เกมได้รับความนิยมอย่างสูงในไทยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ตั้งยุควิดีโอเกมไปจนถึงเกมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน จนเกิดเป็นการแข่งขันกีฬาเกม หรือที่เรียกว่า อีสปอร์ต (Esports) ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมในไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 38,000 ล้านบาทต่อปี พบว่าคนไทยเติมเกมเป็นจำนวนมากทุกปี แต่เกมส่วนมากที่ได้รับความนิยมในไทยกลับเป็นเกมจากต่างประเทศ ทำให้รายได้ที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมนี้จึงไม่ค่อยไปถึงผู้พัฒนาเกมไทยมากนัก ดังนั้นเกมจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลต้องการที่จะผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศและต่างประเทศ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกมจำนวน 12 ราย เพื่อรวบรวมและจัดทำนโยบายและแผน พร้อมทั้งแนวทาง และมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเกมเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหาร บริษัท ดี บัสซ์ จำกัด ที่พัฒนาเกมในไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2554 บริษัทแห่งนี้สร้างผลงานเกมมาแล้วกว่า 100 เกม บนระบบ Android, iOS, Windows และ Steam โดยเกมที่ประสบความสำเร็จในไทย คือ Asura Online
แผนผลักดันเกมไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์
สิทธิชัย เล่าว่า อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย มูลค่าอยู่ที่ประมาณ 38,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคนไทยเติมเงินในเกมมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก และมากที่สุดในตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเทียบกับสัดส่วนค่าครองชีพ แต่รายได้กลับไปไม่ถึงผู้ประกอบการไทย เพราะเกมส่วนใหญ่มาจากต่างชาติทั้งหมด
ดังนั้นเรื่องแรกที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม ต้องการที่จะทำ คือ พยายามผลักดันให้เกมไทยมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีรายได้จากคนไทยที่มากขึ้น และยังสามารถส่งออกไปต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้อีกทางได้ด้วย เพราะอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงมาก
เรื่องที่สอง การผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และเกม เพราะในช่วงที่ผ่านมากฎหมายยังมีลักษณะที่ตามไม่ทันเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ คณะอนุกรรมการฯ จึงติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายฉบับนี้และกฎหมายอื่น ๆ ที่จะส่งกระทบต่ออุตสหกรรมเกม ให้ความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเกมให้มากขึ้น
เรื่องที่สาม คณะอนุกรรมการฯ มีเป้าหมายที่จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตของภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีต่างชาติจำนวนมากอยากมาที่ประเทศไทยและจัดการแข่งขันอีสปอร์ต แต่มีอุปสรรคเล็ก ๆ เช่น ต้องขอวีซ่าทำงานเพื่อเข้าไทย หรือการจัดงานอาจจะมีอุปสรรคบางประการ เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ก็พยายามขจัดปัญหาเหล่านี้
เรื่องสุดท้าย ผลักดันให้เกมสามารถสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาอื่นได้ เพราะในอีกมุมหนึ่งเกมก็เป็นสื่อ โดยสามารถนำวัฒนธรรม และองค์ความรู้ในด้านอื่น ๆ ใส่เข้าไปในเกมได้ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่นของไทยได้เพิ่มมากขึ้น
ของบประมาณเป็นอุปสรรคใหญ่
อุตสาหกรรมเกมไม่เคยได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในระดับเท่านี้มาก่อน การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกมอย่างมากจึงถือเป็นครั้งแรกของไทย และจากการได้ไปพูดคุยกับหลายหน่วยงานราชการ พบว่ามีโครงการเกี่ยวกับเกมจำนวนมากที่เขาพยายามผลักดัน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งหลังมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ หลายโครงการก็ได้รับตอบสนอง และได้รับงบประมาณที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นการเปิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมเกม ในการที่จะส่งเสริม และทำให้โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกับสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม ยอมรับว่า มีปัญหาติดขัดในการของบประมาณมาดำเนินการตามแผนซอฟต์พาวเวอร์ จึงต้องพยายามเข้าไปให้ข้อมูลกับหน่วยงานราชการให้มากขึ้น เพื่อให้ได้งบประมาณนำมาใช้ในซอฟพาวเวอร์ด้านเกม เช่น หน่วยงานที่ดูแลดิจิทัลคอนเทนต์ หากได้เข้าพูดคุย และยกตัวอย่างให้เห็นถึงศักยภาพอุตสาหกรรมเกมให้มากขึ้น หน่วยงานนี้ก็อาจจะนำงบประมาณมาใช้ในส่วนของเกมได้มากขึ้น
ขออวยพรให้งบประมาณต่าง ๆ ที่คณะกรรมการนำเสนอไป ได้ถูกเอาไปใช้จริง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว ว่าทำไมงบประมาณต่าง ๆ ที่คณะกรรมการได้นำเสนอไป ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าทุกภาคส่วนของคณะอนุกรรมการ คงต้องพยายามผลักดันกันต่อไป
อุตสาหกรรมเกมไทยขาดเงินทุน-คนมีประสบการณ์
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมไทย ยังขาดเงินทุนและขาดประสบการณ์ ต้องยอมรับว่าเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเกม ซึ่งการทำเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณ และอาจยังไม่มีคนกล้าให้งบประมาณทำจำนวนมากขนาดนั้น เพราะยังไม่เคยมีตัวอย่างที่สำเร็จออกมา และอีกจุดหนึ่งที่ขาด คือ ขาดคนมีประสบการณ์ หมายถึงคนที่มีประสบการณ์ในการผลิตเกมขนาดใหญ่ที่เคยขายได้ระดับร้อยล้านถึงพันล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าไทยยังมีคนเหล่านี้ หากไม่มีคนมีประสบการณ์ก็ต้องเริ่มจากศูนย์ ทำให้ต้องใช้เวลานาน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ ดึงคนมีประสบการณ์จากต่างประเทศให้มาผลิตเกมในไทย
เปิดงบฯ Soft Power เน้นอีเวนต์-ประชาสัมพันธ์ ขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน