นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อเป็นรัฐบาลได้ประกาศนโยบายต่อรัฐสภา โดยใช้ข้อความว่า “เปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ” แต่ยังคงความหมายว่าเดิม คือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากพรรคเพื่อไทยมาแล้ว 2 คนคือ ใช้สุทิน คลังแสง (2566-2567) และภูมิธรรม เวชยชัย (2567-ปัจจุบัน) แต่ยังไม่สามารถยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ตามที่เคยหาเสียงไว้ได้สำเร็จ
ก่อนเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยได้เคยประกาศไว้ว่าจะ
- ยกเลิกการเกณฑ์ทหารจากการบังคับ ให้เป็นไปโดยสมัครใจทันที โดยการเปิดกว้างให้การสมัครทหารออนไลน์ทำได้ง่ายและครอบคลุมมากขึ้น โดยไม่กำหนดเป้าหมายการรับ เพื่อให้ทหารเป็นทหารมืออาชีพ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง
- แปรค่ายทหารเป็นวิทยาลัย เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาชีพ มีใบประกอบวิชาชีพตามความถนัด เพื่อเพิ่มศักยภาพทหารเกณฑ์ ให้ประเทศสามารถใช้แรงงานกองทัพมาพัฒนาประเทศทดแทนแรงงานในยามสงบอย่างเหมาะสม
- เพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ คืนความเป็นธรรมให้ทหารชั้นผู้น้อย ด้วยระบบราชการดิจิทัลเพื่อประชาชน
แต่หลังจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ลงนามรับรอง ร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ฉบับพรรคก้าวไกล ที่ถูกตีความว่าเป็นร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการเงิน ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ไม่สามารถบรรจุเข้าวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
ขณะเดียวกันรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่มีร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ.2497 หรือร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เสนอรัฐสภาให้พิจารณาแม้แต่ฉบับเดียว และทำได้เพียงการปรับลดตัวเลขทหารเกณฑ์ลง และสร้างแรงจูงใจคนรุ่นใหม่สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการมากขึ้น เช่น การลดการฝึกที่รุนแรง ป้องกันการลงโทษที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเพิ่มสิทธิประโยชน์สวัสดิการ เช่น ได้รับเงินเดือนรวมค่าครองชีพ 11,000 บาท การรักษาพยาบาล ได้รับโอกาสเพิ่มวุฒิการศึกษา ฝึกอบรมทักษะอาชีพ ได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษในการสอบเข้าโรงเรียนในสังกัดกองทัพ ตลอดจนได้รับโควตาที่นั่ง ในการสมัครสอบเป็นนักเรียนนายสิบทหารบก ร้อยละ 80 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด
กองทัพขยับรับนโยบายรัฐบาล
แม้รัฐบาลไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนจะกดดันให้กองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ กองทัพต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และกระแสสังคม ทำให้มีท่าทีในการสนองรับนโยบายรัฐบาล โดยเมื่อ 15 ธ.ค. 66 ผู้บัญชาการทหารบก เจริญชัย หินเธาว์ ต้องออกมายืนยันในการหารือกับประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่กองบัญชาการกองทัพบก ว่า กองทัพบกได้ตั้งเป้าว่าจะสามารถยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร 100 %ในปี 2571
และในช่วงที่กระทรวงกลาโหมพิจารณายอดเรียกเกณฑ์ทหารประจำปี 2568 พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้เสนอแนวคิดเกณฑ์ทหาร ว่า หากใครไม่ต้องการถูกตรวจเลือกเกณฑ์ทหารก็ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน นำเงินมาชดเชยในเรื่องค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่สมัครใจเข้ารับราชการทหาร แต่แนวความคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ค่ายทหารมีไว้สำหรับคนจน สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมากกว่า
ขณะเดียวกัน กองทัพได้พยายามปรับภาพลักษณ์ของทหาร อย่างเช่น จัดกิจกรรมจัดการประกวดภาพถ่าย “Unseen Moments หลากแง่มุมชีวิตทหารผ่านเลนส์” ที่กองทัพบกร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอสร้างภาพวิถีชีวิตของทหารไปจัดแสดงในนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในช่วง 13 – 26 ม.ค. 68 ที่ทั้ง 50 ภาพถ่าย เล่าเรื่องความเป็นมนุษย์ ครอบครัว ความรักสัตว์ พิทักษ์เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ การช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ ความเป็นพี่น้อง-มิตรภาพ การฝึกให้พร้อมต่อภัยคุกคาม การเสี่ยงภัยที่มีการปะทะกันในสถานการณ์รบ ความเท่าเทียมและเปิดกว้างทางเพศ
คนถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารยังมีมากกว่าสมัครใจ
ขณะที่ในฝั่งรัฐบาล ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อไทย กลับมีท่าทีประนีประนอมกับกองทัพในการดำเนินการตามนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปรียบเปรยว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” คราวถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 มี.ค. 68
ดังนั้น ประเทศไทยยังคง “บังคับ” คนไปเป็นทหาร การสรรหา “รั้วของชาติ” ผู้ที่จะมารักษาความมั่นคงของชาติยังคงเป็นการจับฉลาก “ใบดำ-ใบแดง” และจำนวนทหารเกณฑ์ในแต่ละปียังคงไม่แน่นอน ขึ้นลงขึ้นตามยอดผู้ที่สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ หากปีใดผู้สมัครน้อยลง ยอดบังคับเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น ปีใดผู้สมัครมากขึ้น ยอดบังคับเกณฑ์ทหารน้อยลง
- ปี 2564 ยอดเรียกเกณฑ์ 97,558 คน มีผู้สมัคร 28,572 คน แบ่งเป็นผู้สมัครออนไลน์ 3,207 คน ผู้สมัครในวันตรวจเลือก 25,365 คน
- ปี 2565 ยอดเรียกเกณฑ์ 58,330 คน (จำนวนน้อยเนื่องจากพลทหารที่ครบกำหนดประจำการสมัครใจอยู่ต่อเพราะโรคระบาดโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย) มีผู้สมัคร 29,997 คน แบ่งเป็นผู้สมัครออนไลน์ 6,652คน ผู้สมัครในวันตรวจเลือก 21,032 คน
- ปี 2566 ยอดเรียกเกณฑ์ 93,000 คน มีผู้สมัคร 35,617 คน แบ่งเป็นผู้สมัครออนไลน์ 10,156 คน ผู้สมัครในวันตรวจเลือก 25,461 คน
- ปี 2567 ยอดเรียกเกณฑ์ 85,000 คน มีผู้สมัคร 38,160 คน แบ่งเป็นผู้สมัครออนไลน์ 14,135 คน ผู้สมัครในวันตรวจเลือก 24,025 คน
- ปี 2568 ยอดเรียกเกณฑ์ 70,000 คน มีโควตารับสมัครกว่า 41,790 คน ซึ่งมีผู้สมัครออนไลน์ไปแล้วในเดือนมกราคมจำนวน 22,361 คน
ยถากรรมทหารกองประจำการ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชายไทยตามเพศกำเนิดต้องถูกเกณฑ์ทหาร สูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงในชีวิต หารายได้ให้ครอบครัว และโอกาสที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานต้องชะงักลงหลังจบอุดมศึกษา หรือเลวร้ายที่สุดก็คือ บาดเจ็บล้มตายในค่าย เช่น
เดือน ก.ค. 2567 ที่ศูนย์ฝึกอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ขณะที่พลทหาร ศิริวัฒน์ ใจดี ฝึกกลางแจ้งในเวลาร้อนจัดเกิดอาการชักไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ จนขาไปเตะครูผู้ฝึก รายงานระบุผู้เสียชีวิตถูกเตะ ตบหน้า และทิ้งไว้นานก่อนพาส่งโรงพยาบาล จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการชันสูตรพบว่า ผู้ตายมีซี่โครงหัก 3-4 ซี่ และข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากญาติและกองทัพเรือให้ไม่ตรงกัน ทั้งช่วงเหตุการณ์และอาการชีวิต อีกทั้งญาติผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนจากทางค่าย (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/345191)
เดือน ส.ค. 2567 ที่ค่ายนวมินทราชินี จ. ชลบุรี พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล วัย 18 ปี เสียชีวิต ผลชันสูตรพบว่า อวัยวะภายในบอบช้ำรุนแรง กระดูกสันหลังหัก ซี่โครงหัก สมองบวมและปอดฉีกรั่ว ข้อมูลยืนยันว่า ก่อนหน้าเสียชีวิต พลทหารวรปรัชญ์ถูกเตะ ต่อย กระทืบ บังคับให้เข้าเวรยาม 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง และถูกบังคับให้ดื่มปัสสาวะตนเอง จนมีเจ็บป่วยแต่ไม่ถูกนำส่งโรงพยาบาล กระทั่งมีอาการรุนแรงจึงส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา
(อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.nhrc.or.th/th/south/nhrc-southern-region-news/13378)
และมีรายงานข่าวจากหลายสำนักว่า รายได้ทหารเกณฑ์ใหม่ ปี 2567 รับเงินเดือน 10,000 บาท/เดือน แต่เมื่อได้รับจริง กลับถูกหักเป็นเงินจำนวนมาก หลายรายการ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งมีข้อสังเกตว่ารายการที่หักไปนั้น เป็นไปตามอัตวิสัยของแต่ละค่าย
(รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.thaipbs.or.th/news/clip/212747)
ขณะที่ท่าทีรัฐบาลดูจะไม่ชัดเจนว่า จะยกเลิกเกณฑ์ทหารได้เมื่อไหร และหากเป็นจริงตามที่ผู้บัญชาการทหารบก เจริญชัย หินเธาว์ กล่าวอ้างว่าจะยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2571 กว่าจะถึงวันนั้น คงอีกหลายปีที่ชายไทยโดยเพศกำเนิด ต้องสมัครเรียนรด. ให้จบชั้นปีที่ 3 ที่ต้องแลกกับค่าใช้จ่าย ค่าเทอม ค่าเครื่องแบบยูนิฟอร์ม และเบียดบังเวลาเรียนรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือต้องยอมเสี่ยงปลอมแปลงเอกสารราชการ หรือจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาล เพื่อเลี่ยงเป็นทหารกำลังพล
กว่าการบังคับเกณฑ์ทหารจะถูกยกเลิกไป บนเส้นทางที่ยาวไกลนี้ ทั้งรัฐบาล กองทัพ และชายไทยตามเพศกำเนิด ต่างฝ่ายต่างเผชิญกับแรงกดดัน และกดดันกันเองไปจนกว่าจะเกิดระบบสมัครใจขึ้นจริง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง