ก้าวไกลอภิปรายปัญหา-เสนอวิธีแก้
วันที่ 3 ม.ค. 2567 อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาเพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยได้อภิปรายในหัวข้อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ว่างบประมาณซอฟต์พาวเวอร์นั้น ‘สะเปะสะปะ’ โดยให้เหตุผล ดังนี้
1. มีแต่งานอีเวนต์
ตั้งข้อสังเกตว่าในงบประมาณใน 11 สาขา 54 โครงการ มีการใช้งบประมาณเพื่อจัดงานอีเวนต์ถึง 59 งาน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง และขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ ไม่มีโครงการไหนเลยจากทั้ง 54 โครงการ จำนวน 5,164 ล้านบาท ที่อยู่ในเอกสารงบประมาณ 2567 ซึ่ง สส.ก้าวไกลเปรียบว่าเป็นงบทิพย์ เคยพูดกันมาก่อน แต่ไม่ปรากฎ
2. งบจริงน้อยกว่าที่โฆษณา
อภิสิทธิ์ อภิปรายต่อว่า ในงบปี 67 มีการพูดถึงโครงการซอฟต์พาวเวอร์ 19 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 319 ล้านบาท โดยที่เป็นคนละส่วนกับงบแผนงาน 11 สาขา 54 โครงการ ที่ใช้งบประมาณ 5,164 ล้านบาท จึงอาจสรุปได้ว่า งบที่คาดไว้ว่าควรจะขอทัน (5,164 ล้านบาท) เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับงบที่ขอตรงกับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ (319 ล้านบาท)
นอกจากนี้ยังไม่มีงบประมาณบางด้าน เช่น ในด้านภาพยนต์ ละครซีรีส์ ตามแผนงานจะใช้งบประมาณ 545.2 ล้าน (รวม 10 รายการ) แต่ในร่างงบประมาณ 2567 ปรากฎแค่ 53.9 ล้านบาท (รวม 6 รายการ) เท่านั้น นำไปสู่การตั้งคำถามว่างบประมาณที่ไม่ได้ขอจะไปเจียดเงินมาจากงบกลาง หรือของบจากปี 2568 เพิ่มหรือไม่
3. copy & paste รัฐบาลประยุทธ์
สส.ก้าวไกลยังอภิปรายต่อว่า หลายโครงการในเอกสารร่างงบ 2567 มีการเพิ่มคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ใส่ในชื่อโครงการ เปรียบเหมือนหน่วยงานราชการรู้รหัส ATM ที่พอใส่คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แล้ว ทำให้สำนักงบประมาณก็ให้งบประมาณ คล้ายกับยุคที่แล้วที่มีคำว่า Thailand 4.0
หรือไม่ก็เป็นการนำโครงการเดิม มาทำเนื้อหาให้รู้สึกว่ามีการใช้วัฒนธรรม โดยที่ตัวชี้วัดเหมือนเดิม อภิสิทธิ์ ได้ยกตัวอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ได้งบประมาณเพิ่ม 50% (จากเดิมประมาณ 300 ล้านบาท โดยในงบปี 67 ได้ 469 ล้านบาท) ซึ่งไม่แปลกที่ได้งบเพิ่มเพราะภาระงานมากขึ้น แต่ตัวชี้วัดกลับเหมือนเดิมทุกอย่าง
นอกจากนี้ รัฐบาลมีเวลามากถึง 114 วัน ในการเตรียมการงบประมาณนโยบายดังกล่าว แต่งบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ จำนวน 5,164 ล้าน กลับไม่ถูกบรรจุในงบ 2567 ทั้งที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลชุดนี้
4. ไม่มีงบประมาณทำตามเป้าหมายตามที่ประกาศไว้
อภิสิทธิ์ ตั้งคำถามต่อว่า เป้าหมายของแต่ละโครงการที่ตั้งเป้าว่าจะทำภายใน 100 วัน ที่เคยวางหายไปไหน เพราะไม่มีงบประมาณสนับสนุนหรือไม่ เลยไม่มีโอกาสได้ทำตามเป้าหมายที่วางไว้
5. ขับเคลื่อนไม่จริงจัง ไม่ชัดเจน
OFOS ในงบมีงบประมาณรวม 181 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายคืออบรมคนให้ได้ 20 ล้านคน แต่ในงบประมาณปี 2567 มีแค่เฉพาะในสาขาอาหาร โดยจะอบรม 10,000 คน ในปี 2567 หาตั้งสมมติฐานว่าแต่ละสาขาจะอบรม 10,000 คน จะมีคนได้รับการอบรมทั้งหมด 110,000 คน (จาก 11 สาขา) ในปี 2567 ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมาย 20 ล้านคนมาก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องงบประมาณค่าฝึกอบรม โดนอ้างอิงเอกสารโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft power คิดเป็นคนละ 7,100 บาท ถ้าอบรมตามเป้าหมายคือ 20 ล้านคน แสดงว่้าจะใช้งบประมาณรวม 142,000 ล้านคน
อภิสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า ในเอกสารงบประมาณทั้งหมดที่แสดงมาเป็นเรื่องยากมาก ที่จะทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในความเข้าใจตามที่รัฐบาลอธิบาย และได้ให้คำแนะนำ 5 ข้อ ที่รัฐบาลควรทำ ดังนี้
- ทำความเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ และทำยุทธศาสตร์ระยะยาว
- ตั้งเป้าหมาย หรือ KPIs ตามมาตรฐานสากล
- ปรับกระบวนการในการพัฒนาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์จริงจัง
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เงินทุนด้านสร้างสรรค์มากขึ้น
- ผลักดันมาตรการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ
Rocket Media Lab เผยข้อมูลงบฯ จากเอกสาร
ในขณะที่ Rocket Media Lab ได้เผยแพร่ร่างแรกงบประมาณของโรดแมปซอฟต์พาวเวอร์ ในวันที่ 5 ม.ค. 2567 โดยทำการสรุปจากเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันที่ 30 พ.ย. 2566
แม้จะมีกรอบวงเงินทั้งหมด 5,164 ล้านบาท แต่ในหากคำนวนงบประมาณจากเอกสารจะได้งบรวม 5,291,295,179 บาท (ซึ่งยังไม่รวมงบประมาณ Soft Power Forum อีก 90 ล้านบาท และ World Water Festival) โดยแบ่งงบประมาณตามสาขา ทั้ง 11 สาขาได้ดังนี้
- สาขาเฟสติวัล งบรวม 1,009.84 ล้านบาท
- สาขาอาหาร งบรวม 1,000 ล้านบาท
- สาขาท่องเที่ยว งบรวม 749 ล้านบาท
- สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ งบรวม 545.2 ล้านบาท
- สาขากีฬา งบรวม 500 ล้านบาท
- สาขาศิลปะ งบรวม 375 ล้านบาท
- สาขาเกม งบรวม 374 ล้านบาท
- สาขาแฟชั่น งบรวม 268.9 ล้านบาท
- สาขาออกแบบ งบรวม 165.94 ล้านบาท
- สาขาดนตรี งบรวม 144 ล้านบาท
- สาขาหนังสือ งบรวม 69.42 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า งบประมาณของสาขา 3 อันดับแรกสูงสุด (เฟสติวัล อาหาร และท่องเที่ยว) มีงบประมาณรวมกันมากกว่า 8 สาขาที่เหลือรวมกัน
นอกจากนี้ ทาง Rocket Media Lab ได้ทำการจัดหมวดหมู่ของกิจกรรมย่อยในแต่ละโครงการออกเป็น 8 ประเภท โดยมีจำนวนประเภทและงบประมาณรวม ดังนี้
- ด้านประชาสัมพันธ์ งบรวม 1,676.13 ล้านบาท
- ด้านอีเวนต์ งบรวม 1,244.19 ล้านบาท
- ด้านฝึกอบรม งบรวม 832.06 ล้านบาท
- ด้านผลิตผลงานหรือจัดประกวด งบรวม 504.01 ล้านบาท
- ด้านตั้งกองทุนหรือสนับสนุนเงินทุน งบรวม 300 ล้านบาท
- ด้านก่อสร้างอาคาร งบรวม 280 ล้านบาท
- ด้านบริหารโครงการหรือตั้งเครือข่ายสภาวิชาชีพ งบรวม 203 ล้านบาท
- ด้านฐานข้อมูลและองค์ความรู้ งบรวม 161.9 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า หากแบ่งประเภทเช่นนี้แล้ว หมวดกิจกรรมย่อยใช้งบประมาณมากที่สุดคือ ด้านประชาสัมพันธ์ (ซึ่งทาง Rocket Media Lab ให้นิยามว่าคือ การผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ การสื่อสารทางการตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ และการจัดทำแอปพลิเคชั่น) จำนวน 1,676,133,062 บาท (คิดเป็น 32.23% ของงบประมาณทั้งหมด) ซึ่งพบใน 29 โครงการ (จาก 54 โครงการ)
หมวดกิจกรรมย่อยที่ใช้งบประมาณสูงเป็นอันดับที่สอง คือ ด้านอีเวนต์ (การจัดงานแถลงข่าว การจัดงานเทศกาล การจัดการแข่งขัน งานแสดงสินค้า งานประกาศรางวัล โชว์กีฬา) ใช้งบประมาณรวม 1,244,192,166 บาท (คิดเป็น 23.29% ของงบประมาณทั้งหมด) พบใน 21 โครงการ แม้ตัวเลขอาจจะไม่ได้ตรงกับที่อภิสิทธิ์อภิปรายร่างงบประมาณ 2567 เนื่องจากเกณฑ์การแบ่งประเภทที่อาจแตกต่างกัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่างบประมาณถูกใช้ในด้านประชาสัมพันธ์และด้านอีเวนต์รวมกันเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด
นอกจากนี้งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ ถูกนำไปใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกในสาขาอาหาร ท่องเที่ยว และเฟสติวัล ซึ่งเป็น 3 อันดับแรกของสาขาที่ใช้งบประมาณมากที่สุดเช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
- งบฯ Soft Power ฉบับ 30 พ.ย. 66 [ข้อมูลดิบ]: Link