เว็บไซต์ราชกิจจาเผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องใช้เวลาและทำอย่างครบวงจรให้เหมาะสมกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ รวมทั้งทำอย่างถูกต้องหลักการ คือ แก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ และไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ เพื่อควบคุมหนี้ครัวเรือนไม้ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ให้บริการมีการจัดการด้านการให้บริการอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
หลักเกณฑ์นี้จะบังคับใช้กับผู้ให้บริการดังนี้
- สถาบันการเงิน และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน
- บริษัทบริหารสินทรัพย์
- ผู้ปะกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน
- ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ใช่สถาบันการเงิน
- ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายภายใต้การกำกับที่ใช่สถาบันการเงิน
8 หลักเกณฑ์ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ-เป็นธรรม
ธปท.ได้ปรับปรุงใหม่หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม และยกเลิกประกาศเก่าก่อนหน้า เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยที่
- ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลืออย่างสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น โดยปรับในส่วนของเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังให้เหมาะสม และผ่อนปรนแนวทางการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้สำหรับการรวมหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อไถ่ถอนสินเชื่อจากผู้ให้บริการอื่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ดีขึ้น
- ลูกหนี้ได้รับการกระตุกพฤติกรรมให้มีวินัยทางการเงิน และมีแรงจูงใจที่จะเลือกชำระหนี้ในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถของตน และชำระหนี้เพิ่มเท่าที่สามารถชำระได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ในระยะยาว โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระคืนหนี้และภาระต้นทุนในการกู้ยืม ทั้งในช่วงก่อนเป็นหนี้และระหว่างเป็นหนี้
- ผู้ให้บริการมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเป็นไปตามแนวปฏิบัติของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ โดยผ่อนปรนแนวทางการประเมินความสามารถในการชำระหนี้สำหรับการอนุมัติสินเชื่อ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ
ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถในการชำระหนี้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกิดควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้า หรือกลุ่มลูกค้า และลักษณะสินเชื่อ รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า
1.1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์
1.1.1 ผู้ให้บริการต้องพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ และความสามารถในการชำระหนี้คืนของลูกค้า รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการผ่อนชำระหนี้ที่สอดคล่องกับรายได้ หรือกระแสเงินสดที่นำมาชำระหนี้ โดนไม่กระตุ้นให้ลูกค้าก่อหนี้เกินควร
1.1.2 ผู้ให้บริการควรผลักดันให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์สินเชื่อสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้า หรือกลุ่มลูกค้า และลักษณะสินเชื่อ ภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.2 การบริหารความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และการดำเนินการเกี่ยวกับหลักประกัน
1.2.1 ผู้ให้บริการต้องบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อโดยไม่สร้างภาระต่อลูกค้าจนเกินสมควร กล่าวคือจะต้องไม่เรียกหลักประกัน หรือการค้ำประกัน หรือการทำประกันเพิ่มเติมมากเกินความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยง
1.2.2 ผู้ให้บริการต้องประเมินราคาหลักประกันด้วยความเหมาะสม และสะท้อนมูลค้าตามความจริง
1.2.3 เมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้อย่างครบถ้วนแล้ว ผู้ให้บริการต้องคืนหลักประกัน รวมถึงเอกสารทางทะเบียน หรือหลักฐานอื่นใดที่ผู้ให้บริการได้รับไว้ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ เช่น สมุดคู่มือการจดทะเบียนรถที่ผู้ให้บริการรับมาไว้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ให้แก่ลูกหนี้ภายใน 10 วันทำการ และสำหรับกรณีการไถ่ถอนสินเชื่อจากผู้ให้บริการอื่น ผู้ให้บริการต้องดำเนินการไถ่ถอนหลักประกันให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ ยกเว้นลูกหนี้แจ้งความประสงค์ให้ดำเนินการภายหลังจากระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ หรืออยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี
1.3 การกำหนดเงื่อนไขของข้อสัญญา
1.3.1 ผู้ให้บริการต้องกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรมต่อลูกค้า โดยใช้ข้อความที่เข้าใจง่าย และไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้บริการ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหาย หรือเสียประโยชน์ของลูกค้า เช่น การให้สิทธิผู้ให้บริการยกเลิกสัญญาได้ โดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การจำกัดความรับผิดจากการผิดสัญญาของผู้ให้บริการ
1.3.3 ผู้ให้บริการต้องไม่กำหนดให้การเบิกใช้สินเชื่อทันทีที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน โดยลูกค้าต้องมีสิทธิเลือกช่วงเวลาในการเบิกสินเชื่อดังกล่าวได้ตามความต้องการ
หากผู้ให้บริการประสงค์จะมีผลิตภัณฑ์ที่มีเงื่อนไขให้ลูกค้าต้องเบิกใช้สินเชื่อทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าบางกลุ่ม ผู้ให้บริการต้องจัดให้มีผลิตภัณฑ์เดียวกันที่มีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถเลือกช่วงเวลาในการเบิกใช้สินเชื่อได้ตามความประสงค์ และต้่องเสนอขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อนั้นให้เป็นทางเลือกไปพร้อมกัน รวมถึงต้องให้ข้อมูลสำคัญที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ลูกค้าเปรียบเทียบทางเลือกดังกล่าวได้
1.3.4 กรณีที่ผู้ให้บริการใช้สิทธิตามกฎหมายในการหักเงินในบัญชีเงินฝากเพื่อนำมาชำระหนี้กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ไว้ ผู้ให้บริการต้องเหลือเงินในบัญชีเงินฝากเพียงพอให้ลูกหนี้ดำรงชีพ ยกเว้นกรณีที่ผู้ให้บริการมีบัญชีเงินฝากของลูกหนี้เป็นหลักประกัน หรือลูกหนี้แจ้งความประสงค์หักบัญชีอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดชำระสินเชื่อ
2. การโฆษณา
ผู้ให้บริการต้องจัดทำ และควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน เปรียบเทียบเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร เพื่อให้ลูกค้าได้รับ และเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ และส่งเสริมการมีวินัยทางการเงิน
2.1 โฆษณาต้อง “ถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน” โฆษณาต้องมีการแจ้งข้อมูลที่สำคัญ ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่บิดเบือน หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ โดยลูกค้าต้องสามารถมองเห็น หรือได้ยินข้อมูลได้อย่างชัดเจน เช่น ขนาดของตัวอักษรต้องสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ความเร็วในการอ่านออกเสียงต้องเท่ากับเนื้อหาอื่นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในโฆษณา
สำหรับกรณีผู้ให้บริการโฆษณาด้วยข้อมูลอัตราดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจลูกค้า ผู้ให้บริการต้องแสดงเงื่อนไขที่สำคัญของผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าวอย่างครบถ้วน และชัดเจนในสื่อโฆษณาชิ้นเดียวกัน เช่น การแสดงเงื่อนไขที่ลูกค้าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การแสดงระยะเวลาที่จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ดี กรณีเงื่อนไขอื่น ผู้ให้บริการสามารถระบุให้ลูกค้าศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากช่องทางอื่นได้ เช่น เว็บไซต์ของผู้ให้บริการ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
2.2 โฆษณาต้อง “เปรียบเทียบเงื่อนไข ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้” โดยโฆษณาต้องแสดงข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและสมมติฐานการคำนวณดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์สินเชื่ออย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลครบถ้วน และสามารถใช้ในการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นได้
2.2.0 โฆษณาต้องแสดงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี ของผลิตภัณฑ์สินเชื่อเป็นช่วยระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด และอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียงชั่วคราว) อย่างชัดเจนในสื่อโฆษณาชิ้นเดียวกัน โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต่อเป็นไปตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และแนวทางการคำนวณเพดานดอกเบี้ย ซึ่งให้นับรวมค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ทำให้ได้มาซึ่งสินเชื่อ ตามหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้กรณีสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ผู้ให้บริการแสดงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
(1) สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ให้ระบุสมมติฐานการคำนวณอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ช่วงระหว่างดอกเบี้ยต่ำสุด และอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียงชั่วคราว) ของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัวต่อปี อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และวันที่ใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับถ้อยคำที่ระบุว่า “อัตราดอกเบี้ยลอตตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้”
(2) สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยในลักษณะขั้นบันได เช่น สินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ให้แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด และอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียงชั่วคราว) ของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาต่อปี พร้อมสมมติฐานและตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ผู้ให้บริการสามารถแสดงรายละเอียดสมมติฐานและตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ยไว้ในช่องทางอื่น โดยไม่ต้องจัดให้อยู่ในสื่อโฆษณาชิ้นเดียวกับการแสดงข้อมูลอัตราดอกเบี้ยก็ได้ เช่น เว็บไซต์ของผู้ให้บริการ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ผู้ให้บริการต้องแจ้งช่องทางดังกล่าวให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน และให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย
(3) สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว ในลักษณะขั้นบันได ให้แสดงข้อมูลเพิ่มเติมตาม (1) และ (2)
สำหรับกรณีบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่โฆษณา ให้ผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระ เช่น ผ่อนชำระสินค้าที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 24 เดือน ให้แสดงข้อมูลตามข้อม 2.3.3
สำหรับกรณีที่มีการโฆษณาผ่านทางเสียงเท่านั้น เช่น วิทยุกระจายเสียง podcast ผู้ให้บริการสามารถอ้างอิงรายละเอียดสมมติฐาน และตัวอย่างการคำนวณจากแหล่งอื่นได้ เช่น เว็บไซต์ของผู้ให้บริการ
การโฆษณาที่ผู้ให้บริการใช้สื่อโฆษณาชิ้นเดียวในการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลายผลิตภัณฑ์ ธปท. สนับสนุนให้ผู้ให้บริการแสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด และอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยของแต่ละผลิตภัณฑ์สินเชื่อมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันมาก
2.2.2 การโฆษณาด้วยข้อมูลผ่อนชำระเพื่อจูงใจลูกค้า ผู้ให้บริการต้องแสดงสมมติฐานการคำนวณข้อมูลดังกล่าวให้ครบถเวน เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องแวดงข้อมูลเงินต้น อัตราดอกเบี้ย จำนวนดอกเบี้ยทั้งสัญญา ค่างวดที่สอดคล้องกับสัญญา และระยะเวลาที่ชำระคืนหนี้ทั้งหมด อย่างชัดเจนในสื่อโฆษณาชิ้นเดียว
2.3 โฆษณาต้อง “ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร”
ผู้ให้บริการต้องทำการตลาดอย่างรับผิดชอบและสนับสนุนการสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ของลูกค้า โดยต้องส่งเสริมให้ลูกค้าพิจารณาถึงความจำเป็นในการก่อหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนส่งเสริมวินัยทางการเงินและค่านิยมในการอุปโภคบริโภคอย่างเหมาะสม ดังต่อไปนี้
2.3.1 การโฆษณา การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และการทำการตลาด รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงอัตลักษณ์ทางธุรกิจของผู้ให้บริการต้องไม่มีลักษณะกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร และต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ หรือประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมถึงไม่มีลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่ากระบวนการอนุมัติสินเชื่อของผู้ให้บริการไม่ได้ทำอย่างรอบคอบ
2.3.2 ห้ามผู้ให้บริการทำการตลาดที่ให้รางวัลหรือของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ก่อน ซึ่งเป็นการกระตุ้น หรือเร่งรัดการตัดสินใจให้สมัครสินเชื่อ เช่น “เพียงแค่สมัคร ก็รับเลยกระเป๋าเดินทางทันที”
2.3.3 ผู้ให้บริการต้องแสดงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” ในโฆษณาทุกประเภท เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้มีการก่อหนี้อย่างเหมาะสม โดยลูกค้าต้องสามารถมองเห็นหรือได้ยินข้อมูลได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการอาจแสดงคำเตือนหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดี เช่น การเตือนเรื่องการจ่ายชำระหนี้คืนขั้นตํ่าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ลูกค้าต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นตลอดอายุสัญญาในจำนวนที่สูง และใช้เวลานานในการชำระคืนหนี้ทั้งหมด ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ ให้แสดงคำเตือนตามที่กำหนด
(1) ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ให้แสดงคำเตือนว่า “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย (แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยตํ่าสุดและอัตราดอกเบี้ย
สูงสุดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)”
(2) ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่โฆษณาให้ผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ของยอดใช้จ่ายจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เช่น ผ่อนชำระสินค้าที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 24 เดือน ให้แสดงคำเตือนว่า “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย (แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยตํ่าสุดและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)”
2.4 การโฆษณาในสื่อที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่สามารถจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนครบถ้วนในสื่อ
โฆษณาชิ้นเดียวกัน เช่น อาจมองเห็นตัวอักษรไม่ชัดเจน ผู้ให้บริการสามารถแสดงข้อมูลตามที่หลักเกณฑ์กำหนดในเว็บไซต์หรือช่องทางอื่นของผู้ให้บริการที่เชื่อมโยงจากสื่อขนาดเล็กดังกล่าว เช่น การแสดงข้อมูลตามที่หลักเกณฑ์กำหนดในหน้าถัดไปของเว็บไซต์เมื่อคลิกรูปภาพขนาดเล็ก
2.5 สำหรับของใช้พนักงานในการปฏิบัติงาน และสินค้าหรือของสมนาคุณที่ผู้ให้บริการแจกให้แก่ลูกค้าเพื่อทำการตลาด ที่มีลักษณะเชิญชวนหรือจูงใจให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของผู้ให้บริการซึ่งเข้าข่ายเป็นการโฆษณา โดยลูกค้ามีสิทธิตัดสินใจเลือกใช้งานของดังกล่าวได้เอง และไม่ได้รับผลตอบแทนรูปแบบใดในการใช้สินค้าหรือของสมนาคุณดังกล่าว ผู้ให้บริการสามารถพิจารณาแสดงข้อมูลตามข้อ 2.2.1 ได้ตามความเหมาะสม และสำหรับการปฏิบัติตามข้อ 2.3.3 ผู้ให้บริการสามารถแสดงเพียงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” ยกเว้นสำหรับผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตให้แสดงคำเตือน “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้” โดยขนาดของตัวอักษรต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
3. กระบวนการขาย
ผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้า และไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
3.1 การเสนอขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องมีกระบวนการให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าได้รับการนำเสนอทางเลือกผลิตภัณฑ์โดยได้รับการอธิบาย หรือได้รับทราบ หรือได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วนดังนี้
3.1.1 ผู้ให้บริการต้องเสนอขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือลักษณะความต้องการในการใช้เงินของลูกค้า เช่น วัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภคหรือเพื่อการประกอบอาชีพ หรือลูกค้าประสงค์จะได้รับสินเชื่อที่เป็นสภาพคล่องชั่วคราวหรือระยะยาว กรณีมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้ามากกว่า 1 ผลิตภัณฑ์ ผู้ให้บริการต้องเสนอทางเลือก และแจ้งข้อมูลที่สำคัญ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและเลือกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับตนเองได้
3.1.2 ผู้ให้บริการต้องเสนอขายโดยไม่กระตุ้นให้ลูกค้าก่อหนี้เกินควร พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ตระหนักถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นสามารถวางแผนการผ่อนชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม และเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายหนี้ตรงเวลา ดังนี้
(1) แจ้งคำเตือนและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปีของผลิตภัณฑ์สินเชื่อเป็นช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยตํ่าสุด และอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ตามเอกสารแนบ 2 ข้อ 2.2.1 และ ข้อ 2.3.3 ให้สอดคล้องกับลักษณะสินเชื่อแต่ละประเภท
(2) แจ้งวิธีการชำระหนี้ก่อนกำหนดทั้งจำนวนหรือบางส่วน และวิธีการตัดชำระหนี้เมื่อลูกหนี้จ่ายชำระหนี้มากกว่าค่างวดที่กำหนด เช่น ในกรณีที่ลูกหนี้นำเงินมาจ่ายชำระหนี้มากกว่าค่างวดที่กำหนด ผู้ให้บริการจะนำไปตัดชำระเงินต้นคงเหลือ
(3) แจ้งผลที่อาจเกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ โดยอย่างน้อยต้องแจ้งข้อมูล
ดังต่อไปนี้
- (3.1) ภาระดอกเบี้ยที่อาจจะสูงขึ้นระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือเบี้ยปรับจากการชำระหนี้ล่าช้า รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้
- (3.2) การหักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝาก (ถ้ามี)
- (3.3) การโอนขายหนี้
- (3.4) การบอกเลิกสัญญา
- (3.5) การดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ฟ้องร้อง บังคับคดี ยึดทรัพย์ ยึดรถ
ภายใต้สัญญาเช่าซื้อลีสซิ่ง
(4) ผู้ให้บริการควรให้ข้อมูลที่สนับสนุนให้ลูกค้ามีความรู้และวินัยทางการเงินที่ดี
(5) ผู้ให้บริการต้องเสนอขายโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระคืนหนี้รูปแบบต่าง ๆ และภาระต้นทุนในการกู้ยืม เพื่อให้ลูกหนี้มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะกับตนเองตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดต่อไป
3.2 การแจ้งสิทธิและหน้าที่ของผู้คํ้าประกันในผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องแจ้งผู้คํ้าประกันถึงสิทธิ และขอบเขตความรับผิดชอบตามข้อสัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนผู้คํ้าประกันลงนามในสัญญา
3.3 การกำหนดโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนผู้ให้บริการ ต้องกำหนดโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งค่าตอบแทนด้านเป้าหมายรายบุคคล หรือรายกลุ่ม (KPI) และเงินรางวัลจูงใจ รวมถึงมาตรการตักเตือน และลงโทษ โดยคำนึงถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมสำหรับพนักงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงผู้บริหารที่มีหน้าที่ควบคุมดูแล โดยเฉพาะการเสนอขายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินควร
4. การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้
ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลักหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้าเท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้
4.1 การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า รวมถึงผู้กู้ร่วม (หากมี) ทั้งในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อใหม่และการอนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อ โดยต้องไม่คำนึงถึงบุริมสิทธิในการ ตัดชำระหนี้ และห้ามนำจำนวนเงินที่จะได้รับชำระหนี้จากการบังคับหลักประกันหรือทรัพย์สินอื่นที่นำมา เป็นหลักประกันมาพิจารณาด้วย โดยผู้ให้บริการต้องพิจารณาภาระหนี้ทั้งหมด ทั้งภาระหนี้ในปัจจุบัน และภาระหนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้น เปรียบเทียบกับรายได้จากแหล่งที่มาต่าง ๆ รวมกัน
สำหรับกรณีที่ลูกค้าไม่มีรายได้ประจำ ผู้ให้บริการสามารถพิจารณากระแสเงินสดที่คาดว่าลูกค้าจะได้รับในอนาคตร่วมด้วย ตามที่ผู้ให้บริการสามารถประมาณการได้ด้วยวิธีที่น่าเชื่อถือ และใช้สมมติฐานที่มีความสมเหตุสมผลตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของผู้ให้บริการ เพื่อพิจารณาว่าลูกค้ามีเงินรายได้เพียงพอในการชำระหนี้และยังคงมีเงินเหลือสุทธิเพียงพอต่อการดำรงชีพ ภายหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดเท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ โดยผู้ให้บริการสามารถนำอัตราส่วนภาระหนี้ทั้งหมดต่อรายได้ของลูกค้า มาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เว้นแต่
(1) สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ให้ผู้ให้บริการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล
(2) สินเชื่อที่ลูกค้ามีความประสงค์จะใช้กระแสเงินสดที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์ หรือหลักประกันเป็นแหล่งที่มาในการชำระหนี้ อาทิ สินเชื่อที่ใช้บำเหน็จตกทอดเป็นหลักประกัน สินเชื่อที่มีเงินสดเป็นประกัน เช่น เงินฝาก สินเชื่อที่มีหลักประกันทางการเงินซึ่งมีคุณสมบัติเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายเป็นประกัน เช่น ทองคำ สลาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หน่วยลงทุนในตราสารที่เป็นหลักประกันทางการเงิน ให้ผู้ให้บริการนำกระแสเงินสดดังกล่าวมาพิจารณาเป็นแหล่งรายได้ในการชำระหนี้ได้
(3) สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุโดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ให้ผู้ให้บริการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ โดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
(4) สินเชื่อที่เกิดจากการรวมหนี้ (มากกว่า 1 บัญชี) และสินเชื่อเพื่อไถ่ถอนสินเชื่อจากผู้ให้บริการอื่น ที่ภาระหนี้และค่างวดที่ต้องผ่อนชำระไม่เพิ่มขึ้นจากการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเดิม ซึ่งลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขดีขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ยลดลง รวมถึงการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากสินเชื่อปัจจุบันที่ลูกหนี้มีภาระหนี้กับผู้ให้บริการ
ซึ่งเมื่อรวมสินเชื่อเพิ่มเติมกับภาระหนี้คงเหลือภายใต้วงเงินเดิมแล้วไม่เกินกว่าวงเงินเดิมที่ลูกหนี้ได้รับอนุมัติ และค่างวดที่ต้องผ่อนชำระไม่เพิ่มขึ้นจากการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเดิม ให้ผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลเดิมของลูกหนี้หรือข้อมูลอื่นที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ประวัติการผ่อนชำระย้อนหลัง อัตราผ่อนชำระต่อเดือน มาใช้ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแทนการพิจารณารายได้และภาระหนี้ทั้งหมดสำหรับสินเชื่อทั้งสามลักษณะดังกล่าวได้
(5) สินเชื่อที่มีแนวปฏิบัติในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโดยรวมรายได้ของผู้ค้ำประกันอยู่เป็นวงกว้างในปัจจุบัน ได้แก่ สินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ หรือการให้เช่าแบบลีสซิ่ง สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ชาวต่างชาติซึ่งเป็นคู่สมรสของลูกหนี้เป็นผู้ผ่อนชำระหลัก รวมถึง สินเชื่ออื่น ๆ ที่ ธปท. จะกำหนดต่อไป ให้ผู้ให้บริการสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยนำรายได้ของผู้คํ้าประกันมาพิจารณารวมเป็นรายได้ของลูกหนี้ได้ ตามนโยบายของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง โดยผู้คํ้าประกันดังกล่าวต้องเป็นเครือญาติ คู่สมรส หรือเป็นบุคคลที่อยู่กินกันฉันสามีภริยากับลูกหนี้ โดยมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกว่ามีสถานะดังกล่าวซึ่งผู้ให้บริการมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นจะร่วมรับผิดชอบชำระหนี้กับลูกหนี้ได้
ทั้งนี้ สำหรับการให้สินเชื่อที่มีบุคคลเป็นผู้คํ้าประกัน ผู้ให้บริการควรคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน เพื่อให้กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และผู้ให้บริการใช้สิทธิเรียกให้ผู้คํ้าประกันชำระหนี้แทน ผู้คํ้าประกันจะได้ไม่มีภาระหนี้ที่ต้องชำระเกินความสามารถในการชำระหนี้
ของผู้คํ้าประกัน
4.2 การแจ้งเหตุผลของการไม่อนุมัติสินเชื่อ กรณีที่ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อประสงค์ที่จะขอทราบเหตุผลของการไม่อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ให้บริการชี้แจงเหตุผลของการไม่อนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ขอสินเชื่อ ผ่านช่องทางปกติที่ผู้ให้บริการติดต่อลูกค้าได้ หรือผ่านช่องทางอื่นตามที่ลูกค้าร้องขอ เช่น โทรศัพท์ จดหมาย อีเมล ข้อความสั้นซึ่งส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ (SMS) แอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และบัญชีทางการ LINE โดยต้องชี้แจงปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการอนุมัติสินเชื่อ เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ ประวัติการผ่อนชำระหนี้ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถขอสินเชื่อได้ อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการไม่ต้องแจ้งเหตุผลการปฏิเสธสินเชื่อหากขัดต่อกฎหมายที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
5. การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้
ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
5.1 การแจ้งเตือนลูกหนี้ในการชำระหนี้สินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ในการชำระหนี้สินเชื่อ เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้ สามารถวางแผนทางการเงินและชำระหนี้ได้ตรงเวลา ผ่านช่องทางที่ลูกค้าแจ้งความจำนงรับข่าวสารไว้ เช่น ใบแจ้งหนี้ อีเมล ข้อความสั้นซึ่งส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ แอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ บัญชีทางการ LINE หรือช่องทางอื่น ๆ ในกรณีดังต่อไปนี้
5.1.1 การแจ้งเตือนลูกหนี้ ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้
(1) ผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ให้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้ โดยสามารถพิจารณาแจ้งเตือนเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงได้ตามความเหมาะสม ซึ่งต้องจัดทำนโยบายการแจ้งเตือนดังกล่าวที่ชัดเจนและมีหลักการที่สมเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร
ทั้งนี้ การแจ้งเตือนดังกล่าวต้องเป็นคนละครั้งกับการแจ้งรายการที่จะต้องชำระหรือรายการที่จะมีการเรียกเก็บ เช่น ใบแจ้งหนี้ ทั้งนี้ การจัดกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงให้เป็นไปตามนโยบายการแจ้งเตือนที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้
(2) ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลก่อนถึงกำหนดชำระหนี้ ให้ลูกค้าสินเชื่อที่มีเงื่อนไขการชำระคืนแบบกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่า ทราบเกี่ยวกับข้อเสียของการชำระหนี้ไม่เต็มจำนวน และข้อดีของการชำระมากกว่ายอดชำระขั้นต่ำที่ผู้ให้บริการกำหนด เพื่อกระตุกพฤติกรรมของลูกหนี้ให้ตระหนักถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นและจูงใจให้ชำระหนี้เพิ่มเท่าที่สามารถชำระได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ในระยะยาว โดยแสดงข้อมูลระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ค่างวด และภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาตามตัวอย่างการให้ข้อมูลในข้อ 5.2 เป็นต้น หรือแสดงถ้อยคำ “จ่ายขั้นตํ่าทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยสูง และเป็นหนี้นาน ถ้าจ่ายมากกว่าขั้นตํ่าจะช่วยลดดอกเบี้ยและปิดหนี้เร็วขึ้น”
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการสามารถแจ้งเตือนในครั้งเดียวกับการแจ้งรายการที่จะต้องชำระหรือรายการที่จะมีการเรียกเก็บได้ โดยให้แจ้งผ่านช่องทางที่ลูกค้าแจ้งความจำนงรับข่าวสารไว้ อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น ใบแจ้งหนี้ แอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ บัญชีทางการ LINE นอกจากนี้ ธปท. สนับสนุนให้ผู้ให้บริการแจ้งเตือนข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางอื่นที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับข้อมูลของลูกค้าเพิ่มเติมด้วย
5.1.2 การแจ้งเตือนลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้จะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้กำลังจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า เช่น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่จูงใจในช่วงแรก ซึ่งกำลังจะปรับการจ่ายดอกเบี้ยขึ้นเป็นอัตราปกติ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีลักษณะการจ่ายแบบขั้นบันได ที่กำลังจะปรับค่างวดเพิ่มขึ้น ยกเว้นผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ดังต่อไปนี้
(1) สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว กรณีที่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเพิ่มขึ้น ให้ผู้ให้บริการแจ้งเตือนให้ลูกหนี้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวภายหลังได้ แต่ต้องแจ้งโดยเร็ว
(2) บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ให้ผู้ให้บริการแจ้งเตือนลูกหนี้ให้ทราบว่าจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วง ณ วันที่ลูกหนี้เปิดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษดังกล่าวแทนได้ โดยต้องแจ้งอย่างชัดเจน
5.2 การให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการชำระคืนหนี้และภาระต้นทุนในการกู้ยืม ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระคืนหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ และภาระต้นทุนในการกู้ยืม สำหรับสินเชื่อแต่ละประเภทที่มีรูปแบบการชำระคืนหนี้แตกต่างกัน ได้แก่ สินเชื่อที่มีเงื่อนไขการชำระคืนเป็นงวด สินเชื่อที่มีเงื่อนไขการชำระคืนแบบกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่า และสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี โดยให้ข้อมูลระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ค่างวด ภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญา เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และกระตุกพฤติกรรมของลูกหนี้ให้ตระหนักถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งจูงใจให้ชำระหนี้เพิ่มเท่าที่สามารถชำระได้
ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ในระยะยาว โดยการให้ข้อมูลดังกล่าวต้องดำเนินการผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการใชป้ ระชาสัมพันธ์ข้อมูลสำคัญของตนเอง อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง เช่น การจัดทำสื่อ infographic บนสื่อทางสังคม ป้ายหรือแผ่นพับ ณ ที่ทำการสาขา
นอกจากนี้ ธปท.สนับสนุนให้ผู้ให้บริการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การออมฉุกเฉิน การออมเพื่อเกษียณ การเป็นหนี้ที่เหมาะสม การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามดุลยพินิจของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง รวมทั้งสนับสนุนให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้มากกว่าค่างวดที่กำหนดในสัญญา หากลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มเติม เช่น การจัดทำสื่อ infographic ส่งเสริมให้ลูกหนี้จ่ายชำระมากกว่าค่างวดสินเชื่อส่วนบุคคล หากพอมีกำลังจ่ายเพิ่ม การแนะนำให้ลูกหนี้ทราบว่าหากมีรายได้พิเศษเพิ่มจากปกติ สามารถนำมาจ่ายชำระมากกว่าค่างวดสินเชื่อบ้านปกติ เพื่อลดเงินต้นและดอกเบี้ยจ่าย
5.3 การตั้งค่าเริ่มต้นบนแอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการที่มีบริการรับชำระหนี้สินเชื่อที่มีเงื่อนไขการชำระคืนแบบกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่า ผ่านแอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ ให้ดำเนินการ ดังนี้
5.3.1 กรณีที่แอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ สามารถตั้งค่าเริ่มต้นของการชำระหนี้ได้ ให้ตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่การชำระหนี้เต็มจำนวน
5.3.2 ให้แสดงคำเตือนเพิ่มเติม สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ไม่เลือกชำระหนี้เต็มจำนวน เพื่อให้ลูกหนี้ทราบถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้ โดยอย่างน้อยคำเตือนดังกล่าวต้องเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นและระยะเวลาในการชำระหนี้ให้ครบถ้วนจะนานขึ้น รวมทั้งข้อดีของการชำระมากกว่ายอดชำระขั้นตํ่าที่ผู้ให้บริการกำหนด ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยในอนาคตได้และปิดหนี้ได้เร็วขึ้น เช่น ถ้อยคำ “จ่ายขั้นตํ่าทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยสูงและเป็นหนี้นาน ถ้าจ่ายมากกว่าขั้นตํ่าจะช่วยลดดอกเบี้ยและ
ปิดหนี้เร็วขึ้น”
6. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง
ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้ลูกหนี้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้อย่างเหมาะสม
ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งไม่รวมถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่มีเงื่อนไขการชำระคืนแบบกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่า ซึ่งปัจจุบัน ไม่เป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา
รวมกันเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ และได้จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่า
เงินต้นรวม เป็นระยะเวลานาน โดยจะเกิดกับลูกหนี้ที่เงื่อนไขการชำระคืนระบุค่างวดต่อเดือนเป็นจำนวน
เงินที่น้อย (เช่น ชำระเพียงจำนวนเงินขั้นตํ่า จ่ายเพียงดอกเบี้ย)
6.1 การจัดระดับของลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง
6.1.1 ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลังตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี
6.1.2 ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลัง 5 ปี และเป็นลูกหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท
(2) ลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งมิใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท
6.2 การประเมินลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง
6.2.1 เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถทราบสถานะปัญหาหนี้ของลูกหนี้แต่ละบัญชี ผู้ให้บริการ
ต้องทำการประเมินลูกหนี้เป็นรายบัญชี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ลูกหนี้เป็นหนี้กับผู้ให้บริการโดยให้ผู้ให้บริการใช้ข้อมูลดอกเบี้ยและเงินต้นของแต่ละบัญชีของลูกหนี้มาคำนวณจำนวนดอกเบี้ยรวม และเงินต้นรวมของแต่ละบัญชี ดังนี้
(1) การประเมินงวดเดือนมิถุนายน ให้ใช้ข้อมูลนับจากวันที่ 30 มิถุนายน ของปีที่ประเมินย้อนหลัง 3 และ 4 ปี กรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ general PD และย้อนหลัง 5 ปี กรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ severe PD มาคำนวณ
(2) การประเมินงวดเดือนธันวาคม ให้ใช้ข้อมูลนับจากวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่
ประเมินย้อนหลัง 3 และ 4 ปี กรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ general PD และย้อนหลัง 5 ปี กรณีที่ประเมิน
หาลูกหนี้ severe PD มาคำนวณ
6.2.2 หากลูกหนี้ประสงค์ที่จะตรวจสอบสถานะของตนเอง ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลสถานะของลูกหนี้ที่ประเมินในรอบล่าสุดแก่ลูกหนี้ได้
6.3 การช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD)
6.3.1 ผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนให้ลูกหนี้แต่ละรายทราบว่าเริ่มมีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง
อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินงวดเดือน ธ.ค.
ของปีก่อนหน้าประกอบการแจ้งเตือน ทั้งนี้ ลูกหนี้แต่ละรายต้องได้รับแจ้งเตือนการเริ่มมีสัญญาณเป็น
หนี้เรื้อรัง ไม่ตํ่ากว่า 3 ครั้งต่อบัญชี โดยการแจ้งเตือนให้ทำผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้สื่อสารข้อมูลสำคัญกับลูกหนี้ อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล ข้อความสั้น ซึ่งส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือบัญชีทางการ LINE พร้อมข้อมูลสำคัญของลูกหนี้แต่ละรายอย่างน้อย ดังนี้
(1) จำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ชำระไปแล้ว ในช่วงที่เข้าข่ายเป็นลูกหนี้
general PD
(2) ข้อความหรือการสื่อสารในลักษณะที่เป็นการกระตุกพฤติกรรมให้ลูกหนี้
ประสงค์ที่จะชำระหนี้ให้ครบถ้วนเร็วขึ้น
(3) ช่องทางติดต่อผู้ให้บริการในการให้คำปรึกษาการแก้ไขหนี้
นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้แจ้งว่าไม่ประสงค์รับการแจ้งเตือนอีก ผู้ให้บริการสามารถยุติการแจ้งเตือนได้
6.3.2 กรณีลูกหนี้ general PD ประสงค์จะชำระหนี้ให้ครบถ้วนเร็วขึ้น ผู้ให้บริการต้องมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมสำหรับลูกหนี้รายดังกล่าว
6.4 การช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD)
6.4.1 ผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนให้ลูกหนี้แต่ละรายทราบว่าเข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือน ส.ค. โดยใช้ข้อมูลการประเมินงวดเดือน มิ.ย. ของปีเดียวกัน หรือภายในเดือน ก.พ. โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินงวดเดือน ธ.ค. ของปีก่อนหน้า แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ ลูกหนี้แต่ละรายต้องได้รับการแจ้งเตือนการเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ไม่ตํ่ากว่า 3 ครั้งต่อบัญชี
โดยการแจ้งเตือนให้ทำผ่านช่องทางอย่างน้อย ต่อไปนี้ (1) จดหมาย หรืออีเมล ประกอบกับ (2) ข้อความสั้น ซึ่งส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ ช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้สื่อสารข้อมูลสำคัญกับลูกหนี้ เช่น แอปพลิเคชัน ที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือ บัญชีทางการ LINE พร้อมข้อมูลสำคัญของลูกหนี้แต่ละรายอย่างน้อย ดังนี้
(1) แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา ตามข้อ 6.4.2 พร้อมช่องทางติดต่อผู้ให้บริการในการให้คำปรึกษาการแก้ไขหนี้
(2) จำนวนภาระหนี้คงเหลือ เงินต้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ชำระไปแล้วทั้งสิ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
(3) ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนหรือชำระหนี้ขั้นตํ่าอย่างต่อเนื่อง
(4) สำหรับช่องทางจดหมาย และอีเมล ให้เพิ่มการระบุเงื่อนไขคุณสมบัติของลูกหนี้ที่ต้องไม่มีสถานะเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ณ ช่วงเวลาที่สมัครเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง จนถึงการทำสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และระบุนโยบายการแจ้งเตือนของผู้ให้บริการ เช่น จำนวนครั้งในการแจ้งเตือน
ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ได้ตอบรับการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังในเวลาที่ผู้ให้บริการแจ้งเตือน ผู้ให้บริการยังคงต้องให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในการเข้าร่วมมาตรการ หากลูกหนี้รายดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังและประสงค์เข้าร่วมมาตรการในภายหลัง
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ยินยอมให้ติดต่อเพื่อแจ้งเตือน เป็นเหตุให้ผู้ให้บริการไม่สามารถแจ้งเตือนได้ครบถ้วนตามช่องทางที่กำหนดในข้อนี้ได้ ให้ผู้ให้บริการพิจารณาปรับเปลี่ยนช่องทางสื่อสารให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย โดยต้องเป็นการแจ้งเตือนลูกหนี้ผ่านช่องทางสื่อสารอย่างน้อย 2 ช่องทางที่ไม่ซํ้ากัน และช่องทางใดช่องทางหนึ่งต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 6.4.1 (1) – (4)
เว้นแต่กรณีผู้ให้บริการสามารถสื่อสารกับลูกหนี้ได้เพียงช่องทางเดียว ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 6.4.1 (1) – (4)
นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้แจ้งว่าไม่ประสงค์รับการแจ้งเตือนอีก หรือไม่ประสงค์เข้ามาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ผู้ให้บริการสามารถยุติการแจ้งเตือนได้
6.4.2 ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ severe PD ทุกราย ซึ่งรวมถึงกรณีลูกหนี้ severe PD ที่เคยได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive
DR) จากผู้ให้บริการมาก่อนแล้ว โดยลูกหนี้ดังกล่าวมีสิทธิเลือกที่จะเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่มีเงื่อนไขการชำระคืนเป็นงวด โดยมีเงื่อนไขดังนี้
(1) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ที่กำหนดตามสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ต้องไม่
เกินร้อยละ 15 ต่อปี
(2) ระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต้องไม่เกิน 7 ปี
(3) เงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่กำหนดจะต้องสอดคล้องกับความสามารถ
ในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งกรณีค่างวดที่กำหนดให้ชำระภายใต้มาตรการไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม ผู้ให้บริการอาจใช้ข้อมูลเดิมของลูกหนี้ที่มีอยู่ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ได้
6.4.3 ผู้ให้บริการสามารถพิจารณากำหนดการเบิกใช้วงเงินของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้ตามนโยบายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง
6.4.4 กรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะออกจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสิทธิให้ลูกหนี้ทราบอย่างครบถ้วนก่อนออกจากมาตรการว่า บัญชีดังกล่าวของลูกหนี้จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้ามาตรการตามข้อ 6.4.2 ได้อีก (1 สิทธิ / 1 บัญชี) อย่างไรก็ดี ลูกหนี้สามารถติดต่อผู้ให้บริการ เพื่อเจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองได้
6.4.5 กรณีที่ผู้ให้บริการจะเปิดวงเงินใหม่ให้ลูกหนี้ที่ได้ออกจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรังแล้ว หรือ กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใต้มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง และได้วงเงินกลับคืนมาใหม่ ผู้ให้บริการต้องประเมินการเข้าเงื่อนไขลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังของวงเงินดังกล่าว เป็นรายบัญชี เทียบเท่าการให้สินเชื่อใหม่
ทั้งนี้ ในกรณีที่บัญชีของลูกหนี้เข้าข่ายเป็นทั้ง general PD และ severe PD ให้ผู้ให้บริการ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามข้อ 6.4 อย่างไรก็ดี หากผู้ให้บริการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตาม มาตรการแก้หนี้เรื้อรังแล้ว ถือว่าผู้ให้บริการได้เสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามข้อ 7.2.1 (1) แล้ว
7. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้
ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้โดยเร็ว ตั้วแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์
7.1 การกำหนดนโยบายและแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
7.1.1 ผู้ให้บริการจะต้องกำหนดนโยบายและแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งนโยบายและแนวทางดังกล่าวต้องครอบคลุมแนวทางในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่กำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของ
ลูกหนี้และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกหนี้เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ รวมทั้งไม่ซ้ำเติมลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้
7.1.2 ผู้ให้บริการจะต้องให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง โดยแจ้งทางเลือกในการแก้ไขหนี้วิธีต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการที่มีลักษณะเป็นการแก้หนี้ เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ พร้อมกับ
ข้อมูลที่สำคัญ เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขพร้อมข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือก รวมถึงผลของการผิดนัดชำระหนี้ โดยอย่างน้อยต้องแจ้งเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผิดนัดชำระหนี้ การหักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝาก (ถ้ามี) การโอนขายลูกหนี้การบอกเลิกสัญญา และการดำเนินการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการต้องมีกระบวนการที่มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับการนำเสนอทางเลือกปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และได้รับการอธิบาย หรือได้รับทราบ หรือได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับข้อมูลสำคัญอย่างครบถ้วน
7.1.3 ผู้ให้บริการจะต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อ และบุคลากรที่เข้าถึงง่าย และเพียงพอสำหรับให้คำปรึกษาปัญหาหนี้และการแก้ไขหนี้ที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ โดยผู้ให้บริการ
ต้องสื่อสารนโยบายและแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้พนักงานทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถขอรับคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง
ต้องสนับสนุนให้ลูกหนี้รีบติดต่อผู้ให้บริการ เมื่อเริ่มมีปัญหาชำระหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยอาจมีข้อความกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ให้รีบติดต่อผู้ให้บริการ
7.1.4 ผู้ให้บริการต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นกรณีที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องจัดให้มีการประเมินราคาหลักประกันเพิ่มเติม ซึ่งต้องนำข้อมูลการประเมินราคาหลักประกันดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยต้องเรียกเก็บอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เรียกเก็บซํ้าซ้อน และคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งจะต้องไม่ผลักภาระ หรือสร้างภาระให้แก่ลูกหนี้จนเกินสมควร และจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการเรียกเก็บดังกล่าวอย่างชัดเจนในกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น การทำแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำเป็นต้องมีการประเมินราคา
หลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว
7.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้
7.2.1 ผู้ให้บริการจะต้องติดตามสถานะรายบัญชีของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อลูกหนี้เริ่มมีสัญญาณของการมีปัญหาในการชำระหนี้ ทั้งจากการติดตามดูข้อมูลของผู้ให้บริการเอง หรือการแจ้งข้อมูลจากลูกหนี้ว่ากำลังจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อลูกหนี้มีปัญหาในการชำระหนี้แล้วผู้ให้บริการจะต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยต้อง
คำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดเท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ เพื่อให้ลูกหนี้มี
กระแสเงินสดเพียงพอในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการสามารถใช้วิธีการสอบถามลูกหนี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้หรือสอบถามรายได้และค่าใช้จ่ายของลูกหนี้ในการประเมินว่าลูกหนี้มีเงินเหลือเพียงพอดำรงชีพแทนการใช้เอกสารได้
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีรายได้เพื่อนำมาชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ โดยเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตของลูกหนี้ รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับเป็นสำคัญ โดยในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผู้ให้บริการต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ผู้ให้บริการจะต้องเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยไม่เกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ (Pre-emptive DR) ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้โดยการเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ต้องให้ลูกหนี้มีระยะเวลาเพียงพอในการพิจารณาแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงทำสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ก่อนลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
เว้นแต่กรณีการโอนขายลูกหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระเงินต้นหรือ ดอกเบี้ยไม่เกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ให้แก่ผู้ให้บริการตามประกาศฉบับนี้ ซึ่งไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
(2) ผู้ให้บริการจะต้องเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ (TDR) ซึ่งรวมถึงกรณีที่ลูกหนี้ถูกตัดออกจากบัญชี (write-off) แล้ว โดยเร็ว อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนผู้ให้บริการโอนขายลูกหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์ และดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งหมายความรวมถึงการบังคับหลักประกัน การจำหน่าย รับโอน
หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อนำรถที่มีทะเบียนเป็นประกันมาชำระหนี้ การฟ้องร้องดำเนินคดี และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
- (2.1) การโอนขายลูกหนี้ให้แก่ผู้ให้บริการตามประกาศฉบับนี้ ที่ไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
- (2.2) การบอกเลิกสัญญาสินเชื่อที่มีแนวทางปฏิบัติที่การบอกเลิกสัญญาอยู่ในช่วงเดียวกันกับระยะเวลาการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วัน หรือ 3 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ เช่น สินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ บัตรเครดิต วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี ทั้งนี้ เมื่อบอก เลิกสัญญาแล้ว ผู้ให้บริการยังคงต้องเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ตามข้อ 7.2.1 (2)
7.2.2 ผู้ให้บริการต้องไม่โอนขายลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพให้แก่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้ให้บริการตามประกาศฉบับนี้ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ก่อนครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ผู้ให้บริการเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ทราบ เพื่อให้ลูกหนี้มีระยะเวลาเพียงพอในการพิจารณาแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้
7.2.3 ผู้ให้บริการต้องไม่นำทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งออกจำหน่ายก่อนครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ผู้ให้บริการเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ทราบ เพื่อให้ลูกหนี้มีระยะเวลาเพียงพอในการพิจารณาแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้
7.2.4 กรณีที่ผู้ให้บริการได้ติดต่อเพื่อนำเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ตามข้อ 7.2.1 (1) หรือ 7.2.1 (2) เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ หรือไม่ได้รับการตอบรับจากลูกหนี้ หรือลูกหนี้ปฏิเสธเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการตามสัญญาและแนวทางตามที่กำหนดในนโยบายของผู้ให้บริการ
ต่อไปได้
7.2.5 กรณีที่ลูกหนี้มีภาระหนี้มากกว่า 1 บัญชี กับผู้ให้บริการหรือมีภาระหนี้กับเจ้าหนี้อื่นผู้ให้บริการควรปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืน โดยในบางกรณีอาจจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในวงเงินอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้เหลือกระแสเงินสดเพียงพอในการชำระหนี้และดำรงชีพ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการควรเข้าร่วมโครงการที่มีลักษณะเป็นการแก้หนี้ของเจ้าหนี้หลายรายในคราวเดียว เพื่อสนับสนุนการแก้หนี้ให้กับลูกหนี้อย่างยั่งยืน เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้
7.2.6 กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับลูกหนี้ภายหลังจากปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น เจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ ตกงาน ผู้ให้บริการควรให้โอกาสลูกหนี้ในการพยายามกลับมาชำระหนี้ตามเงื่อนไข ทั้งนี้ การดำเนินการ ตามกฎหมาย การโอนขายหนี้ การบอกเลิกสัญญา หรือการยึดทรัพย์ ควรเป็นวิธีสุดท้าย เมื่อได้ให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้ด้วยวิธีอื่นอย่างที่สุดแล้ว (last resort) เช่น กรณีลูกหนี้ได้ผ่อนชำระหนี้ต่อเนื่องมาเกินกว่าร้อยละ 70 ของเงินต้น ผู้ให้บริการควรให้โอกาสในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และชะลอการยึดทรัพย์ของลูกหนี้รายดังกล่าว
7.2.7 กรณีที่มีการนำทรัพย์หลักประกันของลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อ หรือทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งไปขายทอดตลาดแล้ว และมีหนี้ส่วนที่ขาดที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้เพิ่มเติมอยู่ ซึ่งผู้ให้บริการมีสิทธิได้รับชำระหนี้นั้น ผู้ให้บริการต้องเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้ส่วนที่ขาดดังกล่าวให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ยกเว้นกรณีที่ผู้ให้บริการได้ติดต่อเพื่อเสนอเงื่อนไขดังกล่าวให้ลูกหนี้เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ หรือไม่ได้รับการตอบรับจากลูกหนี้ หรือลูกหนี้ปฏิเสธเงื่อนไขการชำระหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการตามสัญญาและแนวทางตามที่กำหนดในนโยบายของผู้ให้บริการต่อไปได้
7.3 แนวทางการติดตามทวงถามหนี้
7.3.1 ในการติดตามทวงถามหนี้ ผู้ให้บริการต้องดำเนินการติดตามทวงถามหนี้โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ รวมทั้งต้องแจ้งข้อมูลภาระหนี้กับลูกหนี้ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงิน และระยะเวลาค้างชำระ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ (ถ้ามี) หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อใช้ติดต่อในการชำระหนี้ รวมถึงช่องทางในการขอคำปรึกษาปัญหาการชำระหนี้และการแก้ไขปัญหาหนี้
ทั้งนี้กรณีที่ผู้ให้บริการมอบหมายให้พันธมิตรทางธุรกิจดำเนินการติดตามทวงถามหนี้แทนผู้ให้บริการต้องควบคุมดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพันธมิตรทางธุรกิจที่ดำเนินการแทน รวมถึงผู้รับจ้างช่วงงานต่อ เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเอง ตลอดจนดูแลไม่ให้การกำหนดโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งค่าตอบแทนด้านเป้าหมายรายบุคคลหรือรายกลุ่ม และเงินรางวัลจูงใจผลักดันให้เกิดการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมการทวงถามหนี้
7.3.2 ผู้ให้บริการต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ยกเว้นกรณีลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใด หรือผู้คํ้าประกัน ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
8. การดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น
ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหา รวมถึงภายหลังจากการโอนขายหนี้ ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม
8.1 การดำเนินการตามกฎหมาย
8.1.1 ผู้ให้บริการต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานในขั้นตอนการดำเนินการตามการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้อง การดำเนินคดี การบังคับคดีกับลูกหนี้ รวมถึงการติดตามทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งกลับคืน ให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และนโยบายที่ผู้ให้บริการกำหนด ยึดถือ
จรรยาบรรณวิชาชีพ หลักธรรมาภิบาล โดยเคร่งครัด รวมทั้งกรณีที่ผู้ให้บริการมอบหมายให้พันธมิตรทางธุรกิจดำเนินการในกระบวนการตามกฎหมายแทน ผู้ให้บริการต้องควบคุมดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพันธมิตรทางธุรกิจที่ดำเนินการแทน รวมถึงผู้รับจ้างช่วงงานต่อ เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเอง ตลอดจนดูแลไม่ให้การกำหนดโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งค่าตอบแทนด้านเป้าหมายรายบุคคล หรือรายกลุ่ม และเงินรางวัลจูงใจผลักดันให้เกิดการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม
8.1.2 กรณีที่ลูกหนี้ประสงค์ทราบข้อมูลการดำเนินการตามกฎหมายของตน ให้ผู้ให้บริการแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่ลูกหนี้ เช่น ภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี ยอดเงินที่ชำระไปแล้วและยอดหนี้คงค้าง (เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ) สิทธิหน้าที่ ผลทางกฎหมาย การใช้สิทธิในชั้นศาล และช่องทางในการเจรจาประนีประนอม โดยอาจแจ้งด้วยวาจา หรือจัดทำสรุปข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นเอกสารได้ตามความเหมาะสม
8.1.3 กรณีที่ลูกหนี้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ให้บริการควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ รวมทั้งควรสนับสนุนให้ลูกหนี้ไปศาล เพื่อให้ลูกหนี้มีสิทธิในการขอไกล่เกลี่ย และสามารถแก้ไขหนี้ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนต้องควบคุมดูแลไม่ให้พนักงานหรือพันธมิตรทางธุรกิจที่ดำเนินการ
แทนให้ข้อมูลลูกหนี้ในลักษณะที่ไม่ให้ไปศาล
8.2 การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพ และลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ตัดออกจากบัญชีจากเจ้าหนี้รายอื่น
8.2.1 ผู้ให้บริการที่รับซื้อ หรือรับโอนลูกหนี้ ต้องพิจารณาเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และควรคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระ
ผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกหนี้เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ เว้นแต่ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีรายได้เพื่อนำมาชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ โดยสามารถใช้ประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตของลูกหนี้ในการเสนอเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ได้
รวมถึงในกรณีที่ได้นำทรัพย์หลักประกันของลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อ หรือทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่งไปขายทอดตลาดแล้ว และมีหนี้ส่วนที่ขาดที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้เพิ่มเติม ซึ่งผู้ให้บริการมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดดังกล่าว
ทั้งนี้ กรณีผู้ให้บริการที่รับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ได้ติดต่อเพื่อนำเสนอแนวทางการผ่อนชำระหนี้ให้ลูกหนี้เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ หรือไม่ได้รับการตอบรับจากลูกหนี้ หรือลูกหนี้ปฏิเสธเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการตามสัญญาและแนวทางตามที่กำหนดในนโยบายของผู้ให้บริการต่อไปได้
8.2.2 ผู้ให้บริการที่รับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ต้องให้ข้อมูลรายการที่จะต้องชำระ หรือจะมีการเรียกเก็บ เช่น ยอดผ่อนชำระต่องวด ยอดหนี้คงเหลือ ดอกเบี้ย ดอกเบี้ย หรือเบี้ยปรับในระหว่างเวลาที่ผิดนัดชำระหนี้ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าก่อนถึงวันครบกำหนดชำระรวมทั้งแจ้งเตือนถึงผลของการผิดนัดชำระหนี้หรือการชำระหนี้เพียงบางส่วนด้วย
สำหรับการแจ้งข้อมูลรายการที่จะต้องชำระหรือจะมีการเรียกเก็บในครั้งแรกภายหลังจากรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้มา ผู้ให้บริการที่รับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการรับโอนและข้อมูลภาระหนี้ด้วย ยกเว้นได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแล้ว
หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแบบใหม่นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุกเบกษาต่อไป (เริ่ม 1 ก.พ. 2568) ยกเว้นแต่หลักเกณฑ์ตามเอกสารแนว 5 ข้อ 5.1.1. (2) และข้อ 5.3.2 ให้เริ่มบังรับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง