ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ก.พ. 2568 ระบุว่า เศรษฐกิจไทย เดือน ก.พ. 2568 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยปัญหาเดิมยังคงมาจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังติดลบต่อเนื่องจากการแข่งขันรุนแรงของสินค้าต่างประเทศ แต่ปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามาล่าสุด คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในเดือน ก.พ. 68 มีจำนวนลดลงมากถึง 13.9% จากเดือนก่อนหน้า (QoQ) เหลืออยู่ที่ 3.11 ล้านคน ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยเดือน ม.ค. 68 มี 3.70 ล้านคน, เดือน ธ.ค. 67 มี 3.62 ล้านคน และเดือน พ.ย. 67 มี 3.15 ล้านคน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.64 – ก.พ.68 : ข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ชาวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นที่ลดลงมากสุด เหลือ 371,542 คน จากเดือนก่อนหน้านี้ที่มี 662,779 คน ธปท.ระบุสาเหตุมาจากยอดที่สูงในเดือน ม.ค. ที่มีเทศกาลตรุษจีน และบางส่วนยังกังวลด้านความปลอดภัย รวมถึงเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตลดลง อีกทั้งรัฐบาลจีนก็มีมาตรการสนับสนุนให้ท่องเที่ยวในประเทศอย่างเข้มข้นมากขึ้น จึงทำให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนมาไทยน้อยลง ส่วนนักท่องเที่ยวที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นคือญี่ปุ่นอยู่ที่ 120,130 คน และรัสเซียอยู่ที่ 230,600 คน
ในช่วงวันที่ 28 มี.ค.68 เวลาประมาณ 13.20 น. ไทยเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ใจกลางประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนมีระดับทีร่รุนแรงส่งผลมาถึงประเทศไทยตอนบนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ทั่วทั้งเมืองตกอยู่ในความอลหม่าน รถไฟฟ้าหยุดชะงัก การจราจรติดขัดทั่วทั้งเมือง อีกทั้งเกิดเหตุตึกอาคารถล่ม และอาคารอีกหลายหลังที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้คนไทยและต่างชาติเกิดความตื่นตระหนกเป็นจำนวนมาก
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวดังกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะผลกระทบได้ส่งผ่านหลายช่องทางทั้งทรัพย์สินและกิจกรรมที่หยุดชะงัก อีกทั้งตัวเลขความเสียหายยังมีเข้ามาต่อเนื่อง จึงต้องขอดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อน แต่เหตุแผ่นดินไหวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้พฤติกรรมภาคธุรกิจและประชาชนเปลี่ยนไป โดยสิ่งที่ ธปท.กำลังจับตาอยู่ คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังมีความกังวลอยู่บ้าง ทำให้ชะลอเข้าไทย สะท้อนจากการยกเลิกตั๋วเครื่องบิน และที่พัก
ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้เร็วมากแค่ไหน ซึ่งหากเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ปกติผลกระทบในลักษณะดังกล่าวจะใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งยอดการยกเลิกเข้าไทยก็ไม่ได้มีจำนวนเยอะเกินมากกว่าปกติ
ด้านการบริโภคภาคเอกชน จะชะลอลงช่วงสั้น เพราะประชาชนต้องซ่อมแซมอาคารที่เสียหาย ขณะที่สภาพคล่องจะกลับมาจากการเคลมประกัน มีภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหว เป็นผลกระทบระยะสั้นในช่วงแรกแรก ดังนั้นรายได้ของประชาชนจะไม่ได้รับผลกนระทยบในวงกว่าง เพราะภาคธุรกิจไม่หยุดชะงัก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบริโภคจะได้รับผลกระทบระยะสั้นและฟื้นตัวต่อไปได้
ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร และยังมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบเศรษฐกิจอยู่อีก คือ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่จะรู้ผลในวันที่ 2 เม.ย.68 ซึ่งต้องประเมินผลกระทบเศรษฐกิจต่อไป
ในด้านนโยบายการเงิน การประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี ยังคงให้น้ำหนักเศรษฐกิจในแง่ความเสี่ยงระดับหนึ่งแล้ว แต่จากข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้น (แผ่นดินไหว) จะนำมาประมวล เพื่อพิจารณาดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 30 เม.ย. 68
ส่งออกเพิ่มขึ้นสวนทางการผลิตลดลง
เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกตัวหนึ่ง คือ ภาคการส่งออก โดยในเดือน ก.พ. สินค้าส่งออกของไทยปรับเพิ่มขึ้น 4.9% จากเดือนก่อนหน้า และ 13.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หากไม่รวมทองคำจะเพิ่มขึ้น 13.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า การส่งออกที่ดีขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากหมวดสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าเป็นการเร่งส่งออกไปก่อนที่จะมีมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ถัดมาเป็นหมวดสินค้าคอมพิวเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และอุปกรณ์สื่อสาร ถัดมาหมวดสินค้าโลหะมีค่า ตามการส่งออกสินค้าแพลตตินัม เป็นผลจากการลดภาษีนำเข้าของอินเดีย แต่ล่าสุดอินเดียได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนดังกล่าวแล้ว ถัดมาหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปจากการส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซียและยางดิบไปที่จีน และสุดท้ายหมวดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าตามการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯและเวียดนาม สำหรับสินค้าที่ส่งออกที่ลดลงได้แก่ หมวดสินค้าปิโตรเลียม และหมวดสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
อย่างไรก็ตามการส่งออกที่ดีขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในไทยให้ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการบางกลุ่มใช้วิธีระบายสต็อกสินค้าแทนการผลิตใหม่ จึงทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. ปรับลดลง 1% จากเดือนก่อนนหน้า และ 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยการผลิตที่ลดลงคือฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) เคมีภัณฑ์ และปิโตรเลียม ส่วนการผลิตที่เพิ่มขึ้นคือ ไอซีและเซมิคอนดักเตอร์ (IC & Semiconductor) รวมถึงกลุ่มยานยนต์ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถสันดาป แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ
เนื่องจากการระบายสินค้าของบางผู้ผลิตในบางกลุ่มสินค้า และการแข่งขันรุนแรงจากสินค้าต่างประเทศ ที่ยังคงมีอยู่ จึงทำให้การผลิตไม่ตอบสนองต่ออุปสงค์ที่ยังพอไปได้

จากกราฟทางซ้าย แสดงถึงภาคการส่งออกไทยปรับดีขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า สวนทางกับกราฟทางขวามือ แสดงภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงเกือบทุกหมวดสินค้า ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แจกเงินหมื่นผู้สูงอายุไม่กระตุ้นบริโภค
เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่าผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 ผ่านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบพร้อมเพย์ ใช้งบประมาณ 40,000 ล้านบาท ล่าสุดวันที่ 28 มี.ค.68 โอนสำเร็จแล้ว 2.98 ล้านคน โดยรัฐบาลตั้งความหวังให้เงินดังกล่าวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ผ่านการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน แต่ปรากฎว่าผ่านไป 1 เดือน กลับไม่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นอย่างที่คาด
จากข้อมูล ของ ธปท. พบว่า การบริโภคภาคเอกชน เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือนก่อน ปัจจัยหลักจากหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นหลักสอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าและจำหน่ายเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น แต่ยอดจำนวนสินค้าอุปโภคบริโภคกลับปรับลดลง ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนทรงตัว ส่วนสินค้าคงทนปรับลดลงตามยอดขายรถยนต์นั่ง และยอดจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เศรษฐกิจไทยยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะแม้รัฐบาลได้ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วกว่าแสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่อาจช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้มากอย่างที่รัฐบาลหวังไว้ อีกทั้งไทยเพิ่งจะเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยว และยังมีปัจจัยภายนอกจากนโยบายขึ้นภาษีสินค้าทรัมป์ 2.0 ที่จะประกาศออกมา 2 เม.ย.68 ซึ่งไทยติดอยู่ในรายชื่อที่จะโดนเป็นกลุ่มแรก กลายเป็นว่าตอนนี้ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทั้งภายในและนอกต่างประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่รัฐบาลจะต้องรับมือและเร่งแก้ไข ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะสายเกินแก้
จับตาผลกระทบสงครามการค้า-ท่องเที่ยว
ธนาคารกรุงศรี ประเมินว่ามาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ และการฟื้นตัวช้าของภาคท่องเที่ยว นับเป็นปัจจัยความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ได้แรงหนุนชั่วคราวจากภาคส่งออกที่โตสูง ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนชะลอตัวลง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 14% ส่วนภาคท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยชะลอลงเหลือ 3.12 ล้านคน (-6.9% ) ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอตัวจากการลดลงของการบริโภคในหมวดสินคงทนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวแรงขึ้นเป็น -3.9% ในเดือนกุมภาพันธ์
แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการเติบโตของภาคส่งออกที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี ล่าสุดสหรัฐฯประกาศจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้น 25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน แม้ไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ของไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 1.6% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยลดลงจากกรณีฐานฯ -0.05%
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ เดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อย่างจริงจังกับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับตนเอง ไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับมาตรการภาษีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ อัตราภาษีเฉลี่ยของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 5-6% และเมื่อรวมกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งอยู่ที่ 7% อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้าจากไทยสูงถึง 13% อาจกลายเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
การประคองการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวให้มีความต่อเนื่องหลังจากการฟื้นตัวช้าของนักท่องเที่ยวจีน ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเราเที่ยวด้วยกันในช่วงโลว์ซีซั่น (หลังเทศกาลสงกรานต์) เบื้องต้นกำหนดไว้ 1 ล้านสิทธิ์ รายละไม่เกิน 3,000 บาท โดยรัฐช่วยจ่าย 40% สำหรับเที่ยวเมืองหลัก และ 50% สำหรับเมืองรอง (ไม่รวมตั๋วเครื่องบิน) รวมถึงอาจพิจารณาต่อมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน แต่อาจลดจำนวนวันลงจาก 90 วันเหลือ 30 วัน (ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ 10-15 วัน)
ขณะที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงยังคงต้องรอติดตามการประเมินความเสียหายรวมถึงอาจมีผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ เบื้องต้นสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ชี้ว่าผลกระทบในระยะสั้นจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากความกังวลเรื่องปลอดภัย โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะลดลง 10-15% หรืออาจจะมากกว่านี้ในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- คนจีนเที่ยวไทยต่ำรอบ 15 เดือน จับตา Amazing Thailand สะดุด
- ปัญหาเดิมท่องเที่ยวไทย “แหล่งเที่ยว-รายได้”กระจุกตัว
- บทเรียนนโยบายแจกเงินหมื่น ไม่ตอบโจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ