สังเกตไหม? หันไปทีไรก็เจอคนก้มหน้า หรือหลายครั้งที่เรากำลังพูดคุยกับเพื่อน แต่ก็ต้องหยุดชะงัก เพราะสมาร์ทโฟนกลับแย่งความสนใจจากเพื่อนหรือคนในครอบครัวเรา สิ่งเหล่านี้มองดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ที่จริงแล้วเป็นปัญหาระดับสังคมที่ต้องแก้ด้วยนโยบาย
ผศ.ปนันดา จันทร์สุกรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า สถิติการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลของคนไทยเมื่อปีที่ผ่านมา 76% ไม่เคยหยุดใช้โซเชียลมีเดียแม้แต่วันเดียว ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และสุขภาวะทางจิตอื่น ๆ มีแนวโน้มพบเห็นในสังคมมากขึ้น
ทำให้เกิดการ “สำรวจสุขภาวะดิจิทัล 2567” ขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองของการสำรวจ เพื่อค้นหาเบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฉากหน้าของโลกดิจิทัล ผลกระทบ และหาข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบสุขภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี
โดยผลสำรวจพบข้อมูลน่าห่วงว่า จากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 5,000 คน คนส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อทำงาน/เรียน 5-6 ชั่วโมงต่อวัน และเพื่อความบันเทิง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน เรียกว่าแทบทั้งวันจะอยู่ติดกับสมาร์ทโฟนตลอดเวลา
อีกทั้งยังพบการใช้สมาร์ทโฟนขณะกินข้าวหรือพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวคิดเป็น 4 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง และ 62% ไม่จำกัดเวลาการใช้งาน
นอกจากนี้ในแต่ละช่วงวัยยังมีพฤติกรรมที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นปัญหาปัจเจกบุคคลล แต่ที่จริงแล้วกลับเป็น “โรคแห่งยุคสมัย” ที่ถือว่าเป็นปัญหาระดับสังคมที่ต้องแก้ด้วยนโยบาย เพราะล้วนแต่ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพสังคม ไปจนถึง “สุขภาพจิต” ที่เชื่อมโยงไปถึงการพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย
แต่ละเจนมีสุขภาวะทางดิจิทัลเป็นอย่างไร ?
Gen Z (อายุ 15 – 27 ปี)
- ปล่อยวางได้ยาก เมื่ออยู่ในสังคมออนไลน์
- รู้สึกต้องนำเสนอตัวตนในสื่อสังคมออนไลน์ให้ดูดี
- สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง
Gen Y ( อายุ 28 – 44 ปี)
- ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลและ Digital Footprints
- เช็กข้อมูลก่อนโพสต์/แชร์บนสื่อสังคมออนไลน์
- รู้วิธีรับมือกับภัยออนไลน์และมีภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลสูง
Gen X (อายุ 45 – 59 ปี)
- สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีสมาธิกับงาน/การเรียนลดลง
- สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงาน/เรียนลดลง
- การใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ทำให้เหนื่อยหน่าย อ่อนล้า
- รู้สึกต้องเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ตลอด เพื่อให้คนอื่นติดต่อเราได้ทุกที่
Baby Boomer (อายุ 60 – 78 ปี)
- ไม่ค่อยรู้วิธีรับมือภัยออนไลน์
Gen “Z-X” มีระดับสุขภาวะทางดิจิทัลน่าห่วง
สำหรับดัชนีชี้วัดระดับสุขภาวะทางดิจิทัล แบ่งออกได้เป็น 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพสังคม ผลิตภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการเป็นพลเมืองดิจิทัล
กลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่มีระดับสุขภาวะต่ำที่สุดใน 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ผลิตภาพการใช้เทคโนโลยี และการเป็นพลเมืองดิจิทัล
ขณะที่กลุ่ม Gen X มีระดับสุขภาวะทางดิจิทัลด้านสุขภาพจิตและสุขภาพสังคมต่ำที่สุด
สะท้อนให้เห็นว่า “เด็กและเยาวชน” คือวัยที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุด ดังนั้นแล้วการปลูกฝังภูมิคุ้นการใช้งานดิจิทัลในกลุ่มเด็กและเยาวชนควรเป็นเรื่องแรกที่ต้องรีบทำ
วิธีสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้ “เด็ก-เยาวชน”
เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลย่อมมีผลโดยตรงทำให้สุขภาวะทางดิจิทัลต่ำ
วิธีที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน สามารถทำได้ดังนี้
- ตั้งต่าการควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาและการใช้งาน
- จำกัดเวลาใช้สื่อสังคมออนไลน์
- เป็นสมาชิกบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสอดส่องดูแลลูก
- รับฟัง พูดคุย สนับสนุน สิ่งที่เด็กชอบ เขาจะได้กล้าพูดคุยปรึกษาปัญหา
- สอนให้รู้จักประโยชน์ โทษ ภัยออนไลน์ และวิธีรับมือกับปัญหาบนโลกออนไลน์
“เด็ก-เยาวชน” ควรใช้หน้าจอเท่าไร
การจำกัดเวลาใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามช่วงอายุ มีระยะเวลาการใช้หน้าจอที่เหมาะสมดังนี้
- อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล หากจะให้ใช้ควรให้ใช้ในรูปแบบวิดีโอแชทร่วมกับพ่อแม่เมื่อจำเป็นเท่านั้น
- อายุ 2-4 ปี ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 1 ชม./วัน โดยต้องอยู่ในตวามดูแลของพ่อแม่ และผู้ปกครองควรเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมให้ลูกด้วย
- อายุ 5-7 ปี ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลไม่เกิน 2-3 ชม./วัน โดยพ่อแม่ควรกำหนดเวลาการใช้หน้าจอ
- อายุ 8 ปีขึ้นไป พ่อแม่สามารถพิจารณาเวลาการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลได้ตามความเหมาะสม และผู้ปกครองควรปลูกฝังภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล
ผลกระทบของการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่อ “เด็ก-เยาวชน”
ถ้าเด็กและเยาวชนขาด “ทักษะทางดิจิทัล” จะส่งผลต่อพัฒนาการ ร่างกาย และจิตใจ
ด้านพัฒนาการ
- ทักษะการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัยน้อยลง เช่น การขี่จักรยาน การผูกเชือกรองเท้า เป็นต้น
- พัฒนาการทางภาษาจะช้าลง
ด้านร่างกาย
- โรคอ้วน
- พักผ่อนไม่เพียงพอ/หลับไม่สนิท
- ปวดตา
- ปวดหลัง
ด้านจิตใจ
- ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้
- อารมณ์ฉุนเฉียว
- เรียนแย่ลง
- ต่อต้านสังคม
- ซึมเศร้า
- วิตกกังวล
หนุนยกระดับทักษะทางดิจิทัลให้เป็นนโยบาย
เด็กและเยาวชนคือกลุ่มแรกที่ควรปลูกฝังทางดิจิทัล ส่วนวัยอื่น ๆ ก็ควรได้รับการยกระดับ “ทักษะทางดิจิทัล” ให้เป็น “นโยบายระดับชาติ”
โดย ตฤณ ทวิธารานนท์ อดีตผู้ช่วยผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดเผยอีกว่า ต่อจากนี้ควรจะส่งเสริมให้ “ผู้สูงอายุ” มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อป้องกันการถูกหลอกในโลกออนไลน์
“ผู้พิการ” ต้องไม่รู้สึกแปลกแยกจากสังคมจากระบบดิจิทัลที่ไม่เอื้อต่อการใช้งาน เช่น พร้อมเพย์ ที่มีแค่การสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งไม่มีระบบเสียงบ่งบอกว่าขึ้นคิวอาร์โค้ดแล้วสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือแม้แต่กระทั่งการมีแอปพลิเคชันแยกสำหรับพวกเขา ยิ่งตอกย้ำให้เขารู้สึกว่าไม่ใช่คนในสังคมเดียวกัน
“คนทำงาน” ต้องมีนโยบายหรือข้อตกลงที่ปฏิบัติได้จริงว่าหลังเลิกงานหรือวันหยุด จะสามารถหยุดใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิด
และ “ทุกคน” ในฐานะผู้ส่งต่อข้อมูล หรือผลิตสื่อออนไลน์ ควรจะมีจริยธรรมและตระหนักรู้ว่า 1 เสียง 1 ข้อมูลของเรา สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างได้
อ่านเพิ่มเติม : พฤติกรรมยุคดิจิทัลทำสุขภาพจิตแย่ แก้ที่เราหรือใคร?