ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 13 ก.พ. 2567 ได้มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ โดยปรับปรุงแผนการก่อหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 1 คือ
- แผนการก่อหนี้ใหม่ เพิ่มขึ้น 560,276.10 ล้านบาท อยู่ที่ 754,710.63 ล้านบาท
- แผนการบริหารหนี้เดิม เพิ่มขึ้น 387,758.52 ล้านบาท อยู่ที่ 2,008,893.74 ล้านบาท
- แผนการชำระหนี้ เพิ่มขึ้น 9,075.07 ล้านบาท อยู่ที่ 399,613.70 ล้านบาาท
ทั้งนี้อนุมัติการบรรจุโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 จำนวน 56 โครงการ/รายการ รวมถึงอนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งมีสัดส่วนความสามารถหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
ขณะเดียวกันรับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (2567-2571) และให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
นอกจากนี้ ครม.อนุมัติเงินกู้ของรัฐบาล เพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มา และการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนด
โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 1 และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณากู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมแ ละจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
สำหรับรายละเอียดการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ
ปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดงบดุลงบประมาณ ปีงบ 2566 ไปพลางก่อน จำนวน 424,000 ล้านบาท
ปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาล ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 399,000 ล้านบาท
ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ Credit Line เพื่อต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 30,000 ล้านบาท
ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น และสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล ส่งผลให้กองทุนต้องชดเชยมากขึ้น
นอกจากนี้ได้ปรับลดโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (2567-2571) ลง 42 โครงการ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ คาดการณ์ว่าระดับประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายหลังการปรับปรุงแผนฯ จะอยู่ที่ร้อยละ 61.29 (กรอบไม่เกินร้อยละ 70) และมีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 แห่ง ที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี คือ การเคหะแห่งชาติซึ่งมี DSCR เท่ากับ 0.57 เท่า