ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงิน ได้ออกมาตรการชั่วคราวภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เมื่อเดือนธ.ค. 2567 นั้น
ล่าสุด ณ 10 ก.พ. 68 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 746,912 บัญชีจากลูกหนี้ 642,030 ราย และยังพบว่ามีลูกหนี้ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ธปท. จึงขยายระยะเวลาการสมัครเข้าโครงการฯ ถึง 30 เม.ย. 68 จากเดิมที่สิ้นสุด 28 ก.พ.68 เพื่อเพิ่มโอกาสที่ลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติในระยะข้างหน้าเมื่อรายได้ฟื้นตัว
ล่าสุด ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพิ่มเติม
โดยผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank จำนวน 2 ราย ที่มีคุณสมบัติและผ่านการพิจารณา ได้แก่ (1) บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และ (2) บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะได้รับการสนับสนุน Soft loan จากธนาคารออมสิน เพื่อลดต้นทุนในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ และ Non-bank ทั้งสองรายนี้ จะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย โดยการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในส่วนของ Non-bank ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “ลดผ่อน ลดดอก” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยด้วยการลดภาระค่างวดและภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับ
(1) สินเชื่อวงเงินผ่อนชำระ (installment loan) ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) โดยให้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 70% ของค่างวดเดิม
(2) สินเชื่อวงเงินหมุนเวียน (revolving credit) ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันประเภทบัตรกดเงินสด โดยให้แปลงเป็นสินเชื่อแบบผ่อนชำระรายเดือน ชำระค่างวดไม่ต่ำกว่า 2% ของยอดคงค้างสินเชื่อก่อนทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการ รวมทั้งลูกหนี้จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 10% จากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม โดยต้องเป็นลูกหนี้สินเชื่อที่ทำสัญญาก่อน 1 มี.ค. 67 โดยมีสถานะบัญชีและคุณสมบัติตามที่กำหนด รวมถึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น ลูกหนี้ต้องไม่ก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) และมียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ทำให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้
ลูกหนี้ของ Non-bank ทั้ง 2 รายข้างต้น ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่ 13 ก.พ. 68 เวลา 8.30 น. ถึง 30 เม.ย. 68 เวลา 23.59 น. หรือติดต่อสาขาของ Non-bank ที่เข้าร่วมมาตรการ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ Call center ของผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เข้าร่วมโครงการ
รัฐบาลชดเชยให้ออมสิน 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 11 ก.พ. 68 มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบการธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งประกอบด้วย (1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงิน โดยลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 10
ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท และ
(2) มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ 10% ของภาระหนี้คงค้าง เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 31,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 120 ล้านบาท โดย Non – Banks จะใช้วงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากโครงการดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) (โครงการ Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน เพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกิจและชดเชยการสูญเสียต้นทุนเงินจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการดังกล่าว
2. หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน โดยเป็นการปรับปรุงรายละเอียดบางประการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบหลักการโครงการ Soft Loan เดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้ เมื่อ 11 ธ.ค. 67 (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้ จำนวน 3,000 ล้านบาท) ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กค. และธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว เช่น
- วิธีการคำนวณวงเงินสินเชื่อที่ Non – Banks จะได้รับ (เดิมไม่ได้กำหนด)
- วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5,000 ล้านบาท (เดิมไม่ได้กำหนด)
- ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อ จากเดิม ภายใน 30 ธันวาคม 2568 เป็น 30 มิ.ย. 68
- เงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อกำกับดูแลการให้สินเชื่อ Soft Loan ของ Non – Banks เช่น ธนาคารออมสินจะติดตามผลการให้ความช่วยเหลือเพื่อทบทวนจำนวนวงเงินกู้เป็นประจำปีละครั้ง โดยธนาคารออมสินสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ Non – Banks ชำระหนี้คืน เพื่อลดภาระหนี้คงเหลือให้เท่ากับวงเงินลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ และกรณีที่ ธปท. ตรวจสอบพบว่า Non – Banks ไม่ได้ให้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตรการ Non – Banks จะต้องแจ้งผลการตรวจสอบของ ธปท. ให้ธนาคารออมสินทราบด้วย โดย Non – Banks ต้องชำระคืนเงินกู้ในส่วนที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ภายในระยะเวลา 30 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 11 ธ.ค. 67 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันบางประการ สรุปได้ ดังนี้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
เช็กเงื่อนไข”คุณสู้ เราช่วย” มหกรรมแก้หนี้รายย่อย เริ่มลงทะเบียน 12 ธ.ค.