ไทยกำลังจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 เป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้า ที่จะต้องจัดหาไฟฟ้าระยะยาว15-20 ปี ด้วยการขยายการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศ
แผนดังกล่าวจะต้องคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้การลงทุนขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้
PDP 2024 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน
ร่างแผน PDP 2024 ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นสัดส่วน 51% ในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ.2580) เพื่อรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ.2593) หรือปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืน ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่ไทยได้ประกาศต่อชาวโลกไว้ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ท่ามกลางปรากฏการณ์โลกร้อนที่กำลังรุนแรงมากขึ้น
ในงานสัมมนา “PDP 2024 เร่ง หรือ รั้ง พาไทยสู่เป้าพลังงานสะอาด” โดย อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ (TDRI) นำเสนอบทวิเคราะห์ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ที่อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ว่า ร่างแผน PDP 2024 แตกต่างจากฉบับ 2018 ทั้งประเด็นที่ก้าวหน้าจากฉบับเดิม และประเด็นที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของประเทศ ในส่วนประเด็นที่เป็นบวก พบว่าภาครัฐได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดมากขึ้น จากเดิมเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอยู่ที่ 36% เป็น 51% ภายใน ปี 2037
แม้จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่จะดีกว่านี้ได้ โดยผลักดันให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าระยะเวลาที่วางเอาไว้ เนื่องจากระหว่างการไปสู่ปี 2037 มีหลายภาคส่วนต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เร็วกว่านี้ค่อนข้างมาก เช่น ในปี 2026 (พ.ศ.2569) เป็นปีที่เริ่มบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคส่งออก ขณะที่ภาคการผลิตขององค์กรเอกชน เช่นกลุ่ม RE100 มีความต้องการพลังสะอาด 100% ในการผลิตสินค้าภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) สัดส่วน 100 %
ขณะนี้เริ่มเห็นภาพแล้วว่าอุตสาหกรรมบางแห่งแบ่งฐานการผลิตบางส่วนจากที่เคยอยู่ในไทยเพียงที่เดียวไปยังเวียดนามด้วย เพราะเวียดนามมีไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากกว่าไทยมาก ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอย่างดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ก็เกิดความลังเลในการลงทุน เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญคือประเทศไทยต้องสามารถจัดสรรไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% ให้กับบริษัทเหล่านี้ได้
ถ้าเราไม่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า แล้วมีการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตเกินมาตรฐานที่กำหนดจากยุโรป ก็ต้องเสียภาษีตามมาตรการ CBAM ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าเราอาจจะต้องลดมูลค่าการส่งออกลง เพราะสินค้าไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของราคาได้ โดยตัวอย่างมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2564 หากลดไปเพียง 10% จากมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 4 ล้านล้านบาทในปี 2564 จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ 4 แสนล้านบาท
คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟสูงเกินจริง
นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ ได้ตั้งข้อสังเกตแผน PDP 2024 ที่มีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ตัวเลขที่นำมาใช้คาดการณ์ไม่อัพเดท เช่น ใช้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้จีดีพีที่คาดการณ์สูงกว่าปัจจุบันค่อนข้างมาก “ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความพันธ์กับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ภาครัฐควรจะมีความระมัดระวังหยิบชุดข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด”
เพราะการคาดการณ์จีดีพีสูงเกินจริง ส่งผลให้การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นสูงเกินจริงตามเช่นกัน ตามมาด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น และไม่มีการใช้งาน โดยยังพบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง กำลังการผลิตรวมกันถึง 6,300 เมกะวัตต์ แต่ในขณะที่ปัจจุบันไทยมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยประมาณครึ่งหนึ่งจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด
แม้การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มจะทำให้ค่าไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงขึ้น แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ก็ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่ง 16 ปีที่ผ่านมา ต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายประมาณ 5.33 แสนล้านบาท ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายนี้สุดท้ายจะถูกส่งผ่านมายังประชาชนในรูปของค่าไฟ
นำเข้าก๊าซฯมากขึ้น กระทบค่าไฟพุ่ง
มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สูงขึ้น เพราะจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม 8 แห่ง รวม 6,300 เมกะวัตถ์ และจากการที่อ่าวไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งทำให้มีภาะต้นทุนที่สุงขึ้น เพราะราคาของ LNG มีความผันผวนตามตลาดโลก ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ราคา LNG จะสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้สูงขึ้นตาม นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการสร้าง LNG เทอมินัลเพิ่มเติมด้วย คือ LNG Terminal 3 (สถานีขนส่งก๊าซธรรมชาติ) มีต้นทุนก่อสร้างอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท โดยต้นทุนดังกล่าวถ้าไม่มีการจัดสรรต้นทุนดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ก็จะถูกส่งผ่านมาในรูปของค่าไฟเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปัจจุบันกำลังจะหมดอายุสัญญา ราคาที่รับซื้ออยู่ตอนนี้ค่อนข้างถูก เหตุใดไม่ต่อสัญญาเดิม แต่กลับสนับสนุนให้สร้างเขื่อนใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม 3 แห่ง รวม 3,500 เมกะวัตถ์ ซึ่งส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งเป็นการทำลายระบบนิเวศใหม่ และราคารับซื้อแพงขึ้น 20 สตางค์ต่อกิโลวัตต์
สำหรับการปรับหลักเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับ (LOLE) ให้ต่ำลงที่ 0.7 วันต่อปี ในแผน PDP ฉบับใหม่ ที่นำมาใช้แทนปริมาณไฟฟ้าสำรองนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป เนื่องจากในร่างแผน PDP 2024 มีการคำนวนเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับตลอดแผนที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว เช่น โอกาสการเกิดไฟดับที่สูงที่สุดอยู่ที่ปี 2032 ที่ 0.68 วันต่อปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับทั้งแผนที่ 0.7 วันต่อปี เพราะจะทำให้เกิดการสำรองไฟฟ้าเพิ่มอย่างไม่จำเป็น กระทบต่อค่าไฟในท้ายที่สุด
การจะพิจารณาว่าการปรับหลักเกณฑ์ 0.7 วันต่อปี เหมาะสมหรือไม่ เราอาจจะเปรียบเทียบได้กับประเทศเพื่อนบ้านของเรา สิงค์โปร์ ( 3 วันต่อปี) และมาเลเซีย (1 วันต่อปี) จะเห็นได้ว่าเกณฑ์เดิมของเราที่ 1 วันต่อปี (PDP 2018) ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องการสำรองไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่อาจจะมีข้อแย้งว่าแต่ละประเทศมีประปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ชนิดของเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน อาจจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง
ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ถูกกว่าก๊าซฯ
ในร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้ สามารถทำให้ค่าไฟลดลงกว่านี้ได้อีก หากมีการใช้ไฟฟ้าพลังสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตถูกลงอย่างชัดเจนในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง 87% และต้นทุน แบตเตอรี่ ลดลง 85%) นอกจากนี้จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคต เพราะต้นทุนจะลดลงจากปัจุบบันอีกกว่า 50%
สำหรับประเทศไทยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่ ปัจจุบันมีต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติแล้ว ดังนั้นภาครัฐควรรีบเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่ให้มากขึ้น
ตั้งเป้าระบบไมโครกริดต่ำเกินไป
นอกจากนั้นมีการจำกัดเป้าหมาย Smart Microgrid (ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็ก) และ Demand Response (การตอบสนองต่อมาตรการเพิ่มศักยภาพในการใช้ไฟ) ที่ต่ำเกินไป โดย Smart Microgrid ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 เมกะวัตต์ และ Demand Response ตั้งเป้าหมายที่ 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมาก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายไฟฟ้า และช่วยเสริมเสถียรภาพการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด
พลังงานไฮโดรเจนต้นทุนผลิตสูง
แต่ในขณะเดียวกันกลับมีความพยายามในการนำเทคโนโลยี เช่น ไฮโดรเจน (Hydrogen) แม้จะมีประโยชน์กับไทยอย่างมากในอนาคต แต่เหมาะสมกับภาคการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ เพราะจากผลการศึกษาของ SCB EIC พบว่า ในแผน PDP 2024 กำหนดให้นำไฮโดรเจน 5% ผสมกับก๊าซธรรมชาติภายในปี 2037 จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 9% ราคาค่าไฟสูงขึ้น 1.6 – 1.7% และแผน EGAT ของ กฟผ. กำหนดให้นำไฮโดรเจน 20% ผสมกับก๊าซธรรมชาติ ภายในปี 2040 จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 28% ราคาค่าไฟสูงขึ้น 5.4%
ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นแต่คาดว่าภาครัฐอาจจะยังไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนต่อราคาค่าไฟที่เสี่ยงจะสูงขึ้นหากมีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงผลกระทบในเรื่องความกังวลของประชาชนต่อพลังงานการใช้นิวเคลียร์ด้วย
ยึดติดกับระบบผู้ซื้อรายเดียว ไร้ภาคปชช.ร่วม
อารีพร ระบุอีกว่า ร่างแผน PDP2024 ยังคงยึดติดกับระบบ Enhanced Single Buyer (รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้) ทำให้โครงการโซล่าร์ภาคประชาชน ไม่ได้อยู่ในร่างแผน PDP ทั้งที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้เป็นอย่างมาก มีเพียงการระบุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จะอยู่ที่ 17% เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่า 17%นี้ จะมาจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้แผนนี้ไม่มีการพูดคุยถึงเรื่อง Net Metering (การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง) หรือ การปรับราคารับซื้อไฟฟ้าต่อหน่วยที่ 2.20 บาทให้สูงขึ้น
รวมทั้งไม่มีการระบุถึงการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด และการให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรง โดยการเปิดสิทธิให้เอกชน สามารถเชื่อมต่อระบบสายส่งไฟฟ้าของภาครัฐ (Third Party Access หรือ TPA) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเร่งการเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ประเทศไทย และทำให้ราคาค่าไฟเป็นไปตามกลไกตลาดที่เป็นที่รับได้ของผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า
ส่วนบทบาทการผลิตไฟฟ้านั้น ร่างแผน PDP 2024 ไม่ได้แยกบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างชัดเจนว่าสัดส่วนการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวนเท่าใด ซึ่งการแยกบทบาทชัดเจนจะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถวางแผนในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอทีดีอาร์ไอปรับแผน PDP 2024
1. ภาครัฐต้องเร่งปรับสมติฐานการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่
- เพื่อชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติและพลังงานน้ำเพิ่มเติม และ ทบทวนสัญญาให้เอกชนร่วมรับผิดชอบต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับโครรงการที่ยังไม่มีการลงนามสัญญาการซื้อขายระยะยาว เพื่อเป็นการช่วยภาระหนี้ให้กับ กฟผ.
- โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เสนอให้ต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเดิมแทนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม และจะเป็นการช่วยค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน เพราะราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเดิมค่อนข้างต่ำ เช่น โครงการไชยะบุรี และน้ำเทิน มีราคารับซื้อต่ำกว่า 2 บาท แต่โรงไฟฟ้าใหม่ (โครงการปากแบง) มีราคารับซื้ออยู่ที่ 2.92 บาท ซึ่งสูงกว่าโรงไฟฟ้าเดิม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (ราคารับซื้อ 2.8 บาท)
- ปรับบทบาทโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จากปัจจุบันในรูปแบบโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load Power Plan) ให้เป็นสัญญาสำหรับโรงไฟฟ้าในรูปแบบความต้องการใช้ไฟฟ้าระดับสูง (Peak Load Power Plant) ที่ใช้สำหรับเพิ่มเสถียรภาพระหว่างที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูง เพื่อลดการนำเข้า LNG
- ทบทวนเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับใหม่ โดยไม่ต้องปรับลดเกณฑ์ให้เหลือ 0.7 วันต่อปี แต่ให้คงเกณฑ์เดิมไว้ที่ 1 วันต่อปี
2. เพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ให้มากขึ้น เพื่อเร่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทบทวนการใช้ไฮโดรเจน และ พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก
- เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่ เนื่องจากต้นทุนถูกลดลงมาก
- สนับสนุนการลงทุนในโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็ก และการตอบสนองต่อมาตรการเพิ่มศักยภาพในการใช้ไฟ เพื่อเสริมเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสดงอาทิตย์
- นำเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องการกับลงทุนในไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า ไปพัฒนาแบตเตอรี่ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็ก หรือ การตอบสนองต่อมาตรการเพิ่มศักยภาพในการใช้ไฟ เพื่อให้การใช้พลังงานสะอาดในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น
3. ลดการยึดติดกับระบบที่รัฐต้องเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทำให้เอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ และเร่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และกำหนดบทบาทชัดเจนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
- ระบุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้ชัดเจน
- อนุมัติระบบ Net Metering (การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง) หรือปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing (ระบบการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน กับค่าขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ให้การไฟฟ้า และนำเงินค่าขายไฟฟ้ามาหักลบกัน) โดยราคารับซื้อควรสูงกว่าราคาปัจจุบันที่ 2.2 บาทต่อหน่วน และควรเร่งกระบวนการอนุมัติการรับซื้อให้เร็วขึ้น
- ระบุถึงบทบาทของผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย (SSP) ให้ชัดเจน ว่าให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเท่าไหร่ และภาครัฐต้องผลิตไฟฟ้าสัดส่วนเท่าไหร่
- เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด โดยการเปิดสิทธิให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าด้วยค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายสามารถเข้ามาแข่งขันกันผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย และจะทำให้ราคาค่าไฟเป็นไปตามกำไกตลาดที่เป็นธรรมทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า
โดยสรุปจะเห็นว่าภาพรวมของร่างแผน PDP 2024 เป็นตัวรั้ง มากกว่าช่วยเร่งให้ไทยรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขันรวมถึงการบรรลุเป้าพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเน็ตซีโร่ได้ โดยยังมีหลายประเด็นที่สามารถปรับเพื่อให้เกิดการเร่งไปสู่พลังงานสะอาดได้มากกว่านี้ จึงอยากให้ภาครัฐนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาว่ามีประเด็นไหนที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำกับความหมกเม็ดของ “พลังงานสะอาด” ในร่างแผน PDP2024
- PDP ฉบับใหม่เริ่มใช้ พลังงานไฮโดรเจนในปี 2030
- PDP2024 เร่งลงทุนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
- ไทยต้องลดใช้ก๊าซ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน