เมื่อมาดูสถานการณ์ความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยโลกรวน จากสถิติ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2562 จะพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับ 9 จากภาวะโลกรวน และเกิดอากาศวิปริต 146 ครั้ง สร้างความเสียหายเป็นจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์/ปี ซึ่งในอนาคต ประเทศไทยจะเจอกับ 4 ภัยอันตรายใหญ่ ดังต่อไปนี้
- ทะเลสูง แผ่นดินต่ำ
- น้ำท่วมแรง
- แห้งแล้งจัด
- วิบัติคลื่นร้อน
นี่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศไทยที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าจะต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ เพราะขณะนี้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว จึงเสนอ 4 เรื่องด่วนที่ควรต้องทำในสภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ดังนี้
4 เรื่องด่วนที่ต้องทำในสภาวะโลกรวน
1.สร้างแรงงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง เนื่องจากการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานในวันที่อากาศร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ จึงต้องเร่งสร้างงานแบบใหม่ขึ้นมา และเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานกลางแจ้งย้ายไปทำงานที่อื่น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องกลับมาคิดทบทวนในเรื่องการปรับตัวออกจากภาคการเกษตร หรือการใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมที่ทนร้อนหรือความแล้งได้ พร้อมทั้งเรื่องการคิดต้นทุนค่าน้ำ
2.ปรับปรุงเมืองลดความเสี่ยง จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายเมืองในประเทศไทยมีความเสี่ยงเรื่องการเกิดภัยพิบัติหลายด้าน เช่น อากาศร้อนทำให้คนเสียชีวิตจากการไม่มีที่ให้หลบภัย หรือเมืองที่ติดทะเลก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีแผนในการรับมือที่ดี คือ “เมืองต้องมีขีดความสามารถในการปรับตัวที่ดีขึ้น” โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานหลายแบบมาผสมผสานกัน ดังนี้
โครงสร้างพื้นฐานทางโยธา (คอนกรีต) ผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น มาประกอบกัน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานสีน้ำเงิน คือใช้แหล่งน้ำ มีที่กักเก็บน้ำ มีที่รองรับ-ระบายน้ำ และพื้นที่สีขาว คือพื้นที่ที่ห้ามก่อสร้าง ซึ่งต้องมีการคิดทบทวนเรื่องผังเมืองกันครั้งใหญ่
ในส่วนของการสร้างกำแพงกั้นทะเล ก็จะต้องศึกษาให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนน้อยที่สุด เพราะเมื่อน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำทะเลสูงขึ้น จะทำให้กรุงเทพตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และปริมณฑล อาจจมน้ำทะเลได้ และจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศมหาศาล เพราะในส่วนนี้คือบริเวณที่มีระดับของ GDP ถึง 30% ของประเทศไทย จึงต้องเร่งศึกษาหาทางเลือกในการหลีกเลี่ยงความสูญเสียนี้อย่างรอบด้าน
ขณะเดียวกัน เรื่องของการย้ายเมืองหลวง ก็เป็นโจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลที่จะต้องนำมาเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาเมืองจมทะเลนี้ ซึ่งจะต้องศึกษาถึงความคุ้มค่าในการหาทางออก และต้องให้คำตอบในการแก้ไขปัญหานี้ไม่นานเกินไป เพราะการปรับตัวต้องใช้เวลา 20 ปี ขึ้นไป ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ และดำเนินการอย่างรอบคอบที่สุด
3.พัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติที่ลดความเสี่ยง
สิ่งสำคัญที่ทำให้การรับมือกับภัยพิบัติมีประสิทธิภาพคือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความเสี่ยงของแต่ละจุด การประเมินในเชิงพื้นที่ที่ดี และการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ จากความเข้มแข็งของหน่วยงานท้องถิ่นจะทำให้มีอำนาจในการแก้ไขในพื้นที่ได้ดี เพราะคนเหล่านี้คือคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งรู้ปัญหาดีที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้จะเสนอให้มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องทำงานอย่างไรให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ในระยะสั้นสำหรับการบริหารวิกฤตภัยธรรมชาติในพื้นที่ ก็จะต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Super CEO ที่สามารถให้ทั้งคุณและโทษข้าราชการในพื้นที่ พร้อมทั้งสามารถทำงานบูรณาการได้ จึงจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
ส่วนในระยะยาว ต้องมองถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าฯมีความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการที่ผู้ว่าฯ จะต้องโยกย้ายไป-มา ทำให้ไม่มีความเข้าใจในพื้นที่ และไม่มีความสัมพันธ์ต่อไปประชาชน ซึ่งถ้าผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็จะสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้เหมือนหลาย ๆ ประเทศในโลก
4.เตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัว ประเทศไทยยังขาดการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจนสำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีการวางแผนเรื่องนี้อย่างชัดเจน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรสงวนเงินเพื่อใช้ในสถานการณ์จำเป็น แทนที่จะใช้จ่ายในโครงการที่ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะในอนาคตอาจต้องใช้เงินจำนวนมากเมื่อเกิดภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องใช้ระบบประกันภัยเข้ามาอุ้ม ซึ่งจะต้องดูว่าทำอย่างไรให้คนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงให้ได้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตอย่างเข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้
“ข้อเตือนใจคือ รัฐบาลจะต้องสงวนเม็ดเงิน อย่าเอาเงินไปแจกหรือดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะไม่มีผลบวกทางเศรษฐกิจได้ดีพอ ให้เก็บเงินใช้ไว้ในยามจำเป็น”
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน เพื่อจัดตั้งกองทุน Green Transition & Adaptation Fund สำหรับช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มเปราะบาง รวมถึงสนับสนุนการปรับตัวต่อสภาพโลกร้อน โดยเริ่มจากการเก็บภาษีในอัตราต่ำและเพิ่มขึ้นในอนาคต จากตัวอย่างทางยุโรปที่จัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งวางระบบนี้เพื่อสร้างความมั่นคงและความพร้อมสำหรับรับมือวิกฤตในระยะยาว
“อย่างในยุโรป คาร์บอน 1 ตัน เก็บภาษีอยู่ที่ประมาณเกือบ 100 ยูโร สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการเก็บ แต่กรมสรรพสามิตเริ่มแนวคิดที่จะทำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี
อย่างไรก็ตาม คงต้องทำเป็นภาษีคาร์บอนแบบเต็มรูปแบบ แล้วค่อย ๆ ทยอยเก็บ จากอัตราต่ำ ๆ เช่น แต่ละตัน เก็บที่ 4-5 ดอลลาร์ แล้วค่อยเพิ่มขึ้น จากนั้นเอาเงินที่เก็บได้ไปช่วยให้คนไทยพร้อมปรับตัวมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลานาน หมายความว่าจะต้องรีบวางแผนตั้งแต่วันนี้ และหาทางออกที่เป็นขั้นเป็นตอนมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นแกนสำคัญในการวางแผนหรือการแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนและภาคธุรกิจ เพื่อลดความเสียหายและเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูให้ดีขึ้นในระยะยาวสำหรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่คนไทยกับลังเผชิญในขณะนี้และในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย