รัฐบาลได้เริ่มเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลังผลประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีมติอนุมัติผลสรุปของโครงการ โดยประชาชนที่ได้รับสิทธิมี 50 ล้านคน วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท สามารถเริ่มใช้จ่ายได้ภายในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567
แหล่งที่มาของเงินดำเนินโครงการมาจากงบประมาณปี 67 จำนวน 175,000 ล้านบาท และปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท รวมถึงอีกส่วนหนึ่งกู้เงินจากธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท
ที่ผ่านมาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้ถูกท้วงติงจากหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในประเทศ เนื่องจากใช้งบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ และแหล่งที่มาของเงินไม่ชัด
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เห็นชอบ ทำให้มีคำถามจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธปท. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยยังคงแสดงถึงความกังวลในตัวโครงการนี้ ซึ่งมี 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ปริมาณเงินที่ใช้ในโครงการ ธปท.ต้องการความชัดเจนถึงเงินที่เริ่มใช้ตั้งแต่ ณ วันที่เริ่มต้นโครงการฯนั้น จะต้องมีครบถ้วน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ศ.2501
2. แหล่งที่มาของเงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ต้องผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และคำนึงถึงเรื่องสภาพคล่อง
ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ระบุไว้ว่า “การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการนั้น ให้กระทําได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม”
คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผลกระทบต่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายนั้น และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐและผลกระทบจากการดําเนินการดังกล่าว
ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกําหนด
ให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรานี้ ไม่ว่าการมอบหมายนั้นจะเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับหรือไม่ จัดทําประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมดสําหรับกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการนั้น ๆ และแจ้งให้คณะกรรมการและแจ้งให้คณะกรรมการและแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบ
3. กลุ่มเป้าหมายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ธปท.อยากให้ดำเนินโครงการในเฉพาะกลุ่มบุคคลเท่านั้น เพื่อให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด มีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพการคลังมากจนเกินไป โดยเฉพาะในระยะปานกลาง
4. ข้อกังวลต่อเสถียรภาพการเงินและการคลัง เนื่องจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ธปท.จึงอยากเห็นแผนปรับลดภาระดังกล่าวในระยะปานกลาง
5. ระบบชำระเงินแบบใหม่ที่รัฐบาลจะสร้างเพื่อใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และหวังให้เป็นซูเปอร์แอฟ (Super App) ของรัฐบาล ซึ่งมีลักษณะเป็นโอเพ่นลูป (Open-loop) โดย ธปท.มองว่า ระบบใหม่นี้ มีความซับซ้อน ใช้เวลาและทรัพยากรในการสร้าง อีกทั้งส่งผลต่อเสถียรภาพในระบบการชำระเงิน ดังนั้นระบบใหม่นี้ต้องมีความเสถียรภาพ สามารถดูแลข้อมูลส่วนบุคคลได้ และมีความปลอดภัยจากมิจฉาชีพทางไซเบอร์
เช็ก “เงื่อนไข-รายละเอียด” ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
เวิลด์แบงก์มองดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นจีดีพีระยะสั้นดันหนี้เพิ่ม