กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินนโยบาย “ยกระดับ 30 บาทพลัส” ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติด้านสุขภาพ โดยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการดูแลรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพร่างกาย เพื่อเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี ประเทศไทยสุขภาพดี”
“การจัดตั้งสถานชีวาภิบาล เป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้น เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพา ผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวมครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ อย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่บ้าน ชุมชน โดยไม่ถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง ลูกหลานสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ อันเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยนับจนวาระสุดท้ายของชีวิต” (คู่มือดำเนินการตามนโยบายสถานชีวิภิบาล 2024)
การดูแลแบบพึ่งพิงและครอบครัว เป็นการเชื่อมโยงการดูแลตั้งแต่ในโรงพยาบาล จนถึงชุมชน หรือ บ้าน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระบบชีวาภิบาลโดยศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาลและสถานชีวาภิบาลในชุมชน
ตามนโยบายชีวาภิบาล เป็นการบูรณาการระบบการดูแลแบบประคับประคอง/ระยะสุดท้าย (Palliative Care) ระบบการดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Care) ระบบการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) ผ่านทางงานตติยภูมิ ทุติยภูมิ และงานปฐมภูมิ ลงสู่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงจัดระบบบริการดูแลที่บ้าน (Home Care และ Home Ward) และชุมชน โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ
ทั้งนี้ คำจำกัดความสถานชีวาภิบาล มี 2 ระดับ ดังนี้
ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล หมายถึง ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างระบบชีวิภิบาลในโรงพยาบาล โดบบูรณาการระบบบริการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลระยะยาว การดูแลประคับประคับประคอง/ระยะท้าย และเชื่อมโยงระบบริการปฐมภูมิ ตั้งแต่การดูแลในโรงพยาบาลจนถึงบ้านและชุมชน
สถานชีวาภิบาลในชุมชน หมายถึง สถานที่ให้การดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง และการดูแลประคับประคอง/ระยะท้าย ที่อยู่ในชุมชน มีมาตรฐานด้านสถานที่ ด้านความปลอดภัย และด้านบริการตามมาตรฐานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ กรมอนามัย หรือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล
ในปี พ.ศ. 2567 มีการขับเคลื่อนให้ทุกจังหวัดมี “สถานชีวาภิบาล” อย่างน้อย 1 แห่ง รวมถึงมีการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายโดยใช้พื้นฐานจากการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) ที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แก่ผู้ป่วยระยะท้ายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นโยบายการจัดตั้ง “สถานชีวาภิบาล” เป็นการสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพ โดยการร่วมจัดบริการการดูแล แบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับระบบสุขภาพในระดับสากล โดยมีบุคลากรด้านสุขภาพเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดคุณภาพในการให้บริการอย่างเป็นระบบ มีการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ที่มา:
คู่มือดำเนินการตามนโยบายสถานชีวาภิบาล 2024 กระทรวงสาธารณสุข