เนื่องในวันที่ 19 พ.ค. 2568 ครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์ทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนมีผู้บาดเจ็บทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,280 ราย มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งผู้ที่มาชุมนุมประท้วงและอาสาสมัครพยาบาล บริเวณสี่แยกราชประสงค์และภายในวัดปทุมวนาราม
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 ของ DSI โดย กองคดีความมั่นคง จำนวนผู้เสียชีวิตมีถึง 89 ราย จากการสอบสวนชันสูตรพลิกศพพบว่า ทุกศพมีการตายจากวิถีกระสุนฝั่งทหาร แต่ต่อมาอัยการได้งดการสอบสวนและให้สืบสวนในอายุความ ซึ่งคดีนี้จะหมดอายุความภายในอีก 5 ปี ในพ.ศ. 2573
หากหมดอายุความ คดีนี้จะไม่ได้รับการสอบสวนพิจารณและดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิด เช่นเดียวกับคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 85 ศพ ซึ่งได้หมดอายุความไปแล้วในพ.ศ. 2567 จากทั้ง 2 เหตุการณ์สลายการชุมนุม นำไปสู่การจัดสัมนา “จากตากใบถึงราชประสงค์: ความยุติธรรมที่ไม่ควรมีวันหมดอายุ” จัดโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ในวันจันทร์ที่ 19 พ.ค. 2568 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียจากการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
วงสัมนาได้มีฉันทามติร่วมกันว่า จะต้องแก้ที่พระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญ ดังนี้
- ยกเลิกอายุความในกฎหมายที่ทำลายมนุษยชาติ เช่น คดีตากใบ และคดีสังหารคนเสื้อแดง ทั้งนี้การกำหนดอายุความมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดกรอบเวลาเจ้าหน้าที่ให้เร่งดำเนินกระบวนการพิสูจน์หาความจริงอย่างเร็วที่สุด ในช่วงที่หลักฐานยังสดใหม่ ระยะความทรงจำของผู้เกี่ยวข้องไม่คลาดเคลื่อน เพื่อการตรวจสอบที่ง่าย มีความผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่ได้มีไว้เพื่อกำหนดวันหมดอายุ หรือในระหว่างการดำเนินคดีนั้น หากจำเลยหลบหนีให้หยุดนับอายุความ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยกับคดีตากใบ
- แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีทุจริตได้โดยตรง และให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม แทนแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้สอบสวนและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้อง
- เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้โดยตรง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเขตอำนาจของศาลคดีอาญาทั่วไป และคดีอาญาทางทหารที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารจะต้องไปขึ้นศาลทหารเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนพ้นผิดลอยนวล ดังนั้นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร นำตัวเจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำการทุจริตต่อประชาชน มาขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมพลเรือนแทนศาลทหาร และให้ตุลาการจากศาลยุติธรรมเข้าไปเป็นกรรมการในศาลทหาร
- แก้รัฐธรรมนูญให้มีหลักการควบคุมทหารโดยพลเรือนโดยตรง จำกัดอำนาจกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เพราะที่ผ่านมาทหารมีอิสระในการปกครองตนเองโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี จึงทำให้ทหารก่ออาชญากรรมได้เรื่อยๆ รวมทั้งห้ามการใช้กองกำลังทหารในการสลายการชุมนุมโดยสันติ
- ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยกเลิกกฎอัยการศึก
- คดีที่รัฐกระทำความรุนแรงทารุณต่อประชาชนแล้วรัฐไม่สามารถจัดการได้ ต้องยื่นคดีให้ศาลอาญาระหว่างต่างประเทศ (The International Criminal Court-ICC) ช่วยพิจารณาแทน เพราะ ICC มีอำนาจพิจารณาคดีความผิดที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรงของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่การกระทำของรัฐ เช่น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก เนื่องจากยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ
- ยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนเที่ยบเท่ามาตรฐานสากล
คดีสลายการชุมนุมของ นปช. ที่ราชประสงค์ พ.ศ. 2553
ในงานสัมนาที่จัดขึ้นขึ้นเพื่อรำลึกการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ประท้วงในนาม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ) ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ระบุถึงสถิติผู้เสียชีวิตและการชันสูตรศพ จากเท่าที่รวบรวมข้อมูลได้มียอดผู้เสียชีวิต 95 ราย ซึ่งมียอดมากกว่าของ DSI อย่างไรก็ตามในกระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพธิดากล่าวว่ามีเพียง 32 ศพเท่านั้นที่ได้รับการชันสูตร ซึ่งพบว่า
- วิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร 17 ราย
- ไม่ทราบว่าวิถีกระสุนมาจากไหน 14 ราย
- ไม่ได้เกิดจากการถูกยิง 1 ราย
ขณะที่ศพอีก 63 ราย ไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย และถูกระบุว่าเป็นการตายปกติ
ในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงนั้น ธิดากล่าวว่า อัยการงดการสอบสวนไป 140 คดี จาก 181 คดี เช่น คดี 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม การตายที่แยกดอกวัวและถนนดินสอ เมื่อพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องหรืองดการสอบสวนและได้ส่งอัยการทหาร ซึ่งต่อมาอัยการทหารได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆที่เป็นการตายจากฝั่งทหารอย่างชัดเจน
ทำให้ผู้ที่สั่งสังหารประชาชนและผู้ที่สลายการชุมนุมรุนแรงเกินกว่าเหตุยังคงลอยนวลพ้นผิด แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมาถึง 15 ปี
คดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ พ.ศ. 2547
คดีตากใบ ถือว่าเป็นตัวอย่างของความเป็นธรรมที่ถูกรัฐละเลย จนหมดอายุความใน ต.ค. 2567 ที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดทางใจและทุพลภาพ หลายคนเจ็บปวดจากความสูญเสียญาติพี่น้องคนที่รัก
มะรีกี ดอเล๊าะ ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เล่าถึงวันนั้นว่า มีชุมนุมในช่วงเช้าบริเวณสถานีตำรวจภูธรตากใบราว 1,500 คน กระทั่งช่วงบ่ายทหารได้เข้ามาปราบปราม ด้วยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 คนและควบคุมตัวผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน จับถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ถูกเตะและตีด้วยด้ามปืน และบังคับให้นอนราบซ้อนทับกัน 5 ชั้นในรถบรรทุก เพื่อนำตัวไปค่ายทหารอิงคยุทธบริหาร ที่อยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงกว่าจะถึงปลายทาง เพราะรถบรรทุกจอดระหว่างทางเรื่อยๆ หากได้ยินใครร้องด้วยความเจ็บปวด ระหว่างอยู่ในรถบรรทุกประชาชนถูกกลั่นแกล้งทารุณจากการที่ทหารเอาด้ามปืนตีและเหยียบจากด้านบน
เมื่อขบวนรถบรรทุกมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร พบผู้เสียชีวิตถึง 78 คน ผู้บาดเจ็บ 50 คน จากการกดทับ ขาดน้ำ อาหารและอากาศหายใจ และมีผู้สูญหายจำนวนหนึ่ง จากคำบอกเล่าของผู้ที่ถูกรอดชีวิตจากการทารุณทรมานจำนวนหนึ่งกล่าวว่า ได้ยินทหารพูดระหว่างทรมานว่า “กูรอวันนี้มานานแล้ว”
ทางฝ่ายญาติพี่น้องผู้สูญหายเองไม่สามารถแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ บางคนถูกกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ สำหรับญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตร่วมกันฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่พนักงานอัยการได้สั่งให้ยุติการสอบสวนและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีปรากฏพยานหลักฐานสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และเป็นการขาดอากาศหายใจเอง ทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลง จากความรุนแรงทารุณที่เกิดขึ้นจึงไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกดำเนินคดี
จนกระทั่ง พ.ศ.2567 ศาลนราธิวาสรับคำฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน ผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่คดีถูกถ่วงเวลาจนกระทั่งหมดอายุความ โดยไม่มีจำเลยคนใดมาปรากฏตัวต่อศาล เนื่องจากหลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ กลับมาทำงานในราชการหลังจากหมดอายุความ
“แม้ว่าอายุความจะหมดไปแล้ว แต่อายุความรู้สึกมันไม่มีวันหมด” ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบกล่าว
ข้อเสนอจากตากใบถึงราชประสงค์ หนทางปฏิรูประบบยุติธรรม
มีหลายเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำทารุณกรรมใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วงและประชาชนผู้คิดต่างจนบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต หากแต่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถดำเนินคดีความลงโทษผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความรุนแรงได้ เช่น
- การสลายการชุมนุมที่ตากใบ มีผู้เสียชีวิต 85 คน ราว 5 ใน 7 ผู้เสียชีวิตถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ ที่ผ่านมาแล้ว 21 ปี
- การสลายการชุมนุม “คนเสื้อแดง” มีผู้เสียชีวิต 95 คน ที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 15 ปี
- การสลายการชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” ช่วงพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาแล้ว 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีการกระทำอื่นๆ ของรัฐต่อประชาชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น การลอบฆ่า อุ้มหาย ทำร้าย ข่มขู่สร้างความหวาดกลัว ดำเนินคดีปิดปาก สลายการชุมนุมด้วยมาตรการเกินกว่าเหตุ การใช้แก็สน้ำตา กระสุนยาง การฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถือว่าเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ
แม้เหยื่อและญาติจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ แต่การเยียวยาไม่ใช่ทางออกและการแก้ไขปัญหา ความยุติธรรมต่างหากที่ประชาชนต้องการ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
เขียนรัฐธรรมนูญใหม่กี่โมง? : สำรวจโจทย์ทั้งเก่าและใหม่เพื่อจะพบว่าไทยยังไม่ได้แก้อะไรเลย