แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของไทย หรือ PDP 2024 เพิ่งปิดรับฟังความคิดเห็น เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งแผนนี้จะเป็นการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวไปจนถึงปี พ.ศ. 2580 โดยจะกำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าในประเทศผ่านการวางแผนล่วงหน้า ทั้งในด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้า และการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ จากการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศในอนาคต อีกทั้งแผนฉบับนี้จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 51% และก๊าซธรรมชาติ 49%
ทั้งนี้ PDP 2024 จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยทุกคน เพราะการลงทุนต่าง ๆ ในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า จะมีต้นทุนที่ส่งผ่านไปถึงภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในระยะยาว
เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน ออกจดหมายเปิดผนึกเสนอถึงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยเรียกร้องให้มีการทบทวนกระบวนการและร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างฯดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนมิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้แถลงการณ์ระบุถึงปัญหาของกระบวนการรับฟังคิดเห็นว่า ใช้เวลารับฟังเพียง 12 วัน สำหรับแผนที่ต้องใช้ระยะงานยาวนับ 10 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ยังจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงช่องทางออนไลน์ ซึ่งไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้เปิดกระบวนการรับฟังความเห็นที่รอบด้านอย่างแท้จริง ทั้งในมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค
สำหรับร่างแผน PDP2024 สร้างภาระให้ค่าไฟแพง เสี่ยงทำระบบไฟฟ้าไทยไม่มั่นคง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) เนื่องจากร่างแผน PDP ฉบับนี้ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินรวมสูงถึง 48% ผลการศึกษาหลายแห่งพบว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ สัดส่วนของก๊าซฟอสซิลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องลดลงเหลือน้อยกว่า 20% ในปี พ.ศ.2593
พลังงานไฟฟ้าที่ระบุในร่างแผน PDP ฉบับนี้อ้างว่าเป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานน้ำจากเขื่อนและพลังงานนิวเคลียร์ ยังไม่สามารถถือว่าเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เนื่องจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมหาศาล และพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงและมีต้นทุนการจัดการกัมมันตรังสีที่สูง ซึ่งโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร และวิถีชุมชนทั้งในประเทศและภูมิภาคอันประเมินค่ามิได้
แถลงการณ์ยังชี้ถึงปัญหาในร่างแผน PDP ฉบับนี้ ที่คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริง ดันให้มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว และต้นทุนทั้งหมดในการสร้างโรงไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านมายังค่าไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และยากต่อการแก้ไข
ในร่างแผน PDP มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูงมหาศาลจำนวนมาก เช่น
- วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลขนาดใหญ่ 8 โรง รวมกำลังการผลิต 6,300 เมกะวัตต์
- การสร้างท่าเทียบเรือก๊าซ LNG สำหรับการนำเข้าก๊าซ ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 66,000 ล้านบาท
- การเพิ่มสัดส่วนไฮโดรเจนเพื่อผสมกับก๊าซฟอสซิลในโรงไฟฟ้า แม้ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
- ต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งยังคงสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น
- เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่มีต้นทุนสูงกว่า 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ที่ระบุในช่วงปลายแผนสูงถึง 43% ซึ่งราคาของ LNG ในตลาดโลกมีความผันผวนสูง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา และในอนาคต ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับความเสี่ยงในด้านราคาที่ไม่แน่นอน
ขณะเดียวกันการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว ทำให้ประเทศไทยต้องมีทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้านราคา และความผันผวนสูง อาจพาประเทศเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงาน
ในด้านการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 และ Net Zero 2065 โดยร่างแผน PDP ฉบับนี้ ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์บนหลังคาที่มีศักยภาพสูงแต่ยังมีสัดส่วนไม่มากพอ
เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน เสนอ 5 ข้อต่อการแก้ไขร่าง PDP 2024 ดังนี้
1. ให้เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน ลดต้นทุน และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อรองรับการผันผวนของการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน
4. หยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และระงับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนค่าไฟฟ้า
5. อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ กระจายอำนาจในการผลิตไฟฟ้าส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แผน PDP2024 คาดการณ์ใช้ไฟเกินจริง ดันค่าไฟแพง
PDP ฉบับใหม่เริ่มใช้ พลังงานไฮโดรเจนในปี 2030
โรงไฟฟ้าพลังน้ำกับความหมกเม็ดของ “พลังงานสะอาด” ในร่างแผน PDP2024