หลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาเที่ยวในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 35.54 ล้านคนในปี 67
แต่ต่อมาในปี 68 จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเริ่มลดลงทุกเดือน สะท้อนจากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดังนี้
- เดือน ม.ค. 68 มีนักท่องเที่ยว 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เดือน ก.พ. 68 มีนักท่องเที่ยว 3.1 ล้านคน ลดลง -6.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เดือน มี.ค. 68 มีนักท่องเที่ยว 2.7 ล้านคน ลดลง -8.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เดือน เม.ย. 68 มีนักท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน ลดลง -7.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เดือน พ.ค. 68 มีนักท่องเที่ยว 2.3 ล้านคน ลดลง -13.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เดือน มิ.ย. 68 มีนักท่องเที่ยว 2.2 ล้านคน ลดลง -15.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 จะเติบโตชะลอตัวลงเหลือที่ 2.3% และปี 69 เหลืออยู่ที่ 1.7% จากภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และจำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลงโดยเฉพาะชาวจีน แม้รายรับนักท่องเที่ยวยังขยายตัวได้จากค่าใช้จ่ายต่อหัว เนื่องจากนักท่องเที่ยวในประเทศห่างไกลมีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง
ธปท. ยังได้ปรับลดประมาณการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เหลือ 35.5 ล้านคน (จากเดิม 37.5 ล้านคน) และ 38 ล้านคนในปี 69 (จากเดิม 40 ล้านคน) สอดคล้องกับที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงในระยะข้างหน้า และยังต้องจับตาปัจจัยนอกประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงจะกระกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่าวชาติด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เช่น ในปี 67 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจ 2.62 ล้านล้านบาท (นักท่องเที่ยวต่างชาติ+ไทย) คิดเป็น 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และหากนับเฉพาะนักเที่ยวต่างชาติ สร้างรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 63% ของรายได้ท่องเที่ยวไทยทั้งหมด
3 สาเหตุแรงหนุนท่องเที่ยวไทยแผ่ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทย จะกลับไปสู่ระดับก่อนช่วงโควิด-19 ที่เกือบ 40 ล้านคน เป็นเรื่องที่ท้ายทายมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นค่าใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยคาดว่าจะลดเหลือประมาณ 47,000 บาท
แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ สะท้อนจากรายได้สุทธิการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะยังเป็นบวก เพียงแต่ในระยะข้างหน้าแรงหนุนต่อเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจะลดน้อยลง เนื่องจาก
1. รายได้ตลาดต่างชาติเที่ยวไทยเผชิญการแข่งขันสูง นักท่องเที่ยวเปรียบเทียบความคุ้มค่าของการมาไทยกับประเทศอื่นอย่าง เช่น เวียดนาม หรือญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวและประเทศปลายทางที่เป็นทางเลือกอื่น แม้อัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เหตุผลหลักในการตัดสินใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนของที่พักทั่วประเทศมีทิศทางที่ฟื้นตัวและสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว
2. คนไทยยังเที่ยวต่างประเทศต่อเนื่อง โดยการเดินทางต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นมากหากเทียบกับอดีต และผู้ประกอบการออกแคมเปญกระตุ้นตลาด อีกทั้งคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการเที่ยวต่างประเทศเพราะมองว่าเป็นการสร้างประสบการณ์และใช้เวลากับเพื่อน/ครอบครัว ทั้งปี 2568 คาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศใกล้เคียงกับปีก่อน โดยคนไทยเที่ยวบางประเทศเพิ่มขึ้นมาก เช่น ญี่ปุ่น และจีน ส่วนค่าใช้จ่ายคนไทยเที่ยวต่างประเทศน่าจะยังเพิ่มขึ้น
3. แม้คนไทยจะเที่ยวในประเทศด้วยแต่ก็ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น คนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มเช่นกันแต่ใช้จ่ายระวังขึ้น โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวไทยอาจไม่เพิ่ม เนื่องจากสถานการณ์รายได้ที่ไม่แน่นอน ค่าครองชีพสูง รวมถึงในช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนผ่านโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง
ทั้งนี้จาก 3 ปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ในปีนี้ รายได้สุทธิการท่องเที่ยว (รายได้ชาวต่างชาติเที่ยวไทยรวมกับรายได้คนไทยเที่ยวในประเทศ หักลบด้วยค่าใช้จ่ายคนไทยเที่ยวต่างประเทศ) ยังคาดว่าจะเป็นบวกและจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่แรงบวกเริ่มจะลดน้อยลง โดยปี 68 คาดรายได้สุทธิการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน
ท่องเที่ยวจะฟื้นได้อย่างไร?
ในระยะเฉพาะหน้า การเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็วเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยการกวดขันกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ใส่ใจดูแลประสบการณ์นักท่องเที่ยวตลอดทริป โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ต่อยอดจากที่ล่าสุดทางการสหรัฐฯ เพิ่งปรับคำแนะนำการเดินทางให้ไทยอยู่ในระดับปลอดภัยสูงสุดและนอกจากการกระตุ้นตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศผ่านโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งในช่วงครึ่งปีหลังแล้ว ภาครัฐควรมีแผนในการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่
1. กลุ่มวันพักสั้น แต่ใช้จ่ายต่อวันสูง เช่น จีน สิงคโปร์รวมถึงเอเชียแปซิฟิกอื่นๆ (แม้ใช้จ่ายต่อวันน้อยกว่าจีนและสิงคโปร์ แต่ด้วยระยะทางที่ใกล้ ทำให้การตัดสินใจมาไทยน่าจะไม่ยาก) โดยไทยอาจทำการตลาดผ่านกระแสที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้ความสนใจ (เช่น อาร์ตทอยต่าง ๆ หมีเนย สายมู เป็นต้น) รวมถึงการเตรียมต้อนรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในช่วงปลายปีนี้
2. กลุ่มวันพักนาน แต่ใช้จ่ายต่อวันไม่มาก เช่น ยุโรป อเมริกา รับไฮซีซั่นช่วงไตรมาสสุดท้ายต่อเนื่องถึงต้นปีถัดไป ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชื่นชอบธรรมชาติและนิยมสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
3. กลุ่มวันพักนาน และใช้จ่ายต่อวันสูง เช่น ตะวันออกกลาง แม้เหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง (อิสราเอล-อิหร่าน) คงเพิ่มอุปสรรคในการเดินทางท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้เป็นตลาดศักยภาพที่ไทยควรเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น ผ่านการชูจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ การช้อปปิ้ง และการรักษาพยาบาล
สำหรับระยะถัดไป ทุกภาคส่วนคงต้องสนับสนุนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือจากการพักผ่อนมากขึ้น อาทิ กลุ่มนักธุรกิจและ Digital Nomads หลังจากที่ไทยครองอันดับ 1 ในอาเซียนในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติปี 2567 โดยมีกรุงเทพมหานครและอีกหลายเมืองที่ได้รับการจัดอันดับ อีกทั้ง กรุงเทพมหานคร ยังเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานทางไกลในปี 68
ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป จากปัจจุบันที่กว่า 95% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาไทย ยังเป็นไปเพื่อการพักผ่อน หากเทียบกับสิงคโปร์สัดส่วนการเดินทางเพื่อการพักผ่อนและธุรกิจจะอยู่ที่ประมาณ 85:15 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวรวมที่ไปสิงคโปร์จะยังน้อยกว่าที่มาไทย
ขณะเดียวกัน การเติมเต็มระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวมูลค่าเพิ่มสูง ก็เป็นแนวทางที่ควรดำเนินการทันทีไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism), การท่องเที่ยงเชิงการแพทย์ (Medical Tourism), การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism), การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นต้น เนื่องจากการใช้จ่ายต่อทริปของตลาดท่องเที่ยวเหล่านี้ถูกประเมินว่าจะมากกว่าปกติไม่ต่ำกว่า 20-30%
กลยุทธ์ดึงชาวจีนกลับมาเที่ยวไทย
ข้อมูล ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า จํานวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยลดลงสวนทางกับนักท้องเที่ยวจีนที่ไปประเทศจุดหมายอื่น ๆ ในเอเชีย โดยโจทย์สำคัญที่จะทำให้ไทยดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้ คือ 1.ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย จากผลสำรวจของ Dragon Trill ในเดือน เม.ย. 68 พบว่า นักท่องเที่ยวจีนมีความกังวลด้านความปลอดภันในไทยสูงขึ้น 51% จาก 37% ในการสำรวจเดือน ก.ย. 67 และ 2. แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ แบบ Niche destinations หรือ สถานที่ท่องเที่ยวที่ตอบสนองความสนใจเฉพาะของนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ที่มีความชอบเฉพาะด้าน โดยผลสำรวจช่วงไตรมาส 1 ปี 68 ของ China Trading Desk บ่งชี้ว่า แหล่งท่องเที่ยวแบบ Niche destinations เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมายท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีน
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้เชิญบริษัททัวร์ และ KOLs (ผู้นำทางความคิด) มาไทยเพื่อสร้างความมั่นใจและสำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในไทย นำเสนอเส้นทางและประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ รวมถึงโปรโมตการท่องเที่ยวรูปแบบเทศกาลดนตรีและอาหหารตลอดทั้งปี ซึ่งภาครัฐอาจต้องพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เช่น เพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารสำหรับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อแจ้งเหตุ หรือขอความช่วยเหลือแบบเรียลไทม์ (Real-time) และประสานกับบริษัทจัดการท่องเที่ยวออนไลน์ของจีน (OTA) ในการทำแพ็กเกจ Thailand Safe Trip ในเส้นทางใหม่ ๆ และพัฒนาช่องทาง (Feature) ให้ผู้ใช้งานรีวิวด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะ
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC), ศูนย์วิจัยกสิกรไทย