ในยุคที่โลกดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว “สมาร์ตโฟน” กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนใช้เชื่อมต่อกัน ทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องง่ายและไร้พรมแดน แต่เทคโนโลยีเอื้อความสะดวกในการสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้แง่เพียงปลายนิ้ว กลับทำให้ผู้คนรู้สึกว้าวุ่นใจ ขาดสมาธิจดจ่อ ห่างเหินกับคนรอบข้าง รวมถึงเกิดความเหนื่อยล้า เครียดสะสมเพราะเครื่องมือสื่อสารทำให้ไม่สามารถตัดขาดจากงานได้ในวันหยุด
The Active, Policy Watch ร่วมกับองค์กรเครือข่ายเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 18 : “ทวงคืนสมาธิ” แก้ปมคุกคามสุขภาวะทางจิตยุคดิจิทัล” ชวนเรียนรู้เบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฉากหน้าของโลกดิจิทัล มองผลกระทบ และระดมความคิดสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อลดผลกระทบ และสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี
คนไทย 76% ไม่เคยหยุดใช้โซเชียลฯ
ผลสำรวจสุขภาวะทางดิจิทัล ประจำปี 2566 พบว่าคนไทยทุกช่วงวัยไม่เคยหยุดใช้สื่อสังคมออนไลน์แม้แต่วันเดียว 76% นับเป็นค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกกลาง ซึ่งอยู่ที่ 47 – 49%
ขณะที่ผลสำรวจล่าสุด (2567) ชี้ให้เห็นอีกว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทำงาน 5–6 ชั่วโมง/วัน และเพื่อความบันเทิง 3–4 ชั่วโมง/วัน รวมแล้วแต่ละคนใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างต่ำ 8–10 ชั่วโมง/ วัน เข้าข่ายการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่เยอะเกินไป
นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟนขณะทำกิจกรรมอื่น เช่น กินข้าว พูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว มีคนใช้บ่อยถึงบ่อยมาก 26.3% และอีก 55% บอกว่าบางครั้ง นั่นหมายความว่าประมาณ 4 ใน 5 คนไม่เคยหยุดใช้มือถือขณะทำกิจกรรม
“เมื่อวิเคราะห์การใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่อระดับสุขภาวะใน 5 มิติตามช่วงวัย น่าห่วงว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่มีสุขภาวะต่ำสุดใน 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ผลิตภาพการใช้งานเทคโนโลยี และการเป็นพลเมืองดิจิทัล รวมถึง Gen X มีสุขภาวะด้านสุขภาพจิต และสุขภาพสังคมต่ำที่สุด”
ผศ.ปนันดา จันทร์สุกรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์
อ่านเพิ่มเติม : เช็กสุขภาวะทางดิจิทัล 2567 แต่ละ Gen เป็นอย่างไร
“ฟับบิ้ง” คืออะไร ทำไมเราถึงติดมือถือ
เมื่อ 10 ปีก่อน “พฤติกรรมก้มหน้าจับมือถือ” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะกลายเป็นปัญหา จนมีงานวิจัยในร้านอาหารแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย ที่ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ร้านอาหารที่มีคนเล่นสมาร์ตโฟนแล้วกินข้าวไปด้วย มักบอกว่าอาหารนั้นไม่อร่อย หรือไม่ค่อยมีความสุขในมื้ออาหาร พร้อมเรียกสภาวะการกดสมาร์ตโฟนจนไม่สนใจสิ่งรอบข้างว่า “ฟับบิ้ง” (Phubbing)
กระทั่งไม่กี่ปีมานี้เรื่องผลกระทบของการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลกลายเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในแวดวงนักวิจัยและนักวิชาการ รวมถึงประเทศไทยด้วย
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิด “ฟับบิ้ง” ได้แก่
- การเสพติดมือถือ คนที่ติดมือถือมีแนวโน้มที่จะใช้สมาร์ตโฟนต่อหน้าผู้อื่นมากขึ้น เพราะเมื่อติดจนไม่รู้เวลา ไม่รู้ช่วงที่เหมาะสมในการใช้งาน จึงทำให้หยิบขึ้นมาใช้มากขึ้นนั่นเอง
- กลัวตกกระแส ไม่อยากตกประเด็น อยากรู้ความเป็นไปในสังคม
- สภาพจิตใจ เช่น ความมั่นใจในตัวเอง การควบคุมตนเอง ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้ มีสิทธิที่จะทำให้หยิบมือถือมาใช้ โดยลืมคู่สนทนาไปว่ากำลังคุยกันอยู่
ต้องยอมรับว่าบริบทสังคมตอนนี้กดดันให้เราขาดการเชื่อมต่อแบบ “Face to Face” เห็นได้ชัดในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เราถูกบังคับให้ต้องทำงานที่บ้าน ต้องติดต่อสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ หลังจากการระบาดสิ้นสุดลง หลายคนกลับขาดทักษะในการพูดคุย ขาดทักษะในการแก้ปัญหา จนต้องไปพบแพทย์ กระทบทั้งสุขภาพกาย ปวดคอ และสุขภาพจิต บรรยากาศที่เคยสนุกเวลาไปกินข้าวหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนใกล้ตัว ไม่มีความสุขเหมือนเดิม
“มนุษย์ถูกสร้างมาให้เชื่อมต่อทางสังคม คือนั่งพูดคุยกัน เราไม่ได้ถูกออกแบบในทางพันธุกรรมให้ติดต่อทางไกล การถูกเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใหม่ ในอนาคตบอกไม่ได้ว่า มนุษย์จะปรับตัวกับสิ่งนี้ได้ไหม แต่เราเห็นผลกระทบหลายอย่างในตอนนี้แล้วว่ามนุษย์ไม่สามารถปรับตัวได้”
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกรมสุขภาพจิต
12 ตัวการขโมยสมาธิ ภัยคุกคามสุขภาพจิต
“ฟับบิ้ง” เป็นหนึ่งในภัยคุกคามยุคดิจิทัลที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิต ซึ่งก็ตรงกับหนึ่งใน “ตัวการขโมยสมาธิ” ที่อยู่ในหนังสือ “STOLEN FOCUS” หรือ “โลกไร้โฟกัส” ที่เขียนโดย Johann Hari ที่บอกเล่าถึงปัจจัยที่เป็นตัวการทำลายสมาธิ และความจดจ่อของผู้คนในยุคใหม่
โดยมี 12 ตัวการขโมยสมาธิ ที่ทำให้เราเครียด เหนื่อยล้า สมาธิหดหาย ควบคุมตัวเองให้ทำหรือจดจ่อกับอะไรนาน ๆ ไม่ได้ ได้แก่
- โลกที่ทุกอย่างเร่งเร็ว ชีวิตประจำวันถูกเร่งให้ทุกอย่างต้องเร็ว ประกอบกับข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น ทำให้ต้องสลับสับเปลี่ยนเรื่องที่สนใจอยู่ตลอด
- การทำอะไรได้ต่อเนื่องหายไป ติดโซเชียลมีเดียต้องคอยเช็กฟีดตลอดเวลา ทำให้ขาดสมาธิและใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ลืมงานอดิเรกและการทำสิ่งที่ตัวเองชอบไป
- นอนหลับพักผ่อนน้อย แสงสีฟ้าจากหน้าจอก่อนนอน ค่านิยมนอนน้อย และความเครียด ทำให้สมาธิหดหาย
- ความสามารถในการอ่านลดลง การอ่านโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์แบบกวาดตาเป็นประจำ ทำให้สูญเสียความสามารถในการอ่านอย่างต่อเนื่อง ขาดสุนทรียและความลุ่มลึก
- ติดอยู่กับความหมกมุ่น ไม่กล้าปล่อยให้ตัวเองได้มีเวลาปล่อยใจให้สมองได้คลี่คลาย รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำแล้วผิด เพราะขัดกับค่านิยมทำงานหนัก
- เทคโนโลยีชักใยพฤติกรรมผู้ใช้ให้เสพติด ระบบที่บริษัทเทคโนโลยีออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นอัลกอริทึม ระบบแจ้งเตือน และฟีดที่ทำให้ไถดูไปเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด ทำให้เราเสพติดการใช้งาน
- เราถูกกดดันให้จัดการปัญหาด้วยตัวเอง เราถูกบังคับให้คิดบวกตลอดเวลา ทั้งที่ยากเหลือเกินที่จะทำ และถ้าไม่ทำจะรู้สึกผิด ประกอบกับเจ้าของเทคโนโลยีให้ผู้ใช้แก้ปัญหาด้วยการตั้งค่าห้ามรบกวนแบบต่าง ๆ เอง
- ความเครียดและสภาพสังคมที่กดดัน ความเครียดทำให้โฟกัสอะไรไม่ได้ และสภาพสังคมที่บีบคั้น ทำให้เรากังวลกับเรื่องต่าง ๆ เช่น สุขภาพ ความสัมพันธ์ การเงิน แทนที่จะจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า
- อาหารยุคใหม่ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแปรรูป และวิถีการกินที่ไม่มีคุณภาพ มีผลต่อสมองและความเพลีย
- มลพิษ ทำให้เกิดภาวะสมองถดถอย โรคสมองเสื่อม และส่งผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมตัวเองไม่ได้ สมาธิสั้น
- โรคสมาธิสั้น เกิดจากพันธุกรรมและสมอง ซึ่งในปัจจุบันพบในเด็กมากขึ้น
- ให้เด็กอยู่แต่ในบ้าน สภาพสังคมในปัจจุบันมองว่าโลกภายนอกอันตราย ทำให้จำกัดให้เล่นหน้าจอหรืออ่านหนังสือสอบอยู่แต่ในบ้าน
ระบบทุนนิยมเบื้องหลัง “บิ๊กเทคฯ” ชักใยคนให้เสพติด
“เสียงไม่ได้จำเป็นเลยที่จะยิงโฆษณา แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือบริษัทเทคโนโลยีมีตุ๊กตาวูดูของคุณในเซิร์ฟเวอร์ รู้ว่าคุณชอบและไม่ชอบอะไร ในบางครั้งที่เราพูดคุยกับเพื่อนแต่ดันมีสิ่งที่เกี่ยวข้องเด้งมา ทั้งที่เราไม่ได้โพสต์ แต่เพื่อนเราอาจจะโพสต์หรือเสิร์ชข้อมูลเหล่านั้น ตุ๊กตาวูดูจะเดาความชอบของเรา และของเพื่อนเรา มาทำให้เห็น”
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone
การทำงานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เมื่อเข้าตลาดหุ้น แน่นอนว่าผู้ที่มีบทบาทที่สุดคือ “ผู้ถือหุ้น” ที่ต้องการกำไรจากการลงทุน ทำให้พวกเขาต้องสร้างระบบต่าง ๆ ที่จะช่วยดึงดูดให้คนใช้เวลากับแอปพลิเคชันได้นานที่สุด
- ระบบอัลกอริทึม ที่เปิดและปิดกั้นข้อมูล ให้เราเห็นแต่ในสิ่งที่ชื่นชอบ
- ฟีดที่ไถไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด
- ระบบแจ้งเตือนข่าวสาร
- ปุ่มกดแสดงความรู้สึก-คอมเมนต์
การหารายได้ของบริษัทเทคโนโลยีสัมพันธ์กับระยะเวลาการใช้งานของผู้บริโภค เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะทำเงินได้เยอะขึ้น ท่ามกลางเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด 24 ชั่วโมง และการแข่งขันกับคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ที่พยายามดึงนาทีที่ผู้ใช้จะเล่นไปเรื่อย ๆ
เทคโนโลยีทำให้ลืมข้อจำกัด “มนุษย์ออฟฟิศ”
ในสายตาของผู้ประกอบการ “เทคโนโลยี” ถูกมองว่าเป็น ”ตัวช่วย“ เป็นเครื่องมือทุ่นแรงให้พนักงานของเขาทำงานได้เร็วขึ้น และสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ (Multitasking)
“หลายคนคิดว่าทำหลายอย่างพร้อมกันได้ คงดี แต่งานวิจัยพบแล้วว่าไม่ใช่ คนที่ทำหลายอย่างพร้อมกัน ประสิทธิภาพจะลดลง 40% ต้องเข้าใจก่อนว่า พลังงานเรามีจำกัด 100% ถ้าเราให้งานหนึ่ง 40% ก็จะเหลืองานที่สอง 60% เป็นไปไม่ได้ที่มีแค่ 100% แล้วจะเพิ่มเป็น 200%“
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แล้วถ้าทำงานหนึ่งเสร็จ จากนั้นสลับไปทำอีกงานล่ะ ? ฟังดูเหมือนเป็นทางแก้ แต่ประสิทธิภาพการทำงานก็จะลดลงเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อสมองต้องสวิตซ์ไปสนใจเรื่องอื่นจะทำงานมากกว่าปกติ เนื่องจากต้องใช้สมองหลายส่วน เมื่อใช้เยอะ ใช้ไปนาน ๆ ผลลัพธ์ก็จะต่ำลงเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ค่านิยม “ถอนตัวจากงานไม่ได้” ยังถูกฝังรากลึกมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เพราะเคยชินกับการถูกฝากฝังให้ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ จนคืบคลานมาเรื่อย ๆ จากวันเสาร์สัก 2-3 ชั่วโมง กลายเป็นทำงานตลอด 7 วันไม่มีวันหยุด
ผลสำรวจของสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) พบว่า คนทำงานนอกเหนือชั่วโมงงานตามที่ตกลงไว้ ซึ่งไม่ร่วมค่าโอที ทำให้เขามีสุขภาวะต่ำลงด้วย
“การถูกติดต่อหลังเลิกงาน ในมุมหนึ่งที่พนักงานไม่ได้รับ คือค่าตอบแทนที่เขาควรได้จากการทำงานหลังข้อตกลงเวลางาน มีแบบสำรวจพบว่าคนรู้สึกดึงดูดกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตมากขึ้น และพร้อมที่จะเปลี่ยนงานถ้าบริษัทหนึ่งมีความพร้อมเรื่องสุขภาวะทางจิตมากกว่า”
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในประเทศไทยพบมีบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ “การเคารพเวลาส่วนตัวของพนักงาน” (Right to disconnect) เพียง 4% นั่นหมายความว่า มีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ให้สิทธิพนักงานปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อการติดต่อหลังเลิกงาน ทั้งที่แนวปฏิบัตินี้ไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานอย่างเดียว แต่องค์กรยังรักษาไว้ซึ่งพนักงานที่มีค่าด้วย
ภัยสุขภาพจิตยุคดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง
สภาพสังคมตอนนี้ติดอยู่ใน “ลัทธิบวกใจเหี้ยม” คือผลักภาระให้เราต้องคิดบวกทั้งที่สังคมไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้ เช่น ถ้าเราตั้งใจจะลดใช้โซเชียลมีเดียโดยตั้งใจจะนั่งสมาธิ แต่กลับทำไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าเป็นเพราะเราอ่อนแอเองที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้วตัวการอยู่ที่สภาพแวดล้อมภายนอกด้วย
“ปัญหาสุขภาพจิตทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวที่จะนั่งสมาธิแล้วหาย ไม่ใช่ทุกคนที่ทำแบบนั้นได้ คนที่ทำได้คือคนโชคดี อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นปัญหาของสังคมที่ต้องแก้เชิงระบบ”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในมุมปักเจกการแก้ปัญหาด้วยตัวเองเป็นเรื่องดี แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ และการแก้ปัญหานี้ในยุคที่ดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนเราต้อง “ว่ายทวนน้ำ” เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ใช้ความพยายามของตัวเอง แต่ยังมีความพยายามของระบบเศรษฐกิจที่พยายามขโมยสมาธิ ดึงเอาความสนใจของเรามาขังตัวเองไว้ไม่ให้ไปไหน
“จะไปโทษตัวเราคนเดียวว่าอ่อนแอก็ไม่ได้ หรือจะโทษเด็กว่าติดโซเชียลฯ ทำไมไม่ทำอย่างอื่นบ้าง ที่จริงแล้วเด็กถูกขังไว้ ยิ่งเขาไม่มีสติ ยิ่งไม่รู้เลยว่ามีเทคโนโลยีกำลังมาเอาความสนใจจากเราอยู่ เขาเลยไม่สามารถออกจากวัฏจักรเหล่านั้นได้”
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกรมสุขภาพจิต
ถอดบทเรียนต่างประเทศ แก้ปัญหาสุขภาพจิตจากดิจิทัล
ผลพวงจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตไปทั่วโลก ส่งผลให้นานาประเทศเริ่มออกแนวปฏิบัติและกำหนดนโยบายวาระแห่งชาติ ดังนี้
- สิงคโปร์ ประกาศปัญหาสุขภาพจิตเป็นวาระแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ประกาศให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นวาระแห่งชาติ โดยออกนโยบายกำหนดการใช้หน้าจอ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน หลังมีผลการศึกษาเชิงประจักษ์พบว่าเด็กที่เติบโตตั้งแต่ปี 2009 สัมพันธ์กับการได้รับผลกระทบต่อสมอง ความสัมพันธ์ และการจัดการอารมณ์
- อังกฤษ ออกระเบียบให้กฎหมายกำกับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ออกแบบตามความเหมาะสมของอายุ
อังกฤษกำหนดแนวปฏิบัติให้กฎหมายกำกับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ต้องคิดกลไกหรือเทคโนโลยีของเขา โดยคำนึงถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนเสมอ อีกทั้งยังต้องมีการพิสูจน์อายุ และควบคุมเนื้อหาให้เหมาะสมตามช่วงอายุของคนในแต่ละวัย
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) ให้คนทุกระดับ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดค่ายและการเวิร์กชอปให้ทุกคนทุกระดับได้เรียนรู้และมีภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล และสร้างพอร์ทัลเว็บให้ทุกคนเข้าไปค้นหาคำตอบเมื่อเจอปัญหาการใช้งานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ แบบเรียลไทม์
- ออสเตรเลีย ออกกฎหมายการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair work)
ออสเตรเลียออกกฎหมายการจ้างงานที่เป็นธรรรม ให้ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อการติดต่อของเจ้านายหลังเวลาเลิกงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทำโทษหรือถูกฟ้องร้อง
“แม้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 ซึ่งมีมาตราหนึ่งระบุให้ ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใด ๆ กับเจ้านายหลังเลิกงาน แต่ผลสำรวจของ TIMS ออกมายืนยันแล้วว่าการใช้กรอบการทำงานนี้ยังต่ำ ฉะนั้นการทวงคืนสมาธิต้องทำร่วมกันในหลาย ๆ ระดับ เพื่อให้เกิดการนำมาปฏิบัติได้จริง”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นโยบาย 4 ระดับ ทางออกภัยคุกคามสุขภาพจิตในยุคดิจิทัล
สิ่งที่ประเทศไทยต้องการเพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสุขภาพจิตในยุคดิจิทัลเป็นจริง คือ “นโยบาย 4 ระดับ” ได้แก่
ระดับแรก “นโยบายส่วนบุคคล” ที่จะจำกัดการใช้อุปกรณ์ จำกัดเวลาการทำงาน ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล และการมีภูมิคุ้มกันดิจิทัล
ระดับที่สอง “นโบบายสังคม” แนวปฏิบัติร่วมกันของครอบครัว ให้พ่อแม่ช่วยเหลือควบคุมการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของเด็ก หรือที่ทำงานออกแบบแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมสุขภาวะและเข้าใจคนในองค์กร โดยเคารพเวลาส่วนตัว สร้างกรอบการทำงานที่เป็นธรรม ให้พนักงานสามารถพักระหว่างวัน อำนวยความสะดวกในอุปกรณ์และสถานที่ ไปจนถึงการมีหัวหน้าเป็นต้นแบบที่ดี
ระดับที่สาม “นโยบายกำกับบริษัทเทคโนโลยี” กำหนดกรอบการออกแบบผลิตภัณฑ์และความรับผิดชอบของบริษัทเทคโนโลยีไม่ให้ผลกระทบตกไปกับกลุ่มผู้ใช้มากเกินไป
ระดับที่สี่ “นโยบายสาธารณะ” ออกกฎหมายกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีให้ครอบคลุมในประเด็นของความเป็นส่วนตัว (Privacy), การผูกขาด และ คุณภาพชีวิตที่ดี (Well-being) และออกกฎหมายแรงงานให้มีสิทธิเพิกเฉย ไม่ใช่แค่ปฏิเสธ ที่จะไม่ติดต่อสื่อสารนอกเวลางาน เป็นต้น เพื่อควบคุมให้นโยบายทั้ง 3 ระดับข้างต้นทำได้จริง
โอกาสและทิศทาง กฎหมายควบคุมการใช้เทคโนโลยี
“การให้นโยบายทั้ง 4 ระดับออกมา ต้องใช้เวลานาน แต่สิ่งที่ทำได้เลยคือ บริษัทเทคโนโลยีเริ่มสร้างฟีเจอร์ให้พ่อแม่เข้ามาคุมเวลาและเนื้อหา หรือบางองค์กรก็มีระบบส่งข้อความเป็นของตัวเองและมีฟีเจอร์ตั้งเวลาส่งข้อความปิดแจ้งเตือนงานได้แล้ว แต่ต้องเข้าไปศึกษากันนิดนึง การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหล่านี้ในระยะสั้นจะช่วยทวงคืนสมาธิ รักษาความเป็นส่วนตัว และลดความเครียดได้ระดับหนึ่ง”
อิสริยะ ไพรีพ่านฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone
ส่วนการควบคุมเทคโนโลยี เช่น การจำหนดเวลาการใช้หน้าจอ วงเสวนามองว่าคงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายได้ในตอนนี้ เพราะยังต้องคำนึงถึง “สิทธิส่วนบุคคล” ที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของเขาในการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งต้องพูดคุยกับหลายคนหลายหน่วยงานก่อน แต่ประเด็นสำคัญที่ควรนึกถึงเป็นอย่างแรกในตอนนี้ คือจะทำอย่างไรให้การใช้งานเทคโนโลยีของประชาชนเกิดประโยชน์มากที่สุด
ดังนั้นถึงเวลาแล้ว! ที่เราจะไม่ปล่อยให้ “สมาธิ” ถูกขโมยไป แล้วต้องมานั่งทวงคืนกันภายหลัง