- กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็น “บำเหน็จชราภาพ” จ่ายครั้งเดียว
- กรณีส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป หรือ 15 ปี (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม) จะได้รับเป็น “บำนาญชราภาพ”
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตาม กรณีอายุครบ 55 ปี แต่ยังทำงานต่อและยังส่งเงินเข้ากองทุน ยังไม่สามารถดำเนินการยื่นเรื่องรับสิทธิกรณีชราภาพได้ แต่หากประสงค์จะยื่นเรื่องรับสิทธิจะต้องมีการลาออกจากงานก่อนถึงจะสามารถยื่นเรื่องรับสิทธิ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มอีก 1.5% ต่อปี หากยังคงส่งเงินเข้ากองทุน ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้น
สำหรับการคิดเวลาการรับบำเหน็จบำนาญชราภาพ กองทุนประกันสังคมเริ่มเก็บเงินเพื่อเป็น “เงินออมชราภาพ” ซึ่งในส่วนของเงินสะสมเงินชราภาพ เริ่มเก็บเงินสมทบตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2541 ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนที่ส่งตั้งแต่เริ่มมีการสะสม ก็จะได้รับ “บำนาญชราภาพ” แล้ว เพราะเกิน 180 เดือนหรือ 15 ปี โดยจะได้เงินเพิ่มอีก 1.5% ตั้งแต่ปีที่ 16
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิกรณีชราภาพ
กรณีเงินบำนาญชราภาพ
- ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และมาตรา 39 (ประกันตนเอง)
- ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
กรณีบำเหน็จชราภาพ
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
- ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และมาตรา 39 (ประกันตนเอง)
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
กรณีบำเหน็จชราภาพ เป็นการจ่ายครั้งเดียว โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายดังนี้
- หากจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพมาไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
- หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับส่วนของผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
คำถามว่าจะได้รับบำนาญชราภาพเป็นเงินแต่ละเดือนเท่าไร? ซึ่งผู้ประกันตนสามารถคำนวณคร่าว ๆ ได้ เพราะปัจจุบัน การส่งเงินสมทบคิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือน
ดังนั้น เมื่อผู้ประกันตนส่งครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี จะเริ่มนับสิทธิการได้รับเงิน “บำนาญชราภาพ” ที่ 20% ของฐานเงินเดือน จะได้รับเงินบำนาญ 3,000 บาท/เดือน จากนั้นจะบวกเพิ่มอีก 1.5% ทุก ๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี
อย่าเข้าใจผิด คิดว่าเริ่มต้นที่ 20% ของเฉลี่ยเงินเดือน 5 ปีสุดท้าย
สำหรับมาตรา 39 ใช้ฐานเงินเดือนในการคิดต่างกัน เพราะส่งเงินสมทบน้อยกว่า การยื่นรับสิทธิกรณีชราภาพผู้ประกันตนมาตรา 39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท
แต่หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็นมาตรา 33 (กรณีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบอีกครั้ง) จะใช้ฐานของมาตรา 33 เท่ากับว่าจะได้รับบำนาญเริ่มต้น 960 บาท หากเกิน 180 เดือน จะได้เพิ่มปีละ 1.5% เช่นเดียวกันกับมาตรา 33
จากสิทธิประโยชน์ข้างต้น ผู้ประกันตนควรตรวจสอบการเป็นผู้ประกันตนอยู่เป็นประจำ เพราะอาจจะลืมจนไม่รู้สิทธิของตัวเอง
โอนเข้าบัญชีทุกวันที่ 25 ของเดือน
ทั้งนี้ กรณีบำนาญชราภาพ สำนักงานประกันสังคมเปลี่ยนแปลงการจ่ายประโยชน์ทดแทนบำนาญชราภาพ จากการจ่ายเงินเดือนที่ได้รับสิทธิให้กับผู้รับเงินบำนาญชราภาพในเดือนถัดไป เป็นการจ่ายเงินเดือนที่ได้รับสิทธิให้กับผู้รับบำนาญชราภาพภายในวันที่ 25 ของเดือนที่ได้รับสิทธิ โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566
หากผู้มีสิทธิรับบำนาญชราภาพรายใหม่ยื่นเรื่อง หากมีการยื่นขอรับสิทธิภายในวันที่ 7 ของเดือน จะได้รับสิทธิในงวดเดือนนั้น แต่หากมีการยื่นเรื่องหลังวันที่ 7 ของเดือน จะได้รับสิทธิในเดือนถัดไปรวมงวดเดือนปัจจุบัน