สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์และคุณภาพสินเชื่อของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในประเทศไทย จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร พบว่า สินเชื่อนิติบุคคล ไตรมาส 1 ปี 2567 มีสัดส่วนสินเชื่อที่ผิดนัดชำระ เกิน 90 วันต่อยอดสินเชื่อคงค้าง (NPL) อยู่ที่ร้อยละ 1.80 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ร้อยละ 1.60
NPL ปรับสูงขึ้นทุกสาขาธุรกิจ แบ่งเป็น ภาคการผลิตร้อยละ 2.96 (เพิ่มจากร้อยละ 2.63) , การขายส่งและการขายปลีกฯ ร้อยละ 2.70 (เพิ่มจากร้อยละ 2.48), กิจกรรมทางการเงิน/ประกันภัยร้อยละ 0.26 (เพิ่มจากร้อยละ 0.15), กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 0.96 (เพิ่มจากร้อยละ 0.67), ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำฯ ร้อยละ 0.10 (เพิ่มจากร้อยละ 0.08), การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ร้อยละ 1.97 (เพิ่มจากร้อยละ 1.75 ), การก่อสร้าง ร้อยละ 6.98 (เพิ่มจากร้อยละ 6.24), ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ร้อยละ 1.42 (เพิ่มจากร้อยละ 1.24 ), ไม่ระบุประเภทธุรกิจ ร้อยละ 0.62 (เพิ่มจากร้อยละ 0.53) และอื่น ๆ ร้อยละ 2.38 (เพิ่มจากร้อยละ 2.38)
เมื่อจำแนกตามวงเงินสินเชื่อ มีสัดส่วน NPL ปรับเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มเช่นกัน ซึ่งวงเงินสินเชื่อระดับไม่เกิน 5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 6.25 จาก 5.46 ในไตรมาสก่อนหน้า
สินเชื่อบุคคลหนี้เสียยังสูง
ทั้งนี้ สินเชื่อบุคคลธรรมดา กลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงมากนัก ยังไม่ฟื้นตัวและมีคุณภาพของสินเชื่อด้อยลงมากกว่าสินเชื่อประเภทเดียวกันที่มีวงเงินสูงกว่า
โดยเฉพาะในสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน NPL อยู่ที่ร้อยละ 1.78 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.47 ซึ่งในวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท มี NPL อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.2 สูงกว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 3 -5 ล้านบาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 20 ล้านบาทขึ้นไปที่มี NPL ประมาณร้อยละ 1.3 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.10 และ 0.58 ตามลำดับ)
ขณะเดียวกันสินเชื่อบุคคล มีสัดส่วน NPL อยู่ที่ร้อยละ 4.39 ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.44 โดยในกลุ่มวงเงินระหว่าง 1,000 – 10,000 บาท มีสัดส่วน NPL สูงถึงร้อยละ 44.13 (ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 49.91) มากกว่ากลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อ 50,000 – 100,000 บาท ที่มีสัดส่วน NPL ประมาณร้อยละ 5.79 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.85
หนี้เสียรถเริ่มทรงตัว
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สัดส่วน NPL เริ่มทรงตัวร้อยละ 2.12 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.36 แต่ยังคงสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.54 โดยเฉพาะในกลุ่มวงเงิน 3 – 5 ล้านบาท และมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป มี NPL เพิ่มสูงมากที่สุด
ในขณะที่มูลค่าคงค้าง สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ กลับลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในสินเชื่อรถยนต์ที่วงเงินต่ำกว่า 500,000 บาท และวงเงินระหว่าง 500,000 – 800,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ครัวเรือนส่วนใหญ่เข้าถึง พบว่า มีการลดลงของสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 9.2 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ
สินเชื่อบัตรเครดิตคุณภาพด้อยลง
ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วน NPL ร้อยละ 0.52 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.43 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 0.48 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มวงเงิน 50,000-100,000 บาท และกลุ่มวงเงิน 100,000 บาทขึ้นไปมีสัดส่วน NPL เพิ่มมากที่สุด
ขณะที่ปริมาณของสินเชื่อปรับตัวลดลง โดยกลุ่มผู้ที่มีรายได้ประจำ มีการลดลงของสินเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มวงเงิน 10,000 – 100,000 บาท แต่สินเชื่อในกลุ่มวงเงิน 100,000 บาทขึ้นไป พบว่าไตรมาส 1 ปี 67 ขยายตัวร้อยละ 7.3 ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.4
โดยในภาพรวมมีการชะลอของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อก็ด้อยลงต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมีกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและรายได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและเร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็ว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สศช.ลดเป้าจีดีพีปี’67 เหตุหนี้สูง เศรษฐกิจโลกผัวผวน
- ไทยต้องลดขาดดุลการคลัง ปฏิรูปตรงจุด-ทำให้ได้ตามแผน
- เศรษฐกิจไทยชะลอ ลุ้นกนง.ลดดอกเบี้ยปลายปี 67
ที่มา: รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2567 และแนวโน้ปี 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)