กว่าจะมีมาตรา 40
การประกันสังคมตามมาตรา 40 เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ราว 20 ล้านคน เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ
รัฐบาลจึงมีการปรับปรุง แก้ไขกฏระเบียบด้านสิทธิประโยชน์ โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคมที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีงานประจำ ไม่มีรายได้แน่นอน รวมถึงไม่มีสิทธิ หรือสวัสดิการอื่นมาก่อน ให้สามารถเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม เช่นเดียวกับประกันสังคมมาตรา 33 และ 39
รัฐบาลได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2558 มาตรา 40 ที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 และผู้ที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจหรือตามมาตรา 44 ต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร รวมถึงผู้ที่ทำงานอิสระที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการมีประกันสังคม
การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2561 โดยมีทางเลือกให้ผู้ประกันตนส่งเงินเข้ากองทุนและสัดส่วนที่รัฐต้องส่งเงินสมทบ
ส่งเงินสมทบ 3 ทางเลือก
ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะมีทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะไม่เท่ากัน และเงื่อนไขการรับสิทธิต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
- จ่าย 70 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
- จ่าย 100 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ
- จ่าย 300 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 5 กรณี คือ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร
สิทธิประโยชน์ ขึ้นกับเงื่อนไขชำระเงิน
สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยขึ้นกับทางเลือกที่ส่งสมทบกองทุนว่าจะจ่ายมากหรือน้อยแค่ไหน โดยสิทธิต่างกัน ดังนี้
กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ทางเลือกที่ 1 และ 2 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ (รับสิทธิรวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี)
- นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ 300 บาท
- ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท
- ไปพบแพทย์ (ผู้ป่วยนอก) และแพทย์ไม่มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว หรือ ให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วัน (มีใบรับรองแพทย์มาแสดง) ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
ทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ (รับสิทธิรวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี)
นอนพักรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 300 บาท
ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท
กรณีทุพพลภาพ
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนใน 10 เดือน ก่อนเดือนทุพพลภาพ ได้รับ 500 บาท
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือนใน 20 เดือน ก่อนเดือนทุพพลภาพ ได้รับ 650 บาท
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 24 เดือนใน 40 เดือน ก่อนเดือนทุพพลภาพ ได้รับ 800 บาท
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือนใน 60 เดือน ก่อนเดือนทุพพลภาพ ได้รับ 1,000 บาท
ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือนนาน 15 ปี หากเสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท
ทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน ตลอดชีวิต หากเสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท
กรณีเสียชีวิต
ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 ใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย ยกเว้นกรณีตายเพราะอุบัติเหตุ หากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 ใน 12 เดือน แต่มีการจ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย
ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท จ่ายให้กับผู้จัดการศพ ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย 8,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย
ทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ก่อนเดือนที่ตาย จ่ายให้กับผู้จัดการศพ
กรณีชราภาพ
ได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 50 บาท คูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวกกับเงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
ทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 150 บาท คูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวกกับเงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน
กรณีสงเคราะห์บุตร
จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 24 ใน 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ขณะรับเงินสงเคราะห์บุตร ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน
ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์
อ่านเพิ่มเติม:
ส่องเงื่อนไข-สิทธิ “บำเหน็จบำนาญชราภาพ” ประกันสังคมล่าสุด
บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ม.33-ม.39 คิดอย่างไร?
ชำระเงินง่ายขึ้น จ่ายล่วงหน้าได้ 12 งวด
ปัจจุบัน การชำระเงินทำได้สะดวกมากขึ้น โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถชำระเงินผ่าน Mobile Banking หรือ บริการชำระบิลข้ามธนาคาร ด้วยการสแกน QR Code จาก www.sso.go.th
สำนักงานประกันสังคมได้เปิดระบบให้บริการรับสมัครขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่านระบบ e-Self Service จาก www.sso.go.th และชำระเงินสมทบทันทีด้วยการสแกน QR Code (Cross Bank Bill Payment) บริการชำระบิลข้ามธนาคาร) ผ่าน Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ ที่รองรับการชำระบิลข้ามธนาคาร
ผู้ประกันตนสามารถรับชำระเงินสมทบงวดเดือนปัจจุบัน และงวดเดือนล่วงหน้าได้ 12 งวดจากเดิมที่ชำระเงินสมทบได้เฉพาะงวดเดือนปัจจุบันเพียงงวดเดียวเท่านั้น
ชำระเงินผ่าน App ShopeePay และหักบัญชีแบงก์
บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนให้บริการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคมผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่าน Mobile Application Shopeepay ที่ก่อนหน้านี้ ได้แจ้งระงับการให้บริการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคมผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่าน Application ShopeePay ชั่วคราว แต่ขณะนี้ บสามารถดำเนินการได้แล้ว ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2567 นี้เป็นต้นไป
ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถชำระเงิน ผ่าน Application ShopeePay ได้ตามปกติแล้ว และยังสามารถชำระเงินสมทบผ่านหลายช่องทางที่เคาน์เตอร์ธนาคาร และหน่วยบริการอื่นที่เป็นตัวแทนให้บริการชำระเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เคาน์เตอร์เซอร์วิส เทสโก้ โลตัส เคาน์เตอร์บุญเติม Bill Payment เคาน์เตอร์ CenPay Powered by บุญเติม ตู้บุญเติม และที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น-อีเลฟเว่น)
อีกทั้งชำระเงินสมทบด้วยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
อ่านเพิ่มเติม: