กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ตรวจพิจารณาเรียบร้อบแล้วทั้งหมด ซึ่งต่อมา ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 ต.ค.67 ก็ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงเรื่องดังกล่าวจำนวนหลายฉบับด้วยกัน
ในร่างกฎกระทรวงแต่ละฉบับนั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับวัสดุนิวเคลียร์ทั้งสิ้น มีตั้งแต่เรื่องใบอนุญาตให้บุคคลธรรมดาครอบครองยูเรเนียมได้ การแจ้งระยะเวลาในการครอบครอง หลักเกณฑ์ปฏิบัติในความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ การกำหนดประเภทวัสดุกัมมันตรังสีและประเภทเครื่องกำเนิดรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาต การกำหนดลักษณะสถานที่จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสี เครื่องมือตรวจวัด และแผนรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการต่อระยะเวลาข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ไปอีก 30 ปี หลังข้อตกลงฉบับเก่าสิ้นสุดลงเมื่อ มิ.ย. 67 ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการจัดซื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ร่างกฎกระทรวงวัสดุนิวเคลียร์ 9 ฉบับ
รายละเอียดร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ ที่ ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว มีดังนี้
ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทวัสดุนิวเคลียร์ที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นการกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ลงมาโดยน้ำหนัก และมีปริมาณตั้งแต่ 20 ตันขึ้นไป เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามารถนำวัสดุนิวเคลียร์ดังกล่าวมาใช้ในการประกอบธุรกิจ
โดยยูเรเนียมด้อยสมรรถนะดังกล่าว สามารถนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีและใช้เป็นที่กำบังรังสีในกิจการอื่น ๆ ได้ เช่น การประกอบธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี เป็นต้น
ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทวัสดุนิวเคลียร์ที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญคือ เป็นร่างกฎกระทรวงวัสดุนิวเคลียร์ที่ผู้ดำเนินการไม่ต้องขอรับใบอนุญาต พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้วัสดุนิวเคลียร์ ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครอง ใช้ นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน แต่ต้องแจ้งปริมาณที่ครอบครองต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้แก่
- พลูโทเนียมที่มีพลูโทเนียม 238 ไม่เกินร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก ปริมาณไม่เกิน 15 กรัม
- พลูโทเนียมที่มีพลูโทเนียม 238 เกินร้อยละ 80 โดยน้ำหนักทุกปริมาณ
- ยูเรเนียม 233 ปริมาณไม่เกิน 15 กรัม
- ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป โดยน้ำหนัก ปริมาณไม่เกิน 15 กรัม
- ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป แต่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก ปริมาณไม่เกิน 1 กิโลกรัม
- ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 สูงกว่าปริมาณในธรรมชาติแต่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ลงมา โดยน้ำหนัก ปริมาณน้อยกว่า 10 กิโลกรัม
- ยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ปริมาณไม่เกิน 10 ตัน
- ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ขึ้นไป แต่ไม่เกินร้อยละตามปริมาณในธรรมชาติ โดยน้ำหนัก ปริมาณไม่เกิน 10 ตัน
- ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ลงมาโดยน้ำหนัก ปริมาณไม่เกิน 20ตัน
- ไอโซโทปยูเรเนียมอื่น ปริมาณไม่เกิน 10 ตัน
- ทอเรียม ปริมาณไม่เกิน 20 ตัน
ร่างกฎกระทรวงการแจ้งการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการแจ้งการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ที่มีวัสดุนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง จะต้องยื่นคำขอแจ้งการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีไว้ในครอบครองซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ดังกล่าว ขณะเดียวกันได้กำหนดวิธีการตรวจสอบและการออกใบรับแจ้งการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ ได้แก่
1.กรณีเอกสารและหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้ยื่นคำขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ เอกสารและหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนดังกล่าว
2.กรณีเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องและสามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วน หากผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติมเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป และให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบ
3.กำหนดหน้าที่ผู้แจ้งต้องจัดทำรายงานแสดงปริมาณการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ โดยต้องเสนอรายงานดังกล่าวต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทุกรอบ 1 ปี นับแต่วันที่ออกใบรับแจ้ง
4.กำหนดวิธีการในการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบรับแจ้ง ซึ่งต้องไม่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของวัสดุนิวเคลียร์ที่มีไว้ในครอบครอง โดยให้ยื่นคำขอแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูลพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานที่ระบุไว้ในแบบคำขอต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว
5.การขอรับใบแทนใบรับแจ้งกรณีที่ใบรับแจ้งชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย โดยให้ผู้แจ้งยื่นคำขอรับใบแทนใบรับแจ้งพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน ต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบถึงการชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย ทั้งนี้ ใบแทนใบรับแจ้งให้ใช้แบบใบรับแจ้ง โดยระบุคำว่า “ใบแทน” ด้วยตัวอักษรสีแดงไว้ด้านบนของใบรับแจ้ง
6.การขอยกเลิกการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ที่ผู้แจ้งมิได้ครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ตามที่ได้แจ้งไว้ โดยให้ผู้แจ้งยื่นคำขอยกเลิกการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติภายใน 30 วันนับแต่วันที่มิได้ครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ดังกล่าว
ร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. … โดยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตและผู้มีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ต้องปฏิบัติ ซึ่งหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มีดังนี้
หลักเกณฑ์แผนความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ต้องระบุสถานการณ์ที่เป็นไปได้โดยพิจารณาจากการประเมินภัยคุกคาม หรือภัยคุกคามที่ออกแบบเพื่อรับมือที่อาจทำให้การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ หรือการก่อวินาศกรรมกระทำได้สำเร็จ แผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบการคุ้มครองทางกายภาพและแผนเผชิญเหตุที่สามารถตอบโต้การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบและการก่อวินาศกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสามารถปฏิบัติตามแผนได้
หลักเกณฑ์วิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัย สำหรับวัสดุนิวเคลียร์หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่กำหนดไว้ในระบบการคุ้มครองทางกายภาพ ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ และผู้รับใบอนุญาตต้องทบทวนและทดสอบวิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินว่าวิธีการดังกล่าวยังคงมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องดูแลอุปกรณ์และเครื่องมือที่กำหนดไว้ในวิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
หลักเกณฑ์ระบบการคุ้มครองทางกายภาพ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องออกแบบระบบการคุ้มครองทางกายภาพให้สอดคล้องกับระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม โดยคำนึงถึงลักษณะพิเศษของการดำเนินการการป้องกันอัคคีภัย การป้องกันอันตรายจากรังสี และมาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการออกแบบระบบการคุ้มครองทางกายภาพ ต้องคำนึงถึง
- การป้องกันมิให้ผู้ซึ่งประสงค์จะเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ หรือการก่อวินาศกรรมเข้าถึงเป้าหมาย
- การป้องกันมิให้บุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์มีโอกาสในการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบหรือการก่อวินาศกรรม
- การป้องกันสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จากการโจมตีระยะไกล
หลักเกณฑ์พื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ กำหนดรับใบอนุญาตต้องกำหนดพื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนที่ 1 พื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่องกีดขวางหรืออุปกรณ์ป้องกันการเข้าถึงวัสดุนิวเคลียร์ที่เป็นเอกเทศ มีทางเข้าออกทางเดียว ส่วนที่ 2 พื้นที่หวงห้าม ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่อง กีดขวางอย่างน้อย 2 ชั้น มีทางเข้าออกเท่าที่จำเป็นและมีการรักษาการทุกแห่ง มีการลาดตระเวนตรวจตราเป็นระยะ ๆ ส่วนที่ 3 พื้นที่หวงกัน ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่องกีดขวางล้อมอยู่โดยรอบ มีระบบสัญญาณเตือนภัยเพื่อเตือนให้ทราบเมื่อมีการเข้าใกล้
หลักเกณฑ์สถานีเตือนภัย กำหนดให้ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่หวงห้าม โดยมีหน้าที่เฝ้าระวัง บันทึก และประเมินสัญญาณเตือนภัย ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน และติดต่อสื่อสารกับหน่วยกำลังตอบโต้และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการทดสอบ ประเมินประสิทธิภาพ และซ่อมบำรุง อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารและอุปกรณ์เตือนภัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
หลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิผ่านเข้าออกพื้นที่ในสถานประกอบการนิวเคลียร์ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจสอบและตรวจค้นบุคคลที่จะผ่านเข้าพื้นที่หวงกัน เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม การเข้าถึงโดยมิชอบ หรือการนำวัสดุ หรืออุปกรณ์ต้องห้ามเข้าไปในพื้นที่หวงกัน พื่อป้องกันการลักลอบนำวัสดุนิวเคลียร์ออกไปจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจค้นบุคคลทุกคนที่ออกจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาดอย่างน้อย 2 รอบ นอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจสอบสิ่งของที่จะผ่านเข้าไปในพื้นที่หวงกัน และห้ามอนุญาตให้นำสิ่งของใด ๆ เข้าไปในพื้นพื้นที่หวงกัน ยกเว้นสิ่งของที่กำหนดไว้แล้วในตารางงานของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และมิใช่สิ่งของต้องห้าม
หลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในสถานประกอบการนิวเคลียร์ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย บัญชีควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ และระบบสนับสนุนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อยต้องสามารถรับมือได้ตามภัยคุกคามที่ออกแบบเพื่อรับมือ
หลักเกณฑ์การค้นหาและเอากลับมาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ กำหนดผู้รับใบอนุญาตและผู้มีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ต้องจัดให้มีวิธีการที่ทำให้ตรวจพบการสูญหายของวัสดุนิวเคลียร์ได้โดยเร็ว และต้องรายงานการสูญหายต่อ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ทันทีที่ทราบถึงการสูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ รวมถึงต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมสำหรับค้นหาวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายไปโดยเร็ว
ทั้งนี้เมื่อพบวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ ให้แจ้ง ปส. ทันทีที่พบ และจัดการดูแลรักษาวัสดุนิวเคลียร์นั้นให้อยู่ในสภาพเดิมในสถานที่ที่พบ และต้องให้ความร่วมมือกับสำนักงานและหน่วยงานอื่นของรัฐในการค้นหาและการเอากลับมา รวมถึงการสืบสวนและการดำเนินคดี
ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทวัสดุกัมมันตรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทเครื่องกำเนิดรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
ในร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทเครื่องกำเนิดรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้วัสดุกัมมันตรังสีประเภทที่ 4 ตามตารางท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 19 วรรคสอง หรือเรียกว่า วัสดุกัมมันตรังสีที่มีโอกาสเป็นอันตราย (unlikely to be dangerous) ซึ่งมีค่ากัมมันตภาพน้อย (บุคคลธรรมดาสามารถดูแลรับผิดชอบให้มีความปลอดภัยได้) และมีลักษณะการใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ การทดสอบหรือสอบเทียบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสี การวัดความหนาแน่นกระดูก และการรักษาต้อตา โดยทั้งหมดให้เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตผลิต สามารถมีไว้ในครอบครองหรือใช้หรือนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านวัสดุกัมมันตรังสีได้
ขณะที่ในร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทเครื่องกำเนิดรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตทำมีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้าหรือส่งออกได้ ดังนี้ 1.เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นต่ำกว่า 1 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครืองกำเนิดรังสีที่มีอุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไฟฟ้าต่ำกว่า 1 เมกะโวลต์ ที่มีลักษณะการใช้งานไม่ปิดมิดชิดหรือใช้งานกับคน เช่น เครื่องฉายรังสีเอกซ์ชนิดตื้น เครื่องฉายรังสีเอกซ์ชนิดลึก เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพรังสีทางอุตสาหกรรม เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพรังสีทางการศึกษาวิจัย เครื่องเอกซเรย์ตรวจสอบความปลอดภัย 2.อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องกำเนิดรังสีตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงว่าด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องกำเนิดรังสี
ร่างกฎกระทรวงศักยภาพทางเทคนิคของผู้ขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี พ.ศ. …. โดยเป็นการกำหนดศักยภาพทางเทคนิคของผู้ขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี เพื่อให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีต้องมีศักยภาพทางเทคนิคเพียงพอในการดูแลความปลอดภัยของวัสดุกัมมันตรังสีที่ขออนุญาต ซึ่งมีสาระสำคัญ คือกำหนดคำนิยามของ “ผู้ขอรับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี และกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีสถานที่จัดเก็บหรือสถานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี
โดย ลักษณะของสถานที่จัดเก็บหรือสถานที่ประกอบกิจการฯ
- ต้องมีโครงสร้างที่มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถป้องกันระดับรังสีให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและสามารถรองรับน้ำหนักเครื่องมือที่บรรจุวัสดุกัมมันตรังสี และส่วนประกอบทั้งหมด
- ต้องไม่มีวัสดุอันตรายอื่น และอาหารเก็บรวมอยู่และมีมาตรการหรือระบบป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยที่อาจเกิจขึ้นได้ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว
- ต้องได้รับการประเมินและออกแบบตามมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางรังสีของการใช้ประโยชน์วัสดุกัมมันตรังสีนั้นและเป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 91
- ต้องมีการประเมินความปลอดภัยทางรังสี โดยบริเวณที่ปฏิบัติงานทางรังสีต้องมีปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับ ไม่เกิน 400 ไมโครซีเวิร์ตต่อสัปดาห์และบริเวณที่มีผลกระทบถึงประชาชนทั่วไปต้องมีปริมาณรังสีที่ประชาชนทั่วไปได้รับไม่เกิน 20 ไมโครซีเวิร์ตต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ห้ามมิให้ตั้งสถานที่จัดเก็บหรือสถานที่ประกอบกิจการวัสดุกัมมันตรังสีประเภทโรงงานฉายรังสีทางอุตสาหกรรมภายในระยะ 500 เมตร จากเขตพระราชฐาน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อาจเปลี่ยนแปลงได้
ในกรณีที่สถานที่จัดเก็บหรือสถานที่ประกอบกิจการวัสดุกัมมันตรังสีประเภทโรงงานฉายรังสีทางอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ใกล้เขตบ้านจัดสรรหรือที่ดินจัดสรรเพื่อการพักอาศัย ตึกแถวหรือบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย หรืออาคารชุดพักอาศัย ศูนย์การค้าโรงเรียนหรือสถานศึกษา วัดหรือศาสนสถาน สถานพยาบาล โบราณสถาน สถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐหรือเขตอนุรักษ์และเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีความมั่นคงปลอดภัยทางรังสีและมาตรการด้านความปลอดภัยทางรังสีตามกฎกระทรวงความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561 และกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางรังสี พ.ศ.2561
กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับชนิดของรังสีที่เกิดขึ้นจากวัสดุกัมมันตรังสีและลักษณะการใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับแผนป้องกันอันตรายทางรังสี ดังต่อไปนี้
- เครื่องสำรวจรังสีหรือเครื่องเฝ้าระวังปริมาณรังสี โดยต้องได้รับการสอบเทียบมาตรฐานของเครื่องสำรวจรังสีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งตรวจสอบสภาพ ตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดตามคู่มือการใช้งาน
- อุปกรณ์วัดปริมาณรังสีประจำตัวบุคคล โดยต้องประเมินการได้รับรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีทุกคนเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน กรณีผู้ปฏิบัติงานทางรังสีสำหรับงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ให้ประเมินการได้รับรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานรังสีเป็นประจำทุกเดือน
- มาตรวัดรังสีแบบพกพาตามประเภทของวัสดุกัมมันตรังสี
- เครื่องมืออื่น ๆ ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับแผนป้องกันอันตรายทางรังสี
กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีในระดับและประเภทของการขอรับใบอนุญาต (ใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้)
กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีแผนป้องกันอันตรายจากรังสีสำหรับการปฏิบัติงาน โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามที่กำหนด เช่น สายการบังคับบัญชาด้านความปลอดภัยทางรังสี การจัดแบ่งพื้นที่ในการปฏิบัติงานและมาตรการควบคุมเข้าออกพื้นที่อย่างชัดเจน มาตรการความปลอดภัยทางรังสี แผนงาน และขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรังสีน้อยที่สุด แผนการตรวจวัดรังสี แผนการดำเนินงานเมื่อเลิกใช้วัสดุกัมมันตรังสี
กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีแผนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามประเภทของวัสดุกัมมันตรังสีตามกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561
กำหนดให้ในกรณีที่มีการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีวิธีการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ปลอดภัยและวิธีปฏิบัติกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินระหว่างการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 91 และ มาตรา 99
ร่างกฎกระทรวงการโอนใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี วัสดุนิวเคลียร์ สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ และสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี พ.ศ. …. โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอโอนใบอนุญาตและการโอนใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี วัสดุนิวเคลียร์ สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ และสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี ประกอบด้วย
กำหนดให้การโอนใบอนุญาตและการรับโอนใบอนุญาตให้กระทำได้กับใบอนุญาต ได้แก่
- ใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านวัสดุกัมมันตรังสี
- ใบอนุญาตทำ มีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้า หรือส่งออกเครื่องกำเนิดรังสี
- ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านวัสดุนิวเคลียร์
- ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้ง เพื่อก่อสร้าง เพื่อดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
- ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้ง เพื่อก่อสร้าง เพื่อดำเนินการสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี
ทั้งนี้ การโอนใบอนุญาตแต่เพียงบางส่วนจะกระทำมิได้
กำหนดให้การยื่นคำขอ การแจ้งหรือส่งข้อมูลเอกสารหลักฐาน การติดต่อ หรือการออกเอกสารใด ๆ และการชำระค่าธรรมเนียม ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หากมีเหตุไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมาที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือส่งโดยวิธีการอื่นตามที่เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กำหนดให้ผู้รับโอนใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และต้องมีศักยภาพตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยศักยภาพสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตในแต่ละประเภท เช่น ต้องไม่เป็นคนวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ต้องมีศักยภาพทางเทคนิคเพียงพอในการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยของวัสดุกัมมันตรังสีที่ขออนุญาต
กำหนดให้ผู้ประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้ยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยใบอนุญาตที่จะโอน และเอกสารหลักฐานตามที่ระบุในแบบคำขอโอนใบอนุญาต
- กรณีการพิจารณาการโอนใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอ ข้อมูล เอกสารหลักฐาน ถ้าถูกต้องครบถ้วนให้ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอ ในกรณีที่เลขาธิการมีคำสั่งอนุญาตให้แจ้งคำสั่งให้ผู้ยื่นคำขอทราบ เพื่อให้มาชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วัน และให้จัดทำใบอนุญาตใหม่และส่งให้ผู้รับโอนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน แต่หากผู้ยื่นคำขอไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลา ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ ส่วนในกรณีที่เลขาธิการมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอทราบพร้อมเหตุผล รวมทั้งแจ้งสิทธิและระยะเวลาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการให้ผู้ยื่นคำขอทราบด้วย ทั้งนี้ การพิจารณาคำขอรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 45 วัน
- ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นชอบตามความเห็นของเลขาธิการว่าควรอนุญาต ให้เลขาธิการมีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งให้ผู้ยื่นคำขอทราบเพื่อให้มาชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วัน และให้จัดทำใบอนุญาตใหม่และส่งให้ผู้รับโอนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน แต่หากผู้ยื่นคำขอไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลา ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ ส่วนในกรณีที่คณะกรรมการมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้เลขาธิการมีคำสั่งไม่อนุญาต และแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอทราบพร้อมเหตุผล รวมทั้งแจ้งสิทธิและระยะเวลาอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการให้ผู้ยื่นคำขอทราบด้วย ทั้งนี้ การพิจารณาคำขอรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1 ปี
สุดท้ายกำหนดให้ผู้รับโอนต้องวางหลักประกันและการดำเนินการเกี่ยวกับหลักประกันภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต และให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติคืนหลักประกันที่ผู้โอนได้วางไว้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหลักประกันจากผู้รับโอน โดยใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้รับโอนมีอายุเท่าที่เหลืออยู่ของใบอนุญาตเดิม
ร่างกฎกระทรวงความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในการขนส่ง พ.ศ. … ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อให้ผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ซึ่งประสงค์จะขนส่งวัสดุดังกล่าว และผู้รับขนส่งวัสดุดังกล่าว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้การขนส่งนั้น ๆ เป็นไปอย่างปลอดภัย ได้แก่
1. กำหนดหน้าที่ของผู้ส่งของ ก่อนการขนส่งต้องปฏิบัติ เช่น การจำแนกประเภทวัสดุที่ขนส่ง การเลือกใช้แบบหีบห่อให้เหมาะสมกับประเภทวัสดุที่ขนส่ง การจ่าหน้าและติดป้ายหีบห่อ และการเตรียมเอกสารกำกับการขนส่ง รวมถึงจะต้องพร้อมแสดงใบรับแจ้งการขนส่งและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อผู้รับขนส่งก่อนการขนวัสดุขึ้นและการถ่ายวัสดุลง เป็นต้น
2. กำหนดหน้าที่ของผู้รับขนส่ เช่น การตรวจสอบเอกสาร การจัดวางของที่ขนส่ง และการตรวจสอบการปนเปื้อน การวัดระดับรังสีและ ค่ากัมมันตภาพ ดัชนีการขนส่ง และดัชนีความปลอดภัยภาวะวิกฤติ การติดป้าย และกรณีผู้รับขนส่งไม่สามารถส่ง
3. กำหนดระดับของมามาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย โดยแบ่งตามความอันตรายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือกากกัมมันตรังสี ซึ่งมี 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับจัดการแบบรอบคอบ 2) ระดับพื้นฐาน และ 3) ระดับขั้นสูง รวมถึงกำหนดการแจ้งเหตุ และการรายงานปัญหาต่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีและกากกัมมันตรังสี
4. กำหนดวิธีการป้องกันการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบในระหว่างการขนส่ง โดยผู้รับขนส่งต้องจัดให้มีการคุ้มครองทางกายภาพต่อการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบในระหว่างการขนส่งเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เช่น การลดระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งให้น้อยที่สุด การปกป้องวัสดุนิวเคลียร์ในระหว่างการขนส่ง การประเมินภัยคุกคาม และการใช้ระบบการขนส่งที่มีมาตรการคุ้มครองทางกายภาพตามการประเมินภัยคุกคาม หลีกเลี่ยงเส้นทางขนส่งในพื้นที่ที่มีภัยธรรมชาติ การก่อความไม่สงบ หรือมีภัยคุกคาม เป็นต้น
5. กำหนดวิธีการค้นหาและการนำกลับมาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่สูญหายหรือถูกลักไปในระหว่างการขนส่ง เช่น จัดให้มีการตรวจสอบหีบห่อที่บรรจุระหว่างขนส่งและขณะส่งมอบ และจัดให้มีมาตรการ สำหรับกรณีไม่พบหีบห่อในขณะอยู่ในความควบคุมของผู้รับขนส่ง และต้องดำเนินการทันทีเมื่อเกิดเหตุกรณีดังกล่าว และผู้ส่งของ ผู้รับขนส่ง และผู้รับของซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ ต้องให้ความร่วมมือในการค้นหาและการนำกลับมาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ รวมทั้งให้ความร่วมมือ
ในการสอบสวนและดำเนินคดี
การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ โดยเป็นการทดแทนความตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯและรัฐบาลไทยด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางพลเรือนฉบับเดิม ที่ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.57 ซึ่งความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้รัฐมนตรี อว. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้ลงนามความตกลงฯ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม
ขณะที่ความตกลงฯดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติระหว่างสหรัฐฯและประเทศไทย และมีสารัตถะของความตกลงฯ เป็นการกำหนดแนวทางจัดหาวัสดุนิวเคลียร์ให้กับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของประเทศไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในด้านการจัดซื้อแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสามารถส่งคืนแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วให้กับสหรัฐฯได้ รวมถึงช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของประเทศไทยในการดำเนินการด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯในภาพรวม
แผน PDP2024 ผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ฉบับใหม่ หรือ PDP2024 ที่กระทรวงพลังงานของไทยได้จัดทำขึ้น ก็มีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นเป็น 51% ในปี 2580 (ค.ศ.2030) ตามเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
รายงานของสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ ในงานเสวนา “มองต่างมุม SMRs for net Zero” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและมุมมองต่อร่าง PDP 2024 ที่จัดขึ้นโดย อว. เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 ศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ระบุว่า ไทยเคยมีแนวคิดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 30 ปี และกฟผ.ได้มีการเตรียมความพัฒนาบุคลากรมาโดยตลอด
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะมอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากเคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อนและมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ตามรายงานของ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) ส่วนสถานจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง (ยูนิตละขนาด 300 เมกะวัตต์) กระทรวงพลังงาน เล็งพิจารณาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เพราะเป็นพื้นที่ไม่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ และคาดว่าจะเริ่มศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภายในปลายปี 2567 หากการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม.
PDP2024 เร่งลงทุนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สำหรับแผน PDP 2024 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ เมื่อเดือน มิ.ย.67 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาเพียง 12 วัน และอยู่ระหว่างพิจารณาแผนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจาก 30% เป็น 40% เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอที่ไทยได้ให้ไว้กับประชาคมโลก จากนั้นจะรวบรวมกับแผนพลังงานอื่น 5 แผน รวมเป็นแผนพลังงานชาติ (NEP) และเปิดรับฟังความเห็นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามแผน PDP 2024 ก็มีเสียงท้วงติงจากภาคประชาชนและนักวิชาการจำนวนมาก ที่แสดงความกังวลในหลายประเด็น เช่น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเกินจำเป็น กระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การคำนวณไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินจริงจนอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในอนาคต เป็นต้น
แผน PDP2024 คาดการณ์ใช้ไฟเกินจริง ดันค่าไฟแพง
ฟ้องนายกฯ แผน PDP2024 ฟังความเห็นไม่รอบด้าน
PDP 2024 ดันเอกชนลงทุน เมินโซลาร์รูฟท็อปครัวเรือน
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคุ้มค่าหรือไม่?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 ถึงความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยไทยไม่ได้มีข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยี แต่เป็นข้อจำกัดในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากต้นทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (LCOE) จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2556 (ค.ศ.2013) ประมาณ 2.5 – 3 เท่า และในอนาคตแนวโน้มต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมจะลดลงเรื่อย ๆ จากการวิจัยและพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงด้านนี้เป็นหลัก ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น จะไม่ได้รับการสนับสนุนการวิจัย ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ Fusion ซึ่งประเด็นด้านต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โรงฟ้านิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาพิจารณาเป็นพลังงานทางเลือกในประเทศไทย
ดังนั้นแม้หากมองเฉพาะปัจจัยต้นทุนและพลังงานทางเลือก พลังงานนิวเคลียร์อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในไทย ณ ตอนนี้เนื่องจากต้นทุนที่สูงกว่าพลังงานหมุนเวียน 2 – 3 เท่า และในปัจจุบันยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่มีส่วนเกินมากกว่า 34% อยู่แล้ว ซึ่งตามข้อมูลในปี 2565 (ค.ศ.2022) ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 49,099 เมกะวัตต์ สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 32,250 เมกะวัตต์ หรือเกินความต้องการมากถึง 34%