจ้างแจ้งออก เป็นไล่ออก หรือปลดออก จะไม่ได้รับสิทธิกรณีว่างงาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด)
- อายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ต้องเป็นผู้ว่างงานที่สิ้นสุดสัญญาจ้างจากนายจ้าง เรียบร้อยแล้ว
สิทธิที่จะได้รับกรณีเลิกจ้าง กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
- กรณีเลิกจ้าง จะได้รับ 50% ของฐานเงินเดือนที่นายจ้างแจ้งเข้าประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน
- กรณีลาออก สิ้นสุดโครงการหรือหมดสัญญาจ้าง จะได้รับ 30% ของฐานเงินเดือนที่นายจ้างแจ้งเข้าประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน
ยื่นขอรับเงินได้ที่ไหน และต้องเตรียมหลักฐานอะไร
สำหรับคนไทย ลงทะเบียนผ่านระบบ https://e-service.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน
1. ลงทะเบียนขอใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล / Digital ID
2.ผู้ประกันตนสามารถเข้าสู่ระบบ (Login) โดยใช้ Username / Password ที่ลงทะเบียน Digital ID ในการขึ้นทะเบียนว่างงาน
3.กรอกข้อมูลรายละเอียดตามระบบและแนบไฟล์บัญชีธนาคารจะให้โอนเงินเข้าบัญชีในระบบ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นเอกสารใด ๆ กับสำนักงานประกันสังคมอีก
4.รายงานตัวตามกำหนดนัด
5.ภาพถ่ายสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของตนเองที่จะยื่นในระบบ ใช้ได้ 10 ธนาคาร โดยไม่มีค่าธรรมเนียม คือ
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) TTB
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) IBANK
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) CIMB
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- PromptPay (พร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน)
ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ผ่านทางช่องทางดังต่อไปนี้
- ระบบสนทนาออนไลน์ ( facebook inbox , live chat )
- สายด่วน 1506 กด 1 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม