รัฐบาลได้เริ่มใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน มาตั้งแต่ ม.ค. จนถึง มี.ค. 2567 และได้มีการขยายเวลาต่อไปจนถึง 19 เม.ย. 2567 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน โดยใช้วิธีการลดภาษีสรรพสามิตรและเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยอุดหนุน
แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน เนื่องจากความกังวลในด้านอุปทาน หลังสงครามในตะวันออกกลางเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซียกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เพราะสหรัฐฯและชาติพันธมิตรประกาศสนับสนุนยูเครนให้เข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) อีกทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) จะปรับลดดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องแบกรับภาระค่าชดเชยราคาน้ำมันดีเซลที่ต้องตรึงราคาไว้ โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 สถานะกองทุนฯติดลบแล้ว 99,821 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 52,729 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,092 ล้านบาท
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567
ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้หารือถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งราคาในตลาดโลกยังคงตัวอยู่ระดับสูงจากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่สงบจากสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
กบน. จึงพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินกองทุนน้ำมันประเภทน้ำมันดีเซล 0.20 บาทต่อลิตร จาก 4.57 บาทต่อลิตร เป็น 4.77 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 30.44 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 และตามแผนวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล กบน. จะพิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากนัก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำมันดีเซล ประมาณ 71 ล้านลิตร/วัน
ใครได้-ใครเสีย หลังจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบใหม่