กลต.เตรียมออกแผนทางเลือก Lifecycle investment ขยายสัดส่วนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเพิ่มเงินออมให้กับสมาชิก หลังมีเงินออมน้อยเฉลี่ย 1-3 ล้านบาท/คน เสี่ยงไม่พอใช้จ่ายตอนเกษียณที่ระดับ 5-10 ล้านบาท
สมาชิกกบข. กว่า 80% กำลังเผชิญกับความเสี่ยงเงินไม่พอหลังเกษียณในระดับที่ "ดี" สมาชิกวัยใกล้เกษียณ อายุ 55-60 ปี มีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 1.96 ล้านบาท ไม่มีที่อยู่อาศัยของตัวเองและอายุยืนขึ้น ฐานะการเงินระดับดีต้องมีเงินเก็บ 8.63 ล้านบาท รองรับรายจ่ายเดือนละ 36,000 บาท
ประชากรสูงวัยมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก่อนจะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการรับมืออย่างจริงจัง เพราะรายได้ภาครัฐกำลังลดลงจากวัยคนทำงานลดลง ขณะที่รายง่ายด้านสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในปีที่ผ่าน ประเทศไทยเข้าสู่ "สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์" และกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2567 โดยผู้มีอายุเกิน 60 ปี จะมีสัดส่วนราว 28% หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ
เงินบำเหน็จบำนาญในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่บรรดาคนที่รับราชการเท่านั้น แต่แรงงาน ทั้ง "ในระบบ-นอกระบบ" ต่างก็มีโอกาสได้รับผ่านกองทุนประกันสังคม ส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ต้องห่วง เพราะมีระบบสวัสดิการของตัวเองอยู่แล้ว แต่จากเงื่อนไขที่ต่างกันทำให้บำเหน็จบำนาญที่ได้รับหลังเกษียณอายุต่างกันมาก