ในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเมษายนของทุกปี มักเป็นช่วงที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานในระดับอันตราย โดยข้อมูลจาก Air Quality Life Index (AQLI) สำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับอายุขัยเฉลี่ยของประชากร (Potential gain in life expectancy) พบว่าข้อมูลของประเทศไทยมีค่า 1.78 ปี หมายความว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นได้ 1.78 ปี หากค่า PM2.5 ของไทยอยู่ในระดับมาตรฐาน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก โดย 3 อันดับแรกที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดลงมากที่สุดอยู่ที่ บังคลาเทศ อินเดีย และเนปาล (6.76 5.26 และ 4.58 ปี ตามลำดับ)
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2566 คนไทยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงขึ้นมาก เช่น โรคหลอดลมอักเสบ 39.1% และมะเร็งปอด 19.8% สะท้อนปัญหาด้านสังคมและสาธารณสุขที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศที่ต้องเร่งป้องกันและแก้ไข
ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยตามธรรมชาติ ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือมนุษย์ ทั้งนี้ ฝุ่นละออง PM 2.5 สูงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากลักษณะสภาพภูมิอากาศตามฤดูกาลที่มีการถ่ายเทอากาศลดลงเป็นปกติ แต่ปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเผา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจใช้วิธีเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป เนื่องจากถูกมองว่าเป็นวิธีที่ประหยัดต้นทุนและประหยัดเวลาเมื่อเทียบกับการกำจัดเศษวัสดุที่เหลือทางการเกษตรวิธีอื่น ๆ และบางครั้งไฟอาจลุกลามไปยังพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งสร้างมลพิษทางอากาศและส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนโดยการวิเคราะห์ของดาวเทียมซึ่งสามารถใช้อ้างอิงปริมาณการเผา พบว่า ในปี 2566 มีจุดความร้อนรวม 168,468 จุด เพิ่มขึ้น 122,472 จุด หรือ 266% จากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 45,996 จุด โดยหากพิจารณาพื้นที่จุดความร้อนจำแนกตามประเภทเกษตรกรรม พบว่า นาข้าว และข้าวโพดและพืชไร่หมุนเวียนมีการเผาสูงที่สุด 39% และ 24% ตามลำดับ
การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองของต่างประเทศ
ประเทศที่พัฒนาแล้วก็เคยเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของคนในประเทศ เช่น ปัญหาหมอกควันพิษครั้งใหญ่ในลอนดอน สหราชอาณาจักร พ.ศ. 2495 (The Great Smog of London in 1952) และปัญหาหมอกควันพิษในเมืองโดโนรา เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2491 (The Donora Smog, 1948) ซึ่งมีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ และหลอดเลือดสมอง ผู้เสียชีวิต รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย จนเกิดการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในที่สุด
โดยในสหราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2495 ลอนดอนประสบกับปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดจากการเผาถ่านหิน เพื่อใช้เป็นพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและการให้ความร้อนในบ้านเรือนเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะเวลานั้นซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จนเกิดเป็นหมอกควันสีดำปนเหลืองที่ประกอบไปด้วยฝุ่น PM2.5 สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กรดไฮโดรคลอริก สารประกอบฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารพิษปกคลุมหนาแน่นบดบังทัศนวิสัย ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพแก่ประชาชนกว่า 100,000 คน จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4,000 คน จนทำให้เกิดกระแสผลักดันให้ร่างกฎหมายอากาศสะอาดได้ในปี พ.ศ. 2499 (Clean Air Act 1956) และที่แก้ไขเพิ่มเติมหลังจากนั้น
ในทำนองเดียวกันที่สหรัฐอเมริกา ก็ประสบกับปัญหาหมอกควันพิษที่เมืองโดโนรา เพนซิลวาเนียในปี พ.ศ. 2491 (The Donora Smog, 1948) จากกระบวนการผลิตของโรงงานสังกะสีและเหล็ก ที่มีการปล่อยสารไฮโดรเจนฟลูออไรด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่งผลให้ประชากรเมืองป่วยภายในสัปดาห์เดียวกว่า 6,000 คน และเสียชีวิตกว่า 50 คน จนได้รับการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในเหตุมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกา
ต่อมาทางการสหรัฐฯ จึงได้ระบุให้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขจนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายด้านอากาศสะอาดในปี พ.ศ. 2498 (The Air Pollution Act of 1955) ซึ่งได้มีการแก้กฎหมายอีกหลายครั้ง เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการลดปริมาณมลพิษในอากาศ เช่น การป้องกันการทำลายชั้นโอโซน การป้องกันปัญหาฝนกรด การปรับปรุงมาตรฐานน้ำมัน เป็นต้น
ผลลัพธ์ภายหลังจากกฎหมายอากาศสะอาดมีการบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรพบว่าปริมาณควันดำ (Black Smoke) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณ PM2.5 และปริมาณสารพิษจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศทั่วประเทศลดลง 50-65% ในช่วงเริ่มต้นของการออกกฎหมายอากาศสะอาด (1962-1975) นอกจากนี้ การป่วยจากปัญหามลพิษที่ลดลงจากคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ของสหรัฐอเมริกาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร และยืดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนในประเทศจำนวน 1.5 – 3 ปี
การแก้ปัญหาฝุ่น และก้าวต่อไปของไทย
รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งติดตามเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการกำหนดโทษ สำหรับผู้ที่ก่อมลพิษ เพื่อป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศ
อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีการกำหนดโทษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle) แต่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความท้าทายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรในระดับบุคคล เช่น การเผาขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ พื้นที่ ทำให้การดำเนินการเพื่อจับกุมอาจต้องอาศัยงบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก
ที่ผ่านมาค่า PM2.5 ของประเทศไทยยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐานจนอยู่ในระดับอันตรายในหลายพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นการดูแลให้ประชาชนมีสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดประเด็นอีกประเด็นที่ยังขาดการบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทำให้ยังคงมีช่องว่างของกฎหมายในการดูแลประชาชนในฝั่งของผู้ได้รับมลพิษ ให้ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ
การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศควรกำหนดแผนงานเป็นหลายระยะ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนในระยะสั้น จนไปถึงแผนระยะยาวสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไปรวมถึงการกำหนดเป้าหมายของนโยบายในระดับบุคคล และระดับอุตสาหกรรม โดยในระดับบุคคล แนวทางการแก้ไขคงต้องเน้นการปรับพฤติกรรมผ่านนโยบายสนับสนุนและกำหนดโทษ (The carrot-and-stick motivational approach) และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะจากการเผาซึ่งถูกมองว่าประหยัดต้นทุนและประหยัดเวลา แต่สร้างมลพิษ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาระดับโรงงานและอุตสาหกรรม การกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอากาศสะอาดที่ชัดเจนและครอบคลุม จะช่วยเร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 สารเคมี และมลพิษทางอากาศอื่น ๆ เพื่อสร้างสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับอากาศของประชาชนที่ปราศจากฝุ่นและมลพิษ และคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด (ร่าง พ.ร.บ.ฯ) ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา จะมาช่วยเชื่อมโยงกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นผล ให้ต้องดำเนินการเพื่อจัดหาอากาศสะอาดให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งระบบการตรวจคุณภาพอากาศที่สามารถระบุพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติ เพื่อใช้เครื่องมือและจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที่ เพื่อให้อากาศสะอาดให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องรับรอง และปกป้องให้ประชาชนให้ได้รับอากาศที่ปราศจากมลพิษโดยกฎหมาย
ความท้าทายแก้ฝุ่นควัน เมื่อรัฐออกมาตรการแต่ไร้แผน
5 บทเรียน ข้อเรียนรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
เทียบร่างกฎหมายอากาศสะอาด 7 ฉบับ
หลักการที่ “ต้องมี” ใน พ.ร.บ.อากาศสะอาด
ผู้เขียน: จักรี พิศาสพฤกษ์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย