นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2563 ภาครัฐได้มีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนจากมาตรการควบคุมโควิดที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน ต่อมาปี 2565 ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมากจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยในปีดังกล่าวการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐอยู่ที่ประมาณ 19-35% ของราคาเฉลี่ยที่แท้จริง จึงส่งผลให้ราคาพลังงานในประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาพลังงานโลก และอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2565 ต่ำกว่าหากไม่มีมาตรการ
ปัจจุบันในปี 2567 แม้ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะเร่งตัวขึ้นในบางจังหวะ แต่ก็ผ่อนคลายลงจากจุดสูงสุดในปี 2565 ทำให้ภาครัฐทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลงจากปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และงวดเดือนต่อไป (เดือนพ.ค.-ส.ค.67) ก็มีแนวโน้มจะถูกตรึงไว้ในระดับเดิม เช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้มก็ยังตรึงอยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ไปจนถึงเดือนมิ.ย.67
ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 50 สตางค์/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.67 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขณะนี้อยู่ที่ 30.44 บาท/ลิตร ซึ่งผลจากการอุดหนุนราคาพลังงานอย่างต่อเนื่องทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีภาระต้นทุนพลังงานและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากภาครัฐไม่มีการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศจากระดับปัจจุบัน อาจส่งผลให้ภาระต้นทุนของกองทุนฯ และ กฟผ. มีแนวโน้มกลับไปแตะที่ระดับสูงสุดเหมือนในปี 2565 อีกครั้ง
- หากราคาดีเซลและก๊าซ LPG ยังคงได้รับการอุดหนุนเท่ากับในระดับปัจจุบัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ภายในไตรมาส 2/2567 กองทุนฯ อาจต้องเผชิญกับสถานะติดลบสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงปี 2565 ที่สูงสุดในประวัติการณ์ (ภายใต้สมมติฐานว่าราคาพลังงานโลกไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน)
- ในขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) หากมีการอุดหนุนในระดับใกล้เคียงกับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 ก็มีความเป็นไปได้ที่ภายในสิ้นปี 2567 ภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงปี 2565 ที่มีภาระต้นทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทอีกครั้ง
ท่ามกลางภาระต้นทุนการดำเนินการจากการอุดหนุนพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง ประกอบกับหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจจะเป็นจังหวะเวลาที่ภาครัฐจะทบทวนทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลง
โดยอาจพิจารณาสนับสนุนเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่ามีความจำเป็น อาทิ กลุ่มเปราะบาง เพื่อที่ภาครัฐจะได้ฟื้นฟูฐานะทางการเงินสำหรับใช้รับมือในกรณีที่หากเกิดวิกฤตในอนาคต (buffer) ขณะเดียวกันภาครัฐอาจมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนของภาคเอกชนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนพลังงานได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามจากแนวทางที่ภาครัฐทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศลงและปล่อยให้ราคาค่อยๆ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จึงส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.67 เป็นต้นไป หลังจากเผชิญการติดลบมานาน 6 เดือน ทั้งนี้ ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยคาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.8%
อ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เลิกตรึงดีเซล 30 บาท กองทุนน้ำมันฯติดลบหนักแสนล้าน
เช็ก “เงื่อนไข-รายละเอียด” ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
แบงก์ชาติตั้ง 5 คำถาม “ดิจิทัลวอลเล็ต”ต้องตอบ