ThaiPBS Logo

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

รัฐบาลมีความพยายามในการเปลี่ยนระบบการบังคับเกณฑ์ทหาร โดยการรณรงค์และกระตุ้นให้คนมาสมัครผ่าน "ระบบสมัครใจ" มากขึ้น แต่หากมีผู้สมัครใจไม่เพียงพอ ก็จะมีการเกณฑ์ทหารดังเดิม โดยคาดว่าจะไม่มีการเกณฑ์ทหารภายใน 2-3 ปี

อ่านเพิ่มเติม

  • เริ่มนโยบาย
  • วางแผน
  • ตัดสินใจ
  • ดำเนินงาน
  • ประเมินผล

เริ่มนโยบาย

ขั้นตอนเริ่มต้นนโยบาย ประกาศนโยบายต่อสาธารณะ

วางแผน

ขั้นตอนวางแผน เสนอแผนงานต่างๆ

ตัดสินใจ

ขั้นตอนดำเนินงานตามนโยบายที่ประกาศไว้

ดำเนินงาน

ขั้นตอนการตรวจสอบการทำงาน

ประเมินผล

ขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย

อ่านเพิ่มเติม

เกณฑ์ทหาร

กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการรับราชการทหาร คือ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2479 โดยกำหนดให้ชายสัญชาติไทยที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์และไม่ได้เข้ารับการศึกษาเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) จะต้องถูกเรียกไปเกณฑ์ทหาร และบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร… ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” หน้าที่การรับราชการทหารจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย

อย่างไรก็ตาม การบังคับเกณฑ์ทหารในปัจจุบันถูกตั้งคำถามและเป็นที่ถกเถียงว่าสมควรที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ จากปัญหาต่าง ๆ เช่น ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การรับใช้ทหารชั้นผู้ใหญ่แทนการรับใช้ชาติ โดนวัฒนธรรมอำนาจนิยมกดทับ ขาดสารอาหารจากอาหารการกินที่ไม่ได้มาตรฐาน หลายครอบครัวขาดเสาหลักในการหารายได้ สูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย จนไปถึงการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ในค่าย

 

นโยบายหาเสียงยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลายพรรคการเมืองชูนโยบายแก้ไข-ปรับปรุงการเกณฑ์ทหาร

  • • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย
  • • ปรับปรุงการเกณฑ์ทหาร เช่น พรรคชาติพัฒนากล้า
  • • แบ่งสัดส่วนการเกณฑ์ทหาร แต่ยังคงระบบการเกณฑ์ทหารไว้ เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม มีหลายพรรคการเมืองที่ไม่มีการพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

 

8 พรรคลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล

วันที่ 22 พ.ค. 2566 พรรคการเมืองรวม 8 พรรค ประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคสังคมใหม่ ลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ผลักดันเนื้อหา 23 ข้อและ 5 ประเด็นแนวทางบริหารประเทศที่ทุกพรรคเห็นพ้องร่วมกัน โดยมีการพูดถึงการเปลี่ยนการเกณฑ์ทหาร ในข้อที่ 4 ดังนี้

4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม

แม้ในท้ายที่สุด พรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และพรรคเพื่อไทยแถลงขอถอนตัวออกจาก MOU ดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 โดยพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในการแถลงดังกล่าวมีการพูดถึงการสานต่อนโยบายการเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ ดังนี้

นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ … เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ … ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันร่วมกับพรรคร่วมเพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ

 

แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 โดยระบุเรื่องการเกณฑ์ทหารและการเรียน รด. ว่า

รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย

1. จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ

2. ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ในรายการคุยนอกกรอบกับสุทธิชัยหยุ่น เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ว่า ไม่สามารถออกกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารเลยได้ โดยมองว่าจะเป็นการปิดโอกาสในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนหรือสงคราม โดยรัฐบาลจะใช้วิธีการสมัครใจแทน เพื่อลดสัดส่วนจำนวนผู้ถูกบังคับเกณฑ์ทหาร และกระตุ้นให้คนมาสมัครผ่าน ระบบสมัครใจ มากขึ้น แต่หากมีผู้สมัครใจแล้วกำลังพลยังขาด ก็จะมีการเกณฑ์ทหารเพื่อให้ได้ถึงตามเป้าที่กำหนดไว้

รมว.กลาโหม กล่าวต่อว่า การรณรงค์ที่ผ่านมาได้รับความสนใจ โดยมีผู้เข้ามาสมัครจำนวนมากเมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว และคาดอีก 2-3 ปี จะไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่จะมาจากระบบสมัครใจเพียงอย่างเดียว ด้วยสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเงินเดือนที่ได้เต็มไม่มีการหัก

อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้มีการผลักดันนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างจริงจังเท่าที่ควรตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ และทำให้ประชาชนต้องอยู่กับระบบการเกณฑ์ทหารเหมือนเดิม

 

อีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวคือ โครงการพลทหารปลอดภัย จากคณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.การทหาร) โดยเกิดจากการที่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่สามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ จึงจำเป็นต้องมีการคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรี และความปลอดภัยของพลทหาร โดยธนเดช เพ็งสุข สส.พรรคก้าวไกล และในฐานะรองปธ.กมธ.การทหาร ได้แถลงความคืบหน้าโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567

ทาง กมธ.การทหารมีข้อมุ่งหวังต่อโครงการ ดังนี้

  • 1. รับข้อร้องเรียนผ่านช่องทาง Line OA ของกมธ.การทหาร โดยจะมีการเข้าช่วยเหลือแก้ไขวิกฤตในทันที กรณีที่พบว่าพลทหารถูกทำร้ายซ้อมทรมาน ถูกธำรงวินัยอย่างผิดระเบียบ หรือถูกกระทำที่ไม่เป็นธรรม โดยจะประสานงานโดยตรงกับกระทรวงกลาโหม หรือตัวแทนเหล่าทัพที่ประจำ กมธ. เพื่อระงับเหตุที่เกิดขึ้น
  • 2. หากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นและไม่สามารถยับยั้งได้ หรือเป็นเหตุให้เกิดการจำหน่าย หรือเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพลทหาร จะมีการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีกับนายทหารผู้กระทำและผู้บังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
  • 3. นำพลทหารที่หนีทหารกลับสู่กรมกองด้วยความปลอดภัย เพื่อคืนสิทธิ์คืนศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิต โดยกำลังพลที่หนีทหารสามารถประสานงานที่ กมธ.การทหาร ได้
  • 4. นโยบายนำจิตแพทย์เข้าพบพลทหาร จากเหตุการณ์พลทหารกระทำอัตวินิบาตกรรมระหว่างอยู่ในค่ายทหารเนื่องจากความเครียดและวิตกกังวล เพื่อให้กระทรวงกลาโหมได้ดูเป็นแบบอย่างในการนำไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพล

ธนเดช กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลมีการยื่นร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยฉบับแรกเป็นร่างการเงิน ซึ่งนายกฯ ยังไม่เซ็นรับรอง (ณ วันที่ 1 เม.ย. 2567) และอีกฉบับซึ่งไม่เป็นร่างการเงิน ซึ่งจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ตัดสิทธิกองทัพในการบังคับคนไปเป็นทหารในห้วงเวลาที่ไม่ใช่สถานการณ์รบ-สงคราม เพื่อให้กองทัพประกอบด้วยคนที่สมัครใจเท่านั้น

ธนเดช อธิบายว่า ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยความต้องการกำลังพลประมาณ 90,000 คนต่อปี มีคนสมัครประมาณ 30,000 คน และมีคนต้องเสี่ยงจับใบดำใบแดงประมาณ 60,000 คนต่อปี โดยเสนอให้กองทัพทำ 2 เงื่อนไขหลัก คือ

  • 1. ลดยอดกำลังพล เช่น จากการไปอยู่บ้านนาย โดยคาดว่าจะลดยอดกำลังพลเหลือ 50,000 – 60,000 คน
  • 2. เพิ่มสวัสดิการให้กับคนที่สมัครใจ เช่น การยกระดับคุณภาพชีวิต การประกันรายได้ หรือการคุ้มครองความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

 

ในวันเดียวกัน (1 เม.ย. 2567) พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ในปี 2567 ดังนี้

โดยยอดที่เรียกเกณฑ์ฯ จำนวนประมาณ 70,000 คน แบ่งเป็น

  • • ทหารประจำการที่แจ้งความประสงค์ขอเลื่อนกำหนดเวลาปลด (หรือสมัครอยู่ต่อ) ประมาณ 5,000 คน
  • • คาดว่ามีผู้สมัครในระหว่างการตรวจเลือก ณ หน่วยสัสดี ประมาณ 25,000 คน (จากสถิติปี 2566 มีจำนวน 25,461 คน)
  • • ดังนั้น คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่ตรวจเลือกด้วยวิธีการจับใบดำใบแดง ประมาณ 40,000 คน

 

แหล่งที่มา

 

ภาพรวม

ลำดับเหตุการณ์

  • ธนเดช เพ็งสุข สส.พรรคก้าวไกล และรองปธ.กมธ.การทหาร แถลง Policy Watch ของพรรคก้าวไกล ในหัวข้อ "ก้าวแรกพลทหารต้องปลอดภัย ก้าวต่อไปต้องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร" เนื่องในวันแรกของการเกณฑ์ทหาร  ดูเพิ่มเติม ›

    1 เม.ย. 2567

  • กระทรวงกลาโหมเปิดเผยตัวเลขเกณฑ์ทหารปี 2567 จำนวน 85,000 คน ลดลงจากปี 2566 กว่า 8,000 คน ส่งผลให้เหลือจับใบแดงใบดำ 40,000 คน  ดูเพิ่มเติม ›

    1 เม.ย. 2567

  • ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความเล่าเรื่องอดีตผู้ช่วยฆ่าตัวตายในค่ายทหาร เรียกร้องให้ค่ายทหารเปิดเผยผลชันสูตร และให้มีการผลักดันการยกเลิกเกณฑ์ทหาร  ดูเพิ่มเติม ›

    19 มี.ค. 2567

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล และปธ.กมธ.การทหาร แถลงเปิดโครงการพลทหารปลอดภัย เพื่อปกป้องพลทหารจากการถูกซ้อม ช่วยเหลือกรณีหนีออกจากค่ายทหาร และป้องกันไม่ให้นำพลทหารไปใช้ผิดลักษณะ  ดูเพิ่มเติม ›

    13 มี.ค. 2567

  • รังสิมันต์ โรม ปธ.กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวหลังหารือกับ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ว่า กองทัพตั้งเป้าจะรับสมัครทหาร 100% ภายในปี 2571 โดยปัจจุบันทำได้อยู่ที่ 40% และในปีหน้าตั้งเป้าที่ 50-60%  ดูเพิ่มเติม ›

    15 ธ.ค. 2566

  • สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารยังต้องมีทั้งการกระตุ้นให้คนมาสมัครผ่านระบบสมัครใจและการบังคับเกณฑ์ทหาร หากครบตามที่ต้องการก็ไม่ต้องเกณฑ์เพิ่ม

    13 ก.ย. 2566

  • เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ระบุเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ และปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารของรด. ให้เป็นไปแบบสร้างสรรค์  ดูเพิ่มเติม ›

    11 ก.ย. 2566

  • สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังหารือผู้นำเหล่าทัพว่า จะเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ ในเดือนเม.ย. 2567 อัตราการเกณฑ์จะลงลดและเหลือแต่ระบบสมัครใจ  ดูเพิ่มเติม ›

    3 ก.ย. 2566

รายละเอียด

ความสำเร็จของนโยบาย

เชิงโครงการ

เปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ
ในเดือนเม.ย. 2567 โดยอัตราการเกณฑ์จะลงลดและเหลือแต่ระบบสมัครใจในอนาคต
วันที่: 3 ก.ย. 2566ดูเพิ่มเติม ›