รัฐบาลกำหนดให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งใน 11 อุตสาหกรรมที่จะผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากไทยมีจุดเด่นในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยทุกปี ซึ่งในปีที่ 2566 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากกว่า 27 ล้านคน การท่องเที่ยวจึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของไทยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และในปีนี้ 2567 รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 40 ล้านคน และมีเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.5 ล้านล้านบาท
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มีมติแต่งตั้ง มาริสา สุโกศล หนุนภักดี เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาท่องเที่ยว และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว โดย มาริสา สุโกศล หนุนภักดี เป็นบุตรสาวคนโตของ กมลา สุโกศล เจ้าของธุรกิจกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ปัจจุบัน มาริสา ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมสุโกศล
ซอฟต์พาวเวอร์โอกาสทำงานร่วมกับรัฐ-เอกชน
หลังรัฐบาลก่อตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมาเกือบ 1 ปี มาริสา เชื่อว่า เป็นโอกาสของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน และยังเปิดโอกาสให้เข้าไปปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรมในแต่ละปีต้องขอใบอนุญาตจำนวนมากถึง 20-30 ใบอนุญาต เพราะฉะนั้นหากสามารถทำให้เป็นระบบอนุญาตหลัก (Super License) จะช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมขอใบอนุญาตได้ง่ายมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ได้ทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชน ทางคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว จะช่วยพยายามปิดช่องว่างในเรื่องที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ หรือทำในสิ่งที่ยังต้องมีการบูรณาการร่วมกัน เช่น ข้อมูลท่องเที่ยว โดยดึงข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปวางแผนการตลาด ยกตัวอย่าง ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เข้ากรุงเทพมหานคร จะเดินทางไปที่จังหวัดไหนต่อ หากผู้ประกอบการมีข้อมูลส่วนนี้ก็อาจจะทำการตลาดสำหรับจังหวัดนั้น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในซอฟพาวเวอร์ก็เป็นเรื่องสำคัญ คือ 1.การท่องเที่ยวจะต้องชูในการเรื่องโปรโมทอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดโลก เพื่อสร้างเสน่ห์ให้ทั่วโลกหลงใหลประเทศไทยมากขึ้น และ 2.นำ 11 อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์มาช่วยยกระดับสินค้าท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไปพื้นที่นั้น ๆ
สำหรับกลยุทธ์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทยให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายฉบับซอฟต์พาวเวอร์ มาริสา มองว่า จะต้องเน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และชุมชน และต้องมองไปถึงอนาคตด้วยว่าจะดึงชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้มากขึ้นอย่างไร ไม่เพียงพึ่งพาแต่สิ่งที่มีอยู่เท่านั้น เช่น ความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร หรือกิจกรรมในเมืองหลวง แต่ต้องการกระจายนักท่องเที่ยวออกไปสู่เมืองน่าเที่ยวอื่น ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องพัฒนาสินค้าที่แตกต่าง และสินค้าเชิงท่องเที่ยวสร้างสรรค์ให้มากขึ้น รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างโดยมนุษย์ที่มีความสร้างสรรค์ โดยในอนาคตต้องมีการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องนี้
สร้างระบบขนส่งเชื่อมเมืองท่องเที่ยวดึง นทท.จีน
กรณีนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยน้อยลง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว คาดว่า ปีนี้จะอยู่ที่ 7-8 ล้านคน แม้จะไม่สูงเท่ากับปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวจีน 11 ล้านคน แต่ก็มองเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการหาตลาดใหม่ ๆ มาชดเชย ซึ่งตอนนี้ธุรกิจในภาคโรงแรมก็มีลูกค้าที่หลากหลายประเทศมากขึ้น เช่น เกาหลี อินเดีย เวียนยาม และมาเลเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวจีนปีนี้เดินทางไปญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นมีระบบเชื่อมโยงการขนส่งที่ดี สามารถเข้าถึงเมืองท่องเที่ยวเล็ก ๆ ได้ง่าย ดังนั้นหากไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเข้าประเทศให้มากขึ้น จะต้องสร้างเครือข่ายการขนส่งในเมืองท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายไปสู่พื้นที่ท่องเที่ยวอื่นได้มากขึ้น
แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
จากกรณีที่สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยเริ่มเสื่อมโทรมมากขึ้น โดยเฉพาะปะการังที่เริ่มมีการทยอยฟอกขาว หรือ ปะการังใกล้ตาย เนื่องจากน้ำทะเลที่ร้อนมากขึ้น ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติฯจำเป็นต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ยอมรับว่า ประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยจริง แต่ยังไม่สายเกินไป หลายหน่วยงานต้องช่วยกันบูรณาการแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วยการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ชายหาดยอดนิยมมากขึ้น
ส่วนทางด้านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน ซึ่งจะพึ่งพาเพียงผู้ประกอบการอย่างเดียวไมได้ แต่ต้องมีหน่วยงานระดับจังหวัดและท่องถิ่น ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย หากแหล่งท่องเที่ยวมีมาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น ก็จะช่วยให้สร้างรายได้กับการท่องเที่ยวได้ในระยะยาวในระดับประเทศ เช่น อาจจะไปเริ่มต้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยหน่วยงานระดับจังหวัด ชุมชน และผู้ประกอบการเอกชนต้องช่วยกันทุกคน
อย่างไรก็ตามแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม ถือเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งคิดว่าการจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายกระทรวง อันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการท่องเที่ยว และอยากให้เป็นวาระหลักของหลายกระทรวงช่วยกัน โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ก็จะช่วยส่งเสริม สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เข้าใจถึงความยั่งยืน การอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรร่วมกัน
ข้อเสนอเอกชนถึงรัฐบาล
ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาอีกมาก เช่น รัฐบาลก็มีนโยบาย อิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND) ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในอาเซียน เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค และเรื่องของโลจิสติกส์ ซึ่ง 3 อย่างนี้สำคัญมากในการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ที่สำคัญกว่า คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน หากไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย หรือชีวิตความเป็นอยู่ ก็จะไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ระยะยาว เพราะฉะนั้นในเรื่องของการดูแลสภาพแวดล้อม ไม่ใช่แค่ในเชิงธรรมชาติ หรือวัฒนธรรม หากทุกฝ่ายช่วยกันก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวดีขึ้น
โอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยว อาจจะมีเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจก็สามารถที่จะพัฒนาได้ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็ทำได้ หรือการจัดงานเฟสติวัลต่าง ๆ คือ โอกาสเรามีเยอะแต่ เมื่อมาแล้วเขาจะประทับใจกลับไปเราก็ต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของการพัฒนาบริการ มาตรฐาน หรือเรื่องของความยั่งยืน และอีกเรื่องหนึ่งเรื่องของโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค ระบบขนส่งให้นักท่องเที่ยวเดินไปที่ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ก็อย่างจะฝากถึงรัฐบาล
ขณะเดียวกันอยากจะเสนอในเรื่องการแก้กฎหมาย เพราะตอนนี้กฎหมายมีความซับซ้อนมาก โดยภาคการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกฎหมายจำนวนหลายมาตรา อาจจะต้องหาทางบูรณาการกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีการประกอบธุรกิจในพื้นที่ธรรมชาติ ยกตัวอย่างในประเทศเวียดนาม โรงแรมในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งมีการลงทุนร่วมกับภาครัฐ สร้างรถไฟที่สวยงาม เพื่อพานักท่องเที่ยวเดินทางไปโรงแรมได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
แผนซอฟต์พาวเวอร์ดันหนังสือไทยให้ติดใจต่างชาติ
คนไทยเติมเกมติดอันดับโลก แต่เม็ดเงินไปไม่ถึงนักพัฒนาไทย
คิกออฟซอฟต์พาวเวอร์ ดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่