โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่สถานศึกษานำเอามาบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของโรงเรียนตามข้อสั่งการของรัฐบาล ในเชิงปฏิบัติแม้จะได้รับการส่งเสริมทางนโยบาย ทั้งมาตรการลดหย่อนภาษี ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ยังขาดการสนับสนุนที่ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่าง ง่าย รวดเร็ว และยั่งยืน
Policy Watch ร่วมกับ หลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบายรุ่นที่ 2 ณ อาคาร KX กรุงธนบุรี จัดเวทีนโยบายสาธารณะ “อนาคตพลังงานสะอาดในสถานศึกษา : เรียนรู้จาก Solar Rooftop” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด วิเคราะห์โอกาสและอุปสรรค พร้อมสรุปออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพและสามารถต่อยอดไปจนถึงการขายไฟคืนได้
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.พงศกร คชาพงศ์กุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, สมเด็จ เจริญผล โรงเรียนวัดอินทาราม, วรากร ราชธา โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏ กาญจนบุรี และจารุวรรณ พิพัฒน์พุทธพันธ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
จุดเริ่มต้นของแผนพัฒนาพลังงานชาติ
ประเทศไทยตั้ง 2 เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศ โดยปักหมุดมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือความต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 และตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065
กระทรวงพลังงาน (พน.) จึงจัดทำ “แผนพลังงานชาติ” (National Energy Plan ; NEP) ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินนโยบาย
การจัดทำแผนพลังงานชาติครั้งล่าสุดนี้ เป็นการนำแผนพลังงานชาติทั้ง 5 แผนที่มีอยู่ มาบูรณาการและรวมกันไว้ภายใต้แผนเดียว ซึ่งประกอบด้วย
- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)
- แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
- แผนอนุรักษ์พลังงาน (PEP)
- แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
- แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ซึ่งมีกรอบของการดำเนินงาน 4 ประเด็น คือ
- การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในโรงไฟฟ้าใหม่ให้ได้มากกว่า 50% รวมถึงการวางเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานเข้ามาผสมผสานในการใช้งาน เพื่อให้ระบบไฟฟ้าเสถียรมากขึ้น
- การส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มากขึ้น 30% ภายในปี ค.ศ. 2030
- การลดการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30%
- การส่งเสริมการใช้พลังงานครอบคลุม 5 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านไฟฟ้า, น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการอนุรักษ์พลังงาน ตามแนวทาง “4D1E” ซึ่งประกอบด้วย Digitalization, Decarbonization, Decentralization, De-Regulation และ Electrification
พลังงานแสงอาทิตย์อยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่เรียกว่า “AEDP” ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังร่างแผน “AEDP 2024” อยู่ และกำหนดเป้าหมายแต่ละส่วนเพิ่ม เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภาคพื้นดิน บนหลังคา ทุ่นลอยน้ำ ฯลฯ โดยตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี ค.ศ. 2037 รวมกว่า 70,000 เมกะวัตต์ ขณะที่แผนเดิมตั้งเป้าอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ จึงนับว่าแผนใหม่นี้เป็นเป้าหมายที่ท้าทายประเทศไทยมาก
แนวโน้มการใช้ “โซลาร์เซลล์”
ข้อมูลปี ค.ศ. 2023 ประเทศไทยติดตั้งโซลาร์เซลล์และใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 9,000 กว่าเมกะวัตต์ แบ่งตามประเภทการใช้งานเป็น ภาคพื้นดิน 6,400 เมกะวัตต์ บนหลังคา 2,400 เมกะวัตต์ และทุ่นลอยน้ำ 1,000 เมกะวัตต์
ศึกษาเฉพาะการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ “บนหลังคา” พบติดตั้งเพื่อใช้งานเอง ลงนามสัญญาซื้อขายระหว่างภาคเอกชนโดยตรงเรียกว่า “Independent Power Supplied” และเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าโซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต
วัตถุประสงค์ของการติดตั้งดังกล่าว ที่จริงแล้วเป็นหนึ่งในนโยบายของ “กระทรวงพลังงาน” เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานราชการ สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวช่วยในการประหยัดพลังงานและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการขายไฟคืน ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ระบบไฟฟ้าของประเทศ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่สามารถทำได้มากขึ้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 นโยบายคือ
- มาตรการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ซึ่งปัจจุบันเปิดรับซื้อใน 3 ส่วน คือ การรับซื้อในโซลาร์ฟาร์ม ในอัตรา 6 บาท/หน่วย, การรับซื้อในโซลาร์ฟาร์มและระบบกักเก็บพลังงาน ในอัตรา 2.83 บาท/หน่วย และการรับซื้อในโครงการโซลาร์ประชาชน ในอัตรา 2.20 บาท/หน่วย
- นโยบายรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว
- มาตรการซื้อขายไฟจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA หรือการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง
- มาตรการส่งเสริมตลาดคาร์บอน รวมถึงการใช้กลไกทางภาษี เพื่อสนับสนุนการใช้อุปกรณ์พลังงานทดแทน ส่งเสริมพลังงานสะอาดของประเทศ โดยงดเว้นภาษีนิติบุคคล
- มาตรการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายศูนย์ร่วมกับการใช้แบตเตอร์รี่ เช่น ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในอาคารหน่วนงานราชการ
นอกจากมาตรการส่งเสริมดังกล่าว กระทรวงพลังงานยังทำหน้าที่ “ให้ความรู้” และ “ให้เงินเปล่า” สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งแบบเต็มจำนวนและให้บางส่วน
บทเรียนจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในโรงเรียน
เห็นบทบาทหน้าที่ของ “กระทรวงพลังงาน” แล้ว ในส่วนของ “ผู้ใช้งานภาคราชการ” กลับยังพบอุปสรรคหลากหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่อง “เงินให้เปล่า” ที่ “สมเด็จ เจริญผล” โรงเรียนอินทาราม ในฐานะโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เล่าให้ฟังว่า ได้รับการสนับสนุนมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ทั้งหมด
โดยจุดเริ่มต้นที่ต้องติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป มาจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนมาปีละ 3 ล้านบาท เพื่อใช้บริหารจัดการภายในโรงเรียนในทุก ๆ ด้าน รวมถึงค่าไฟด้วย ซึ่งไม่เพียงพอ เพื่อจะประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ไม่รู้ว่าการติดตั้งจะผิดระเบียบราชการหรือไม่ จึงสอบถามไปยัง กฟผ.
แต่ครั้นจะมอบอำนาจให้ กฟผ.จัดการทั้งหมด การจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ได้ กฟผ.ต้องถามกรมบัญชีกลางก่อนว่าสามารถทำสัญญาแบบดังกล่าวได้หรือไม่ และต้องถามกระทรวงการคลังอีกว่าผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจจะเซ็นสัญญาไหม
มากกว่านั้น เมื่อจะติดตั้งยังต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงพลังงาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อให้เช็กว่าพื้นที่ตรงนี้หากติดตั้งแผงโซลาร์ไป จะกระทบกับโครงสร้างอะไรหรือไม่ กว่าจะทำเรื่องเอกสารเสร็จก็ใช้เวลา
กระทั่ง ค.ศ. 2021 โรงเรียนได้เซ็นสัญญากับ กฟผ.เรียบร้อย แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยรัฐบาลต้องต่อสู้กับโควิด-19 ทุกกระทรวงต้องเจียดงบประมาณกลับคืนมาให้รัฐบริหารจัดการ จึงต้องเซ็นสัญญาใหม่อีกครั้ง ในปี ค.ศ. 2022
“ติดตั้งเสร็จพบว่าช่วยให้ประหยัดได้จริง ในรอบ 9 เดือนก็กว่า 500,000 บาท ถ้าถึงสิ้นปีนี้จะประหยัดไป 700,000 บาท แต่ในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม ระบบผลิตไฟฟ้าทำงานอยู่ตลอด ทำให้มีเงินกลับคืนมาด้วย แต่โรงเรียนไม่กล้าใช้ เพราะไม่รู้ว่าต้องคืนกระทรวงการคลังหรือไม่ แต่ตอนนี้ก็เอามาใช้เป็นกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนกลางของโรงเรียน”
สมเด็จ เจริญผล โรงเรียนวัดอินทาราม
ขณะเดียวกัน “วรากร ราชธา” โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏ กาญจนบุรี ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ในฐานะสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งประสบปัญหาเรื่อง “เงินจำกัด” เช่นเดียวกัน แม้จะได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ด้วยความจำเป็นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและกลัวนักเรียนจะเป็นฮีทสโตรก (Heat Stroke) ทำให้ห้องเรียนต้องเปิดแอร์ตลอด ประกอบกับทางโรงเรียนอยากส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะและประสบการณ์ความรู้ที่ดีและหลากหลายจึงจัดกิจกรรมเยอะ จึงมีค่าใช้จ่ายในการดูแลห้องค่อนข้างสูง และต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดค่าใช้จ่าย
แต่หนึ่งอย่างที่ดีกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. คือ อว. มีวิศวกร สถาปนิก ดังนั้นการคำนวณโครงสร้างและความปลอดภัยในการติดตั้งสามารถทำเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่ในส่วนการขออนุญาตกระทรวงพลังงานและการลงนามบันทึกข้อตกลงกับ กฟผ.ให้ช่วยดูแลการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมด ยังต้องดำเนินเรื่องไปตามกระบวนการของราชการ ซึ่งใช้เวลา
“ส่วนในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอมจะขายไฟได้หรือไม่ ตอนนี้ระเบียบราชการก็ยังไม่ชัด ปัจจุบันทำได้แค่มีไฟฟ้ากลับคืนเข้าระบบ แต่ไม่ได้ใช้แค่นั้นเอง”
วรากร ราชธา โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏ กาญจนบุรี
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในสถานศึกษา “ผศ.พงศกร” วิเคราะห์ว่าเป็นการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างชัดเจน
“นโยบายของรัฐส่วนใหญ่ส่งเสริม เช่น ลดหย่อนภาษี ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ไม่มีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน ถ้าจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง รัฐต้องให้งบประมาณติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ถ้วนทั่ว หรืออย่างน้อยสนับสนุนค่าใช้จ่าย 30% ก็ยังดี แล้วกระบวนการขอติดตั้งก็ต้องผ่านหลายกระบวนการ กว่าจะได้ใช้งานก็ช้ามาก”
ผศ.พงศกร คชาพงศ์กุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ยังมองว่ารัฐ “คิดสั้น” ถ้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปหรือระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมาก ๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึง “แบตเตอรี่” ตัวสำรองไฟไว้ใช้ในยามเย็นหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อไร้แสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง คำถามคือที่รัฐบอกว่าจะพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่งคงและยั่งยืนด้วยพลังงานสะอาด จะเป็นไปได้อย่างไร
อีกทั้งในเรื่อง “สายส่ง” ใครจะดูแล เพราะเมื่อทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ แต่ถ้าต่างคนต่างหน่วยงาน ต่างส่งกระแสไฟเข้ามาในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ แล้วไม่มีใครดูแลให้มีเสถียรภาพ ไฟฟ้าภายในประเทศคงตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยง
“การจะขายไฟคืน แปลว่าคุณต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้มากพอ แล้วมีส่วนที่เหลือด้วย แต่ตอนนี้ถ้าใช้โซลาร์รูฟท็อปอย่างเดียว ไม่มีแบตเตอรี่ คุณก็จะขายได้แค่ช่วงกลางวัน แล้วสายส่งในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ที่ส่วนใหญ่มาจากพลังงานฟอสซิล เมื่อพลังงานสะอาดเข้ามา มันคงปนกันไปหมด ดังนั้นรัฐต้องกำหนดให้ชัดด้วยว่าใครจะดูแลเรื่องสายส่ง”
ผศ.พงศกร คชาพงศ์กุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
4 ข้อสังเกต ก่อนไปสู่การขายไฟคืน
อนาคตพลังงานสะอาดในสถานศึกษา “จารุวรรณ พิพัฒน์พุทธพันธ์” มองว่ายังมีสิ่งที่กระทรวงพลังงานยังต้องปรับและผลักดันต่อ โดยสิ่งที่กระทรวงกำลังทำคือ เปิดให้ผู้ลงทุนทั้งเอกชนหรือการไฟฟ้า เข้ามาร่วมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับหน่วยงานราชการ ในลักษณะที่ผู้ลงทุนจะต้องจัดหาเงินทุนเอง และสำรวจออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษาระบบให้ รวมถึงเสนอส่วนลดค่าไฟให้กับหน่วยงานราชการ โดยที่ส่วนลดนั้นต้องต่ำกว่าค่าไฟ และเมื่อครบระยะเวลาตามสัญญา ผู้ลงทุนจะต้องถอนคืนระบบและเคลียร์พื้นที่
“กระทรวงพลังงานมองว่าการเปิดกว้างให้เอกชนและการไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วม จะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ สร้างโอกาสในการแข่งขัน ขณะที่หน่วยงานราชการก็อาจได้รับส่วนลดราคาค่าไฟมากขึ้นด้วย”
จารุวรรณ พิพัฒน์พุทธพันธ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
ส่วน การขายไฟคืน กระทรวงฯ พยายามส่งเสริมอยู่แล้ว แต่มี 4 ข้อสังเกตที่อยากให้หน่วยงานราชการหาคำตอบให้ได้ก่อนดำเนินการคือ
- หน่วยงานต้องตรวจสอบระเบียบการจัดตั้งองค์กร สามารถซื้อขายพลังงานสะอาดได้หรือไม่ หรือมีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอย่างไร
- ผู้ซื้อคือใคร
- ผลิตและขายได้คุ้มเสียหรือไม่ ในการซื้อขายไฟต้องใช้บุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบมาตรฐาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้วย ดังนั้นต้องคำนึงว่ากระแสไฟฟ้าที่เราผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จะสร้างรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลที่สามหรือไม่
- ถ้าขายได้ รายรับที่ได้มาจะนำไปบริหารจัดการต่ออย่างไร เพราะหน่วยงายราชการ ถ้ามีรายได้ โดยข้อเท็จจริงจะต้องคืนให้หลวง
ทั้งนี้หากหน่วยงานราชการอยากติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน อย่างไร สามารถยื่นของบประมาณได้ที่ “กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) กระทรวงพลังงาน
“โครงการโซลาร์ประชาชน กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน โรงเรียนหรือหน่วยงานราชการอื่นคงเข้าโครงการไม่ได้ แต่มีกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่สามารถยื่นของบประมาณได้ แต่ไม่ได้เฉพาะแค่การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ยังรวมถึงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนอื่นด้วย”
จารุวรรณ พิพัฒน์พุทธพันธ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
ภายใต้แรงกดดันจากข้อสั่งการของรัฐบาล พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะประหยัดค่าไฟและขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนได้ โดยเฉพาะ “โซลาร์รูฟท็อป” ที่รองรับกับการติดตั้งในพื้นที่สถานศึกษา การมีนโยบายทั้งเชิงส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงการคำนึงปัจจัยแวดล้อมอื่นอย่างครอบคลุม เช่น แบตเตอรี่ และสายส่ง จะช่วยพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดของโรงเรียนทั่วประเทศมีประสิทธิภาพ และในอนาคตอาจต่อยอดไปสู่การขายไฟคืนสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนและประเทศได้