เมื่อนโยบายเป็นแรงดึงดูดใจให้ประชาชนเลือพรรคการเมืองเข้าไปเป็นตัวแทนในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ให้เป็นจริง ทว่ามีหลายนโยบายที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้หรือเคยแถลงต่อรัฐสภาแต่ทำไม่สำเร็จ หรือไม่เคยเกิดขึ้นจริง สาเหตุหลักนั้นมาจากนโยบายภาครัฐนั้นมักผูกติดไว้กับการเมือง ซึ่งการเมืองก็ยังไม่มีเสถียรภาพ
รัฐบาลไม่มั่นคง นโยบายจึงไม่ตรงปก–ไม่ตอบโจทย์ประชาชน
เนื่องจากรัฐบาลไร้เสถียรภาพ หลายรัฐบาลไม่สามารถอยู่ได้ครบเทอม หลายนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงมักออกแบบเป็นนโยบายเร่งด่วนเห็นผลไว มุ่งแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้าในระยะเวลาอันสั้น ไม่แก้ที่ต้นตอของปัญหา เน้นประชานิยมแบบให้เปล่าและหวังผลในทางการเมืองในอนาคต ทำให้หลายนโยบายไม่เป็นระบบระยะยาว ไม่แน่นอนเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ไม่สามารถพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างยั่งยืน
สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า
“นโยบายสาธารณะที่เป็นโครงการระยะยาว เกิดขึ้นได้ยากมีหลายเหตุปัจจัย เงื่อนไขของอายุและความมั่นคงของรัฐบาล ยิ่งรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ ยิ่งผลักดันนโยบายยากมากขึ้น เพราะต่อให้อยากเสนอนโยบายอะไรก็กลัวว่าเสนอแล้วไม่ผ่าน แล้วตัวเองต้องรับผิดชอบ แรงจูงใจให้นักการเมืองเสนอนโยบายยิ่งลดลงไปอีก เพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย
และเมื่อรัฐบาลอยู่นานขึ้น ยิ่งภายในช่วงครึ่งหลังของรัฐบาล นโยบายแบบระยะยาวยิ่งเกิดได้ยาก เพราะพรรครัฐบาลเริ่มต้องผลักดันนโยบายที่เห็นผลทันตา เพื่อเป็นคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่เสนอนโยบายประเภทการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง การปฏิรูประบบที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล แม้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนระยะยาวก็ตาม หากแต่จะเก็บไว้ใช้เป็นแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งแทน
ทั้งนี้เพราะการออกแบบนโยบายสาธารณะเมื่อถูกโยงกับการเมือง ที่เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจการรักษา อำนาจและการสืบทอดอำนาจอยู่ด้วยเสมอ ไม่สามารถใช้อุดมคติแบบการบริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ที่เป็นฝ่ายประจำการเสนอนโยบายได้”
อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายที่เป็นโครงการระยะสั้นนั้น หลายครั้งรัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้ “ตรงปก” ตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งรัฐบาลมักกล่าวอ้างว่า เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่มีหลายขั้วทางการเมือง ทำให้ทิศทางนโยบายไม่ชัดเจน หรือเพราะพรรคไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลและไม่ได้งบประมาณพอที่จะผลักดันนโยบายให้สำเร็จ
แต่ในความเป็นจริง การเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลเดี่ยวเป็นเรื่องที่ยากมาก และจะยากมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศทั่วโลกที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็จัดตั้งรัฐบาลผสมเช่นเดียวกัน หากแต่สามารถผลักดันนโยบายได้สำเร็จ เนื่องจากในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ใช้ MOU เป็นการสร้างข้อตกลงทางการเมือง ผลักดันนโยบายร่วมกันในฐานะผลงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ นโยบายที่ไม่ตรงปกหรือสัญญาไม่เป็นสัญญา ถือว่าผิดจริยธรรมของนักการเมืองไม่ว่าในระดับภาครัฐและท้องถิ่นที่ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดตนเอง และถือว่าทำลายความชอบธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง เพราะใช้คำกล่าวอ้างแทรกแซงการใช้สิทธิเลือกตั้งและบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โน้มน้าวใจประชาชนให้เชื่อในนโยบายที่ไม่เกิดขึ้นจริงว่าจะเกิดขึ้นจริง
นโยบายรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารสัมฤทธิ์ผลกว่า จริงหรือ ?
เมื่อนโยบายยึดโยงกับการเมืองมากไป นโยบายต่าง ๆ จึงไม่ต่อเนื่อง จนถูกมองว่าระบอบประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาประเทศได้ไม่ดีเท่าระบอบเผด็จการ เพราะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีทางลัดที่ทำให้การแก้ไขปัญหาประเทศได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ไม่ได้มาจากวิถีประชาธิปไตยนั้น ประชาชนไม่มีทางล่วงรู้และมีส่วนร่วม แน่นอนว่าไม่มีการหาเสียงหรือแถลงต่อรัฐสภา และจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่า หลายนโยบายไม่เพียงล้มเหลวแต่ยังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก
เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่รัฐบาล คสช. ตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ผืนป่าให้ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ที่ไม่ต้องผ่านระบบตรวจสอบถ่วงดุลตามกระบวนการออกกฎหมาย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจัดการกับผู้ที่บุกรุกป่า นำไปสู่การขับไล่และไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่กับป่ามาเป็นเวลานาน กลายเป็นกลุ่มคนไร้ที่อยู่ไร้ที่ดินทำกินและถูกดำเนินคดี แต่รัฐบาลไม่ได้ยึดคืนที่ดินจากกลุ่มนายทุนที่เข้ามาบุกรุกใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยมิชอบ
อีกทั้ง ต่อมาใน พ.ศ. 2562 กลับได้อนุญาตให้เอกชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนได้ เช่น ให้บริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ถ่านหินในเขตป่าอมก๋อย ต. อมก๋อย จ. เชียงใหม่ หลายร้อยไร่ รวมทั้งออกโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ให้เอกชนลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐและสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากรของภาคเอกชน ซึ่งเท่ากับภาครัฐกำลัง “ฟอกเขียว” ให้กับภาคเอกชน
อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา เช่นการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
- พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงการชุมนุม ควบคุมวิธีการและพื้นที่ในการชุมนุมได้ และกำหนดให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้า เป็นการแทรกแซงริดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนในการที่จะแสดงออกหรือส่งเสียงเพื่อนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชนจริง ๆ
- พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับ พ.ศ. 2550 ที่นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการคัดกรองและปิดกั้นเนื้อหาที่เห็นว่าก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี
กลไกตรวจการบ้านโยบายและความรับผิดรับชอบทางการเมือง
การตรวจสอบติดตามไปจนถึงเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการตามนโยบายนั้นสามารถทำได้หลายทางตามรัฐธรรมนูญ สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวว่า ต้องพิจารณาที่รัฐธรรมนูญ จากเดิมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเมื่อนายกรัฐมนตรีตั้งคณะรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา สส. มีหน้าที่โหวตเห็นชอบรับรองสถานะรัฐบาลและนโยบาย ถ้านโยบายโหวตผ่านก็ได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าไม่ผ่านก็ตกไป
“แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีการลงมติในสภาพิจารณาเห็นชอบนโยบาย เป็นเพียงการแจ้งนโยบายให้ทราบ และเป็นการตั้งโจทย์ไว้เพื่อให้ สส. ตรวจการบ้านรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามหลักการทั่วไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรวจสอบนโยบายที่แถลงไว้ ผ่านการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใช้กลไกกรรมาธิการเชิญมาชี้แจง
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กลับไปเพิ่มกลไกตรวจสอบอื่น ๆ ด้วยอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ กำกับพรรคการเมืองและรัฐบาลอีกที เช่น องค์กรอิสระอื่นมีอำนาจถอดถอน วินิจฉัยว่านักการเมืองผิดจริยธรรมหรือไม่ หรือนโยบายสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)หรือไม่”
สำหรับประชาชนเองก็สามารถทำได้ด้วยการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งตอบสนองความต้องการของประชาชนและปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้หรือไม่ ทั้งพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่าง ๆ ว่านโยบายที่เคยหาเสียงไว้ เมื่อดำรงตำแหน่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ผลักดันตามที่กล่าวอ้างไว้หรือไม่ และการไม่เลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ที่ไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้ ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ก็ถือว่าเป็นการสร้างความรับผิดรับชอบทางการเมืองวิธีหนึ่ง เพราะการไม่สามารถทำตามนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่านโยบายที่กล่าวอ้างนั้นไม่ได้ถูกออกแบบขึ้นมาอย่างครบถ้วน รอบคอบตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งนั้นต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ถูกขัดจังหวะด้วยรัฐประหาร
นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนยังสามารถชุมนุมประท้วงเพื่อกดดันให้รัฐบาลผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งการชุมนุมถือเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ออกแบบนโยบายแบบใดให้อยู่ยั้งยืนยง ท่ามกลางการเมืองไม่มั่นคง
นโยบายที่ไม่ยั่งยืน ไม่ต่อเนื่อง แก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น นั้นเป็นผลมาจากการเสนอนโยบายในช่วงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ มักเป็นการเสนอแบบ Top-Down จากพรรคมาสู่ประชาชน แล้วออกแบบแพ็คเกจสำเร็จรูปไปเสนอประชาชนเพื่อหาเสียง ซึ่งมันถูกคิดบนฐานว่าพรรคเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ ไม่ใช่ประชาชน ไม่ใช่ Bottom-Up ที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ
ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ดีคือต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับกลไกของการบริหารรัฐกิจ จึงจะทำให้นโยบายยั่งยืน แม้ว่ารัฐบาลและนักการเมืองจะไม่อยู่แล้วก็ตาม การทำนโยบายสาธารณะจึงไม่ได้ผูกไว้แค่การเมือง หากแต่สัมพันธ์กับระบบราชการ รัฐประศาสนศาสตร์ ที่ทำตามนโยบายสาธารณะและการบริหารงานสาธารณะโดยตรง ซึ่งกระบวนการทำนโยบายสาธารณะที่ดีตามวิถีประชาธิปไตย มี 7 ขั้นตอนได้แก่
- เริ่มมาจากความสนใจความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้งต้น
- มาจากการแสดงออกและความคาดหวังของประชาชน
- ประชาชนออกมาส่งเสียงไปถึงผู้มีบทบาทในการทำนโยบาย
- พรรคการเมืองเป็นตัวกลางรวบรวมความต้องการข้อเรียกร้องนำมากำหนดนโยบายเพื่อการลงสนามเลือกตั้งและการหาเสียง
- นักการเมืองไม่ได้ทำงานแค่ในสภาฯ เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทกำหนดนโยบายตั้งคณะกรรมการคณะทำงานเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและประชาสังคม เพื่อกำหนดนโยบายและสร้างกลไกติดตามความก้าวหน้า
- ส่วนราชการ ฝ่ายบริหารและกลไกรัฐดำเนินการเพื่อให้เกิดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับพิจารณางบประมาณ ให้มีการจัดสรรอย่างโปร่งใสและมีวิธีหางบประมาณเพิ่มโดยไม่ใช่แค่ภาษีหรือกู้
- นโยบายสาธารณะออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กฎหมาย แนวนโยบาย หรือแผนงาน
อีกทั้งกระบวนการผลักดันนโยบายสาธารณะนั้นต้องดำเนินต่อไปด้วยความต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาสังคม และท้องถิ่น ตลอดทั้งกระบวนการผลักดันนโยบาย มีการนำเสนอข้อมูลสำหรับการติดตามประเมินผลอย่างทันการณ์ ดังจะเห็นได้จากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการโดยรัฐ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เรียนฟรี เบี้ยยังชีพ เป็นนโยบายสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยน แม้จะเปลี่ยนผ่านไปกี่รัฐบาลก็ตาม
สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวถึงนโยบายสาธารณะที่ดีว่า เป็นที่สังเกตได้ว่านโยบายที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมา ประชาชนตอบรับในช่วงเลือกตั้ง และปฏิบัติได้จริงและยั่งยืน พรรคไม่ได้คิดเอง แต่เป็นเพราะประชาชน ภาคประชาสังคม ชาวบ้าน นักวิชาการ ระดมสมองออกมาเสนอแล้วพรรคการเมืองรับไปปรับใช้ เมื่อเป็นรัฐบาลจึงดำเนินการต่อ ร่วมกับฝ่ายข้าราชการประจำที่มีความเชี่ยวชาญในระเบียบกฎเกณฑ์ กฎหมาย สร้างความรัดกุมถูกระเบียบและทำได้จริง เพื่อผลิตออกมาเป็นนโยบายภาครัฐ
ช่วงเลือกตั้งจึงถือได้ว่าเป็นจังหวะที่ดีที่สุดของการหานโยบายปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่เห็นผลในระยะยาว ประชาชนไม่เพียงเป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะให้นโยบายสามารถเข้าไปผลักดันเป็นนโยบายภาครัฐ ในฐานะโหวตเตอร์ แต่ยังอยู่ในฐานะ Stakeholders หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบาย
ดังนั้นการออกแบบนโยบายหาเสียงที่ดี พรรคการเมืองต้องให้ ชาวบ้าน ภาคประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ ร่วมออกแบบนโยบาย นำเสนอปัญหาความต้องการ ให้ข้อมูล มีส่วนร่วมกับกระบวนการคิดวิเคราะห์ ออกมาเป็นชุดนโยบายหรือแนวคิดเชิงนโยบายก่อนได้ แล้วพรรคการเมืองนำเนื้อมาเป็นแคมเปญหาเสียง เมื่อประสบความสำเร็จได้เป็นรัฐบาล จึงเชิญประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาผลักดันต่อ ทำให้นโยบายภาครัฐมีคุณภาพและสัมฤทธิ์ผล
รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประชาชน นำไปสู่นโยบายสาธารณะที่ดีและยั่งยืน
ในการออกแบบและการดำเนินนโยบายสาธารณะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดการควบคุมกำกับและการตรวจสอบไว้จำนวนมาก ตั้งแต่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องรายงานนโยบายให้ กกต. ตรวจสอบก่อนหาเสียง ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญกับการห้ามไม่ให้ซื้อ-ขายเสียง รวมถึงผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินที่จะเกิดขึ้นจากนโยบาย หากแต่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียง ทั้งๆ ที่นโยบายไม่ตรงปกหรือไม่การไม่ทำตามดังที่หาเสียงไว้ ไม่แตกต่างอะไรไปจากการไปซื้อเสียงในทางวิชาการ
อีกทั้งยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มาตรา 57 กำหนดไว้ว่าจะต้องจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับรายละเอียด งบประมาณ ที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการขั้นตอนการดำเนินการ และผลกระทบ ความเสี่ยงและความคุ้มค่า ของนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียก่อน ซึ่งเป็นรายงานแจ้งให้ทราบเท่านั้น ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบายว่าสามารถกระทำได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นเพื่อให้นโยบายหาเสียงสามารถทำได้จริง พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ ควรแก้ไขปรับปรุงให้เกิดกระบวนการตรวจสอบนโยบาย
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. เลือกตั้ง สส.ฯ) มาตรา 73(5) ที่ระบุข้อห้ามว่า ห้าม “หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง” อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีให้นักการเมืองรับผิดจากการไม่สามารถผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเมือง และแม้จะนำ พ.ร.ป. เลือกตั้ง สส.ฯ นี้ มาปฏิบัติใช้ดำเนินคดีจริง ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับนิติสงคราม ที่อาจมีการใช้อำนาจในทางการเมืองเหนือนิติบัญญัติและบริหาร จากตัดสินคดีทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญดังที่เคยเป็นมา
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่สามารถแก้ไขปัญหานโยบายภาครัฐที่ไม่ยั่งยืนและไม่สำเร็จได้ ขณะเดียวกันตัวรัฐธรรมนูญเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สติธรได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และทางออกว่า
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนขึ้นมาด้วยความระแวงนโยบายประชานิยม และไม่ไว้ใจรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะรู้ว่า สส. เสียงข้างมากคือพวกเดียวกับรัฐบาล เขียนจากสถานการณ์ทางการเมืองก่อนหน้า ที่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวชนะการเลือกตั้งได้ที่นั่งเกือบครึ่งหรือเกินครึ่งในสภาฯ ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย และเชื่อว่าอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ผลปรากฎว่าหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งในการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 เกิดรัฐบาลผสม ทำให้รัฐบาลมีข้ออ้างว่าเป็นรัฐบาลผสมบ้าง เป็นพรรคร่วมบ้างต่างมีนโยบายที่แตกต่างกันมาร่วมกันเป็นรัฐบาล นโยบายที่เคยหาเสียงและนโยบายที่เป็นเอกสารยื่น กกต. นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เท่าที่ตรวจสอบติดตามผลได้จึงทำได้เพียงนโยบายที่แถลงต่อสภาเท่านั้น และการกำหนดให้กกต.ตรวจสอบการใช้งบประมาณในการดำเนินนโยบาย ไม่ได้มีศักยภาพพอที่จะตรวจสอบได้
ดังนั้นควรแก้ปัญหาที่ต้นตอคือรัฐธรรมนูญที่ต้องเขียนให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจจริง ๆ ด้วยทัศนคติที่ว่า รัฐธรรมนูญ ก็คือให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบเต็มที่เลยว่าประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนมีความรู้ความเท่าทันพอสมควร ประชาชนไม่ได้รับเงินซื้อเสียงแล้วก็ไปกาบัตรเลือกตั้งหรือโดนนโยบายจูงใจไปลงคะแนนอย่างเดียว ทัศนคติเช่นนี้จึงทำให้มีรัฐธรรมนูญเช่นนี้
นโยบายที่ยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผลจึงต้องมาจากรัฐธรรมนูญแบบปกติ แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ถ่วงดุลกันตามกลไกทั่วไป ซึ่งทั่วโลกก็เป็นเช่นนั้น ไม่ต้องไม่ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มเติม หากผู้เขียนรัฐธรรมนูญเคารพการตัดสินใจของประชาชน ก็จะออกแบบกลไกตรวจสอบนโยบายภาครัฐได้อีกมาก ที่เปิดพื้นที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คืนอำนาจกลับมาที่ประชาชนในการตรวจสอบติดตามนโยบาย เช่นประชามติ”
อาจกล่าวได้ว่า การออกแบบนโยบายสาธารณะให้ยั่งยืนในการเมืองไม่มั่นคง คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการ ขณะที่การทำให้การเมืองมั่นคงคือการทำให้รัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้กับประชาชน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ชะตากรรมกฎหมายค้างสภาฯ กับเวลาที่(ไม่)เหลือของรัฐบาล
- สุญญากาศการเมืองอย่าทำสะดุด! งานอย่างเยอะ ต้องไปต่อ รอไม่ได้
- Policy Forum : การเมืองสะดุด ต้องไม่ฉุดนโยบายดี ๆ