กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกองทุนการออมขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งและดูแลภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุอันเนื่องมาจากไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน
ในประเทศไทย นอกจาก กอช. แล้ว ยังมีกองทุนประกันสังคม ที่ให้สิทธิผู้กอบอาชีพอิสระออมเงินเพื่อใช้ดำรงชีพในวัยสูงอายุด้วยเช่นกัน แล้วทั้ง 2 กองทุนนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร
การเป็นสมาชิก กอช.
ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 60 ปี ครอบคลุมไปถึงนักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ อาสาสมัครต่าง ๆ และผู้ประกันตนมาตรา 44 (เฉพาะทางเลือก 1)
ส่วนผู้ที่ไม่มีสิทธิคือ พนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมที่ส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เช่น มาตรา 39 หรือมาตรา 44 (เฉพาะทางเลือก 2 กับ 3) และต้องไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสมาชิกกองทุนอื่นหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงกำหนดกองทุน หรือระบบบำนาญอื่นที่สมาชิกไม่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก กอช.
การออม กอช. นั้น สมาชิกจะส่งเงินสะสมเท่าไหร่ก็ได้เริ่มตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป เลือกส่งเงินออมเป็นรายเดือน หรือรายปีก็ได้ตามความสมัครใจ แต่รวมกันได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
ขณะเดียวกันรัฐจะช่วยจ่ายสมทบเพิ่มให้ทุกครั้งที่มีการส่งเงินออม (เงินจะเข้าในเดือนถัดไป) แต่รวมทั้งปีจะได้ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ซึ่งอัตราการจ่ายสมทบจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุของสมาชิก คือ สมาชิกอายุ 15-30 ปี รัฐช่วยจ่ายสมทบ 50% ของเงินออมที่สมาชิกส่งเข้าไปกองทุน, สมาชิกอายุ 30-50 ปี รัฐช่วยสมทบ 80% และอายุ สมาชิก 50-60 ปี รัฐช่วยสมทบ 100%
นอกจากนี้ กอช. ยังให้ผลตอบแทนกับสมาชิกจากการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทโดยเน้นความเสี่ยงต่ำมากสุด ได้แก่
อันดับ 1 พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคงคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
อันดับ 2 เงินสดฝากธนาคาร
อันดับ 3 ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับ
อันดับ 4 ตราสารทุน
อันดับ 5 ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่รัฐวิสาหกิจว่าด้วยวิธีการงบประมาณเป็นผู้ออก
อันดับ 6 ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
อันดับ 7 หน่วยลงทุน (หุ้น)
จะถึง ถ้า ทั้งนี้ กอช. ยังรับประกันผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร โดยหากในกรณีได้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อย กอช. จะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้สมาชิก
สมาชิก กอช. จะได้รับเงินบำนาญจากเงินในกองทุนที่สะสมไว้ รัฐช่วยสมทบ และผลตอบแทนรวมกัน ทั้งหมดเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยจะแบ่งเป็นรายเดือน ไปจนถึงอายุ 80 ปี ตามจำนวนเงินที่มีในกองทุนของแต่ละคน
อ่านข่าว : ออมเงินเกษียณผ่านกอช. ได้มากกว่าที่คิด ดีกว่าฝากแบงก์
การเป็นผู้ประกันตน ม. 40
กองทุนประกันสังคม เป็นเงินทุนเงินทดแทน ที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งเดิมให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในระบบแรงงาน หรือบริษัทเอกชนเท่านั้น คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 แต่ต่อมาได้ขยายเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมี 3 ทางเลือก คือ
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน (สมทบเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน) สิทธิประโยชน์คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ สิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน (สมทบเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน) สิทธิประโยชน์คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
ทั้ง 3 ทางเลือก รัฐบาลจะร่วมจ่ายสมทบให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน เช่น ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐช่วยสมทบเพิ่มอีก 35 บาท เป็นต้น
อ่านข่าว : ประกันสังคม ม. 40 มีแต่บำเหน็จ ไม่มีบำนาญ
คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีสัญชาติไทย แต่ต้องมีบัตรประจำตัวคน ขึ้นต้นด้วยเลข 0,6,7 (ยกเว้นขึ้นต้นด้วย00) โดยมีอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 65 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีลักษณะอย่างเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ รวมทั้งไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
ยกเว้นข้าราชการบำนาญสามารถได้ เพราะเป็นข้าราชการที่พ้นจากราชการแล้ว และเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา หรือเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งพ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นข้าราชการบำนาญทั้ง 2 ลักษณะนี้สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ได้
นอกจากนี้หากเป็นผู้พิการก็สมัครได้เช่นกัน ยกเว้นผู้พิการทางสติปัญญาและผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้
ผู้ประกันตนมาตรา 40 เฉพาะทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หรือลาออก มีสิทธิเลือกรับเงินเกษียณได้ 2 รูปแบบ คือ
1. รับเป็นเงินบำเหน็จ พร้อมกับผลตอบแทนดอกเบี้ยคืนทั้งหมดในก้อนเดียว
2. รับเป็นเงินบำนาญ จะได้เป็นรายเดือนขั้นต่ำ 600 บาท ตลอดจนเสียชีวิต แต่หากจ่ายเงินสมทบไม่ถึงเกณฑ์ได้รับเงินบำนาญ ก็จะได้เป็นเงินบำเหน็จแทน (ต้องจ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 420 เดือน หรือนาน 35ปี) นอกจากนี้หากเกิดเสียชีวิตภายใน 60 เดือนหลังได้รับบำนาญแล้ว ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
อย่างไรก็ตามทั้งสองกองทุนจะแตกต่างตรงที่ ผู้ประกันตนมาตรามาตรา 40 จะได้รับสิทธิผลประโยชน์และการดูแลรักษาพยาบาล หากเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต แต่สมาชิก กอช. จะไม่มีสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้
ไม่ว่าจะเลือกเป็นสมาชิก กอช. หรือผู้ประกันตนมาตรา 40 ผู้สมัครก็ควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของแต่ละกองทุนให้ชัดเจนก่อนสมัคร เพื่อที่จะสามารถส่งเงินออมได้ถูกต้อง และรับสิทธิประโยชน์ได้อย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
อ่านข่าวอื่นเพิ่มเติม