เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีการประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ โดยมีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ให้เป็นไปตามกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
นายกฯ บอกว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดต้นแบบ เนื่องจากขณะนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดลง โดยเฉพาะเดือน ม.ค. เมื่อเทียบย้อนหลังไปถึง 10 ปี โดยบอกว่าปีนี้คนเชียงใหม่บอกว่าปัญหาฝุ่นดีขึ้น และปริมาณฝุ่นต่ำลงมาก แต่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังไม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ตาม “คำสั่งการ” ในที่ประชุมครม. มีการกำหนดเป็น “มาตรการ” ให้หน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติ แต่ไม่มีการกำหนดแผนแก้ปัญหาเหมือนรัฐบาลก่อนหน้า ที่เห็นว่าปัญหาดังกล่าวรุนแรงจนต้องเป็น “วาระแห่งชาติ”
วาระแห่งชาติ 2562 – 2567 แก้ฝุ่นล้มเหลว
ในวันที่ 12 ก.พ. 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2567 ซึ่งเป็น “แผนแม่บท” ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย
Rocket Media Lab ตรวจสอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2567 ในแต่ละมาตรการ ระบุว่าแผนดังกล่าว “ไม่ประสบความสำคัญ”
แผนแก้ปัญหาตามวาระแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยแบ่งช่วงเวลาในการดำเนินการออกเป็น 3 ช่วงคือ ระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤต ระยะสั้น (ปี 2562 – 2564) ระยะยาว (ปี 2565 – 2567)
แผนวาระฝุ่นแห่งชาติ 2562 กำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ข้อด้วยกันคือ
- จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น
- จํานวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง
- จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง
ในตัวชี้วัดแรก จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น เมื่อนำข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีรายงานว่าในปี 2563 มีจำนวนวันที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 เกินมาตรฐาน 70 วัน ซึ่งลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อมา คือ 67 วัน และในปี 2565 เหลือเพียง 26 วัน ก่อนจะสูงขึ้นในปี 2566 จำนวน 52 วัน
ในขณะที่จากการรวบรวมข้อมูลโดย Rocket Media Lab ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก AQI พบว่าในปี 2563 มีวันที่อากาศดี 71 วัน และเพิ่มขึ้นในปีต่อมาเป็น 90 วัน ก่อนที่ในปี 2565 จะลดลงเหลือเพียง 49 วัน และลดลงอีกในปี 2566 เหลือเพียง 31 วัน
จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีผ่านมา แม้จะมีช่วงปีที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 ลดลง หรือมีวันที่อากาศดีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น อย่างเช่นในปี 2564 ที่เพิ่มจากปี 2563 ขึ้นมาจาก 71 วันเป็น 90 วัน แต่ในปีต่อมาในปี 2565 และปี 2566 ที่ผ่านมาคุณภาพอากาศกลับแย่ลงอีกครั้ง
ตัวชี้วัดที่ 2 เรื่องจํานวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จุดความร้อนในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 146,915 จุด เหลือเพียง 111,682 จุดและลดลงอย่างมากในปี 2565 เหลือเพียง 53,673 จุด ก่อนจะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้งในปี 2566 จำนวน 178,203 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา
ตัวชี้วัดที่ 3 จํานวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง จากข้อมูลของกระทรงสาธารณสุขพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลงในปี 2564 เพียงปีเดียว โดยจากในปี 2563 ที่มีจำนวน 1,163,632 ราย ปี 2564 เหลือเพียง 712,342 ราย ก่อนจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2565 จำนวน 911,453 ราย และสูงขึ้นอย่างมากในปี 2566 จำนวน 2,293,667 ราย
Rocket Media Lab สรุปว่า หากวัดความสำเร็จจากตัวชี้วัดทั้ง 3 ข้อ ข้อมูลในแต่ละประเด็นในปี 2566 ล้วนแสดงให้เห็นว่าแผนวาระฝุ่นแห่งชาติไม่ประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่ได้ตั้งไว้
ชำแหละมาตรการในวาระแห่งชาติ
เมื่อพิจารณาดูเฉพาะมาตรการที่มีแนวทางการดำเนินงานและมีตัวชี้วัดและการวัดผลชัดเจน มาติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานและผลสำเร็จของแต่ละมาตรการจะพบว่าบางมาตรการทำได้ แต่หลายมาตรการไม่ได้ดำเนินการ
กฎหมาย PRTR หรือกฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ในปี 2562 ในมาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) พบว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาภาครัฐยังไม่มีการผลักดันกฎหมาย PRTR อย่างจริงจัง
ปัจจุบันมีเพียงร่างกฎหมาย PRTR ของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเท่านั้นที่อยู่ในระหว่างเตรียมยื่นร่างฯ เข้าสู่สภาฯ
จุดความร้อนในประเทศลดลง จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่าจากปี 2563-2566 จุดความร้อนลดลงเพียงเล็กน้อยในปี 2564 จาก 146,915 จุดในปี 2563 เหลือเพียง 111,682 จุด และลดลงอย่างมากในปี 2565 เหลือเพียง 53,673 จุด
อย่างไรก็ตามในปี 2566 จุดความร้อนก็กลับมาเพิ่มอีกครั้งและสูงถึง 178,203 จุด โดยสูงขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน จากแผน “11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 67” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะพบว่ายังคงวางแนวนโยบายเดิมคือลดจำนวนจุดความร้อนลง แต่มีความชัดเจนมากขึ้นโดยกำหนดไว้ว่าต้อง “ควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อลดการเกิดไฟในพื้นที่ป่าให้ได้ 50% จากปี 2566”
มาตรการติดตั้งเครื่อง CEMS (ตรวจวัดมลพิษแบบอัตโนมัติมลพิษอากาศจากปล่องระบาย) ที่โรงงานอุตสาหกรรม โดยหลังจากมีมาตรการนี้ในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติปี 2562 พบว่า กว่าจะมีคำสั่งจากกระทรวงอุตสาหกรรมก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 2565 โดยคำสั่งนี้กำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งเครื่อง CEMS และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และโรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ส่วนโรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 9 มิถุนายน 2567 แต่ในปัจจุบันพบว่ายังไม่ครอบคลุมทุกประเภทโรงงาน
เมื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐในปัจจุบัน จะพบว่าในประเด็นนี้มีเพียงการกำหนดว่า “ให้ลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด” เพียงเท่านั้น
มาตรการการกำหนดให้ใช้น้ำมัน Euro 6/VI ภายในปี 2565 ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้และเลื่อนออกไปจนถึงปี 2569 ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลใหม่ในเรื่องนี้ยังคงยึดจากแผนเดิมจากปี 2562 โดยกำหนดไว้ว่า “ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์”
ในปัจจุบันนี้น้ำมันยูโร 5 มีจำหน่ายในปั๊มบางจากเพียง 224 สาขาในกรุงเทพฯ
ส่วนที่ถือว่ามีความคืบหน้าก็คือการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ตาม WHO โดยค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ถูกปรับจากเดิมต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เป็นจะ 37.5 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จาก 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม. ในปี 2565 เป็นการปรับจากระดับ 2 ไปยังระดับ 3 อย่างไรก็ตามเกณฑ์ของ WHO นั้นมีถึง 5 ระดับ
นอกจากการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 แล้ว ยังมีการปรับมาตรฐานค่าควันดำรถยนต์อีกด้วย โดยมีการปรับในปี 2565 จากการตรวจวัดค่าควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ เป็นสูงสุดไม่เกิน 30% จากเดิม 45% และการตรวจวัดควันดำด้วยระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ เป็นสูงสุดไม่เกิน 40% จากเดิม 50% โดยในส่วนของนโยบายของรัฐบาลในปี 2567 นั้นกำหนดไว้ว่า “เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า”
สำหรับมาตรการป้องกันหมอกควันข้ามแดน มีความพยายามในการสร้างความร่วมมือผ่านแผนต่างๆ จนมาถึงแผนงานอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze Free ASEAN Roadmap) แต่สุดท้ายก็ไม่มีข้อตกลงหรือสภาพบังคับใดๆ ในขณะที่แผนในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาพร้อมแผนความร่วมมือชื่อใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) เพื่อสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ (ไทย ลาว พม่า)
แต่ก็ยังไม่เห็นถึงมาตรการในการหาข้อตกลงร่วมหรือมีสภาพบังคับต่อกันระหว่างปไทยกับระเทศเพื่อนบ้านในการลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน นอกจากนั้นยังมีแนวนโยบายออกมาเพิ่มเติมอีกว่า ให้เพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า – ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
การจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน ซึ่งมีการจัดซื้อครบจำนวนแล้วตั้งแต่ปี 2563 อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เป็นเพียงการจัดซื้อรถเมล์ NGV เพิ่ม แต่ไม่ได้หมายถึงการใช้รถเมล์ NGV หรือรถเมล์ไฟฟ้าทดแทนรถเมล์น้ำมันทั้งหมดแต่อย่างใด โดยปัจจุบันมีรถเมล์เก่าที่ใช้น้ำมันยังคงให้บริการอยู่
ส่วนแผนการเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้แผนการปฏิรูปรถเมล์อยู่แล้ว
อีกหนึ่งมาตรการที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนปี 2562 ก็คือการผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. อากาศสะอาด โดยปัจจุบันนี้ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ เช่นเดียวกันกับมาตรการการเพิ่มพื้นที่สีเขียว 9 ตรม./คน ที่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 6.99 ตรม./คน
มาตรการห้ามการเผาในที่โล่ง แม้จะพบว่ามีประกาศจากทางกระทรวงมหาดไทยในการห้ามเผา โดยให้มีการกำหนดช่วงเวลาให้เผาและต้องแจ้งต่อพื้นที่ก่อนจะได้รับอนุญาตในการเผานั้น แต่กลับพบว่ายังคงมีการลักลอบเผาเรื่อยมา เช่นเดียวกันกับมาตรการ “ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อยร้อยละ 100 ภายในปี 2565” ซึ่งยังพบว่ายังคงมีอ้อยเผาเข้าหีบเพิ่มมากขึ้นทุกปี ยกเว้นในปี 2564 ที่ลดลง ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันนั้นมีแนวนโยบายในเรื่องว่า “ไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ”
นอกจากนั้นนโยบายปี 2567 ในส่วนของ 17 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ยังมีนโยบายพิเศษคือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ ต้องดำเนินการลดการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนทั้ง 10 แห่ง ลงให้ได้ 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือก็ต้องลดลง 50% เช่นกัน
สำหรับพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงพื้นป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนนอกเหนือจากพื้นที่ข้างต้น ตั้งเป้าว่าต้องลดการเผาลง 20% ส่วนพื้นที่เกษตรอื่น ๆ นอกภาคเหนือให้ลดลง 10%
นอกจากนั้นได้กำหนดว่าค่าเฉลี่ยของฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือจะต้องลดลง 40% กรุงเทพฯ ลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือต้องลดลง 10% และภาคกลางลดลง 10% สำหรับจำนวนวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานกำหนดให้ ภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพฯ ลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือลดลง 5% ภาคกลาง 10%
5 แนวทางแก้ปัญหาเชิงรุกรัฐบาลเศรษฐา
สำหรับมาตรการแก้ปัญหา PM2.5 ที่ครม.ของนายกฯเศรษฐา ระบุว่าเป็น “การแก้ปัญหาเชิงรุก” มี 5 แนวทางคือ
- ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีจากการเผาเป็นฝังกลบ หากเกษตรกรรายใดติดปัญหาเรื่องเครื่องมือในการฝังกลบ ภาครัฐยินดีส่งเสริม และหากฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถูกตัดสิทธิในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐทุกรูปแบบ
- ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ กำหนดมาตรการลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่พิสูจน์ได้ว่า มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับการเผา เช่น การนำเข้าข้าวโพด ซึ่งแหล่งนำเข้าข้าวโพดมีการเผาตอซังข้าวโพด
- กำหนดให้มีการจับกุม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกประกาศเขตห้ามเผา ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หากผู้ใดฝ่าฝืน ให้มีการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
- การลงโทษปรับ กรณีการเผาที่เป็นเหตุให้รำคาญ ตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข หากมีการลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เกี่ยวข้องจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้มงวดกับการดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการเผา หรือลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกิดจากการเผาจากประเทศต้นทาง หากปล่อยให้เผาหรือมีการลักลอบนำเข้าผู้ว่าฯ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีส่วนรับผิดชอบตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
- การสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลจริงจังกับปัญหาดังกล่าว และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ ให้ความรู้เรื่องการไถกลบและผลเสียของการเผากับเกษตรกร
ครม.ขอให้คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศนำแนวทางดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และทำให้เป็นมาตรการที่ชัดเจนโดยด่วน
มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2567
มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 2567 รัฐบาลเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5 และไฟป่า ใน 3 พื้นที่แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เมือง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน โดยมี 11 มาตรการ
- ควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อลดการเกิดไฟในพื้นที่ป่าให้ได้ 50% จากปี 2566
- กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
- นำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- การจัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสม
- จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
- เพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า – ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
- พิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
- ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์
- เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า
- ลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด
- กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน