ผ่านมา 92 ปี นับตั้งแต่ “ปรีดี พนมยงค์” เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ที่เป็นภาพร่างของสวัสดิการไทยที่ให้ “รัฐมีหน้าที่รับประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ตั้งแต่เกิดจนตาย จากนั้นมาแม้ว่าหลายต่อหลายรัฐบาลจะพยายามผลักดันสวัสดิการหลายด้านหลายระดับให้เกิดขึ้น แต่จนถึงวันนี้ “ความเหลื่อมล้ำ” ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
แต่เมื่อ “รัฐสวัสดิการ” เป็นเป้าหมายปลายทางในการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมที่ประเทศไทยยังไปไม่ถึง แล้วในบริบทสังคมไทยวันนี้จะจัดโครงสร้างและรูปแบบสวัสดิการสังคมอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปได้มากที่สุด
The Active ร่วมกับเครือข่ายสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เปิดพื้นที่ให้นักวิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาชนผู้ขับเคลื่อนสวัสดิการไทย ร่วมแลกปลี่ยนความเห็น สะท้อนข้อกำจัดในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เพื่อหาทางออกและส่งต่อข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การสร้างสังคมไทยที่ทัดเทียม ผ่านวงเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 15 “สวัสดิการสังคมแบบไหน ทำให้คนไทยเท่ากัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- ความจริงของความเหลื่อมล้ำ…
- ไม่แก้ ‘เหลื่อมล้ำ’ ปัญหาอะไรจะตามมาอีกบ้าง…
- “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โจทย์ยากการคลังประเทศ
คนรายได้น้อยหนี้พุ่ง 70% ตกหล่นเข้าไม่ถึงสวัสดิการ
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยการเปิดภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน ที่ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนจนและคนรวยยังแตกต่างกันมาก รวมถึงคนที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ดีกว่ายังมีความได้เปรียบ สวัสดิการถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำให้คนในสังคมมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายมุ่งเน้นช่วยเหลือคนรายได้น้อย แต่เพราะมีเกณฑ์การคัดกรอง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตกหล่น และเข้าไม่ถึงสวัสดิการ
โดยภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า
- รายได้และหนี้สินครัวเรือน จากผลสำรวจของ SCB ปี 2566 พบผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มรายได้ไม่พอจ่ายและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 70%
- ทรัพย์สินทางการเงิน เกิดช่องว่างทางการเงินระหว่างคนมีรายได้น้อยและมีรายได้เยอะสูง เพราะมีเพียง 91% จากทั้งหมด 130 ล้านบัญชี ที่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท ขณะที่ 89.09% ที่เหลือมีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท
- การถือครองที่ดิน กระจุกตัวในกลุ่มคนรวย จากสถิติสัดส่วนการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินพบ กลุ่มคนรวยที่สุด 10% ถือครองที่ดินมากกว่าคน 90% ที่เหลือรวมกันถึง 878 เท่า
- ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีไทย จากสถิติสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินรวมต่อ GDP ของประเทศ พบมหาเศรษฐีไทย 40 อันดับแรก มีความมั่งคั่ง 53% หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ไทย
- การเข้าถึงสวัสดิการสังคม จากข้อมูลในปี 2565
- ด้านการศึกษา ยังพบเด็กอายุ 7-15 ปี ออกจากการศึกษากลางคัน 52,808 คน และมากกว่า 4% ของประชากรวัยเรียนทั้งหมด เป็นเด็กยากจน ไม่อยู่ในระบบการศึกษา
- ด้านสาธารณสุข ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการถึง 56% ซึ่งเกือบครอบคลุมทั้งหมดแล้วแต่สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรยังน้อยและกระจุกตัวในเมือง เช่น กทม. 1 : 542, เชียงใหม่ 1 : 1,145 และ บึงกาฬ 1 : 5,614 สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการรักษา
- สวัสดิการเด็ก กลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็กยังตกหล่น 95% เพราะความผิดพลาดในการคัดกรอง การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และการอาศัยในพื้นที่ห่างไกล
- สวัสดิการผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุรายจ่ายต่ำสุดเข้าถึงเบี้ยยังชีพ 96% แต่ยังตกหล่นอีก 4%
- สวัสดิการผู้พิการ มีผู้พิการรายจ่ายต่ำสุดเข้าถึงเบี้ยผู้พิการ 80% แต่ยังตกหล่นอีก 20% จากเกณฑ์การประเมินความพิการของไทยที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากล
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีคนจนเพียง 51% ที่ได้รับบัตรสวัสดิการ
“การวางรากฐานสวัสดิการไทยถือว่าเริ่มต้นได้ค่อนข้างดี อย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นควรจะคิดต่อว่าเราควรจะเพิ่มเติมอะไรบ้าง แน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องใช้ทุกปี ประเด็นสำคัญคือโครงสร้างระบบภาษีที่ยังไม่มีการกระจายที่ชัดเจนและยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีความมั่งคั่งมากกว่า ถ้ารัฐบาลจริงใจที่จะลดความได้เปรียบลง เราจะสามารถระดมทรัพยากรมาจัดสรรสวัสดิการหรือลงทุนมนุษย์ได้อีก”
ผศ.ดวงมณี เลาวกุล
สวัสดิการมีไม่น้อย แต่ไม่ดีพอในการยกระดับคุณภาพชีวิต
ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีสวัสดิการในหลายด้าน แต่ที่ยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ผล เพราะระบบราชการที่กระจัดกระจาย ซ้ำซ้อน ทำให้ภาพรวมของสวัสดิการไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน “ปัจจัยการเกิดสวัสดิการ” ของไทย ที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนด้วยอำนาจรัฐฝ่ายเดียว ทั้งที่สวัสดิการควรจะขับเคลื่อนด้วยพลัง 2 ส่วน คือ พลังของรัฐและพลังของสังคม
“สวัสดิการเมื่อตกอยู่ในอำนาจรัฐ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทำให้ผู้นำมีลักษณะเป็นผู้ปกครองที่ทรงธรรม สวัสดิการจึงเป็นการให้ เป็นการอุปถัมภ์ แก้ปัญหาความทุกข์ยาก ประชาชนไม่อยู่ในสถานะคานอำนาจ ทำให้ยากที่สังคมจะเป็นตัวกำหนดว่าสวัสดิการจะเป็นหน้าตาอย่างไร”
ผศ.ธร ปีติดล
อย่างไรก็ตาม หลังยุค คสช. มาถึงช่วงที่มีรัฐธรรมนูญ 40 บรรยากาศทางการเมืองตื่นตัวขึ้น พลังสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสวัสดิการไทย และเริ่มเห็น “สวัสดิการที่ตอบโจทย์” มากขึ้น แต่ก็ถือว่ายังไม่มากพอที่ประชาชนจะสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้
หลายครั้งที่พูดถึงวิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนในสังคมต้องการ ข้อจำกัดที่มักถูดพูดถึงคือเศรษฐกิจไม่ดี และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” จึงกลายมาเป็นนโยบายเร่งด่วนในยุคของรัฐบาลเศรษฐา เพียงแต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ พบว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “ซึมยาว” มานาน ซึ่งเป็นปัญหาจากความละเลยการลงทุนด้าน “ทุนมนุษย์” ดังนั้น การขับเคลื่อนประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการจึงสำคัญ ขณะเดียวกัน การทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงไปเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้นในระยะสั้น แต่ไม่ได้ช่วยฟื้นโครงสร้างที่อ่อนแอมานานให้แข็งแรงขึ้น
“เข้าใจว่าโจทย์ของพรรคเพื่อไทยมีความยาก เพราะการใช้งบประมาณ และนโยบายจำเป็นต้องบรรลุทั้งเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ และโจทย์การเมืองด้วย อย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต งบประมาณจึงถูกดึงมาใช้ในโครงการนี้เยอะ แต่ต้องยอมรับว่าเมื่องบประมาณถูกดึงมาใช้ส่วนนี้มาก ก็จะมีค่าเสียโอกาสในด้านอื่นตามมา”
ผศ.ธร ปีติดล
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ผศ.ธร มองว่า โจทย์เรื่องเศรษฐกิจกับสวัสดิการ บ่อยครั้งถูกมองแยกส่วนกัน แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสวัสดิการที่ดีจะทำให้คนทุกคนมีโอกาสที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลดช่องว่างในสังคมได้ในที่สุด
ขอรัฐอัดงบฯ 68 ยกระดับสวัสดิการ 4 เรื่องเร่งด่วน สู่รัฐสวัสดิการ
ขณะเดียวกันภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนแนวทางการสร้างรัฐสวัสดิการ อย่างเครือข่าย We Fair ที่ยื่นข้อเสนอและร่วมเจรจาแนวทางที่เป็นไปได้กับหลายรัฐบาลมาต่อเนื่อง ล่าสุด ในรัฐบาลเศรษฐา ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอเพิ่มเงินอุดหนุนสวัสดิการประชาชน 4 ประเด็นเร่งด่วนภายในปีงบประมาณ 2568 กับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการพิจารณาเห็นชอบการขับเคลื่อนสวัสดิการดังกล่าว โดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมประชุมด้วย และในที่ประชุมดังกล่าวมีมติเห็นชอบแล้ว
สำหรับสวัสดิการประชาชนที่เสนอ 4 ประเด็น ถือเป็นหนึ่งใน “ชุดข้อเสนอถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” แม้จุดยืนของเครือข่ายฯ ตั้งใจยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้เหนือเส้นความยากจน แต่ด้วยความเข้าใจในข้อจำกัดของงบประมาณและบริบทสังคมในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอให้จัดทำเรื่องเร่งด่วน ตั้งแต่
- เงินอุดหนุนเด็กเล็ก จากแบบสงเคราะห์ ปรับให้เป็นถ้วนหน้าในอัตรา 1,000 บาท เด็ก 3.2 ล้านคนจะได้ประโยชน์ ใช้งบประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท คิดเป็น 0.12% ของ GDP ไทย
- เบี้ยผู้พิการ จาก 800 บาท ปรับให้เป็น 1,000 บาท คนพิการ 2 ล้านคน จะได้รับประโยชน์ ใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากสงเคราะห์ ปรับเป็นถ้วนหน้าในอัตรา 1,000 บาท ผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคนจะได้รับประโยชน์ ใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.41% ของ GDP ไทย
- เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์เดือน 5-9 เดือนละ 3,000 บาท 4.7 แสนคน ใช้งบประมาณ 7 พันล้านบาท
รวมแล้วทั้งหมดจะใช้งบประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 8 ของงบประมาณในการจัดทำดิจิทัลวอลเล็ต และจะมีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 17 ล้านคน ดังนั้นแล้วถ้ารัฐบาลมีเจตจำนง การขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชนใน 4 ประเด็นเร่งด่วนนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ยาก
“ระบบบำนาญของข้าราชการ 3.5 แสนล้านบาท คิดต่อ 1 คนอยู่ที่ 3.2 หมื่นบาทรายหัว แต่ของประชาชน เฉลี่ยอยู่ที่ 600 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่งต่างกันถึง 50 เท่า ถือเป็นหลักไมล์ว่าสวัสดิการประชาชนควรจะได้สัดส่วนมากกว่านี้ และข้อเสนอ 3,000 บาทก็ถือว่าไม่เกินจริง เพราะคิดตามเส้นแบ่งความยากจน”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
นอกจากส่วนของภาครัฐ ในส่วนของกรรมาธิการ We Fair ได้ร่วมเป็นอนุกรรมาธิการและจัดทำรายงานการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติด้วย จนสามารถส่งข้อเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรและมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ซึ่งล่าสุดยังรอการพิจารณาของนายกฯมานานหลายเดือนแล้ว และอีกส่วนของกรรมาธิการวิสามัญ ในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เราได้เสนอเพิ่มสิทธิลูกจ้างภาครัฐให้เหมือนกับระบบประกันสังคม และเสนอเพิ่มสิทธิลาคลอด จากปัจจุบัน 90 วันยกระดับให้เป็น 180 วัน ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาพูดคุยรายมาตราอยู่
“เพื่อไทย” เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นำพาไปสู่รัฐสวัสดิการ
เมื่อพูดถึงดิจิทัลวอลเล็ต หลายคนมองว่านโยบายนี้คืบหน้าได้เร็วกว่าสวัสดิการของประชาชนที่พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด ซึ่ง ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า ดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทยคือประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในการขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชน
เพียงแต่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวจะช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น ถึงวันนั้นอยากจะมีสวัสดิการในรูปแบบไหน ก็สามารถทำได้
“รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่เราอยากทำ แต่ประเทศที่ทำสำเร็จพบว่ามีการจ่ายภาษี 40-50% ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 20% การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยให้ประชาชนมีกำลังที่จะจ่ายภาษีได้มากขึ้น และเมื่อมีงบประมาณมากขึ้น ก็จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการได้”
ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์
โดยนโยบายที่รัฐบาลกำลังทำอยู่บนหลักการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” โดยมีหลายโครงการที่ทำอยู่ อย่างเช่น ลดค่าพลังงานและไฟฟ้า แก้หนี้ประชาชนในระบบ ทำข้อตกลงFTAกับต่างประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 40% โครงการดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ 30 บาทโปร แก้ปัญหายาเสพติด และล่าสุด คือ โครงการหวยเกษียณ
“เรากำลังค่อย ๆ ทำสวัสดิการประชาชน เพียงแต่ตอนนี้อาจไม่ถูกใจประชาชนที่รอคอย ในการจัดสรรงบประมาณ ที่จริงแล้วของปี 2567 รัฐบาลไม่ได้ใช้เลย เราจึงเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนการจะนำงบกลางมาขับเคลื่อนสวัสดิการประชาชนใน 4 ประเด็นเร่งด่วน เราคงอนุมัติตามความฉุกเฉิน ซึ่งเราก็จำเป็นต้องเก็บบางส่วนนำไว้ใช้ในเรื่องเร่งด่วน อย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องขอความเห็นใจด้วย”
ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์
งบประมาณสวัสดิการสังคม ความจำเป็นหรือเป็นภาระ ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณของประเทศไทยในปัจจุบันขาดดุล ยิ่งการที่ต้องนำเงินไปลงทุนกับสวัสดิการสังคม หลายคนมักมองว่าจะทำให้เสียโอกาสในเรื่องอื่นไป หรือมองว่าเป็นรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน ถ้าเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปแล้ว งบประมาณของประเทศจะยิ่งปูด
เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward จึงอยากให้ปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า การลงทุนกับสวัสดิการสังคมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างผลิตภาพที่ดีของประเทศ แต่งบประมาณตอนนี้ส่วนมากจะไปอยู่ที่การสร้างถนน อาคาร สิ่งก่อสร้างมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าเราไม่มีงบประมาณเพียงพอ แต่อยู่ที่การจัดสรรงบประมาณ
“ถ้าเราแบ่งคนไทยออกเป็น 10 กลุ่ม จะเห็นว่าเด็กส่วนใหญ่เติบโตในครอบครัว 40% ด้านล่างของประเทศ การผลักดันเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ที่จะทำให้เขาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และสังคมไทยจะมีแรงงานฝีมือดี แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อยผู้สูงอายุล้น”
เดชรัตน์ สุขกำเนิด
ข้อเสนอของ We Fair ที่ต้องการเงินอุดหนุนสวัสดิการสังคม 6 หมื่นล้าน ในการขับเคลื่อน 4 ประเด็นเร่งด่วนภายในปีงบประมาณ 2568 จึงสมเหตุสมผล แต่ “คำรับปาก” ของรัฐบาลจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่าคำของบประมาณของหน่วนงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอเข้าสภาฯ หรือไม่ และอีกเรื่อง ที่ผู้อำนวยการ Think Forward ชวนให้จับตาต่อจากนี้ คือการจัดสรรงบประมาณ จะยังเป็นแบบเฉพาะกลุ่มครอบครัวผู้มีรายได้น้อยหรือถ้วนหน้า เพราะหากยังเป็นแบบเฉพาะกลุ่มนั่นหมายความว่าอาจมีคนที่ต้องตกหล่น
4 ข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่สวัสดิการที่ทำให้คนไทยเท่ากัน
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสภาพแวดล้อมของประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร และสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะยังเป็นเป้าหมายของคนในสังคมในอนาคตหรือไม่ แต่ในวงเสวนามีข้อเสนอว่าสวัสดิการประชาชนควรจะขับเคลื่อนไปดังต่อไปนี้
- สวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะ “ปัจจัยพื้นฐาน” เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็ก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ และสตรีมีครรภ์ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างจากการละเลย “ทุนมนุษย์” และป้องกันไม่ให้มีใครตกหล่น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคนในสังคมให้เท่าเทียมกันได้ในที่สุด
- ปรับปรุงโครงสร้างภาษี เนื่องจากสัดส่วนในการจ่ายภาษีของผู้มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับผู้มีเศรษฐานะยังไม่ทัดเทียมกัน ซึ่งยังมีบางสิทธิประโยชน์ที่เอื้อให้คนรวยมีโอกาสได้ลดหย่อนภาษีมากกว่า ดังนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ศึกษาให้รอบคอบ และเปิดเผยข้อมูล เพื่อลดหรือยกเลิกสิทธิประโยชน์ที่เอื้อให้ผู้มีฐานะดี
- เปิดพื้นที่ทางการเมือง เพื่อให้พลังสังคมมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันระบบสวัสดิการ เพราะในปัจจุบันอำนาจตัดสินใจในการกำหนดสวัสดิการอยู่ที่รัฐ
- รัฐต้องประกาศเจตจำนงให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนติดตามได้ ทั้งคำของบประมาณและการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการดำเนินนโยบาย
“ทุนมนุษย์” เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน แม้จะใช้งบประมาณพอสมควรแต่คุ้มค่ามาก เพราะสร้างผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียวอาจเห็นผลด้วยตัวเลขเพียงระยะสั้น ต่อจากนี้จึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายในการติดตามและทำให้ 4 ข้อเสนอเชิงนโยบายนี้สำเร็จ ภาพฝันของสังคมไทยที่ทุกคนเท่าเทียมกันคงอยู่ไม่ไกล