สมุดปกแดง ลายแทงใหม่นโยบายภัยพิบัติ : นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยพร้อมรับมือภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด เป็นอีกรูปธรรมของการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรับมือภัยพิบัติของสถาบันนโยบาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยกลไกและขั้นตอนการการพัฒนานโยบายสาธารณะ ตั้งแต่การระบุปัญหา สำรวจสถานการณ์ วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และการคาดการณ์อนาคต ประกอบด้วย น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินสไลด์ วาตภัย พายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไฟป่า การกัดเซาะชายฝั่ง สึนามิ และแผนดินไหว โดยในแต่ละประเด็นจะมีนักวิชาการดำเนินการในแต่ละด้าน และนำเสนอพร้อมทั้งถกแถลงร่วมกันกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำเนินการในการสร้างทางเลือก
ก่อนกำหนดทางเลือก โดยการวิเคราะห์ปัญหา ความท้าทาย ด้านนโยบาย กฎหมาย มาตรการดำเนินงาน ระบบฐานข้อมูล ระบบการสื่อสาร กลไกการจัดการ การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถ และด้านปัญหาการจัดการขณะเกิดภัย พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยใช้การสังเคราะห์ข้อมูลจากนักวิชาการและการถกแถลงร่วมกันกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยการถอดบทเรียนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประสบภัยโดยตรง เพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายโดยสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยพร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด ใน 2 ระดับ คือ 1. ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะระดับชาติ และ 2. ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น เพื่อเสนอต่อองค์กรท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ส่งผลต่อกระทบต่อการทำลายระบบนิเวศน์ ซึ่งแนวทางการจัดการภัยพิบัติระดับโลกจากการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชุมรับรอง Post-2015 Framework for Disaster Risk Reduction ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานของโลกระยะเวลา 15 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2573) มีเป้าหมายในการป้องกันและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ผ่านภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีปฏิญญาเซนได (Sendai Declaration) ซึ่งเป็นคำประกาศของประเทศสมาชิกที่จะร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบการลดความเสี่ยง จากภัยพิบัติหลังปี พ.ศ.2558 รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ข้อที่ 13 ระบุว่าดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ภัยพิบัติประเทศไทยภัยพิบัติธรรมชาติมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นในประเทศไทย ทั้งชนิดที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน โดยก่อความเสียหายรุนแรงกับชนิดที่คาดการณ์ได้แต่ก่อความเสียหายอย่าง กว้างขวาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดประเภทภัยพิบัติเป็น 7 ภัยสำคัญได้แก่ (1)อุทกภัย-ดินโคลนถล่ม (2) พายุหมุนเขตร้อน (3)แผ่นดินไหว (4) สึนามิ (5)มหาอุทกภัย (6) ภัยแล้ง (7) ไฟป่า-หมอกควัน ซึ่งจะสร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
จากข้อมูลของกรมบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบกับข้อมูลแผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ปี 2560 ของ สสส. ระบุว่า ภัยพิบัติในประเทศไทยระหว่างปี 2532-2566 ข้อมูลสถิติ 8 ภัย คือ อุทกภัย สึนามิ ดินโคลนถล่ม วาตภัย อัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยคมนาคม และภัยจากไฟป่า ระบุว่าในช่วง 30 ปี อุทกภัยเป็นภัยที่สร้างความเสียหายมากที่สุด เกิดขึ้นกว่า 40,000 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 166,255 ล้านบาท รองลงมา คือ สึนามิ ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ก็สร้างความเสียหานมหาศาล มีผู้เสียชีวิตถึง 5,401 คน ความเสียหาย 44,491 ล้านบาท อัคคีภัย เกิดขึ้น 63,949 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 41,952 ล้านบาท รวมทั้งภัยแล้งมีความเสียหายในวงกว้าง มีมูลค่าความเสียหายถึง 21,842 ล้านบาท และวาตภัยเกิดขึ้น 36,104 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 5 พันล้านบาท
- ที่มา:* โครงการสุขภาพคนไทย. 2556. ปรับจาก 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ และวิธีบริหารความเสี่ยง 12 ตุลาคม 2555 ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2567, จาก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิกา เว็บไซต์: http://thaipublica.org/2012/10/18-disaster-risk
- ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2567 จาก สำนักงานพัฒนาเสรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เว็บไซด์ https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=9787
บทเรียน ปัญหา ความท้าทาย ด้านภัยพิบัติในประเทศไทย
- ด้านนโยบาย การกำหนดโครงการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ยังขาดการบูรณาการร่วมกัน และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ นโยบายการพัฒนาเมืองที่ไร้ทิศทาง หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการใช้ที่ดิน ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างในพื้นที่รับน้ำ หรือปิดกั้นเส้นทางระบายน้ำ ส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติและทำให้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้น
- ด้านกฎหมาย มีกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับที่เป็นปัญหาและความท้าทายในการจัดการภัยพิบัติของประเทศ 1) พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยปี พ.ศ.2550 ไม่สามารถแก้ปัญหาการจัดการภัยพิบัติได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการจัดการภัยพิบัติเกินความสามารถที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะบริหารจัดการได้เพียงลำพัง และภัยพิบัติส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ ข้อจำกัดของพ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยปี พ.ศ.2550 ประกอบด้วย
-
- การนิยามความหมายของ “ผู้ประสบภัย” ที่ยังไม่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม
- การเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย
- ปัญหากลไกคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และอำนาจในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวมถึงอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการบัญชาเหตุการ
- ขาดการกำหนดหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่น การบริหารจัดการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตำบล)
2) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 อนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของบประมาณได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยต้องประกาศภัยพิบัติก่อน ดังนั้น เงินงบประมาณดังกล่าวจะถูกใช้ในกิจกรรมหลังการเกิดภัยพิบัติแล้ว (การตอบโต้และฟื้นฟู) ส่งผลให้ขาดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมลดความเสียงก่อนการเกิดภัยพิบัติ (การป้องกันและการเตรียมความพร้อมระดับจังหวัด
- ด้านมาตรการดำเนินงาน ขาดมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบแจ้งเตือนภัย การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ การฝึกซ้อมแผนของหน่วยงาน แนวทางการดําเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น การบัญชาการเหตุการณ์ที่มีเอกภาพ และความเข้าใจของบุคลากรในการปฏิบัติงาน ทำให้การบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถดำเนินการด้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
- ด้านระบบฐานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เช่น ข้อมูลพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ทรัพยากร ฯ ถูกจัดเก็บโดยหลายหน่วยงาน ไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ หรือบูรณาการข้อมูลร่วมกัน และส่วนใหญ่ข้อมูลที่ใช้ไม่ได้เกิดจากการสำรวจสำรวจอย่างจริงจัง แต่มักใช้ข้อมูลคาดการณ์ ข้อมูลยังเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขขาดการแปลงข้อมูลให้เป็นแบบจำลองเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงป้องกัน วางแผน จัดการภัยพิบัติ
- ด้านระบบการสื่อสาร เพื่อการเฝ้าระวังและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติ ขาดประสิทธิภาพ เช่นการเตือนภัยล่วงหน้าและการเผยแพร่ข้อมูลของของหลายหน่วยงานไม่สอดคล้องตรงกันทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และไม่สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจและเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม และขาดการสนับสนุนการสื่อสาร 2 ทางจากชาวบ้านในชุมชน ท้องถิ่น ขาดการสะท้อนข้อมูลภัยพิบัติ การแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการจัดการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งมีบทบาทที่สําคัญในการประชาสัมพันธ์และการกระจายข้อมูลข่าวสารเพราะรวดเร็วและ เข้าถึงง่าย แต่ควรมีระบบการคัดกรอง ตรวจสอบการสื่อสารบทช่องทางออนไลน์เพื่อป้องกันการสื่อสารข่าวลือต่าง ๆที่อาจส่งผลต่อความตระหนก และการเพิ่มทักษะของประชาชนในการรับข้อมูล ตัดสินใจ จากข้อมูลออนไลน์
- ด้านการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถ ของประชาชน สังคม และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือองค์ความรูู้เดิมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ต่อความซับซ้อนของปัญหาและความหลากหลายของภัยพิบัติธรรมชาติ จนไม่อาจนํามาสู่การกําหนดมาตรการ ป้องกันและรับมือภัยพิบัติอันเป็นสาธารณภัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- ด้านกลไกการจัดการ ปัจจุบันมีกลไกการจัดการภัยพิบัติในระดับชาติเท่านั้น ยังขาดกลไกการจัดการในระดับและระดับตำบล และเมื่อเกิดภัยพิบัติก็ไม่มีการใช้กลไกที่กฎหมายที่มีอยู่แต่จะใช้การตั้งกลไกใหม่แทน นอกจากนั้นกลที่ตั้งขึ้นยังขาดการจัดทำผังการวิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ชัดเจน ทำให้การดำเนินงานของกลไกขาดประสิทธิภาพและขาดความต่อเนื่อง
- ด้านปัญหาการจัดการขณะเกิดภัย ยังขาดการบัญชาการเหตุการณ์ที่ดีพอ ขาดระบบกระบวนการรายงานตัวของอาสาสมัคร ทำให้เกิดความสับสนของเครือข่ายอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้าช่วยเหลือซึ่งมาจากหลายพื้นที่ รวมทั้งยังขาดการสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับกลุ่มอาสาสมัคร
เป้าหมาย: เกิดกลไกการผลักดันข้อเสนอนโยบายสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การจัดการภัยพิบัติทั้งมิติการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย การเชิญเหตุ และการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน สามารถลดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน อย่างยั่งยืน
กรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement)
มุ่งเน้นการกระจายอำนาจในการจัดการภัยพิบัติให้กับชุมชชนท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมสร้างหุ้นส่วนการพัฒนา และการสร้างความเข้มแข็ง ในการจัดการภัยพิบัติของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคีเครือข่าย เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการจัดการภัยพิบัติ ให้เกิดกองทุนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ มีการบูณาการข้อมูล จัดทำ/บูรณาการแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่กิจกรรม ทั้งระยะการป้องกันเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ การเผชิญเหตุและตอบโต้ขณะเกิดภัย และการฟื้นฟู เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความปลอดภัยของชุมชนอย่างยั่งยืน
ข้อเสนอประกอบทิศทางนโยบาย
ขอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้
- กำหนดให้เรื่องภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ และให้การกำหนดนโยบายต่างๆของภาครัฐต้องคำนึงถึง ห่วงใย และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกิดภัยพิบัติ (ทุกนโยบายให้ความสำคัญกับการบูรณาการเรื่องภัยพิบัติ)
- แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน “ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยพร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด” ที่มีองค์ประกอบมาจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคเอกชน รวมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลากการดำเนินงานให้ชัดเจน
- ให้ความเห็นชอบ “ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยพร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยพร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด”
ข้อเสนอนโยบายสาธารณะระดับชาติ
1.1 ด้านนโยบาย กฎหมาย
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ โดยเสนอแก้ไขกลไกและบทบาทในการจัดการสาธารณภัยของท้องถิ่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประเด็น การกัดเซาะชายฝั่งให้เป็นภัยพิบัติ และกำหนดบทบาทการจัดการให้ชัดเจน โดยเฉพาะในระยะก่อนเกิดภัย เช่นการจัดทำแผนจัดการภัยพิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่น การประกาศเขตภัยพิบัติ การส่งเสริมชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และเปิดโอกาสให้ผู้ประสบภัยที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีสถานะทางทะเบียน เข้าถึงการเยียวยาจากรัฐอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม
- โยธาธิการผังเมืองจังหวัด เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับท้องถิ่นและภาคประชาชนออกแบบผังเมืองเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) โดยคำนึงถึงการจัดระเบียบของเมืองทางกายภาพ วางแนวทางน้ำไหลตามระดับสูงต่ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจัดทำคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำแบบบูรณาการทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน
- จังหวัดจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสะท้อน แนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
1.2 การพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถของภาคีเครือข่าย การสร้างความตระหนักแก่ประชาชน
- กระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูล ชุดความรู้ นวัตกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ เน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนำความรู้มาใช้ประโยชน์ เช่นการสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาเชิงระบบ การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์จากมาตรการการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรด้านการพัฒนาแบบจำลอง การจำลองแบบ และการแสดงภาพนามธรรมที่ง่ายต่อการเข้าใจและการสื่อสาร เช่นการนำเสนอข้อมูลผ่านระบบแดชบอร์ด
- กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาชุดความรู้ หลักสูตรท้องถิ่น เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่นหลักสูตรการเตรียมความพร้อม การเผชิญภัย และการฟื้นฟู ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มโลกใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้บูรณาการเนื้อหาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา และหลักสูตรตามอัธยาศัย
1.3 การพัฒนากลไกบูรณาการจัดการภัยพิบัติระดับพื้นที่
- การแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือจัดให้มีองค์กรที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด (ศูนย์อำนวยการจัดการภัยพิบัติจังหวัด) เพื่อดูแลเรื่องภัยพิบัติในระยะยาว โดยกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ ในการจัดการทั้งก่อนเกิดภัย เช่น การจัดหาทรัพยากร จัดตั้งทีมอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การซ้อมแผนรับมือ และเมื่อเกิดเหตุให้มีอำนาจในการประกาศสั่งการเตือนภัยและอพยพเพียงหน่วยงานเดียว และการจัดการบูรณาการการฟื้นฟูเพื่อเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นธรรม
- ผลักดันให้เกิดกลไกสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนาระบบเตือนภัย และพัฒนาความสามารถของชุมชนและ อปท.เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้มากขึ้น
- เครือข่ายวิชาการที่กระจายกันอยู่ตามภาคต่าง ๆ ร่วมกันจัดทำแบบจำลองความเสี่ยง เชิงพื้นที่ในทุกพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลวิกฤติเปรียบเทียบแบบปีต่อปีหรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการน้ำจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฝ้าระวังและจัดการน้ำ (water war room) ระดับจังหวัด และระดับชุมชน
1.4 การบูณาการและสร้างเสริมสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติเป็นระบบ อย่างองค์รวม
- สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนบริหารจัดการภัยพิบัติระดับตำบล หรือกลุ่มชุมชน โดยมีแผนระดับตำบล อำเภอ ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำย่อย และครอบคลุมการรับมือ การอพยพ การสื่อสารในระหว่างเกิดภัย การบริหารคลังทรัพยากร ระบบพลังงานไฟฟ้า น้ำ แก๊ส อาหาร ยา น้ำมัน และการฟื้นฟูหลังเกิดภัย
1.5 การพัฒนาระบบสนับสนุน เช่นฐานข้อมูล การสื่อสาร
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณากฎหมายให้ข้อมูลรวบรวมไว้เพียงหน่วยงานเดียว และให้เป็นข้อมูลแบบเปิด (Open access) เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบส่งข้อมูลเตือนภัย ให้ข้อมูลตามโซนพื้นที่ตั้งแต่ในภาวะปกติและไม่ปกติเพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดการภัยพิบัติของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงมหาดไทยผลักดันให้มีกองทุนภัยพิบัติระดับจังหวัด เพื่อใช้สำหรับการเยียวยาผู้ประสบภัยให้สะดวก รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับการได้รับผลกระทบของประชาชน
- คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ครอบคลุมการจัดการน้ำในภาวะวิกฤต รวมทั้งการศึกษาระบบน้ำที่เชื่อมโยงกันทั้งภูมินิเวศน์ เพื่อให้เกิดการจัดการเชิงระบบ
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยกองป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง (Data Center) ทางด้านภัยพิบัติ และพัฒนาระบบ Dashboard รายงานผลสภาพอากาศและการแนะนำการการเตรียมตัวปฏิบัติตน ก่อน ระหว่างเกิด และหลังเกิด แบบแม่นยำสามารถแสดงผลได้ในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน
2.ข้อเสนอระดับท้องถิ่น เสนอต่อองค์กรท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พัฒนารูปแบบการจัดการกองทุนภัยพิบัติท้องถิ่นในลักษณะการ่วมทุน ระหว่างท้องถิ่นกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อใช้เป็นกองทุนในการจัดการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติในระดับตำบล
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับสภาองค์กรชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จัดตั้งคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติตำบล เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติระดับชุมชนและครัวเรือน จัดทำคลังข้อมูลกลางชุมชน และระบบสื่อสารกลางในภาวะวิกฤติ รวมถึงประเมินผลแผนและการจัดการภัยพิบัติแต่ละช่วงเพื่อการปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นระบบ
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับภาคีต่างๆ จัดทำหลักสูตร การเตรียมความพร้อมเช่นการใช้ข้อมูล การให้ข้อมูลการเตือนภัย หลักสูตรการเผชิญภัย เทคนิคการจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติและหลักสูตรการฟื้นฟู โดยให้จัดอบรมตามหลักสูตรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละครั้ง
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่แบบไร้รอยต่อทางด้านการจัดการภัยพิบัติ
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน/ประชาชนให้มีส่วนร่วมในการติดตั้งสถานีวัดน้ำฝน ให้คลอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงและให้บูรณาข้อมูลจากดาวเทียม และ remote sensing เพื่อเป็นการเฝ้าติดตามแบบทันเวลาจริง (real time) รวมถึงการบำรุงรักษาในลักษณะของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen science monitoring)
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลด้านน้ำท่วมและภัยแล้งเพื่อเป็นแนวทางวางแผนและบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ในชุมชนหรือ บ่อกักเก็บน้ำตามไร่นาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เหมาะสมต่อพื้นที่