“ตระกูลการเมือง” หรือ “บ้านใหญ่” เป็นปรากฎการณ์ที่พบได้ในหลายประเทศ เช่นตระกูลมาร์กอสและอากีโนในฟิลิปปินส์ ตระกูลฮุน ตระกูลเตีย ในกัมพูชา สำหรับประเทศไทย ตระกูลชินวัตรมีบทบาทหลักภายในพรรคเพื่อไทย ตระกูลศิลปอาชามีบทบาทหลักในพรรคชาติไทยพัฒนา ตระกูลชิดชอบมีบทบาทหลักในพรรคภูมิใจไทย และตระกูลคุณปลื้มมีบทบาทหลักในพรรคพลังชล และจาก “ครม.แพทองธาร 1” พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น “ครม. ครอบครัว” เพราะนอกจาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ยังมีสมาชิกในตระกูลการเมืองอื่นๆ ดำรงตำแหน่งสำคัญใน ครม.
- ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ บุตรสาวชาดา ไทยเศรษฐ์ ตำแหน่ง รมช. มหาดไทย
- สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล บุตรสาว วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ดำรงตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม
- อัครา พรหมเผ่า น้องชายธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่ง รมช. เกษตรและสหกรณ์
- พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายของ เนวิน ชิดชอบ ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ
และใน “ครม. แพทองธาร 2” พ.ศ. 2568 ตระกูลการเมืองยังคงปรากฎอย่างชัดเจน เช่น
- สุชาติ ตันเจริญ ดำรงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นน้องชาย พิเชษฐ์ ตันเจริญ อดีต รมช. พาณิชย์ และมีศักดิ์เป็นอาของ ณัชพล ตันเจริญ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว. อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. แรงงาน หลานชายของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. คมนาคม
ทั้งนี้เนื่องจากนักการเมืองจากตระกูลการเมืองจะถ่ายทอดสั่งสมประสบการณ์ทางการเมือง ให้สมาชิกในครอบครัว ได้รู้จักมักคุ้นกับเครือข่ายทางการเมือง ระบบราชการและประชาชนในพื้นที่ จนสามารถผลิตนักการเมืองที่พร้อมลงสนามการเมืองได้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่านักการเมืองที่ไม่ได้มาจากตระกูลทางการเมืองใด ๆ
หากแต่การสืบทอดอำนาจทางการเมืองภายในครอบครัวนั้น อาจนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมือง จำกัดการเข้าถึงอำนาจของคนภายนอก ทำให้ระบบการเมืองถูกจำกัด และนำไปสู่การสร้างชนชั้นนำทางการเมือง ที่เสี่ยงต่อการมีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตระกูลที่มีอำนาจอยู่แล้ว เพราะระบบในการถ่วงดุลและตรวจสอบอาจถูกควบคุมโดยครอบครัวเดียวใดครอบครัวหนึ่ง ทำให้การบริหารประเทศเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มหรือครอบครัวใดเป็นพิเศษ แทนที่จะเอื้อต่อประชาชน
สภาผัวเมีย ครม.ครอบครัว และตระกูลการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่
ระบบความสัมพันธ์แบบตระกูลและเครือญาติในวัฒนธรรมการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปทั่วโลก ทั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งและอ่อนแอ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ หากแต่สามารถควบคุมอำนาจได้
ศิวพล ชมพูพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าวถึงตระกูลการเมืองว่า
“จริงๆ แล้ว ตระกูลการเมืองหรือครอบครัวทางการเมืองไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยและเกิดขึ้นทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีตระกูลการเมือง เช่น ตระกูลเคนเนดี มีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นประธานาธิบดี โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี เอ็ดเวิร์ด เอ็ม. เคนเนดี เป็นสว. ตระกูลบุช มีสมาชิกเป็นประธานาธิบดี ถึง 2 คน คือ จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช และจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในตระกูลคลินตันมี บิล คลินตัน เป็นประธานาธิบดี ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซ้ำการตระกูลการเมืองทำให้ประชาชนจับตาตรวจสอบได้ง่ายกว่า เห็นความชัดเจนของสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่จับต้องได้มากกว่า เพราะกลุ่มอำนาจทางการเมืองยังมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่โยงใยนอกนามสกุลขยายออกไปอีก
ตระกูลการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทย หากแต่อยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองมายาวนาน เห็นได้จากในสมัยรัฐศักดินาก่อนสมัยใหม่ ตระกูลขุนนางที่ใกล้ชิดราชสำนักจะมีอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองสูงมาก เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลสิงหเสนี เมื่อเกิดการปฏิรูประบบราชการ สร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจทางการเมืองย้ายมาอยู่ที่ราชสกุลแทน เมื่อปฏิวัติสยาม 2475 ที่มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ก็เริ่มมีตระกูลที่มีบทบาททางการเมืองกระจายออกไปมากขึ้น ซึ่งแต่ละตระกูลหรือบ้านใหญ่ก็มีช่วงเวลาที่มีอำนาจและเสื่อมลง ขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละยุคสมัย
ตระกูลการเมืองที่เราเห็นกันชัดเจนในปัจจุบัน ยังเป็นเพียงการส่งต่อเพียง 2 รุ่นเท่านั้น ยังไม่ได้เกิดรุ่น 3 รุ่น 4 น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ครอบครัวการเมือง” ซึ่งเป็นความพยายามนำคนเจนเนอร์เรชั่นใหม่เข้ามาเป็นนักการเมือง สำหรับพรรคการเมืองรวบรวมคนเจนเนอร์เรชั่นใหม่ๆ เข้ามาในสนามการเมือง อย่างพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะนำไปสู่การสร้างครอบครัวการเมืองหรือตระกูลการเมือง ส่งลูกหลานตนเองเข้าสู่สนามการเมืองต่อไปหรือไม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ประชาชนคงต้องจับตาดูกันต่อไป”
ผลประโยชน์ทับซ้อน กับ ตระกูลการเมือง คนละเรื่องกัน
เนื่องจากความหมายของผลประโยชน์มีหลายมิติ ได้แก่
- ผลประโยชน์ส่วนตัว (personal interest) คือ บุคคลทั่วไปกระทำการต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว ญาติ เพื่อนหรือกลุ่มในสังคม ที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพ การทำธุรกิจ การค้า การลงทุน เพื่อหาประโยชน์ในทางการเงินหรือในทางทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น
- ผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) คือ บุคคลในสถานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการใด ๆ ตามหน้าที่ หรือได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
- ผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) เป็นหลักเหตุผลสำคัญของรัฐในฐานะตัวแสดงหลักในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐต่างมีนโยบายต่างประเทศและตัดสินใจกระทําการต่าง ๆ บนพื้นฐานของการบรรลุซึ่งหรือรักษาไว้ซึ่ง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” เช่น อำนาจอธิปไตย ประชาชน เขตแดน อัตลักษณ์ของชาติอย่างวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ขณะเดียวกัน ผลประโยชน์แห่งชาติ ยังใช้สนับสนุนความชอบธรรมในการกระทําของรัฐใดรัฐหนึ่งไม่ว่าถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เช่นการทำสงครามการค้า การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การสนทนาเป็นการส่วนตัวระหว่างผู้นำประเทศที่อาจมีผลผูกพันต่อพันธกรณีชาติ ไปจนถึงการปล่อยเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ส่วนตัวระหว่างผู้นำประเทศ
และ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม (conflict of interest) นั้น หมายถึง บุคคลในตำแหน่งรับผิดชอบต่อส่วนรวมเช่น นักการเมือง ผู้บริหารรัฐ ข้าราชการ หรือ ผู้อำนวยการหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือตัดสินใจได้อย่างเป็นกลาง เพราะถูกแทรกแซงด้วยผลประโยชน์เฉพาะของธุรกิจเอกชนหรือประโยชน์ส่วนตัว หรือการใช้ตำแหน่งตนเองดำเนินการเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยตรง หรือช่วยเหลือครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งถือว่าเป็นคอร์รัปชั่นอีกรูปแบบหนึ่ง ไปจนถึงการออกแบบนโยบายที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัว เครือญาติ พรรคพวก หรือธุรกิจเอกชนบางราย แต่สังคมโดยรวมเสียประโยชน์ ซึ่งถือว่า “การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” (Policy Corruption)
ผลประโยชน์ทับซ้อนจึงมีหลายรูปแบบ เช่น
- การรับผลประโยชน์ต่าง ๆ หรือสินบนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
- นำข้อมูลอันเป็นความลับของหน่วยงานมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือขายข้อมูลเสียเอง
- การนำเอาทรัพย์สินของทางราชการซึ่งจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง หรือการใช้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำงานส่วนตัว
- การจัดทำโครงการไปลงพื้นที่หรือบ้านเกิดตนเองโดยเฉพาะ หรือการใช้งบประมาณสาธารณะเพื่อหาเสียง
- นักการเมืองจากพรรคใดพรรคหนึ่งไปดำรงตำแหน่งในกระทรวงใด แล้วใช้ผลประโยชน์จากกระทรวงนั้น ๆ ไปเพิ่มฐานเสียงให้กับพรรคตนเอง
ดังนั้นผลประโยชน์ทับซ้อน กับ ตระกูลการเมือง จึงเป็นคนละเรื่องกัน และผลประโยชน์ทับซ้อนมีหลายกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับตระกูลการเมืองเสมอไป เช่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดคดีผลประโยชน์ทับซ้อนบ่อยครั้ง โดยข้อกล่าวหาคือ การใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มชินคอร์ปซึ่งเป็นธุรกิจของตระกูล เช่น
- กรณีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น
- กรณีเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของเมียนมาร์ ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น
นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริงว่า ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฮุนเซน ประธานคณะองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีดีลลับจะยกเลิก MOU 2544 ส่งผลกระทบต่อเขตอำนาจอธิปไตยของไทย เป็นการแลกผลประโยชน์แห่งชาติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะทั้ง 2 คนเคยมีสายสัมพันธ์ฉันท์มิตรเป็นการส่วนตัว ช่วยเหลือเกื้อกูลมายาวนาน
แท้จริงแล้ว ต้นตอของผลประโยชน์ทับซ้อนคือ ระบบอุปถัมภ์
สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การที่ประชาชนพูดถึงประชาธิปไตยมากขึ้น คือการพูดถึงผลประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ แต่การอุปถัมภ์ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ เพราะระบบอุปถัมภ์คือระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่นครอบครัว พวกพ้อง
ประเทศไทยมีนักการเมืองที่มาจากตระกูลการเมืองราวร้อยละ 30 – 40 ขณะที่ เพราะในพรรคการเมือง การที่มีคนในครอบครัวทำงานในพรรคมาก่อนแล้ว มาจากตระกูลการเมือง หรือบ้านใหญ่ ย่อมได้รับความไว้วางใจ คุ้นเคยมากกว่าผู้ที่สมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค อีกทั้งในด้านหาเสียง ก็เป็นที่จดจำได้ง่ายกว่า มีความคุ้มเคยใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่จนเป็นที่ไว้วางใจ และสะสมทุนทางเศรษฐกิจ สามารถช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้ ประชาชนไม่สามารถปฏิเสธตระกูลการเมืองได้ และไม่ใช่ปัญหาสำคัญของการเมืองไทย เพราะปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยจริง ๆ แล้วคือ ระบบอุปถัมภ์ ดังนั้นทางแก้ไขปัญหาคือต้องจํากัดวงอุปถัมภ์ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อประชาชน ต่อการบริหารภาครัฐ ระบบคุณธรรม (merit system) การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร
กลไกในการจํากัดอํานาจของระบบอุปถัมภ์คือ ไม่ให้ระบบอุปถัมภ์ได้รวมศูนย์อำนาจ เพราะปัญหาทางการเมืองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมันเกิดขึ้นเพราะ ระบบอุปถัมภ์มีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจ มีกลุ่มอุปถัมภ์เพียงหนึ่งเดียว ถ้ามีหลายกลุ่มอุปถัมภ์จะเกิดการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบกัน การกระจายอำนาจจะช่วยลดการผูกขาดของระบบอุปถัมภ์ ให้ระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ในสังคมได้จับตา ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันเอง
ในฟิลิปปินส์ ที่ถือว่าเป็นอีกประเทศที่มีตระกูลการเมืองใหญ่จำนวนมาก กระจายอยู่ในแต่ละจังหวัด และสลับกันขึ้นลงมามีอำนาจทางการเมือง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกระแสทางการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละตระกูลการเมืองและกลุ่มอุปถัมภ์ไม่ได้มีอำนาจผูกขาด ทำให้แต่ละกลุ่มตรวจสอบและแข่งขันกันเอง โดยไม่พยายามจะรวบอำนาจ
ขณะที่ประเทศไทย พรรคเพื่อไทยไม่มีตระกูลการเมืองชินวัตรก็จะไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เพราะตระกูลการเมืองอื่น ๆ และองคาพยพทั้งหมดของพรรคถูกครอบโดยตระกูลชินวัตร เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคภูมิใจไทยที่หล่อหลอมกันขึ้นมาด้วยตระกูลการเมืองต่างๆ แบ่งสันปันอํานาจและถ่วงดุลกัน แม้จะมีบางตระกูลที่เป็นผู้นำเนื่องด้วยบารมีทางการเมือง แต่ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่สามารถคุมอำนาจตระกูลการเมืองอื่น ๆได้ หากเกิดการแตกหักกันระหว่างกลุ่มในพรรค ก็สามารถแยกตัวจากกันได้ เพราะทุกกลุ่มทุกตระกูล เช่น ตระกูล ชิดชอบ ชาญวีรกูล ไทยเศรษฐ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวว่า
“ระบบอุปถัมภ์คือ การช่วยเหลือส่วนตัว การช่วยเหลือทรัพย์สิน ทรัพยากร ความสะดวกสบาย เนื่องจากประชากรยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้โดยตรง จำเป็นต้องผ่านตัวกลางหรือ “นายหน้า” และตัวกลางเหล่านี้ก็มักเป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมืองช่วงหาเสียง ขณะเดียวกันบางตระกูลการเมืองเกิดมาจากธุรกิจที่ผูกขาดในพื้นที่ เช่นผูกขาดสัมปทาน ผู้กขาดการเดินรถ ป่าไม้ เหมืองแร่ ประชาชนในพื้นที่อยากมีอาชีพ อยากเดินทางขนส่งก็ต้องพึ่งพิงตระกูลเหล่านี้
ดังนั้นหลักการพื้นฐานคือสลายการผูกขาดหรือการกระจายอำนาจที่สามารถตัดวงจรตัวกลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรได้โดยตรง หากมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ท้องถิ่นจะมีภารกิจอํานาจมากกว่านี้ มีงบประมาณมากขึ้น แต่ละพื้นที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ ประชาชนแทบจะติดต่อและพึ่งพารัฐบาลส่วนกลางน้อยลงในชีวิตประจําวัน เรื่องการขออนุมัติ ขออนุญาตต่าง ๆ จะจบลงที่ท้องถิ่น ระบบอุปถัมภ์ผูกขาดหรือระบบอุปถัมภ์ระดับชาติจะลดลง พรรคการเมืองประเภทตระกูลผูกขาดอ่อนแอ เพราะตัวกลางหรือนายหน้าจะหมดบทบาทลง ยกตัวอย่างในพื้นที่ท้องถิ่นหนึ่ง อบจ. ไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงต้องพึ่งพิงรัฐบาลส่วนกลาง รัฐบาลส่วนกลางจึงโน้มน้าวให้เลือกนายก อบจ. ที่เป็นพรรคเดียวกับรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นสะดวกยิ่งขึ้น
กลุ่มอำนาจทางการเมืองประเภทนี้ ใช้พื้นที่การเมืองภาครัฐแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อน หากหลุดจากอํานาจทางการเมืองไปสักพักหนึ่งจะอ่อนแรงลง เพราะว่าเป็นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ต้องอิงอยู่ในอํานาจ หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นเมื่อไรที่ผลประโยชน์น้อยลง ก็จะอ่อนแอลง ขณะเดียวกันกลุ่มอำนาจนี้จึงพยายามออกแบบสถาบันทางการเมือง กลไกต่างๆ เพื่อให้กลุ่มตนเองยังคงรักษาอำนาจอยู่ต่อได้
ดังนั้น ยิ่งกระจายอํานาจมากเท่าไหร่ยิ่งทะลายระบบอุปถัมภ์ผูกขาดระดับชาติ หากแต่ประเทศไทยยังกระจายอำนาจไม่พอ ประชาชนยังต้องถึงพิงรัฐรวมศูนย์อำนาจผ่านตัวกลางอยู่
แม้ว่าการกระจายอำนาจจะนำไปสู่ระบบอุปถัมภ์รายย่อยในพื้นที่ หากแต่ระบบอุปถัมภ์รายย่อยสามารถจัดการแก้ไขได้ง่ายกว่า โดยที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการได้มากขึ้น ภายใต้กลไกลของรัฐที่มีมาตรการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว”
กลไก-มาตรการยุติผลประโยชน์ทับซ้อน
อันที่จริง ประเทศไทยมีมาตรการและเครื่องมือจำนวนมาก ที่พยายามแบ่งและสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำ ข้าราชการ และนักการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ด้วยกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างเข้มงวดเคร่งครัด เช่น
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
- พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561
- พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496
- พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
- พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537
- พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
- พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2552
- พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
- ประมวลกฎหมายอาญา
- ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552
- ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือของขวัญของเจ้าหน้าที่ ของรัฐ พ.ศ. 2544
- ระเบียบสํานักนายรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551
- ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543
ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ในการพิจารณางบประมาณ ห้ามแปรญัตติเพิ่มงบประมาณ และผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง และมีกลไกในรูปแบบองค์กรในการติดตามตรวจสอบทุจริตหรือความประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ครั้งหนึ่งเคยมีความพยายามนำเสนอกฎหมายแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ในรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. ใน พ.ศ. 2550 หากแต่ร่างกฎหมายนี้ตกไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนด ต่อมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ปัดฝุ่นและเสนอร่างนี้อีกครั้งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน พ.ศ. 2560 หากแต่ร่างนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนสิ้นรัฐบาล
มาตรการและกลไกต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น เพื่อให้สอดรับกับวัฒนธรรมการเมืองไทย ที่นักการเมืองจำนวนมากที่มาจากตระกูลการเมือง หรือมีธุรกิจขนาดใหญ่ จึงต้องสร้างกลไกที่แยกผลประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะออกจากกัน
อย่างไรก็ตาม สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยองค์กรและกฎหมายเท่านั้น ต้องแก้ที่ต้นทางของอำนาจซึ่งก็คือระบบอุปถัมภ์ เพราะองค์กรและและกระบวนการใช้กฎหมายต่าง ๆ มักถูกทำให้บิดเบี้ยวด้วยระบบอุปถัมภ์ เพื่อสนองหรือรักษาผลประโยชน์ตัวเอง และใช้เป็นอาวุธทำลายคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมือง
การเลือกตั้งที่ต่อเนื่องช่วยสลายผลประโยชน์ทับซ้อนและระบบอุปถัมภ์
แม้องค์กรของรัฐและกฎหมายยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ หากแต่กลไกระบอบประชาธิปไตยยังทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงระบบอุปถัมภ์ได้ด้วย นั่นคือการเลือกตั้ง
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนว่า เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ไม่สามารถถกเถียงกันเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวมเท่านั้น แต่ต้องพูดถึงจริยธรรมที่ยังคงมีความจำเป็นทางการเมืองซึ่งก็คือ เรื่องความซี่อตรงในการทำหน้าที่ของตนเองด้วย ว่านักการเมืองหรือข้าราชการคนนั้น ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อตรง เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
และการเลือกตั้งสามารถแก้ไขปัญหาตระกูลการเมืองที่ผูกขาดระบบอุปถัมภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งเชิงเนื้อหาสาระ (substantive election) หมายถึง การเลือกตั้งที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการเลือกตั้ง (formal democracy) แต่ยังให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง พิจารณาว่าการเลือกตั้งนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไร ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมีความรับผิดรับชอบต่อประชาชน และพร้อมที่จะตอบสนองความหวังความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือเพียงเพื่อสมประโยชน์คนในครอบครัว หากไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ในการเลือกตั้งครั้งหน้าโหวตเตอร์ก็ต้องไม่เลือก ซึ่งจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และถือว่าเป็นการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบทางการเมือง (accountability) อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นจะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สะดุดด้วยรัฐประหาร
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข กล่าวว่า
“เป็นที่สังเกตได้ว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ประชาชนโหวตเตอร์ตื่นตัวทางการเมืองสูงมากขึ้น ไม่ว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่นหรือระดับชาติ พร้อมติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้แทน สื่อมวลชนกับประชาสังคมกระตือรือร้นที่จะตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลเช่น สส. คนใดเข้าประชุม ไม่เข้าประชุม ลงมติอะไรบ้าง ทำให้เกิดการตรวจเช็คลิสต์ผู้ที่เป็นผู้แทนประชาชน รวมไปถึงการมอนิเตอร์การดำเนินนโยบายว่าไปถึงขั้นไหน เป็นอย่างไรบ้าง สื่อมวลชนกลายเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล นอกเหนือจากองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบนักการเมืองโดยตรง ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนต้องไม่เพียงรายงานข่าวอย่างเดียว หากแต่ต้องมีทักษะการวิจัย ตั้งคำถาม หาข้อมูล และวิเคราะห์ ทำให้ประชาชนทำการบ้านได้ลึกขึ้นมากยิ่งขึ้นก่อนเลือกตั้ง สิ่งตรงนี้จะส่งผลให้เกิดความพร้อมรับผิดรับชอบทางการเมือง”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เทศบาลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในท้องถิ่น
- สร้างกลไกต้านโกง พัฒนาท้องถิ่นยั่งยืน
- นโยบายที่ใช้ไม่ได้ ยังวนหลอน แนวคิดดี ๆ ไม่ได้เกิด