สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรกของปี 2567 (%YoY) รวมครึ่งปีแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.9
ปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคภาครัฐบาลที่ร้อยละ 0.3 การส่งออกสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.0 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 6.9 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 6.8 และภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3 – 2.8 ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 2.5 (ไตรมาสก่อนคาดอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0) โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 – 0.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.3 ของ GDP
ปัจจัยสนับสนุน
- การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
- การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
- การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
- การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของภาคการส่งออก
ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
- หนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือปี 2567
สศช.แนะนำว่าควรให้ความสาคัญกับ
การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดย 1.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ 2.พัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 3.เร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และ 4.เพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดย 1.ตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ 2.ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า 3.ดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย
การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า
การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานีญาและเอลนีโญ
การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวสำคัญ
การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์ จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความรุนแรงของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก
กสิกรไทยคาดดิจิทัลวอลเล็ตดันจีดีพี 2.6%
บทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขึ้นอยู่กับมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนงบประมาณปี 2568 นอกเหนือไปจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกทั้งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ที่อาจจะมีผลต่อเนื่องมายังการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่จะกระทบการส่งออกในช่วงไฮซีซั่น (high season) ตลอดจนภาคการผลิตที่เจอโจทย์การแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงภาวะกำลังซื้อในประเทศโดยรวมที่ยังอ่อนแอ
ทั้งนี้หากขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักเมื่อเทียบกับแผนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2568 บังคับใช้ทัน 1 ต.ค. 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ที่ 2.6%
อย่างไรก็ดี หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐล่าช้าออกไป และไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาทดแทนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้ ตลอดจนมีความล่าช้าในการใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2568 ออกไปมากกว่า 1 เดือน แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คงจะมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น โดยมีกรอบล่างประมาณการรองรับไว้ที่ 2.2% ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังมองโอกาสการเกิดไม่สูง
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ไว้ที่ 2.6% ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐมีการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 รวมถึง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 บังคับใช้ทัน 1 ต.ค. 2567 นี้ ท่ามกลางการท่องเที่ยวและส่งออกที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
กรุงศรีมองเศรษฐกิจปีนี้โตแค่ 2.4%
ขณะที่ วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าอาจฟื้นตัวช้า เนื่องจากนักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ทางการเมืองและทิศทางนโยบายในการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ บวกกับภาคส่งออกของไทยที่เผชิญแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาตร์ที่ยืดเยื้อและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ในภาพรวมวิจัยกรุงศรีมีแนวโน้มยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ว่า จะขยายตัวเพียง 2.4% โดยยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการแถลงนโยบายเศรษฐกิจ ความกังวลภาวะสุญญากาศทางการเมืองลดลงหลังจากได้นายกรัฐมนตรีใหม่อย่างรวดเร็ว
วิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐานภายใต้การจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ได้เร็วซึ่งเป็นฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและมีเสียงข้างมากราว 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฏร จะทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ และการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 (วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท) อาจไม่เกิดความล่าช้า จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้อาจมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการแถลงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสามารถช่วยหนุนการบริโภค กระตุ้นการลงทุน หรือสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป
สินค้าจีนทะลักกดทับเศรษฐกิจไทย
Krungthai COMPASS มองเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ายังเปราะบาง ประเมินว่า ตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลสะท้อนของงบประมาณปี 2567 ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ แต่หลังจากต้นไตรมาส 3 ปี 2567 เป็นต้นมา มีสัญญาณการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐซึ่งเร่งตัวขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีว่าจะอยู่ในทิศทางเช่นใด จากความเสี่ยงด้านต่ำที่จะกดดันในระยะข้างหน้า ดังนี้
– การบริโภคภาคเอกชนอาจอ่อนแอลง เนื่องจากกำลังซื้อถูกกดดันด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง จากดัชนีของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่า 50.0 ถือเป็นการเข้าสู่ระดับไม่เชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน
– การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มแผ่วลง เนื่องจากผู้ประกอบการกำลังประสบกับอุปสรรคหลายด้าน ทั้งต้นทุนค่าแรงและโลจิสติกส์ในระดับสูง รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2567 กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี (10 ไตรมาส) ทั้งยังมีสัญญาณว่าการลงทุนภาคเอกชนระยะข้างหน้าจะอ่อนแอลงจากการติดลบของตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว
– การส่งออกยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่กดดันเพิ่มเติม ทั้งปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ตลอดจนการตีตลาดของสินค้าจีน
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการรุกตลาดของสินค้าจีนเข้ามาในไทยและกลุ่มอาเซียน เพื่อระบายสินค้าซึ่งผลิตล้นเกินออกมาท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับ จะพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ที่สัดส่วนสินค้าจากไทยลดลง ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าลดจาก 12.7% ในไตรมาส 1 ปี 2566 เหลือ 11.5% ในไตรมาส 1 ปี 2567 ขณะที่รถยนต์ลดลงจาก 20.9% ในไตรมาส 1 ปี 2566 เหลือ 18.7% ในไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นผลจากที่จีนได้ส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลลบต่อการผลิต การส่งออก และการลงทุน ภาคเอกชน ทั้งอาจกดดันโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไปข้างหน้า
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
- เศรษฐกิจไทยชะลอ ลุ้นกนง.ลดดอกเบี้ยปลายปี 67
- ไทยต้องลดขาดดุลการคลัง ปฏิรูปตรงจุด-ทำให้ได้ตามแผน
- พื้นฐานเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าเดิม เสี่ยงสูง-ฉุดเงินบาทอ่อน
ที่มา : รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2567และแนวโน้ปี 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, วิจัยกรุงศรี, ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS