จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งครัวเรือนไทย (47.9%) มีภาระหนี้สิน โดยส่วนมาก (45.6% ของครัวเรือนทั้งหมด) มีหนี้ในระบบ และมีครัวเรือนในสัดส่วน 3.6% ที่มีหนี้นอกระบบ รวมหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 197,255 บาท
ชัดเจนว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังของประเทศ
ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น ล่าสุดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” และมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่างวด พักดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ที่มีสถานะคงค้างแก่ลูกหนี้ในระบบของสถาบันการเงิน 1.9 ล้านราย
รวมทั้งหลายโครงการในก่อนหน้านี้ ทั้งโครงการธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบของธนาคารออมสิน, การออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัวโดยไม่จำเป็นของธปท., การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน อาทิ โครงการ Fin. ดี Happy Life!!! ที่ ธปท. เข้าไปช่วยยกระดับทักษะทางการเงินของคนวัยทำงาน, หลักสูตรการบริหารจัดการหนี้ใน SET e-Learning ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะการเงิน พ.ศ. 2565-2570 เป็นต้น
แม้มาตรการเหล่านี้ มีเป้าหมายช่วยแก้ไขปัญหาในการจัดการภาะหนี้สินเผื่อให้ลูกหนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทว่าในกลุ่มมาตรการพักหนี้ กลับมีข้อกังวลบางประการ เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือมีลักษณะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และส่งเสริมให้ลูกหนี้เคยชินกับการรอรับความช่วยเหลือโดยไม่พยายามแก้ปัญหาเอง
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พบว่ามาตรการ เช่น การพักชำระหนี้ให้เกษตรกร แม้ว่าจะช่วยลดโอกาสผิดนัดชำระหนี้อื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าพักหนี้ แต่ยิ่งทำให้ลูกหนี้สะสมหนี้ใหม่ขึ้น ส่วนดอกเบี้ยของหนี้ที่พักไว้ก็ยังวิ่งและนำไปปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้ ขณะที่ภาระการจ่ายหนี้ที่ลดลงกลับไม่ได้ไปเพิ่มเงินออมของลูกหนี้
ดังนั้นแม้ความช่วยเหลือเช่นนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ในระยะสั้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง ๆ แต่ในระยะยาวมาตรการเหล่านี้ย่อมขาดความยั่งยืน และอาจทำให้ลูกหนี้กลับสู่วงจรหนี้ได้โดยง่าย สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะมาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญยิ่งอีกเรื่องคือ “พฤติกรรมทางการเงิน” ของลูกหนี้
ในทำนองเดียวกันมาตรการเชิงป้องกันที่ดำเนินการกันอยู่ เช่นการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ที่กำลังจมอยู่กับภาระหนี้มหาศาลอยู่เป็นทุนเดิม และต้องการหาทางออกอย่างเร่งด่วน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการหามาตรการเพื่อการจัดการหนี้ที่ครอบคลุมทั้งการบรรเทาภาระทางการเงิน และการปรับพฤติกรรมทางการเงินของลูกหนี้
หนึ่งในต้นแบบที่น่าสนใจคือหลักคิด “ความรู้คู่ทุน” ใน “ภารกิจพิชิตหนี้” ของบริษัทโนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ที่มีลักษณะเป็นแอปพลิเคชันให้พนักงานบริษัทที่โนบูโร เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตนเองผ่านบริการสินเชื่อ แผนปลดหนี้ และภารกิจสร้างวินัยทางการเงินไปพร้อมกัน มาตรการดังกล่าวจึงน่าจะตอบโจทย์ทั้งช่องว่างของการแก้ปัญหาด้วยสินเชื่อที่อาจไม่ยั่งยืนถาวร และการปรับความรู้ทางการเงินควบคู่กันไป
เพื่อเป็นการทดสอบสมมติฐานดังกล่าว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บริษัทโนบูโร และบริษัทลูกคิด จำกัด ร่วมประเมินผลมาตรการภารกิจพิชิตหนี้ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของลูกหนี้ก่อนที่จะได้เข้าโครงการกับโนบูโร พบว่า ผู้มีหนี้ “รู้แต่ไม่ทำ” ในเรื่องการเงิน โดยมีคะแนนความรู้ทางการเงินในระดับสูง รวมมีคะแนนเฉลี่ย 68.95% ของคำถามทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันพบจุดอ่อนที่ปรากฏอยู่บ้าง เช่น เรื่องวิธีการเลือกสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม และการประมาณการภาระที่เกิดจากดอกเบี้ยเงินกู้แบบทบต้นต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นต้น
ในทำนองเดียวกันผู้มีหนี้มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติและความมุ่งมั่นที่จะปลดหนี้ในระดับสูงด้วยคะแนนเฉลี่ย 82.81% โดยพบว่ามีเพียงด้านความยินดีที่จะก่อหนี้เพื่อคนที่ตัวเองใส่ใจ เช่น สมาชิกในครอบครัว คนรัก และเพื่อนที่ได้คะแนนต่ำกว่าข้ออื่นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาพฤติกรรมทางการเงินในด้านวินัยทางการเงิน การจัดการรายได้-รายจ่าย การออม รูปแบบการบริหารจัดการหนี้จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยในหมวดนี้อยู่ที่เพียง 32.08% เท่านั้น จุดอ่อนที่เด่นชัดคือการไม่ทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำ การชำระหนี้บัตรเครดิตเพียงขั้นต่ำ และการขาดการวางแผนออมเพื่อการเกษียณ
ข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้มีหนี้มักมีปัญหาในการลงมือวางแผนทางการเงินที่ต้นเหตุก่อนที่ปัญหาภาระทางการเงินจะบานปลายมาจนถึงวันนี้
สิ่งที่โนบูโรถ่ายทอดจึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการได้ตระหนักถึงจุดอ่อนทางการเงินเหล่านี้ของตนเอง และเริ่มลงมือจัดการปัญหาทางการเงินอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนค้นพบคือที่ผ่านมา แม้คุณค่านี้จะเป็นยาวิเศษหนึ่งที่ช่วยแก้หนี้ให้กับผู้เข้าโครงการได้ แต่ก็ไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล” ที่รักษาปัญหาหนี้ให้ได้กับทุกคน คำถามคืออะไรที่ทำให้ภารกิจพิชิตหนี้ของโนบูโรสามารถปรับพฤติกรรมและทัศนคติลูกหนี้ “บางคน” จาก “รู้แต่ไม่ทำ” ไปเป็น “รู้ – รู้มากขึ้น และลงมือทำ”ได้ ? และอีก “บางคน” ที่ไม่ประสบความสำเร็จจะถือเป็นตัวบ่งชี้ข้อจำกัดของโครงการหรือไม่ ?
ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าความสำเร็จของโครงการเกิดจากความตั้งใจของผู้เข้าร่วมเอง กล่าวคือลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่ “เจ็บมาเยอะ อยากหลุดพ้น” ซึ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว เรียนรู้ได้ครบตามเป้าหมาย มียอดหนี้ลดลงหลังเข้าร่วมโครงการ และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี เช่น การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย การลดการซื้อสินค้าสิ้นเปลือง เป็นต้น
ส่วนอีกกลุ่มมีทัศนคติ “ทำไปก่อน เอาเงินมาโปะ” เป็นลูกหนี้ที่ขาดความตั้งใจ เข้าโครงการมาเพียงเพื่อเอาเงินก้อน ไม่ได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติใช้จริง บางรายก็เกิดอาการท้อแท้ รู้สึกว่าภารกิจเป็นสิ่งที่ยากและเสียเวลา จนอาจถึงขั้นออกจากโครงการ เมื่อไม่ลงมือทำ ผลสำเร็จจากการแก้หนี้จึงไม่เกิด
ดังนั้นโดยหลักการ ภารกิจพิชิตหนี้ของโนบูโร ถือว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ลูกหนี้พิชิตหนี้ได้อย่างยั่งยืนผ่านการเพิ่มทักษะและโอกาส แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกหนี้ “ก้าวข้ามกับดักหนี้” และเดินสู่เป้าความสำเร็จย่อมต้องเกิดจากแรงกาย แรงใจของลูกหนี้เองด้วย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าว แม้จะไม่ใช่ตัวบ่งชี้ข้อจำกัดจนลดทอนคุณค่าของตัวโครงการดังกล่าวเสียทีเดียว แต่ก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่นอกจากโครงการจะสอนลูกหนี้แล้วก็ต้องหาวิธีเติมพลังให้เขาลุกขึ้นสู้เองต่อเพื่อให้โครงการนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย
การให้ความรู้พร้อมทุนแก่ลูกหนี้ คือหลักคิดที่น่าผลักดันต่อให้การแก้หนี้ของคนไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น “โนบูโร” จึงถือเป็นโมเดลหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำหนดนโยบายปรับมุมคิดเรื่องการแก้หนี้ใหม่ โดยเริ่มจากการตัวของลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ “สู้” เราก็ควร “ช่วย” ด้วยวิธียั่งยืนและไม่ปล่อยให้เคยชินกับการรับความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว
บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย มาตรการที่ได้ผลในการสนับสนุนการวางแผนก่อนการก่อหนี้และการบริหารจัดการปัญหาหนี้สินและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหวย เพื่อส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของแรงงานในระบบ ท่ามกลางสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
คนไทยหนี้ท่วม มาจากรายได้ไม่พอ ต้องกู้นอกระบบ
เช็กเงื่อนไข”คุณสู้ เราช่วย” มหกรรมแก้หนี้รายย่อย เริ่มลงทะเบียน 12 ธ.ค.