ThaiPBS Logo

ลูกหนี้ผิดนัดพุ่ง แบงก์ขยับตั้งสำรอง 5.1 หมื่นล้านบาท

30 ส.ค. 256713:08 น.
ลูกหนี้ผิดนัดพุ่ง แบงก์ขยับตั้งสำรอง 5.1 หมื่นล้านบาท
ธปท.เผยสถานการณ์หนี้ไทยยังแย่ต่อเนื่อง ตัวเลขหนี้เสีย หรือ NPL ในไตรมาส 2 ปี 67 ปรับเพิ่มขึ้นทั้งระบบ โดยเฉพาะหนี้เสียกลุ่มบัตรเครดิตและบ้านที่ขยับขึ้นมากสุด พร้อมจับตามการชำระหนี้ธุรกิจ SMEs และหนี้ครัวเรือน คาดอาจหนุนให้หนี้เสียทยอยเพิ่มขึ้นอีก

หนี้เสียปรับขึ้นทั้งระบบ

สถานการณ์หนี้เสียของไทยปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินรวมที่ 2.84% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.80%

NPL ของสินเชื่อธุรกิจ รวมอยู่ที่ 2.62% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.64% โดยสินเชื่อวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท ทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า แต่สินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจาก 6.86% จากไตรมาส 1 มาอยู่ที่ 6.89% ในไตรมาส 2

ขณะที่ NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยยะอยู่ที่ 3.13% จาก 2.95% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่ง NPL เพิ่มสูงขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มบัตรเครดิต NPL เพิ่มขึ้นมากสุดที่ 3.53% จาก 3.17% ในไตรมาสก่อนหน้า รองลงมากลุ่มที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมาที่ 3.71% จาก 3.48% ในไตรมาสก่อนหน้า ถัดมากลุ่มเช่าซื้อเพิ่มขึ้นที่ 2.33% จาก 2.18% ในไตรมาสก่อนหน้า และสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นที่ 2.74% จาก 2.65% ในไตรมาสก่อนหน้า

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาพรวมหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคของรายย่อยมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ได้นำไปประกอบธุรกิจ แต่นำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนตัว  ขณะที่หนี้เสียของธุรกิจยังทรงตัว

เมื่อดูในกลุ่มสินเชื่อที่ค้างชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) ถือเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะกำลังมีปัญหาในการชำระหนี้ และใกล้จะเป็นหนี้เสีย โดยไตรมาส 2 มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.50% เพิ่มขึ้นจาก 6.38% ในไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีในทุกพอร์ตสินเชื่อ

โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่อยู่ในระดับสูงสุด และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 14.72% จาก 14.13% ในไตรมาสก่อนหน้า รองลงมาสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมาที่ 6.16% จากระดับ 5.77% ในไตรมาสก่อนหน้า ถัดมาสินเชื่อบัตรเครดิตปรับขึ้นที่ 5.86% จาก 5.65% ในไตรมาสก่อนหน้า และสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับขึ้นมาที่  5.27% จาก 5.14% ในไตรมาสก่อนหน้า

ภาพรวมของหนี้เสียนั้น สอดคล้องกับสินเชื่อโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลงทั้งกลุ่มธุรกิจและอุปโภคบริโภค ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น หรือหมายความว่าการที่ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ก็จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร โดยยิ่งผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น อัตราการปล่อยสินเชื่อก็จะลดลงตามคุณภาพของลูกหนี้ที่ด้อยลง

แบงก์ไทยไตรมาส 2/67 ตั้งสำรองสูงขึ้น

ด้านผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 7.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และ 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ปัจจัยหลักมาจากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.73 แสนล้านบาท ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ  (NIM) ที่ 3.04% ขยับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.02%  (เป็นเครื่องมือชี้วัดความสามารถหากำไรของธนาคารจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย บนพื้นฐานสินทรัพย์ของธนาคารที่มีอยู่)  และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 6.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายสำรองของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธปท.จับตาหนี้เสียอาจสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท. ระบุว่า ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจในกลุ่มที่ผลประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง รวมทั้งครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff)

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับลดลงเล็กน้อยที่ 90.8% จาก 91.4% ในไตรมาส 4 ปี 66 เป็นผลมาจากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้

ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการก่อหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมปรับดีขึ้นจากภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ แต่ยังต้องติดตามธุรกิจบางกลุ่มที่ผลประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการเงิน (Monetary Policy)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายการเงินผ่าน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยใช้เครื่องมือหลัก คือ ‘อัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปจนกระทบกับเศรษฐกิจ โดยกนง.มีการตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ทำให้การกำหนดนโยบายการงินของไทย "ก้าวสู่ยุคใหม่"

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

แก้หนี้

แก้หนี้โดยการ "ปรับโครงสร้างหนี้" เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมุ่งแก้ปัญหาสินเชื่อบ้านและรถยนต์ ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนที่เน้นไปที่หนี้นอกระบบและหนี้เกษตรกร

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: