คำแถลงนโยบายของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาถึง “ปฏิรูประบบราชการ-พัฒนากองทัพ” ให้คล่องตัว ยืดหยุ่น และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก
แต่ผ่านมา 1 ปีกว่านอกจากไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรแล้ว ยังพบปัญหาการละเมิดเสรีภาพพลเรือน ดังเช่นตัวอย่าง 2 เหตุการณ์ที่เป็นสัญญาณว่ากองทัพกำลังคุกคามเสรีภาพประชาชน แม้จะอยู่ในช่วงเวลาของรัฐบาลพลเรือน ดังนี้
- หนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายในฯ” ซึ่งเป็นงานวิจัยของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกกอ.รมน. ขอความร่วมมือให้ระงับการจำหน่ายเผยแพร่หนังสือ ซึ่งทางกสม. ออกมากล่าวว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- พอล แชมเบอร์ส อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ศึกษาระบบราชการทหารไทยถูกกองทัพภาคที่ 3 แจ้งความกล่าวหาให้ดำเนินคดี และถูกตรวจค้นห้องทำงานในมหาวิทยาลัย
จากทั้ง2 เหตุการณ์สะท้อนให้เห็นว่า “การปฏิรูปกองทัพ”ยังห่างไกลจากความเป็นจริง ขณะที่บทบาททหารไทยยังมีคำถามว่าจะไปในทิศทางไหน ? โดยในงานเสวนาหัวข้อจากงานเสวนา เรื่อง “ทหารไทยจะไปทางไหน” เมื่อ 14 พ.ค.68 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พบว่า ปัญหาของการปฏิรูปกองทัพ ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของกองทัพที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงภายในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศ และการมองชาติที่ไม่รวมถึงประชาชน
รัฐพันลึกในกองทัพ อุปสรรคของการปฏิรูป
รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กองทัพให้ความสำคัญกับความมั่นคงและภัยคุกคามภายในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศ ทำให้กองทัพไม่ได้มีบทบาทในภารกิจหลักกองทัพในฐานะรั้วของชาติ ทั้งๆที่ภัยคุกคามหลายรูปแบบมาจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
- ปัญหาแก่นกลางของแก๊ง call center มีประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมียนมาที่รับผลประโยชน์จากกลุ่มจีนเทาและขบวนการ แก๊ง call center แต่กองทัพแทบไม่มีบทบาทหยุดยั้งป้องกันขบวนการเหล่านี้ได้
- ปัญหายาเสพติด ที่มีแหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐว้าติดกับแม่ฮ่องสอน เป็นรัฐยาเสพติด มีกองกำลังที่ตั้งฐานรุกล้ำอาณาเขตรัฐไทย
- ปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก ซึ่งมาจากเหมืองแร่ที่เมียนมา แต่กองทัพไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง
เห็นได้ชัดว่า กองทัพอาณานิคมเน้นความสงบภายใน ทำให้ปัญหาที่อยู่ภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบคนในประเทศไม่ได้ถูกจัดการอย่างจริงจัง
“ผมเห็นว่า เรายังมีความจำเป็นที่ต้องมีกองทัพ แต่กองทัพต้องมีคุณภาพ ผมเห็นด้วยกับกองทัพที่ต้องการซื้ออาวุธ แต่ต้องซื้ออาวุธอย่างมียุทธศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายในการป้องกันภัยจริงๆ ต้องมีความทันสมัย พร้อมกับสถานการณ์โลกที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ซื้อ spyware เพื่อเล่นงานคนภายในชาติ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วย”
รังสิมันต์ กล่าวต่ออีกว่า สภาพรัฐพันลึก (deep state) ในกองทัพ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองเป็น “กองทัพแห่งรัฐชาติ” ได้ สมาชิกส่วนใหญ่ในกองทัพเองไม่ได้เห็นด้วยกับปฏิบัติการต่างๆ เช่นปฏิบัติการ IO และการแจ้งความกล่าวหา ดร.พอล แชมเบอร์ส แต่กลุ่มคนที่ปฏิบัติการลักษณะเหล่านี้เป็นกลุ่มคนเล็กๆที่มีอำนาจสูงในกองทัพ และวัฒนธรรมในกองทัพทก็มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง และมีพลังจารีตอนุรักษ์นิยมซ่อนอยู่ในกองทัพ ที่ถูกนำมาอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้คือรัฐพันลึกที่มีพลังมากพอที่จะทำให้สมาชิกในกองทัพจำนวนมากไม่กล้าปฏิรูป เพราะกลัวว่าตนเองจะเดือดร้อน ทั้งๆที่รู้ถึงปัญหาภายในและไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของผู้มีอำนาจ เท่ากับว่าภายในกองทัพอยู่กันด้วยความหวาดกลัว
“อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ภายในกองทัพเองต่างรู้ว่าประสิทธิภาพของทหารเกณฑ์ว่ามีน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้จึงมอบหมายให้ทหารเกณฑ์ไปทำภารกิจที่ไม่สำคัญ และไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการเกณฑ์ทหาร เพราะจะไปขัดผลประโยชน์ผู้มีอำนาจในกองทัพ ”
ดังนั้นในการที่จะปฏิรูปกองทัพ เพื่อไปสู่กองทัพแห่งชาติที่สมบูรณ์ ต้องเอาสภาวะรัฐพันลึกออกจากกองทัพให้ได้ ต้องสนับสนุนความกล้า ทลายความหวาดกลัว ทลายวัฒนธรรมเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบรุ่นของทหารที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเกลียดชัง เพื่อให้เป็นกองทัพทันสมัย เกิดระบบคุณธรรม ไปพร้อมกันนั้นต้องการกอบกู้ความน่าเชื่อถือของกองทัพในสายตาประชาชน ไม่ใช่ด้วยปฏิบัติการ IO แต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าภายในกองทัพสามารถขจัดคอรัปชั่น การคัดสรรคนที่มีอำนาจตำแหน่งนั้นๆมีคุณสมบัติมีศักยภาพจริงๆ มีความโปร่งใส และมีความรับผิดรับชอบ
ปฏิรูปกองทัพต้องนิยาม “ความเป็นชาติไทย” แบบใหม่
การปฎิรูปกองทัพ จึงต้องอาศัยความกล้าหาญทลายวัฒนธรรมของระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ในระบบทหาร รวมถึงการปรับวิธีคิดใหม่โดยกองทัพต้องมองชาติรวมถึงประชาชน แต้ประเทศไทยยังไม่เป็นรัฐสมัยใหม่ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เพราะยังคงมีสภาวะรัฐสมบัติส่วนตัวของกองทัพไทย การเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมบัติส่วนตัวมาเป็นรัฐประชาชาติ หรือรัฐสมัยใหม่ ต้องมีการนิยาม “ความเป็นชาติ” แบบใหม่ ปัจจุบันความหมายของความเป็นชาติยังไม่สมบูรณ์ ยังขาดประชาชนในความหมายของชาติ
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวการนิยามความเป็นชาติเพื่อสร้างทหารของชาติว่า รัฐไทยต้องหันมานิยาม “ความเป็นชาติ” ให้มากกว้างขึ้น ต้องโอบรับชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น มลายู พร้อมดึงผู้อพยพต่างชาติให้เข้ามามีส่วนร่วมกับชาติ ยกตัวอย่างเช่น ผู้อพยพจากเมียนมา ซึ่งมีจำนวนมากและเป็นกำลังทางการผลิตที่สำคัญ เพราะผู้อพยพที่หลากหลายอาชีพทั้งผู้ใช้แรงงาน แพทย์ นักธุรกิจ ทนายความ หลายคนมีลูกหลานที่ต้องการเรียนหนังสือ รัฐไทยสามารถพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้สามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยได้ด้วยการศึกษา แต่การที่รัฐไทยสั่งปิดศูนย์การเรียนของเด็กที่ครอบครัวย้ายถิ่นฐานจากเมียนมา แทนที่จะยื่นมือส่งเสริมให้เรียนภาษาไทย ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ ทั้งๆที่คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยได้ และจะทำให้ชาติอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ในมิติของการปฏิรูปกองทัพนั้น ฟูอาดี้ กล่าวว่า “ในสถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันระหว่างประเทศทำให้โอกาสที่จะเกิดสงครามน้อยลง จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ผูกพันทางมิติต่างๆมากขึ้น หากแต่กองทัพไทยยังไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์โลกได้ กองทัพมีบทบาทในเรื่องความมั่นคงภายในมากเกินไป คอยจำกัดงานวิชาการ จับจ้องประชาชน นักเคลื่อนไหว และกิจการภายในประเทศ ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปเป็นกองทัพที่ทันสมัยได้ ไม่สามารถเป็นมืออาชีพได้ และไม่สามารถพัฒนาตนเองในการต่อสู้กับภัยคุกคามนอกประเทศได้ เพราะได้ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจแล้ว เมื่อกองทัพมีภารกิจต่างๆเพื่อความมั่นคง ต้องการตั้งกองกำลังไซเบอร์ สร้างระบบปกป้องประเทศจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ประชาชนก็จะตั้งคำถามเรื่องการใช้งบประมาณ และไม่เห็นด้วยกับภารกิจต่างๆ เพราะกลัวว่ากองทัพจะเอาศักยภาพ งบประมาณมาใช้กับประชาชนมากกว่าป้องกันภัยคุกคามภายนอก เท่ากับว่า การกระทำของกองทัพต่อประชาชนในนามของความมั่นคง ทำให้ประเทศอ่อนแอลงจากภัยคุกคามภายนอก”
กองทัพยังมองชาติเป็นสมบัติส่วนตัว
ขณะที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลายคนชอบบอกว่ารัฐไทยเป็น “รัฐล้มเหลว” แต่อันที่จริงไทยยังคงห่างไกลจากคำว่า “ภาวะรัฐล้มเหลว” (Failed state) เพราะรัฐล้มเหลวคือไม่เหลือสภาพความเป็นรัฐ ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานคุ้มครองปลอดภัยชีวิตประชาชน เช่นประเทศที่ถูกกลุ่มกบฎยึดพื้นที่ ในทางตรงกันข้าม รัฐไทยค่อนข้างแข็งแรง รัฐมีอำนาจมาก มากเกินไปจนไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล และขาดความรับผิดรับชอบ ใช้อำนาจรุกล้ำประชาชน รัฐไทยจึงไม่ใช่รัฐล้มเหลว แต่เป็น “รัฐสมบัติส่วนตัว”
คำว่า “รัฐสมบัติส่วนตัว” (patrimonial state) มาจากแนวคิด แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งนิยามรัฐประเภทนี้ว่าเป็นรัฐที่ผู้นำทางทหาร หรือชนชั้นนำถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัว ไม่ใช่ของประชาชน จัดการรัฐราวกับทรัพย์สินส่วนตัว จัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์กันภายในกลุ่ม ใช้เป็นกลไลอำนาจในการบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และใช้อำนาจแทรกแซงระบบราชการ
รัฐไทยเองมีลักษณะของรัฐสมบัติส่วนตัว อำนาจยังคงผูกขาดรวมศูนย์อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้ตอบสนองประชาชน กองทัพมองประเทศเป็นสมบัติส่วนตัว แบ่งปันผลประโยชน์กันภายในกลุ่มผู้มีอำนาจและบริวารจากความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไว้วางใจ ผ่านระบบราชการ ส่งผลให้แต่งตั้งข้าราชการ โดยไม่คำนึงถึงหลักความสามารถ หรือเรียกได้ว่าไม่มีระบบคุณธรรม (merit system) ทหารชั้นผู้น้อยต้องรับใช้ผู้ปกครองเบื้องบน ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่เหลือความเป็นอิสระของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ
และกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถใช้อำนาจบริหารได้อย่างเต็มที่ และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเป็นรัฐสมัยใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว
“กองทัพในสภาวะรัฐสมบัติส่วนตัว จะขาดความเป็นสถาบันและความเป็นมืออาชีพ จะเห็นได้ว่ากองทัพในหลายประเทศที่มีลักษณะรัฐสมบัติส่วน ทำให้รบกี่ครั้งก็แพ้ และจะเห็นได้ว่าภายในกองทัพอย่างกองทัพไทยเกิดการแตกกลุ่มย่อยภายใน ด้วยระบบรุ่นระบบเหล่า พวกพ้อง ไม่เพียงแต่ในกองทัพเท่านั้น แต่เป็นทั้งระบบราชการ ผลที่ตามมาคือคอรัปชั่น เพราะตรวจสอบไม่ได้และการพ้นผิดลอยนวล เห็นได้จากนายพลจำนวนมากมีความร่ำรวยผิดปกติ เพราะเมื่อรัฐเป็นสมบัติส่วนตัว ทหารชนชั้นนำที่เข้ามายึดอำนาจจะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หาความมั่งคั่งเข้าตนเอง แล้วผลัดเปลี่ยนกลุ่มเข้ามามีอำนาจกัน พูดง่ายๆคือผลัดเปลี่ยนเข้ามากินบ้านกินเมือง ”
ในการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้มาเป็นกองทัพแห่งชาติ ที่ชาติหมายรวมถึงประชาชน ต้องมาจากทั้ง 2 ส่วนคือจากข้างบนคือกลุ่มคนที่มีอำนาจ และจากข้างล่างคือแรงกดดันจากภาคประชาชน
หากทั้ง 2 กลุ่มพร้อมกันผลักดันก็จะสามารถปฏิรูปกองทัพและเปลี่ยนสภาพรัฐสมบัติส่วนตัวเป็นรัฐสมัยใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลพลเรือนต้องมีเจตจำนงในการปฏิรูปกองทัพ ด้วยการการเจรจาต่อรองกับกองทัพอย่างมียุทธศาสตร์ หากกองทัพเป็นกองทัพแห่งชาติได้ และจะสามารถปรับภารกิจทหารได้ทั้งหมด สามารถเปลี่ยนมุมมองต่อความหมาย “ภัยคุกคาม” ทหารจะไม่มาทำ IO กับประชาชนอีก
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน เกิดการสร้างพรรคการเมืองที่แข็งแรงที่ต้องการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายกองทัพอย่างยิ่งในความพยายามควบคุมสถาบันการเลือกตั้ง และยังถือว่ากองทัพไทยล้มเหลวในเรื่องนี้อยู่
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นักเขียนและอดีตข้าราชการทหาร กล่าวถึงที่มาของรัฐสมบัติส่วนตัวของกองทัพไทยว่า กองทัพมีพัฒนาการมายาวนานตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่การรัฐประหาร 2490 เป็นจุดกำเนิดให้รัฐกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของกองทัพนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองเหนือพลเรือน กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตย และกองทัพก็ได้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของกลุ่มชนชั้นนายพลกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ด้านบนของโครงสร้างกองทัพที่มีลักษณะเป็นพีระมิด ไม่ใช่ของประชาชน
ทางแก้ไขปัญหาก็คือต้องทำให้ยอดพีระมิดของทหารหลุดออกจากกับดักแห่งผลประโยชน์ เพื่อทำให้กองทัพเป็นของประชาชน เป็นกองทัพแห่งชาติ
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง