ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2567 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่กรรมการ 1 คน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้าง หลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกัน โดยรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน
ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจใหญ่ไตรมาส 2 ปี 67 ตรงตามที่ประเมินไว้ แต่ในรายละเอียดข้างในพบความแตกต่างพอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ถ้าเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าลดลงมากกว่าช่วงโควิด-19 และลดลงครึ่งหนึ่งของช่วงวิกฤตการเงินโลก ซึ่งกำลังหาสาเหตุว่าการลดลงดังกล่าวเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือไม่ เพราะตัวชี้วัดที่ออกมาก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการฯมองเศรษฐกิจภาพใหญ่ฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้แนวโน้มราคาหมวดพลังงานและอาหารสดไม่เร่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ คาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.
ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัวส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น
ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เลขานุการ กนง. ระบุว่า หนี้ที่ค้างชำระเกิน 1 เดือน รวมกับหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือหนี้เสีย (NPL) ภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในระดับที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ มาก ซึ่งคณะกรรมการฯกำลังจับตาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม NPL ที่สูงขึ้นสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 ได้หมดลง
สมมติคุณภาพของสินเชื่อมันแย่ลง แน่นอนผู้ปล่อยสินเชื่อหรือแบงก์พาณิชย์ ก็จะระวังมากขึ้น อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง ทั้งงบดุลและสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการก็จะแย่ลง ทำให้คุณภาพสินเชื่อแย่ลงไปด้วย และวนเป็นลูปที่ทำให้สถานการณ์โดยรวมชะลอลงได้ อันนี้ยังไม่ได้เกิดในประเทศไทย แค่บอกว่านี่คือหนึ่งในกลไกที่คณะกรรมการฯพยายามจับตาไม่ให้มันเกิดขึ้น เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจเป็นอะไรที่มีเยอะ และเป็นไปได้ว่ามีบางมิติที่มันอาจจะก้าวกระโดดได้ถ้ามันแบบเกินเลยไป และก็ไม่อยากให้ถึงขั้นนั้น
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนมาตรการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ในระยะยาว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มี ความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
SCB EIC คาดเริ่มลดดอกเบี้ยไตรมาส 4
กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้บ้างจากปัจจัยด้านอุปทานและจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงปลายปีนี้
SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่าการสื่อสารของ กนง. ในรอบนี้มีท่าที Dovish มากขึ้น จาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- กนง. ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ในระยะข้างหน้าการบริโภคภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอลง และยังต้องติดตามว่าการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวแรงในไตรมาส 2 เป็นปัจจัยชั่วคราวมากเพียงใด
- กนง. ให้ความสำคัญของการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคการผลิตที่สินเชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัว
- กนง. เริ่มให้ความสำคัญกับการติดตามความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงิน ซึ่งสะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น และอาจกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจตามมา
SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 และจะลดอีกครั้งในไตรมาส 1/2025 เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินในประเทศ หลังจากภาวะการเงินตึงตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความเปราะบาง ทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้แรงส่งเศรษฐกิจไทยจากอุปสงค์ในประเทศแผ่วลง ซึ่งจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้
เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ทำให้นโยบายการเงินไทยจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทประคับประคอง Momentum ของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามากขึ้น
กรุงไทยมองเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังเปราะบาง สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อภาพเศรษฐกิจที่แผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งคาดว่า GDP เติบโต 0.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าปรับฤดูกาล (QoQsa) และเทียบกับ 1.2% ในครึ่งปีแรก ตามการบริโภคระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มชะลอตัวและมีบทบาทน้อยลงต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่การลงทุนอาจเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มเติมจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการผลิต สอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ซึ่งประเมินเช่นกันว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปรับตัวลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนซึ่งอาจแผ่วลงจากสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ติดลบและการหดตัวของดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยหนึ่งจากการตีตลาดของสินค้าจีน ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นตามการยกระดับของสงครามการค้าและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
นอกจากนี้มุมมองของ กนง. ต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ จะช่วยเปิดช่องเพิ่มเติมสำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเพิ่มขึ้น
Krungthai COMPASS มองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอ่อนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ครอบคลุมสินค้า 67.06% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) ล่าสุดในเดือน ก.ค. 2567 อยู่ที่เพียง 0.52% ทรงตัวต่ำกว่า 1.0% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว สะท้อนถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง