องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นกลไกอำนาจระดับจังหวัด ที่มีตัวแทนจากประชาชน มีงบประมาณ และมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาไปพร้อมกับการพัฒนาจังหวัด
Policy Watch และ The Active ไทยพีบีเอส จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ระดมความคิดหากลไกการตรวจสอบ ติดตามการทำงานของท้องถิ่น และฟังเสียงสะท้อนความคาดหวัง และความต้องการ ต่อการเลือกตั้ง อบจ. ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 30 : เลือก อบจ. 68 “หยุดโกง” พลิกชีวิตท้องถิ่น”
เสียงผู้สมัครนายก อบจ. ดังกว่าลายลักษณ์อักษร
ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง อบจ. ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสได้สอบถามผู้สมัคร นายก อบจ. ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน พบทุกคนแสดงเจตจำนงไปในทิศทางเดียวกันว่าจะดำเนินงานอย่างโปร่งใส
โดย พลตรีพนม ศรีเผือด ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ บอกว่า จะบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใส เพื่อให้เม็ดเงินของ อบจ. เข้าถึงประชาชนมากที่สุด
เช่นเดียวกับ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ บอกด้วยว่า จะบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใส พร้อมเปิดให้ “ประชาชน” เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ จะต้องมีประชาชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ
ขณะที่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ เปิดเผยจุดยืนในการต่อต้านทุจริตของตัวเองว่า ตลอดการทำงานเมื่อ 4 ปีทีผ่านมา ได้เน้นย้ำข้าราชการในส่วน อบจ.อยู่ตลอด ให้ปฏิบัติตามระเบียบและถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
ด้าน อนุสรณ์ วงศ์วรรณ ผู้สมัคร นายก อบจ. ลำพูน บอกว่า จะเปิดอบรมหลักสูตร “ต่อต้านคอร์รัปชัน” ให้ข้าราชการส่วน อบจ. ได้เรียนรู้ และต้องจัดตั้งองค์กรให้คำปรึกษาป้องกันการทุจริตด้วย
ส่วน วีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัคร นายก อบจ. ลำพูน บอกเพิ่มเติมว่า จะต้องให้ “ประชาชน” เข้ามามีส่วนร่วม เพราะที่ผ่านมา อบจ. กับ ประชาชนห่างไกลกันมาก โดยแทบไม่รู้เลยว่า อบจ. ทำอะไรอยู่บ้าง ทั้งที่ อบจ. ส่งผลกับชีวิตของประชาชนโดยตรง
ขณะที่ความพยายามของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้สมัครนายก อบจ. ทั่วประเทศเพื่อให้ “ประกาศพันธกิจต้านโกง” ปรากฏว่า ไม่มีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดตอบรับกลับมา
“อะไรที่เป็นการพูดคุย อาจทำให้นักการเมืองกล้าพูดมากกว่า ที่จะตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษร”
มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
นี่คือข้อสังเกตที่ มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถอดรหัสได้จากผลตอบรับของนักการเมืองท้องถิ่นที่สวนทางกับจดหมายเปิดผนึก
แม้ดูน่าใจหาย แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเชื่อว่าเสียงของประชาชนมีพลังที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกในการตรวจสอบติดตามการทำงานของนักการเมืองต่อไป
แต่เราจะมีกลไกอะไรที่จับต้องได้ในการตรวจสอบ ซึ่งควรเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางคือ “การเลือกตั้ง อบจ.” ที่จะทำให้ประชาชนคัดเลือก อบจ. ที่ทำหน้าที่เพื่อท้องถิ่นจริง ๆ เข้ามาทำงาน ซึ่ง “มานะ” มองว่า อบจ. ต้องถูกตรวจสอบ จากประชาชนที่เข้มแข็งมากขึ้นต่อไป
เลือกตั้ง อบจ. มีทุจริต ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อ “การเลือกตั้ง อบจ.” ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และภาคีเครือข่าย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า 95% ของประชาชนรับรู้ว่าประเทศไทยมีการทุจริต ทั้งยังรับรู้ว่าการเลือกตั้งนี้จะมีการซื้อเสียงถึง 68% และอาจนำไปสู่การคอร์รัปชันในวันข้างหน้า
“ถึงวันนี้แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ประชาชน 94% ยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง”
มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน บอกเพิ่มเติมว่า ประชาชนยังอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นว่า เขาอยากได้อะไร อยากเปลี่ยนแปลงอะไร และอยากที่จะช่วยตรวจสอบให้บ้านเมืองของเขาโปร่งใส ในการใช้อำนาจ และใช้งบประมาณ
จับสัญญาณ “การเลือกตั้ง อบจ. 2568”
ข้อค้นพบจากการเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้ พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้อำนวยการ We Watch มองว่าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ข้อค้นพบเชิงบวก
- ผู้สมัคร นายก อบจ. ใช้สื่อออนไลน์กระจายนโยบายได้ทั่วถึง มากกว่าการเคาะประตูบ้าน
- ผู้สมัคร นายก อบจ. ใช้นโยบายหาเสียงมากกว่าครั้งก่อน ๆ ซึ่งไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์คนในพื้นที่แล้ว ถือเป็นการแข่งขันทางนโยบายที่ทำให้สังคมได้ประโยชน์
ข้อค้นพบเชิงลบ
- มีการลาออกก่อนหมดวาระ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้เหลือแค่ 47 จังหวัดได้เลือก นายก อบจ. เพราะก่อนหน้านี้มากถึง 29 จังหวัดได้เลือกไปก่อนแล้ว
- มีการคุกคาม ข่มขู่ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ยิงกันเสียชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นปราจีนบุรี
ข้อค้นพบเชิงลบทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ นับว่าเป็นตัวจุดประเด็นที่ดีที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ว่าควรจะทำงานเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอย่างไร ?
“พงษ์ศักดิ์” จึงฝากอีก 3 ประเด็นชวนให้สังคมไทยจับตา และหาข้อสรุปร่วมกันในการทำหน้าที่ของ กกต. เรื่องแรกคือ “การติดตามการใช้ทรัพยากรของรัฐเมื่อหมดอำนาจแล้ว” ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือสถานที่ เพราะถ้ามีการนำไปใช้จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบได้
เรื่องที่สองคือ “การประกาศวันเลือกตั้งให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง” ซึ่งปัจจุบันมองว่าประชาชนยังไม่ค่อยรับรู้และให้ความสำคัญ กกต.จึงต้องทำหน้าที่เชิงรุกกว่านี้ให้เป็นที่จดจำได้ในสายตาประชาชน ไม่แพ้กับการเลือกตั้งใหญ่
เรื่องสุดท้ายคือ “พยายามอย่าให้เกิดการลาออกก่อนหมดวาระ” เพราะการที่ นายก อบจ.ลาออกก่อน เป็นช่องว่างที่ทำให้เสียเปรียบใน 3 ระดับ คือ กระทบผู้สมัครด้วยกัน, กระทบภาษีประชาชนในการจัดการเลือกตั้งรอบที่สอง, กระทบประชาชนต้องไปเลือกครั้งใหม่อีกครั้ง
“อย่ามองแค่ความรุนแรงเชิงกายภาพ เป็นเรื่องที่ต้องแก้อย่างเดียว ต้องมองเชิงโครงสร้างด้วย โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่เราจะต้องผลักดันและร่วมกันเปลี่ยนแปลง”
พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้อำนวยการ We Watch
ขณะที่ประชาชนมองเห็นการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ว่า แม้จะยังไม่ได้รับความสนใจเท่าการเลือกตั้งใหญ่ แต่คนเริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจมากขึ้น
โดย สุกลภัทร ใจจรูญ ประธานองค์กรชุมชนจังหวัดชลบุรี บอกว่า กระแส “บ้านใหญ่” ยังมีเหมือนกัน เพียงแต่ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมองว่า “อบจ. ไม่ว่าจะคนเก่าหรือใหม่ ต้องทำงานร่วมกันได้ดี และทำงานร่วมกับประชาชนโดยใช้สภาองค์กรได้” แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ตรงกับวันเสาร์ ด้วยชลบุรีเป็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้หลายคนไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ เพราะเป็นวันทำงาน
ส่วน อดิศักดิ์ อัคสินธวังกูร ประธานเครือข่ายป้องกันและต่อต้านทุจริต จังหวัดภูเก็ต เล่าให้ฟังด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พี่น้องก็พยายามถามเรื่องนโยบายกับผู้สมัคร นายก อบจ.มากขึ้น เพื่อเช็กว่าพวกเขาจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดไหม และในการป้องกันการทุจริตก็มีสภาองค์กรชุมชนอยู่ 18 ตำบลทั่วทั้งเกาะ ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้เสมอ
ขณะที่ ทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานเครือข่ายป้องกันและต่อต้านการทุจริต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พูดอีกว่า ปีนี้คนประจวบฯ คึกคักกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะมีคนรุ่นใหม่ แถมหน้าตาดีมาสมัครด้วย แม้ที่นี่จะยังไม่มี “บ้านใหญ่” เหมือนอย่างที่อื่น ๆ แต่ต้องขอบคุณภาคประชาชนอย่าง “We Watch” และอีกหลายภาคี ที่ทำให้คนประจวบมีข้อมูลตัดสินใจในการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคตได้ รวมถึงขอบคุณ พอช. ที่ให้งบประมาณลงมาสร้างกลไกต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ โดยให้ความรู้ชาวบ้านในการสอดส่องดูแล แล้วส่งต่อให้หน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐจัดการต่อไป
สำหรับประจวบคีรีขันธ์เริ่มมีกลไกต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ปี 2564 แล้วในปี 2565 ก็ได้รับรางวัล “พื้นที่สีขาว”ในการป้องกันทุจริตดีเยี่ยม จาก ป.ป.ท. ผลลัพธ์ที่จัดการได้อาจไม่สามารถบอกเป็นตัวเงินได้ แต่ที่แน่ ๆ คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง เร็วขึ้นกว่าเดิม
มองโอกาส “ภาคพลเมือง” สร้างพื้นที่โปร่งใส ป้องกันคอร์รัปชัน
ยิ่งประชาชนเข้มแข็ง เสียงของประชาชนจะยิ่งมีพลัง ! สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จึงพยายามผลักดันเปลี่ยนให้ “ประชาชน” เป็น “พลังพลเมือง” ที่ตื่นรู้ในการเลือกคนดี ดูนโยบายเป็น และสามารถจับตา วิเคราะห์ทิศทางการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่นและคอนเนคชันรอบตัวพวกเขาได้
- ก่อนการเลือกตั้ง : หาความรู้ ศึกษาข้อมูลผู้สมัครและคอนเนคชันรอบตัวผู้สมัคร
- วันเลือกตั้ง : ออกไปใช้สิทธิ เข้าใจความสำคัญของการเลือกตั้ง
- หลังการเลือกตั้ง : ตรวจสอบ ติดตามการทำหน้าที่ของ อบจ.
โดย วิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) บอกว่า พอช.เริ่มทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2564 ประสานพลังกับหน่วยงานต่าง ๆ เชื่อมโยงเครื่องมือ และอบรมให้ความรู้ จน
ปัจจุบันสร้าง “พื้นที่โปร่งใส” ใน 31 จังหวัด กว่า 500 ตำบลแล้ว เกิดเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันทำแผนป้องกันการทุจริตในพื้นที่ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว, จัดกิจกรรมเติมความรู้ ให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทัน และสามารถเฝ้าระวังการคอร์รัปชันในบ้านของตัวเองได้ รวมถึงพัฒนาแกนนำ ให้รู้จักช่องทาง วิธีการที่จะส่งหลักฐาน การทุจริตได้อย่างปลอดภัย
“การเคลื่อนเป็นเครือข่ายใหญ่ ทำให้ประชาชนตื่นตัว กล้าสอดส่องดูแลการทุจริต คอร์รัปชัน ได้มากขึ้น”
วิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
“เทคโนโลยี” ตัวช่วยต้านทุจริต คอร์รัปชัน
การทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในช่วงการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น ตอนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
Hand Social Enterprise จึงร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) และภาคีเครือข่าย ทำระบบตรวจสอบ “การจัดซื้อจัดจ้าง” เพื่อบันทึกไว้ว่าใครจัดซื้อจัดจ้างอะไรบ้าง มีใครเป็นผู้รับเหมา และมีการเสนอราคาอย่างไร
“เมื่อก่อนไม่มีข้อมูล เวลาเจอโครงการอะไรน่าสนใจ สร้างไม่เสร็จ ก็จะอยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามีข้อมูล ตรงนี้จะเป็นหลักฐานประกอบในการแจ้งเจ้าหน้าที่ได้”
สุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ Hand Social Enterprise
นอกจากนี้ “สุวรรณ” ยังบอกอีกว่า ทาง HAND ยังเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าแจ้งเหตุทุจริตได้ ถ้านักการเมืองได้เห็นแล้วชี้แจง ประชาชนก็จะได้รับทราบต่อไป แต่หากไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ จะส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเปิดโปง “ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟกินนรี” จนเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว
มากกว่านั้นยังมีพันธมิตรภาคประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ทำเพจ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” ,“ต้องแฉ” และ “We Watch” คอยช่วยจับตาการทำงานของภาครัฐ
“สถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนชินชา จนไม่อยากออกมาต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ และองค์กรต่าง ๆ ที่มีในวันนี้ อยากให้เชื่อว่ายังมีความหวังอยู่จริง ๆ”
สุวรรณ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ Hand Social Enterprise
ป้องกัน “ใช้อำนาจในทางที่ผิด” ยุติครองผลประโยชน์ระยะยาว
มีทั้งเครือข่ายพลเมือง และเทคโนโลยีแล้ว ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จะต้องมี “กระบวนทัพที่ชัดเจน” เพราะการโกง ไม่ใช่แค่การเอาเงินเอาทองเท่านั้น แต่รวมถึง “การใช้อำนาจในทางที่ผิด” ซึ่งจะทำให้เขาครองอำนาจไปอีกนาน
“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นการกระจายผลประโยชน์ของการเลือกตั้งใหญ่ ประโยชน์ที่เขาจะได้ ไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่คือการครอบครองอำนาจ ถ้าไม่สกัดกั้นตั้งแต่แรก เขาจะครองอำนาจไปตลอดกาลนาน”
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
ศ.พิเศษ วิชา ยังมองว่า สิ่งที่ไม่ได้ทำคือ “การตรวจสอบทรัพย์สิน นายก อบจ.” แม้วิธีจะสกัดกั้นผู้นำท้องถิ่นหน้าใหม่ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบคนที่มีรายชื่ออยู่แล้วได้เลย ซึ่งที่เกาหลีใต้ก็ทำและทำมากกว่านั้นคือ ในวันรับสมัครจะให้แคนดิเดตยื่นบัญชีทรัพย์สินทันที
และ “เครื่องมือปกป้องคนดี” ที่จริงแล้วภาคประชาสังคม และภาคประชาชนต้องรวมตัวกันออกกฎหมายเพื่อให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันง่ายขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาท ตรงนี้จะทำให้ทุกคนสบายใจได้เยอะที่จะจับตาและตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจ
ขณะเดียวกัน “ภาคการศึกษา” ก็สำคัญ ที่จะกระตุ้นให้คนอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่านี้ ตั้งแต่เด็กและเป็นเยาวชน เมื่อคราวที่เขามีสิทธิที่จะเลือกตั้งท้องถิ่น เขาจะตื่นตัว และนั่นอาจเป็นสนามแรกที่เตรียมพร้อมให้เขาไปสู่การเลือกตั้งใหญ่
ทั้งนี้ยังมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะร่วมผนึกพลังพลังกับ “ผู้นำคนรุ่นใหม่” เพราะเป็นยุคที่ต้องใช้สารสนเทศให้เห็นการทุจริตด้วยอำนาจของมือถือ และพวกเขาคือกลุ่มคนที่ยังมีแรงผลักดันที่จะแก้ปัญหา ขณะที่คนรุ่นเก่าบางคนหมดหวังแล้ว ตรงนี้จะช่วยทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์ได้
อย่ากลัวกระจายอำนาจ! ชวนประชาชนสร้างกลไกต้านทุจริต
การกระจายอำนาจ ต้องการกระจายเงิน และกระจายผลประโยชน์ จริงอยู่ที่อาจเอื้อให้เกิดการทุจริต แต่ถ้ากลัวจนตัดขาดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายในบ้านเราคงต้องรอไปอีกนาน
ผศ.ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเปรียบ “การกระจายอำนาจ” เหมือนกับการสไลด์เนื้อให้บาง เพื่อให้กินง่าย และสุกเร็ว
“การกระจายอำนาจ คือการสไลด์อำนาจรัฐให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจรัฐได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็เห็นรอยตำหนิได้มากขึ้น จึงไม่แปลกที่วันนี้เรารู้สึกว่าการทุจริตนั้นเยอะเหลือเกิน”
ผศ.ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดังนั้นไม่อยากให้กลัวการกระจายอำนาจ แต่อยากชวนให้สร้างกลไกต้านทุจริตแทน เพราะมีผลงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าประชาชนติดตามการทำงานของ อบจ. ด้วยวิถีทางของเขา ดังนั้นต้องสนับสนุนให้ประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป แล้วภาคประชาสังคม นักวิชาการ นำเสียงสะท้อนของประชาชนมาทำความเข้าใจ ออกแบบกลไกการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
แต่จะเปลี่ยนท้องถิ่นได้จริง ก็ต้องแก้ที่ “โครงสร้าง” คือ “ระบบราชการ” ด้วย โดยต้องกำหนดบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ระหว่าง อบจ. และ เทศบาล – อบต. และต้องปรับให้ขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ของ อบจ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ใช่ทำได้เฉพาะตามที่กฎหมายระบุ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ อบจ. ไม่กล้าใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำแต่เรื่องเดิม ๆ
ที่สำคัญ “การตรวจสอบที่เข้มข้นของข้าราชการ” ยิ่งส่งเสริมให้เกิดแต่โครงการ “แบบตัดเสื้อโหล” เพราะถ้าเลือกไม่ทำถนน แต่นำงบประมาณไปทำโครงการอื่น ๆ ที่ไม่เหมือนใคร ก็มักจะถูกตรวจสอบ และอาจโดนเอาผิด ลงโทษตามกฎหมายได้
ด้าน วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย บอกด้วยว่า แม้การเลือกตั้ง อบจ. จะจบลง แต่หน้าที่ของทุกคนยังไม่หมด อยากให้ช่วยกัน “ติดตาม เฝ้าระวัง และส่งเสียง” ต่อไป เพราะทุกคนคงไม่อยากให้เกิดการใช้งบประมาณ อบจ. ไปกับการลงทุนในสาธารณูปโภคที่ไม่มีความหมายกับท้องถิ่นของตัวเอง หรือลงทุนไปแล้ว ได้ประโยชน์จริง 70% แต่สูญเสียอีก 30% เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันพลิกชีวิตมหาศาล
“อำนาจอยู่ในมือทุกคน ถ้าอยากเห็นนักการเมืองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คงยากที่เขาจะเปลี่ยนเอง แต่จะเปลี่ยนจากทุกคน ขอให้ใช้หน้าที่ของพวกเราในการติดตาม ดูผลงานว่า เขาทำตามที่สัญญา หรือทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อท้องถิ่นของเราจริงหรือไม่”
วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย
ถนนพัง น้ำท่วมขัง สาธารณูปโภคทรุดโทรม… เบื้องหลังปัญหาเหล่านี้ อาจไม่ใช่แค่ “งบประมาณ” แต่เป็น “เงา” ของการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นใน อบจ. ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกันออกแบบกลไกการต่อต้านทุจริต เปลี่ยน “เงา” มืดให้กลายเป็น “แสงสว่าง” ในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง