ภาคการท่องเที่ยวเที่ยวไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมานานเกือบครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ในอดีตที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว
การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากรายได้ภาคบริการของไทยที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องมานาน และในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากเศรษฐกิจ แต่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังสามารถพยุงเศรษฐกิจของประเทศมาได้
แต่ภาคการท่องเที่ยวกำลัง “ไม่เหมือนเดิม” และอาจเป็นสัญญาณว่าไทยกำลัง “หมดยุคทอง” ของภาคท่องเที่ยว เมื่อเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศในเอเซียที่หันมาเน้นธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กำลังเข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ท่องเที่ยวไทยหดตัว สวนทางเอเชียแปซิฟิคโต
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกบทวิเคราะห์ภาพรวม “ทิศทางภาคการท่องเที่ยวของไทย โจทย์และความท้าทายที่ต้องจับตา” ในรายงานการประชุมนโยบายการเงินไตรมาสสอง 2568 โดยประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน
บทวิเคราะห์ระบุว่าภาคการท่องเที่ยวที่มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 กำลังชะลอตัวลงในปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 หดตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค โดยรวมที่ขยายตัว 12%
จำนวนนักท่องเที่ยว 5 เดือนแรกของปี 2568 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (%YoY) แยกตามสัญชาติ
ทั้งนี้ สาเหตุหลักเกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มตลาดระยะใกล้ (short-haul tourists) โดยเฉพาะจีน ที่ลดการเดินทางมาไทยจากปัจจัยความกังวลด้านความปลอดภัย
หากมองในมิติเม็ดเงินรายรับจากนักท่องเที่ยว ไม่ได้ชะลอลงมากนัก เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มตลาดระยะไกล (long-haul tourists) เพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น จึงมีส่วนชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากกลุ่ม short-haul ได้พอสมควรแต่การกระจายเม็ดเงินอาจแย่ลง เพราะจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองหลักและในภาคโรงแรม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: รายได้ท่องเที่ยว คำนวณอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน
นอกจากความกังวลในด้านความปลอดภัย ภาคท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงผ่านช่องทางรายได้ และทางอ้อมผ่านปัจจัยความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน
นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะอ่อนไหวต่อปัจจัยเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ สะท้อนจากจนำวนนักท่องเที่ยวระยะใกล้ใน 5 เดือนแรกของปี 2568 ที่หดตัวลง 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มระยะไกล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศพัฒนาแล้ว ยังขยายตัวได้ถึง 17%
นักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงพฤติกรรมเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
(1) นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับที่พักและบริการที่มีคุณภาพสูงตั้งแต่โควิด-19 โดยชื่อเสียงและระดับดาวของโรงแรมมีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกที่พักมากขึ้น สอดคล้องกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายหมวดที่พักที่เพิ่มขึ้นจาก 33% เป็น 40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
(2) โครงสร้างอายุนักท่องเที่ยวลดลง โดยอายุเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวลดลงและมีสัดส่วนของประชากรรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Z และ Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการประสบการณ์และรางวัลชีวิตจากการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวโดยรวมคำนึงถึงคุณค่าและความคุ้มค่ามากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนการใช้จ่ายซื้อของฝากลดลง แต่ให้คุณค่ากับสินค้าหัตถกรรม (hand-crafted goods) รวมถึงการรับประทาน street food ตามกระแสสังคมออนไลน์มากกว่าภัตตาคาร และกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เช่น การดำน้ำลึก และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น
สัดส่วนค่าใช้จ่ายรายหมวด แยกตามกลุ่มนักท่องเที่ยว
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม
มองไปข้างหน้า นอกจากความท้าทายของภาคท่องเที่ยวในภาพรวม มองลึกลงไปการตอบโจทย์นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ยังมีปัจจัยเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน โดยเบื้องต้นอาจจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มศักยภาพ ประกอบด้วยนักท่องเที่ยว long-haul จากยุโรป เช่น รัสเซีย อังกฤษ เยอรมัน รวมถึงตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย (คิดเป็น 31% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2567) โดยที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ฟื้นตัวเร็วและมีจำนวนสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้วตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2567 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่ม short-haul ราว 1.7 เท่าในระยะต่อไป กลุ่มนี้มีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีศักยภาพที่จะเพิ่มรายรับให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทย
อย่างไรก็ดี การเดินทางของนักท่องเที่ยว long-haul ปัจจุบันยังกระจุกตัวใน 6 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยาสุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และกระบี่ ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่และภูมิภาคพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้กระจายตัว และสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง จะช่วยดึงดูดให้เกิดการมาเที่ยวซ้ำหรือเพิ่มจำนวนวันพักในไทย เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบหลายเมือง (multi-citiestravel) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์การท่องเที่ยวโลกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
2. กลุ่มที่น่ากังวล ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว short-haul ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน รวมถึงอาเซียน(คิดเป็น 69% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2567) โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนโควิด-19 และช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนสูงถึง 33% ขณะที่นักท่องเที่ยว short-haul ไม่รวมจีนหดตัว 3%
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เปลี่ยนมาเป็นนักท่องเที่ยวอิสระ (free independent traveler: FIT) มากขึ้น ขณะที่เดินทางแบบกลุ่มทัวร์ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่สัดส่วนของกลุ่มทัวร์ปรับลดลงเหลือเพียง 15% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จาก 26% ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจึงมีแนวโน้มที่จะวางแผนเดินทางล่วงหน้าที่กระชั้นชิดขึ้น และได้รับอิทธิพลจาก influencer ทำให้อ่อนไหวกับประเด็นสื่อสารในโลกออนไลน์ได้ง่าย ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวจึงมีส่วนสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะใกล้กลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น
เสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนาม-ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในภูมิภาคเป็นความท้าทายอีกข้อหนึ่งสำหรับตลาด short-haul โดยญี่ปุ่นและเวียดนามได้ส่วนแบ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 22% และ 10% ตามลำดับ ขณะที่ส่วนแบ่งของไทยลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 14% ส่วนหนึ่งสะท้อนจากนักท่องเที่ยวจีนไปญี่ปุ่นและเวียดนามขยายตัวสูงถึง 78% ในไตรมาส 1 ปี 2568 นอกจากนี้ คนจีนยังท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น 26% ตามนโยบายส่งเสริมและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของรัฐบาลจีน
โดยสรุป ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน จากปัจจัยทางเศรษฐกิจของโลก ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นมองไปข้างหน้า การยกระดับความสามารถในการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นโจทย์สคัญำที่ไม่ควรมองข้าม
ที่มา: รายงานนโยบายการเงิน ไตรมาส 2 ปี 2568
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ท่องเที่ยวไทย “ไม่เหมือนเดิม“: ต่างชาติไม่มา-คนละครึ่งแค่บรรเทา?