เมื่อโอกาสทางสังคมในปัจจุบันเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนสามารถเสนอนโยบาย ก่อให้เกิดแนวความคิดดี ๆ เชิงนโยบายมากมาย หรือเรียกว่ามี “ขาขึ้น” จำนวนมาก แต่หน้าต่างที่เปิดไปสู่คนทำนโยบาย หรือเรียกว่า “ขาเคลื่อน” กลับยังถูกปิดกั้น เพราะระบบการเมืองไทยเป็นแบบรวมศูนย์ และให้คุณค่ากับการใช้สถิติ การวิจัย และข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการออกแบบนโยบาย แต่ยังละเลยตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ หรือข้อมูลเชิงอารมณ์ ความรู้สึก ทำให้สองบ่วงสำคัญนี้แม้มีข้อดี แต่เมื่อรัดแน่นเกินไป ก็ทำให้เกิดปัญหา “นโยบายติดดอย – ติดหล่ม”
Policy Watch ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเวทีเสวนา “เปิดคลินิกแก้โจทย์นโยบายสาธารณะ ผลักดันให้เป็นจริง” ภายในงานเศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ฉายฉากหลังของกระบวนการทำนโยบายสาธารณะที่ยังมีข้อจำกัด พร้อมวิเคราะห์ทิศทางและโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายต่อจากนี้ นโยบายที่ดีควรจะต้องมีอะไรบ้าง เดินหน้าอย่างไรให้ถูกที่ถูกเวลา แล้วต้องติดตามอย่างไร ให้ได้ผล
โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาความสามารถการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบาย (สศช.), ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษา Policy Watch ร่วมด้วยภาคประชาชนที่หวังให้ประเทศไทยดีขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย โดยมี ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ดำเนินการสนทนา
“บางทีการทำนโยบายสาธารณะด้วยความตั้งใจ ในประสาของคนที่ทำงานด้วยจิตสาธารณะ ทำไปแล้วมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น แต่เรื่องดี ๆ เหล่านั้นจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร บางทีก็ท้อ บางทีก็เหนื่อย อยากให้มีคนให้คำตอบ”
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส
ปมปัญหาสำคัญของการทำข้อเสนอนโยบาย ที่ผ่าน “ขาขึ้น” แต่ไปไม่ถึง “ขาเคลื่อน” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนา เพื่อหาคำตอบให้นโยบายดี ๆ สามารถเดินหน้าไปสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะที่ใช้ได้จริง
ข้อจำกัดของนโยบายจากกลไกการมีส่วนร่วม
ประสบการณ์การทำข้อเสนอนโยบาย “แผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน“ (Build back greener Chiang rai) ถูกนำมาบอกเล่า เพื่อฉายภาพให้ทุกคนได้เห็นตัวอย่างกรณีการออกแบบนโยบายของคนเชียงรายที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการ “การมีส่วนร่วม”
ฐายิกา จันทร์เทพ นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หนึ่งในผู้ร่วมคิดร่วมทำ “เชียงรายโมเดล” เล่าถึงที่มาของการทำข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ ว่าเริ่มต้นมาจากการตั้งวงเล็ก ๆ พูดคุยกันระหว่างผู้ประสบภัย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคเอกชน และหน่วยงานราชการ ในช่วงหลังเกิดอุทกภัยและสึนามิโคลน ก่อนมองเห็นโอกาสที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะสัญจรมายัง เชียงใหม่-เชียงราย จึงร่วมกันระดมความเห็นจากคนเชียงรายหลากหลายภาคส่วนกว่า 50 องค์กร เพื่อมองหาเป้าหมายร่วมกัน และใช้ “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” สรุปออกมาเป็นแผนจัดการภัยพิบัติเชียงรายที่ยั่งยืน ที่พร้อมเสนอให้ ครม.พิจารณา โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 1 เดือน
“เป็นความหวังเล็ก ๆ ว่าเสียงจากชุมชนจะขึ้นไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจนำไปให้ กรอ.จังหวัดพิจารณา ซึ่งรับหลักการแล้ว ส่วนหอการค้าฯ นำเรื่องเข้าที่ประชุมคลัง หวังให้ส่งต่อถึง ครม. และสภาองค์กรชุมชนเทศตำบลแม่ยาว นำเสนอต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมที่ลงพื้นที่ และส่งไปยังสภาพัฒน์ฯ ด้วย คือพยายามส่งต่อทุกช่องทาง เพื่อให้ถึงผู้พิจารณาอนุมัติข้อเสนอ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปถึงหรือไม่”
ฐายิกา จันทร์เทพ นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของ “หน้าต่างนโยบาย” หรือ “Policy Window” เป็นบันไดขั้นแรกที่จะทำให้นโยบายดี ๆ ถูกผลักดันเข้าไปสู่ช่องทางการขับเคลื่อนต่อไปได้ เพียงแต่ปัญหาสำหรับ “มือใหม่” คือยังไม่รู้หน่วยงานใดที่จะรับข้อเสนอจากภาคประชาชนไปดำเนินงานต่อ
เช่นเดียวกับ “เพชรภูมิ” หนึ่งในประชาชนที่ร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนา สะท้อนมุมมองของตัวเองว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วตัวเขาได้เรียนรู้วิธีการออกแบบนโยบายจากเวที “มองหาน้ำยาสมัชชาสุขภาพ” ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แต่เวลาปฏิบัติจริง แม้จะบอกว่าระดมความเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม ออกมาเป็นข้อเสนอโดยนำข้อมูลเชิงสถิติและหลักฐานเชิงประจักษ์ต่าง ๆ มายืนยัน สุดท้ายจบลงอย่างง่าย ๆ เพียงเพราะเจ้าหน้าที่ในศาลากลางจังหวัดบอกว่า “เรื่องนี้รัฐทำอยู่แล้ว”
ฉายภาพให้ชัดขึ้นว่า นโยบายที่เขาเสนอ ยังไปไม่ถึงขาขึ้นให้ “ติดดอย” ด้วยซ้ำ แต่ยัง “ติดหล่ม” จมอยู่กับที่ เพราะหน้าต่างนโยบายของประชาชนถูกปิดล็อกอยู่ เปิดเพียงบานเดียวคือ บานที่ “ข้างบนลงมาข้างล่าง” (Top – Down)
ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดน่านอย่าง “สำรวย ผัดผล” เล่าให้ฟังถึงการเสนอนโยบายพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของตัวเขาเอง ทั้งเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการเชื่อมระบบชลประทาน ก็ติดปัญหาเรื่อง “หน้าต่างนโยบาย” เมื่อไรที่ยื่นผิดหน่วยงาน หลายครั้งที่มีคำตอบกลับมาว่า “ปฏิบัติไม่ได้” เพราะไม่ใช่หน้าที่ หรือบ้างก็บอกว่ายังไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจ
ที่น่าสงสัยมากกว่าคือ ต่อให้ยื่นถูกช่องทาง ถ้าเรื่องใหญ่เกินไป กลับถูกบอกกว่าทำไม่ได้ เพราะเกินความสามารถ แต่เมื่อลดระดับข้อเสนอให้เล็กลง สุดท้ายจบที่รัฐให้ทำกันเอง
นี่เอง ชี้ให้เห็นอีกปัญหาในการนำเสนอนโยบายว่ายังติดอยู่กับ “โครงสร้างรัฐที่ซับซ้อน” และ “บทบาทหน้าที่ของรัฐที่ยังคลุมเคลือ” เมื่อสังคมเปลี่ยนให้ประชาชนสามารถเป็นผู้เสนอนโยบายได้
อีกข้อจำกัดในการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายของประชาชนคือ “รัฐให้ความสนใจ แต่ไม่สานต่อ” เช่น นโยบายจัดการน้ำท่วม แม้ภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทุกปี แต่ภัยพิบัตินี้ยังเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีเช่นกัน หรือนโยบายตายดี ที่หลังขับเคลื่อนมากว่า 20 ปี จนเกือบจะเป็นรูปธรรมในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” แต่กลับหายไปอีกครั้งในรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นโยบายที่เป็นแค่กระดาษ จึงเป็นอีกข้อควรระวังที่ประชาชนต้องคอยติตามไม่ให้นโยบายสะดุด
นโยบายจากประชาชนสำเร็จได้ ต้องหา “หน้าต่างนโยบาย” ให้เจอ
นโยบายจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ยังพบหลายปัญหา แต่ก็มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เป็นเครื่องยืนยันว่านโยบายจากประชาชนสามารถทำได้ เพียงแต่ต้อง “หาหน้าต่างนโยบายให้เจอ” และพยายาม “ผลักดันอย่างต่อเนื่อง”
ยกตัวอย่าง “นครปฐม” ซึ่งป็นหนึ่งในจังหวัดที่เผชิญน้ำท่วมอยู่ตลอด ก่อนมาเจอ “จุดคานงัด” เมื่อภาคประชาชน ประสานความร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ช่วยกันป้อนข้อมูลภัยพิบัติ กระทั่งกระทรวงมหาดไทยสั่งทำ “ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” (Geo–social map)
จุดเริ่มต้นดังกล่าวเป็นประตูแห่งโอกาสที่ “ประเชิญ คนเทศ” หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดนครปฐม มองเห็นว่า ถ้านำผังภูมินั้นมาชี้ให้คนทั้งจังหวัดได้เห็นพื้นที่เสี่ยง โดยร่วมมือกับนักวิชาการ อาจทำให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง นำไปสู่ความเชื่อมั่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดการภัยพิบัติได้
ขณะที่ “ชุติมา น้อยนารถ” เกษตรกรจากนครปฐม อีกหนึ่งผู้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมฯ สะท้อนภาพการทำงานให้เห็นต่อว่า ชาวบ้าน เดินทางมา 10 ปีด้วยความเหนื่อยล้า บ่อยครั้งที่ผิดหวังเพราะนโยบายที่เสนอไปไม่ถึงผู้กำหนดนโยบาย แต่ต้องใช้ความอดทน รวมถึงจิตวิญญาณ ในการขอปรึกษา หารือ กับภาครัฐหน่วยงานต่าง ๆ เพราะถ้าเมื่อไรล็อกใจเขาได้ ข้อเสนอที่ชุมชนร่วมกันยื่น จะถูกแปลงแผน ปรับให้ใกล้เคียงและมีความเป็นไปได้ นำไปสู่การใช้งาน
“นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดนครปฐม ความจริงไม่ต้องสร้างใหม่ เพียงแต่ต้องวิเคราะห์ให้มากพอร่วมกับผู้ที่เป็นเจ้าของ และ 20 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ถ้าเราหา Policy Window ต้องหาระดับใหญ่ที่จะมาทะลุทะลวงให้ถึงเป้าหมาย แต่ในระดับพื้นที่ต่ำกว่าจังหวัดลงมา ต้องหา Win-Win Policy แบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อเสนอที่มีประโยชน์”
ชุติมา น้อยนารถ กลุ่มเกษตรกรยั่งยืนคลองจินดา จ.นครปฐม
จากพื้นที่ภาคกลาง ลงมาที่ “ภาคใต้” ไม่เพียงข้อเสนอเชิงนโยบายจะได้รับการยอมรับ แต่ยังเกิด มติ ครม. และกำลังจะมี พ.ร.บ. บังคับใช้ด้วย เรื่องนี้ “ไมตรี จงไกรจักร์” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เล่าให้ฟังว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวอันดามันตั้งแต่ดั้งเดิม ถูกคุกคามและละเมิดสิทธิ์ ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ไม่มั่นคง
- ปี 2553 มีมติ ครม. เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และชาวกะเหรี่ยง เป็นการเปิดประตูแห่งโอกาส ให้เกิดการยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย
- ปี 2557 ถูกระบุให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ
- ปี 2560 ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70
- ปัจจุบัน ใกล้ประกาศให้เป็น “พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”
“เมื่อมีเป้าหมายชัด นโยบายที่เราต้องการคืออะไร มีคนมาเป็นเจ้าภาพ ขับเคลื่อนตลอดเวลา ไม่หยุดรวมทั้งมีข้อมูลที่ชัดเจน แล้วหยิบมาสื่อสาร โดยมีพันธมิตรที่ดีคือสื่อมวลชน ผมเชื่อว่าถ้ามุ่งมั่นเอาจริง ข้อเสนอเหล่านี้จะกลายเป็นนโยบายที่ใช้ได้จริง”
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
“การเมืองรวมศูนย์–ความรู้เทคนิค” ปัญหาเชิงโครงสร้างทำนโยบายสะดุด
อันที่จริงปัญหา “นโยบายติดดอย–ติดหล่ม” เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่กระบวนการทำนโยบายสาธารณะไทยเริ่มออกนอกขอบเขตของ “รัฐ” และมีภาคประชาชน ประชาสังคม เอกชน และนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม
“เมื่อมีข้อเสนอเชิงนโยบายดี ๆ จากการมีส่วนร่วม เกิดขึ้นเยอะ เปรียบเหมือนกับมีลูกศรชี้ขึ้น จำนวนมาก แต่กลับเจอห่วงคุมกำเนิดมัดลูกศรเอาไว้ ทำให้นโยบายค้างอยู่บนดอย และไม่สามารถนำมาขับเคลื่อนต่อได้”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษา Policy Watch
สำหรับ 2 ห่วงที่เป็นอุปสรรคไม่ให้นโยบายดี ๆ ขับเคลื่อนต่อได้ “ผศ.ธีรพัฒน์” อธิบายว่า เป็นเพราะประเทศไทยเป็น “สังคมการเมืองที่เน้นรวมศูนย์อำนาจ” แม้ข้อดีของการปกครองแบบนี้ จะทำให้สั่งการได้รวดเร็ว แต่ถ้ารัดแน่นเกิน อาจทำให้ “นโยบายไม่เกิด”
เพราะเมื่อสังคมเปิดกว้าง มีช่องทางให้คนหลากหลายภาคส่วนนำเสนอความคิด ข้อเสนอนโยบายต่าง ๆ มากมาย แต่ช่องทางการทำมีน้อยกว่า ขณะที่ฝ่ายนโยบายมีหน้าที่จำกัดเรื่องงบประมาณและอีกหลายอย่าง ความไม่สอดคล้องกันจึงทำให้การขับเคลื่อนข้อเสนอเหล่านี้หลายครั้งต้องสะดุด
อีกห่วงคือ “ความรู้ทางเทคนิค” การออกแบบนโยบาย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ยังเน้นการใช้ข้อมูลที่มาจากความเชี่ยวชาญและความชำนาญ ต้องมีสถิติหรือหลักฐานเชิงประจักษ์มาอ้างอิง แต่ไม่ยอมรับ “ข้อมูลเชิงจิตวิทยาและเชิงคุณค่า” เช่น ประสบการณ์ส่วนตัว อารมณ์ความรู้สึก เป็นต้น ทำให้เกิดข้อจำกัดที่เป็นตัวล็อกข้อเสนอดี ๆ ไม่ให้ไปถึงฝั่งฝัน
ในมุมมองของที่ปรึกษาด้านพัฒนาความสามารถการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบาย (สคช.) สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ คิดเห็นไม่แตกต่างไปจากนักวิชาการ และอธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า สังคมการเมืองที่เน้นศูนย์รวมอำนาจนั้นคือปัญหาจาก “โครงสร้าง” ที่กำหนดให้ “ข้าราชการ” ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ การใช้งบประมาณ และการไม่ละเมิดหน้าที่ข้ามหน่วยงาน
ในการสั่งการจึงต้องกลั่นกรองให้ชัดว่า ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ตรงตามหน้าที่ของหน่วยงานหรือไม่ เพราะถ้าละเมิด ถือว่าผิดกฎหมาย และการนำภาษีแผ่นดินไปใช้ หากไม่เกิดประโยชน์ จะผิดวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นเหตุผลให้หลายครั้ง หน่วยงานราชการต้องส่งเรื่องให้ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” และ “สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ตรวจสอบว่าการขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่เคยทำมาก่อนในแต่ละครั้งนั้น ตรงขอบเขตของหน่วยงานหรือไม่ และหากรับมาดำเนินงานต่อจะถือว่าผิดกฎระเบียบใดหรือไม่
ดังนั้นการยกร่างข้อเสนอนโยบายให้หน่วยงานราชการ จึงต้องใช้ “เทคนิค” ด้วย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหา โดยเฉพาะการเขียนให้ถูกกฎหมายและระเบียบราชการ ซึ่งต้องเขียนให้ “สั่งการ” (Take Action) ได้ คือระบุอำนาจหน้าที่ชัด กำหนดแนวทางวิธีแก้ปัญหา แผนการบริหารจัดการ และความคุ้มค่าที่ประชาชนจะได้รับ
“ภาคประชาสังคม เอกชน และวิชาการ ไม่ควรรับบทบาทแค่ ‘ล็อบบี้ยิสต์’ (Lobbyist) รวบรวมข้อเสนออย่างเดียว ในฐานะที่เป็นผู้รู้ในพื้นที่และรักประชาชน ควรรวบรวมประเด็นปัญหาอย่างเป็นระบบ แล้วให้นักวิชาการในพื้นที่ยกร่างข้อเสนอที่ตรงตามระเบียบราชการ และมีคลังสมอง (Think Tank) คอยขับเคลื่อนนโยบาย เสนอไปตามช่องทางที่มีอยู่ ถ้าหากรัฐไม่รับหรือเพิกเฉย ส่งต่อไปที่สื่ออย่างไทยพีบีเอสก็ได้”
สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาความสามารถการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบาย (สศช.)
เครื่องมือทางนวัตกรรม ปิดช่องโหว่นโยบายสาธารณะไทย
เป็นความจริงที่ข้อจำกัดของรัฐ ต้องใช้แต่ “ข้อมูลเชิงเทคนิค” จัดทำนโยบาย ทำให้ขาด “ข้อมูลเชิงนามธรรม” ที่จะเป็นส่วนเติมเต็มให้นโยบายสมบูรณ์
แต่ใช่ว่าจะไร้ความหวัง “สุริยนต์” ฉายให้เห็นข้อดีในยุคปัจจุบันว่า เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มนุษย์จึงมีเครื่องที่เรียกว่า “Data Analysis” ทำหน้าที่วิเคราะห์เสียงแสดงความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกของคน ให้มีน้ำหนักและวัดได้ในเชิงสถิติ
แต่มีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ หนึ่งคือ “ทักษะของผู้กำหนดนโยบาย”(Policy Maker) ที่ในวันนี้อาจไม่เพียงพอ และสองคือ “แนวความคิดที่ยึดติดว่าต้องเสนอนโยบายต่อๆรัฐ” เพราะบางครั้งการรอให้รัฐจัดการ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน ถ้ารออาจไม่ทันการณ์
“ประชาชนเมื่อมีความเข้มแข็งมากระดับหนึ่ง จะขับเคลื่อนนโยบายได้ด้วยตัวเอง ยิ่งยุคนี้ ‘มีโซเชียลมีเดีย’ อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือติ๊กตอก (Tiktok) ทุกคนสามารถเป็นสื่อและสร้างอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้างได้ ต่อจากนี้จึงอยู่ที่ว่าทุกคนจะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มสื่อสารนโยบายอย่างไรให้นำไปสู่การปฏิบัติจริง”
สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาความสามารถการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบาย (สศช.)
“ความคุ้มค่า” ตัวล็อกใจผู้กำหนดนโยบาย
รู้ปัญหา รู้วิธีการอุดช่องโหว่ ในการเสนอนโยบายแล้ว จะประกอบร่างอย่างไรให้สำเร็จ “ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่าสิ่งสำคัญสุดประชาชนต้องหาหน้าต่างนโยบายให้เจอ รู้ว่าช่องไหนที่จะเข้าไปทำให้ผู้กำหนดนโยบายสนใจ และพาลงจากดอยได้
อย่างไรก็ตามไม่อยากให้คาดหวังกับกลไกรัฐมากนัก เพราะนโยบายสาธารณะไม่จำเป็นต้องดำเนินงานจากบนลงล่าง (Top-Down) แต่ต้องเป็นการดำเนินงานจากบนลงล่าง ที่มาบรรจบกับล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ถึงจะทำให้นโยบายขับเคลื่อนได้
ส่วนจะล็อกใจผู้กำหนดนโยบายอย่างไร “ผศ.พงศ์เทพ” ให้แนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ เป็นหัวใจสำคัญในตอบคำถาม
“การจัดการใด ๆ รวมถึงการเสนอนโยบาย จะสำเร็จได้ ต้องใช้ ‘สมองอันชาญฉลาด’ คือทำอะไรต้องมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และ ‘มีหัวใจที่อบอุ่น’ คือมีความเป็นมนุษย์”
ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โครงสร้างของระบบราชการที่จะต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจหน้าที่และงบประมาณ ทำให้ “ความคุ้มค่า” เป็นตัวตัดสินใจสำคัญของผู้กำหนดนโยบายว่าจะลงทุน หรือจัดสรรคนลงไปตามที่ประชาชนเสนอหรือไม่
สูตรความสำเร็จจึงอยู่ที่การทำให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายของประชาชนจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมีคุณค่ามหาศาล ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือการใช้ชีวิต
“ผศ.พงค์เทพ” ยกตัวอย่าง นโยบายความมั่นคงทางอาหาร แม้ไม่ได้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ แต่มีคุณค่า ถ้าไปเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของข้อมูลการเรียนรู้ของเด็ก เช่น จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พบนักเรียนมีไอคิว (IQ) ต่ำสุดในประเทศ กับข้อมูลพื้นที่ที่ขาดแคลนโภชนาการมากที่สุดในประเทศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าเรื่องความมั่นคงทางอาหารในชายแดนใต้สำคัญ
“พันธะความรับผิด รับชอบ” แก้โจทย์นโยบายสาธารณะไม่ให้ติดดอย
“การพูดถึงแต่ ‘การมีส่วนร่วม’ ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้เรา ‘ติดดอย’ เพราะเราคุยกันแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ความสนใจของประชาชน เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำนโยบายให้มากที่สุด แต่ไม่เคยคุยถึงการทำอย่างไรให้นโยบายมีพันธะความรับผิดรับชอบในสัญญาณที่ประชาชนส่งออกไป”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษา Policy Watch
การทำนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่แค่การรวบรวมคนมาสร้างข้อเสนอ แต่ยังรวมถึงการสร้าง “พันธะความรับผิดรับชอบ” (Accountability) ให้เข้มแข็ง เป็นเหตุผลให้สื่อเริ่มออกมาทำงานด้านนโยบายมากขึ้นด้วย ดังนั้นภารกิจร่วมกันต่อจากนี้ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การทำนโยบายสาธารณะของภาครัฐ เกิดการจับตา การกระตุ้น และผลักดัน
ส่วนใครที่ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน อย่างไร “ผศ.ธีรพัฒน์” ยกตัวอย่าง “Policy Watch” หนึ่งในสื่อที่ทำหน้าที่ติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวนโยบายสาธารณะในสังคม ให้ทุกคนสามารถลองเข้าไปใช้งานได้ เพราะที่นี่ใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายรูปแบบใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลรูปธรรมและนามธรรม ทำให้ทุกคนตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของผู้กำหนดนโยบายได้
เรื่องสำคัญสุดท้ายคือ “หน้าต่างนโยบาย” ที่ต้องหาให้เจอ แต่อยู่เฉย ๆ หน้าต่างคงเองเปิดไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้เปิดได้คือ “ทุกคนต้องเป็นนักขับเคลื่อนนโยบาย” ซึ่งต้องมี 3 อย่าง
- มีความรู้ ทักษะ ในการวิเคราะห์เชิงนโยบาย โดยอาจไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ได้เหมือนนักวิชาการ แต่ต้องเข้าใจว่า กำลังทำนโยบายแบบใด ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ข้อมูลแบบอะไรที่ใช้ได้ และใครเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้
- มีทักษะการจัดการ การเคลื่อนนโยบายเป็นโปรเจกต์ระยะยาว จึงต้องมีทักษะการจัดการ เพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่ต้นจนจบ และจัดสรรงานให้คนในทีมตามความสามารถ
- เชาวน์ปัญญาทางนโยบาย รู้ช่วงขาขึ้นขาลง ทิศทางการเมือง เข้าใจภาพกว้างของสังคม และบริบทของนโยบายที่ขับเคลื่อน
เมื่อนโยบายที่มี บางครั้งก้าวไม่ทันกับความต้องการของประชาชน แต่เสียงข้อประชาชนกลับถูกบ่วงรัดทำให้ “ติดดอย-ติดหล่ม” การใช้ “นวัตกรรม” สังเคราะห์ข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบาย ไปพร้อมกับการหา “หน้าต่างนโยบาย” ให้เจอ เป็นกุญแจสำคัญที่ลดปัญหานโยบายสาธารณะสะดุดให้น้อยลง