ผลกระทบจาก”สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ไม่เพียงภาครัฐต้องมีภาระมากขึ้นที่ต้องจัดหาสวัสดิการภาครัฐเพื่อมารองรับ แต่เศรษฐกิจอาจจะได้รับผลกระทบจากการจับจ่ายใช้สอยจะลดลง หากผู้สูงอายุไม่มีรายได้มากพอในการใช้จ่ายเท่าระดับเดิม
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ออกรายงาน “การประเมินผลกระทบและความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุภายใต้ระบบบำนาญของประเทศไทย” โดยประเมินว่าภาพรวมการบริโภคของผู้สูงอายุสะท้อนได้จากข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ(National Transfer Accounts: NTA) จากข้อมูลปี 2562 พบว่า ผู้สูงอายุมีระดับการบริโภคโดยเฉลี่ย 143,605 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นระดับการบริโภคที่ค่อนข้างคงที่ตลอดช่วงวัยสูงอายุ โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่ใช้ในการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุเป็นผู้จ่ายเองเป็นหลัก เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ค่าอาหาร ค่าเชื้อเพลิงเป็นต้น
แต่ผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ โดยคิดเป็นสัดส่วน 64.8% ของรายจ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ยทั้งหมดของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป
ขณะที่ภาคเอกชนหรือครัวเรือนมีบทบาทในการออกค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ต่ำกว่าภาครัฐ
เมื่อพิจารณาระบบหลักประกันสุขภาพของไทย พบว่า ผู้สูงอายุใช้สิทธิบริการทางการแพทย์ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากที่สุด คิดเป็น 81% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
ด้านรายได้ วัยสูงอายุเป็นช่วงที่มีระดับรายได้จากแรงงานต่ำกว่ารายจ่าย เนื่องจากความสามารถในการทำงานลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยเงินโอนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการจัดสรรสินทรัพย์ เพื่อให้สามารถจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคอย่างเหมาะสม
เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของรายรับของผู้สูงอายุ พบว่า ในปี 2562 ผู้สูงอายุมีแหล่งรายได้หลักมาจากเงินโอนภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วน 35.7% รองลงมาเป็นรายได้จากการทำงานสัดส่วน 32.2% การจัดสรรสินทรัพย์สัดส่วน 25.2% และเงินโอนภาครัฐเพียง 6.8% ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและการบริการสาธารณสุข
เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแหล่งที่มาของรายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุช่วงต้นและช่วงปลาย พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุช่วงต้น (60-69 ปี) เป็นช่วงที่ยังมีพลังทำงานและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงมีรายได้จากการทำงานในสัดส่วนที่สูง คิดเป็น 46.1% ของรายได้ทั้งหมด
จากนั้นรายได้ดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่บทบาทของเงินโอนจากภาครัฐและภาคเอกชนและครัวเรือน จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงกลุ่มผู้สูงอายุช่วงปลาย คือ 90 ปีขึ้นไป ที่มีรายรับจากการโอนภาครัฐสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุช่วงต้นยังมีบทบาทในการช่วยเหลือสมาชิกวัยอื่น ๆ ในครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ผ่านการโอนจ่ายภาคเอกชน
ทั้งนี้ หากพิจารณาแหล่งที่มาหลักของเงินเพื่อใช้สำหรับการบริโภคของทั้งกลุ่มผู้สูงอายุช่วงต้นและช่วงปลาย พบว่ามาจากการจัดสรรสินทรัพย์เป็นหลัก สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากการจัดสรรสินทรัพย์ในรูปแบบผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางการเงินและทุน และเงินออม เป็นกลไกสำคัญในการรักษาระดับการบริโภค
ในขณะที่บทบาทของภาครัฐยังเป็นเพียงการสนับสนุนด้านการชดเชในช่วงวัยเกษียณเท่านั้น
สถานการณ์และการบริโภคในอีก 20 ปีข้างหน้า
หากประเมินการบริโภคของผู้สูงอายุในระยะยาวหรืออีก 20 ปีข้างหน้า จากสถานการณ์การบริโภคในปัจจุบัน โดยประเมินใน 3 กรณี
กรณีที่ 1 กรณีฐานหรือสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยในปี 2562 ภายใต้ข้อมูลโครงสร้างประชากร
กรณีที่ 2 การได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค-19 (ปี 2564) โดยเป็นการประเมินความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุจากผลกระทบทางด้านโครงสร้างประชากรที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค
กรณีที่ 3 สถานการณ์ระยะยาวหรืออีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2583) ตามสมมติฐานของโครงสร้างประชากร การลดลงตามปกติของอัตราการเจริญพันธุ์ (TFR) และอัตราส่วนรอดชีพตามคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553 – 2583 (ฉบับปรับปรุง)
กรณีที่ 1 กรณีฐาน มีสัดส่วนอยู่ที่ 17.03% เพิ่มสูงขึ้นมากจากในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจำแนกได้เป็นผู้สูงอายุวัยต้น (60 – 69 ปี) 9.58% ผู้สูงอายุวัยกลาง (70 – 79 ปี) 4.84% และผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) 2.61% จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นของสัดส่วนประชากรสูงอายุดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการทำให้อัตราส่วนการพึ่งพิงทางอายุของประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
ประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูเด็ก 0.26 คน และผู้สูงอายุ 0.26 คน (อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ เท่ากับ 52.26) ในขณะที่ สถานการณ์ภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมเท่ากับ 1.29 ลดลงจาก 1.52 ในปี 2556 หรือผู้หญิงหนึ่งคนเฉลี่ยแล้วมีลูกเพียง 1.29 คน
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยแล้วมีอายุคาดเฉลี่ย (Life expectancy) เท่ากับ 22.12 ปี (เพศชาย เท่ากับ 20.54 ปี และเพศหญิง เท่ากับ 23.53 ปี) ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์และความยั่งยืนในการบริโภคของผู้สูงอายุ พบว่า ระดับการบริโภคในปัจจุบันอาจยังไม่อยู่ในสภาวะที่ยั่งยืนหรือสมดุลกับรายได้จากการทำงานในตลอดช่วงชีวิต เพราะมูลค่าของการบริโภคในตลอดช่วงชีวิตจะลดลงเหลือเพียง 57.1% ของมูลค่าของการบริโภคในปัจจุบันเท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องลดระดับการบริโภคหรือทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้ระดับรายได้และการบริโภคสมดุลกัน
กรณีที่ 2 การประเมินผลกระทบจากโควิด-1 เป็นการประเมินระดับความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค-19 ซึ่งส่งผ่านมาจากการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างประชากร ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิด อัตราการตาย และอายุคาดเฉลี่ย โดยจะอาศัยข้อมูลโครงสร้างประชากรและสมมติฐานต่าง ๆ ของปี 2564 เป็นหลัก เพื่อสะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 – 2564 ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ในภาพรวมโครงสร้างประชากรของประเทศยังคงมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง อยู่ที่ 18.19% แม้ว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศจะลดลงจากปี 2562 ประมาณ 316,223 คนคิดเป็นการลดลง 0.48% โดยอัตราการเจริญพันธุ์รวม เท่ากับ 1.15 ปรับตัวลดลงมากจาก 1.29 ในปี 2562 ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด และอายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี ลดลงจากปีฐานเช่นกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ 75.27 ปี และ 21.38 ปี ตามลำดับ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โครงสร้างประชากรแปลงเปลี่ยนไปจากเดิมเนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กลดลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุของประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูเด็ก 0.26 คน และผู้สูงอายุ 0.28 คน
กรณีที่ 3 ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า จากรายงานคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 (ฉบับปรับปรุง) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอผลการคาดประมาณโครงสร้างประชากรของประเทศไทยในปี 2583 (อีก 20 ปีข้างหน้า) คาดว่าประเทศเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super aged society) แล้วตั้งแต่ปี 2576 เป็นต้นมา
แนวโน้มสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 27.48 ในปี 2576 มาอยู่ที่ 31.37 ในปี 2583 ทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก แม้ว่าสัดส่วนประชากรวัยเด็กจะลดลงจากอดีตค่อนข้างมากตามระดับอัตราการเจริญพันธุ์รวมที่ลดลงก็ตาม (ประชากรในกลุ่มพึ่งพิงลดลง)
ในปี 2583 อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ อยู่ที่ 79.11 สูงเป็น 1.51 เท่าของปี 2562 ขณะที่ ภาพรวมของประชากรไทยมีแนวโน้มที่จะมีอายุยาวนานมากขึ้น โดยอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดและเมื่ออายุ 60 ปี อยู่ที่ 81.05 ปี และ 26.12 ปี ซึ่งเป็นการมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ไปอีก 4.91 ปี และ 4.00 ปี ตามลำดับ
หากโครงสร้างประชากรเป็นเช่นนี้ พบว่าในปี 2583 มีความแตกต่างจากอดีตอย่างชัดเจน โดยประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และหากแบ่งประชากรสูงอายุออกเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุวัยต้น (60 – 69 ปี) 46.08% รองลงมาคือ ผู้สูงอายุวัยกลาง (70 – 79 ปี) 37.26% และผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) 16.66%
โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของระดับความยั่งยืนของการบริโภค เนื่องจากอายุที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้นทำให้มูลค่าการบริโภคของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในทางกลับกันการสร้างรายได้จากการทำงานจะมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น ความจำเป็นในการต้องพึ่งพิงเงินจากการออมหรือการโอนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนด้วยกันเองจะทวีความสำคัญมากขึ้น
ความยั่งยืนการบริโภคผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า
จากการประเมินผลความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุทั้ง 3 กรณี พบว่า ในระยะสั้นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค-1 ทำให้ความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากอายุคาดเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ช่วงระยะเวลาตลอดชีพที่จะมีการบริโภคลดลงเช่นกัน แตกต่างจากรายได้จากการทำงานที่จะลดลงอย่างเนื่องเมื่ออายุมากขึ้น โดยมูลค่าของการบริโภคในตลอดช่วงชีวิตจะลดลงเหลือ 58.1% ของมูลค่าของการบริโภคในปัจจุบัน สูงกว่ากรณีฐานประมาณ 57.1%
ในทางกลับกันหมายความว่า หากเราจะรักษาระดับการบริโภคเท่าเดิม เราจำเป็นต้องทำงานเพิ่มขึ้น 72.0% ขณะที่ในระยะยาว ประเทศไทยที่อยู่ในสภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอดมีแนวโน้มที่ความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุจะปรับตัวลดลง เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้อายุของประชากรในประเทศมีแนวโน้มยืนยาวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุคาดเฉลี่ยสูงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคในตลอดช่วงชีวิตและระดับการขาดดุลการบริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่ค่อนข้างมีระดับการบริโภคสูง แต่รายได้จากการทำงานต่ำ
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุจะมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 93.1% เพื่อรักษาระดับการบริโภคให้เท่าเดิมหรือคงระดับการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงเดิม ซึ่งรูปแบบการบริโภคในแต่ละกรณีค่อนข้างใกล้เคียงกันโดยเส้นการบริโภค (กรณีสมดุล) เป็นรูปแบบการบริโภคที่สมดุลกันระหว่างรายได้จากการทำงานและการบริโภค
รูปแบบการบริโภคทั้ง 3 กรณี ได้แก่ กรณีฐาน กรณีการประเมินผลกระทบจากโควิค-19 และกรณีประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ค่อนข้างต่ำกว่ารูปแบบการบริโภคที่สมดุลหรือยั่งยืนอย่างชัดเจน
จะเห็นได้ว่า ความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างชัดเจน เนื่องจากช่องว่างระหว่างระดับการบริโภคที่สมดุลและรายได้จากการทำงานมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรตามการคาดประมาณการในอีก 20 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยจะเผชิญกับสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตามผลของอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) และส่งผลให้อัตราส่วนของผู้สูงอายุต่อคนวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: การประเมินผลกระทบและความยั่งยืนของการบริโภคของผู้สูงอายุภายใต้ระบบบำนาญของประเทศไทย กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)